วรศักดิ์ มหัทธโนบล : ฮ่องกงก้าวต่อไปเป็นเช่นไร

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

ฮ่องกงเมื่อวันวาน (จบ)
ฮ่องกงในวันพรุ่ง

หากย้อนอดีตกลับไปเมื่อเกือบสองร้อยปีก่อนที่ฮ่องกงยังเป็นบ้านป่าเมืองเถื่อนนั้น วันนี้ต้องนับว่าฮ่องกงมาไกลแสนไกลจนมิอาจย้อนกลับไปเหมือนเดิมได้อีก

แต่ถ้าถามว่า หากไม่มีสงครามฝิ่นระหว่างจีนกับอังกฤษเมื่อ ค.ศ.1840 จนเป็นเหตุทำให้ฮ่องกงตกเป็นของอังกฤษเป็นเรื่องที่น่ายินดีหรือไม่แล้ว

คำตอบย่อมต้องเป็น “ไม่” อย่างแน่นอนสำหรับจีน

แต่หากถามว่า ที่อังกฤษทำให้ฮ่องกงเจริญเป็นเรื่องที่น่ายินดีหรือไม่

คำตอบย่อมต้องไม่แน่ว่า “น่ายินดี” เพราะปรากฏการณ์อันเกี่ยวแก่ฮ่องกงตั้งแต่เมื่อครั้งยังเป็นบ้านป่าเมืองเถื่อนจนเมื่อเจริญรุ่งเรืองนั้น มีความย้อนแย้งกันในตัวของมันเอง

แต่ดังได้กล่าวไปแล้วว่า อย่างไรเสียฮ่องกงมาไกลจนมิอาจย้อนกลับไปสู่จุดเดิมได้อีกแล้ว การมองอนาคตของฮ่องกงต่างหากจึงเป็นประเด็นที่พึงพิจารณา

เพราะนับแต่ที่ฮ่องกงถูกส่งมอบกลับคืนไปสู่อ้อมอกของจีนใน ค.ศ.1997 จนถึงเมื่อจีนประกาศใช้กฎหมายความมั่นคงกับฮ่องกงเมื่อกลางปี ค.ศ.2020 นั้น ต่อไปจะได้ค่อยๆ เปลี่ยนฮ่องกงไปทีละเล็กละน้อย

จนฮ่องกงตกอยู่ในภาวะที่ภายนอกดูว่ายังคงเจริญเหมือนเดิม แต่ภายในกลับกรุ่นระอุร้อนรุ่มไม่เหมือนเดิม

ที่ว่าภายนอกยังคงเจริญเหมือนเดิมหมายความว่า จีนจะไม่มีทางทำลายระบบเศรษฐกิจที่เป็นมาแต่เดิมของฮ่องกงเป็นอันขาด เพราะหากทำลายไปแล้วจะไม่เพียงทำลายเศรษฐกิจของจีนไปด้วยเท่านั้น หากยังทำลายความน่าเชื่อถือของจีนอีกด้วย

ในแง่นี้ฮ่องกงจึงถูกเปรียบกับนิทานเรื่องห่านกับไข่ทองคำของอีสป

 

นิทานเรื่องนี้เล่าว่า ตากับยายคู่หนึ่งผู้แสนยากจนได้เลี้ยงห่านเอาไว้ตัวหนึ่ง จนอยู่มาวันหนึ่งได้เกิดเหตุอัศจรรย์ขึ้นเมื่อห่านตัวนั้นได้ไข่ออกมาเป็นไข่ทองคำ และจากนั้นก็ให้ไข่ทองคำแก่ตากับยายวันละฟองเรื่อยมา ฐานะของตากับยายจึงดีขึ้นจนกลายเป็นเศรษฐี ชีวิตของทั้งสองจึงดีขึ้นไปด้วย

แต่อยู่มาวันหนึ่งตาได้บอกกับยายว่า การที่ห่านให้ไข่ทองคำวันละฟองนั้นช่างไม่ทันใจเอาเสียเลย สู้ผ่าท้องห่านเอาไข่ทองคำออกมาให้หมดไม่ดีกว่าหรือ

ยายฟังแล้วก็เห็นดีเห็นงามด้วย จากนั้นทั้งตาและยายจึงช่วยกันผ่าท้องห่าน แต่ปรากฏว่าในท้องห่านไม่มีไข่ทองคำแม้แต่ฟองเดียว

เมื่อห่านตายเสียแล้ว ตากับยายจึงไม่ได้ไข่ทองคำวันละฟองเหมือนเคย และเหตุทั้งหมดนี้ล้วนมาจากความโลภของตากับยายโดยแท้

 

จากนิทานเรื่องห่านกับไข่ทองคำดังกล่าวทำให้เห็นว่า จีนมองฮ่องกงเป็นห่านที่ให้ไข่ทองคำวันละฟอง จีนจึงไม่มีทางฆ่าห่านตัวนี้เป็นแน่แท้ จากเหตุนี้ เศรษฐกิจเสรีนิยมที่ฮ่องกงเป็นมาแต่เดิมอย่างไรก็ยังคงเป็นอยู่อย่างนั้นต่อไป

