สุจิตต์ วงษ์เทศ /คลองแสนแสบ คือ คลองมหานาค กรุงเทพฯ เชื่อมคลองบางขนาก ฉะเชิงเทรา

คลองตันบริเวณสามแยกที่สบกับคลองแสนแสบ (ซ้ายและขวา)  มีชุมชนคับคั่ง มีเรือนแพตลาดน้ำ (ภาพเก่าน่าจะสมัย ร.6 ไม่ทราบปีที่ถ่าย)

สุจิตต์ วงษ์เทศ

คลองแสนแสบ

คือ คลองมหานาค กรุงเทพฯ

เชื่อมคลองบางขนาก ฉะเชิงเทรา

 

คลองแสนแสบ คือ คลองมหานาค ขุดสมัย ร.1 ตั้งแต่คลองโอ่งอ่างถึงคลองตัน (หัวหมาก กรุงเทพฯ) เชื่อมกับคลองบางขนาก ขุดสมัย ร.3

(จากหัวหมาก คลองตัน กรุงเทพฯ ถึงบางขนาก อ.บางน้ำเปรี้ยว จ.ฉะเชิงเทรา)

 

คำอธิบายเก่า

คลองแสนแสบ ในความรับรู้ของคนทั่วไปที่ได้จากคำอธิบายของทางการ เป็นคลองขุดสมัย ร.3 พ.ศ.2380 เชื่อมเข้าด้วยกันระหว่างแม่น้ำเจ้าพระยากับแม่น้ำบางปะกง เพื่อเป็นคลองเส้นทางยุทธศาสตร์ลำเลียงไพร่พล, อาวุธยุทธภัณฑ์, เสบียงอาหาร และอื่นๆ ในสงครามกับญวน (เวียดนาม)

คำอธิบายทางการไม่บอกต้นคลองแสนแสบอยู่ตรงไหน? บอกแต่ปลายคลองอยู่บ้านบางขนาก อ.บางน้ำเปรี้ยว จ.ฉะเชิงเทรา

แต่โดยทั่วไปเข้าใจจากป้ายชื่อในแผนที่กรุงเทพฯ ว่าคลองแสนแสบขุดในแผ่นดิน ร.3 พ.ศ.2380 เริ่มตั้งแต่บริเวณคลองมหานาค ตัดกับคลองผดุงกรุงเกษมเป็นสี่แยก แล้วเรียกแยกที่ต่อจากคลองมหานาคไปทางตะวันออกว่าคลองแสนแสบ ถึง อ.บางน้ำเปรี้ยว จ.ฉะเชิงเทรา ราว 72 กิโลเมตร

แผนที่สันนิษฐานแสดงคลองมหานาคสมัย ร.1 ตั้งแต่คลองโอ่งอ่าง วัดสระเกศ ถึงคลองตัน หัวหมาก กรุงเทพฯ

 

สมัย ร.3 ไม่ได้ขุดคลองแสนแสบ

พ.ศ.2380 เอกสารระบุชัดเจนว่าขุดคลองตั้งแต่หัวหมากไปถึงบางขนาก ไม่ได้ขุดต่อจากคลองมหานาคที่โบ๊เบ๊ถึงบางขนาก มีข้อความว่า “จ้างจีนขุดคลองตั้งแต่หัวหมากไปถึงบางขนาก” [หนังสือพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3 โดย เจ้าพระยาทิพากรวงศมหาโกษาธิบดี (ขำ บุนนาค)]

คลองขุดใหม่ตั้งแต่หัวหมากถึงบางขนากครั้งนั้นไม่เรียกคลองแสนแสบ แสดงว่าชื่อ “แสนแสบ” เรียกสมัยหลังเมื่อไรไม่รู้? หรือถ้าเรียกแล้วในสมัยนั้นว่าแสนแสบก็ไม่เป็นทางการ และไม่เป็นที่รู้จักทั่วไป

 

คลองมหานาคยาวถึงไหน?

คลองมหานาค ขุดสมัย ร.1 พ.ศ.2326 เพื่อป้องกันพระนคร โดยเกณฑ์ครัวเขมรจามเป็นแรงงานขุดคลองคูพระนครด้านตะวันออกทั้งหมด พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ บอกว่าต้นคลองมหานาคอยู่เหนือวัดสระเกศ แต่ไม่บอกปลายคลองถึงไหน?

ต่อมาเมื่อพบหลักฐานว่าสมัย ร.3 พ.ศ.2380 ขุดคลองตั้งแต่หัวหมากถึงบางขนาก ย่อมชวนให้เชื่อว่าสมัย ร.1 ตั้งแต่แรกขุดคลองมหานาคมีปลายคลองถึงหัวหมาก ซึ่งครั้งนั้นจะเชื่อมได้กับคลองพระโขนงและคลองหัวตะเข้ที่มีแต่สมัยอยุธยา (แผ่นดินพระรามาธิบดีที่ 2) ทั้งนี้ เพื่อเป็นแนวป้องกันพระนครด้านตะวันออก (ตามเรื่องจริงของคลองมหานาคสมัยอยุธยาขุดเพื่อเป็นแนวป้องกันข้าศึก)

ที่ว่าคลองมหานาคในกรุงเทพฯ ขุดไว้ “เป็นที่สำหรับประชาชนชาวพระนครจะได้ลงเรือไปประชุมเล่นเพลงสักวาในเทศกาลฤดูน้ำเหมือนอย่างครั้งกรุงศรีอยุธยาเก่า” เป็นอุดมคติที่น่าจะเพิ่งสร้างสมัยที่แต่งพระราชพงศาวดาร (ราว ร.4)