ส่วนที่ว่าภายในฮ่องกงกลับกรุ่นระอุร้อนรุ่มนั้นหมายความว่า ชาวฮ่องกงไม่ต้องการอยู่ใต้อำนาจนิยมของจีน และเห็นว่าจีนไม่ได้ทำตามสัญญาที่ให้ไว้ ว่าจะให้ฮ่องกงปกครองตนเองด้วยระบอบประชาธิปไตยไปอีก 50 ปีนับแต่ ค.ศ.1997 เป็นต้นไป

สิ่งที่จีนทำก็คือ จีนได้เข้ามาแทรกแซงระบบการเมืองในฮ่องกง โดยอ้างว่าตนมีสิทธิ์ที่จะทำเช่นนั้นเพราะฮ่องกงอยู่ภายใต้อำนาจอธิปไตยของจีน การทำเช่นนี้ทำให้ชาวฮ่องกงไม่พอใจและออกมาต่อต้าน แต่ยิ่งต่อต้านจีนก็ยิ่งแข็งขืน จีนยิ่งแข็งขืนการต่อต้านก็ยิ่งเลยเถิดไปไกล

ไปไกลกระทั่งเรียกร้องให้ฮ่องกงเป็นรัฐอิสระที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย

 

เมื่อเรียกร้องเช่นนั้นประกอบการเคลื่อนไหวที่รุนแรง มีการทำลายทรัพย์สินสาธารณะจนเสียหายอย่างหนักในหลายที่ ทุกอย่างก็ “เข้าทาง” จีน โดยจีนกล่าวหาว่ากลุ่มผู้ประท้วงชาวฮ่องกงกำลังแบ่งแยกดินแดน อีกทั้งยังสมคบกับต่างชาติเพื่อให้ต่างชาติช่วยตนให้เป็นอิสระจากจีน

ถึงตรงนี้ จีนจึงได้โอกาสประกาศใช้กฎหมายความมั่นคงกับฮ่องกงในที่สุด เหมือนกับรอโอกาสนี้มานานเต็มทีกว่าจะ “เข้าทาง” ดังที่เห็น ไม่ต่างกับที่จีนรอให้การชุมนุมของนักศึกษาที่จัตุรัสเทียนอันเหมินเมื่อ ค.ศ.1989 “เข้าทาง” ด้วยการไม่ยอมเจรจากับนักศึกษา จนนักศึกษาทนไม่ได้และถูกกดดันอย่างหนัก การประท้วงก็ขยายไปสู่ข้อเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ถึงตรงนี้ทุกอย่างก็ “เข้าทาง” จีน แล้วจีนก็ใช้กำลังเข้าปราบปรามนักศึกษาอย่างนองเลือด

คำถามจึงมีว่า ภายในที่กรุ่นระอุร้อนรุ่มเช่นนี้จะทุเลาเบาบางลงหรือไม่

 

คําตอบคือ ชาวฮ่องกงมีทางเลือกเพียงสองทาง

ทางหนึ่ง หนีไปให้พ้นจากฮ่องกงแล้วไปอยู่ในดินแดนที่ตนต้องการ

อีกทางหนึ่ง อยู่ในฮ่องกงต่อไปโดยยอมรับสภาพว่า หากวันใดที่ตน “หือ” ขึ้นมาแล้วจะต้องโดน “ทุบ” ด้วยกฎหมายความมั่นคง

คำตอบดังกล่าวตั้งอยู่บนสมมุติฐานที่ว่า อย่างไรเสียจีนไม่มีทางให้ความกรุ่นระอุร้อนรุ่มนั้นทุเลาเบาบางลงด้วยการประนีประนอมเป็นอันขาด ชาวฮ่องกงอยู่ได้ก็อยู่ไป อยู่ไม่ได้ก็ไปอยู่ที่อื่น

ที่สำคัญ จีนมั่นใจว่าที่ตนทำเช่นนั้นจะไม่มีทางกระทบต่อเศรษฐกิจของฮ่องกง เพราะที่ตนทำไปนั้นไม่ใช่การเชือด “ห่าน” แต่อย่างใด ทั้งตนและชาวฮ่องกงยังคงได้รับ “ไข่ทองคำ” วันละฟองต่อไปทุกวัน

ชีวิตที่เคยเสรีก่อนหน้านี้ของชาวฮ่องกงกลายเป็นความทรงจำของวันวานไปแล้ว

 

ต้นปี ค.ศ.2019 ผมยืนอยู่กลางใจเมืองฮ่องกงท่ามกลางความพลุกพล่านของผู้คน อันที่จริงแล้วหลังจากผมมาเยือนฮ่องกงครั้งแรกเมื่อ ค.ศ.1989 ไปแล้ว ผมยังคงมาฮ่องกงอยู่อีกครั้งสองครั้ง แต่มีอยู่ครั้งหนึ่งคือ ค.ศ.1991 ที่ผมมาเพื่อที่จะสัมภาษณ์นักเคลื่อนไหวชาวฮ่องกงที่มีส่วนร่วมในเหตุการณ์เทียนอันเหมิน

ตอนหนึ่งผู้ให้สัมภาษณ์ได้บอกความรู้สึกของตนต่ออนาคตของฮ่องกงว่า หากดูจากที่รัฐบาลจีนปฏิบัติต่อผู้ชุมนุมที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน (ค.ศ.1989) แล้ว ดูท่าฮ่องกงคงหนีไม่พ้นท่าทีเดียวกันนี้

อนาคตของฮ่องกงจึงมืดมิด

คิดถึงคำพูดดังกล่าวแล้วก็คิดถามตัวเองว่า ที่เรามายืนอยู่ที่ฮ่องกงใน ค.ศ.2019 นี้ไม่นึกเลยว่าเวลาได้ห่างจากครั้งแรกนานถึง 30 ปี เวลาช่างผ่านไปเร็วเหลือเกินจนไม่รู้ว่า หลังจากนี้ไปแล้วผมยังจะมีโอกาสได้มาฮ่องกงอีกหรือไม่ การมาครั้งนี้ผมจึงตักตวงเอาความเป็นฮ่องกงให้กับตัวผมเองให้มากที่สุด

สิ่งที่ผมตักตวงเรื่องหนึ่งตามความนิยมชมชอบส่วนตัวก็คือ หนังฮ่องกง

 

เปล่า, ผมไม่ได้ไปนั่งดูหนังฮ่องกงหรือซื้อหนังแผ่นฮ่องกงเพื่อเก็บไว้ดูที่บ้าน แต่เป็นการไปทัศนศึกษาพิพิธภัณฑ์หนังฮ่องกง อันเป็นครั้งแรกที่ผมได้มาเห็นกับตา และก็ไม่ผิดหวังที่ได้เห็นการลำดับเรื่องราวความเป็นมาของหนังฮ่องกงผ่านภาพเก่าๆ ในอดีต

ภาพที่ผมเห็นทำให้ผมคิดถึงความหลังเมื่อยังเด็กที่ได้ดูหนังฮ่องกงตั้งแต่ที่ยังเป็นหนังขาว-ดำ มีดาราหลายคนที่ผมเคยเห็นในจอหนังและยังจำชื่อได้จนทุกวันนี้ เห็นแล้วก็ขนลุกซู่ด้วยความสะท้อนใจ แต่ก็รู้สึกดื่มด่ำและประทับใจที่แฝงอาการปลงอยู่ลึกๆ

การลำดับเรื่องราวดังกล่าวทำให้เห็นภาพพัฒนาการของสังคมฮ่องกงได้เป็นอย่างดี ที่ภาพหนึ่งตัวละครในหนังจะแต่งตัวแบบจีนและใช้ชีวิตแบบจีน แต่อีกภาพหนึ่งตัวละครจะแต่งตัวแบบตะวันตกและใช้ชีวิตแบบตะวันตก

ดาราบางคน อย่างเช่น เจิ้งเพ่ยเพ่ย (เกิด ค.ศ.1946) เห็นแล้วก็อดยิ้มไม่ได้ เพราะฉายาของเธอคือ ราชินีหนังกำลังภายใน

แต่บัดนี้ในวัยชรา เธอก็ยังมีหนังให้เล่น ล่าสุดเธอมีบทเล็กๆ โดยแสดงเป็นแม่สื่อแม่ชักได้อย่างน่ารักน่าขันในหนังเรื่องมู่หลาน (ค.ศ.2020)

ส่วนที่มีอาการปลงก็เพราะว่า หนังฮ่องกงสร้างชื่อสร้างเงินให้กับฮ่องกงอย่างมาก และทำให้ฮ่องกงเป็นที่รู้จักของชาวโลกรวมทั้งชาวไทยอย่างผม

แต่เพราะเหตุนั้นจึงทำให้มีนักสร้างหนังกำมะลอฉวยโอกาสแบบ “น้ำขึ้นให้รีบตัก” หันมาสร้างหนังคุณภาพต่ำกันจำนวนมาก

กล่าวกันว่า การฉวยโอกาสดังกล่าวทำให้บางปีฮ่องกงผลิตหนังออกมามากกว่า 300 เรื่อง เรียกได้ว่าแทบจะผลิตหนังได้วันละเรื่องกันเลยทีเดียว

แต่ทั้งหมดคือหนังคุณภาพต่ำ และเป็นตัวฉุดให้หนังฮ่องกงเข้าสู่ยุคตกต่ำจนทุกวันนี้

หนังฮ่องกงจึงเป็นภาพสะท้อนสังคมฮ่องกงได้ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันได้เป็นอย่างดี

โดยเฉพาะกับปัจจุบันที่ได้บอกเราว่า ไม่มีฮ่องกงเมื่อวานนี้อีกแล้ว