โยนบก : โดย สุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร

สถานีคิดเลขที่12 /สุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร

โยนบก

ทบทวนความจำให้ตัวเอง ด้วยประวัติศาสตร์ที่ถูกลืม ใน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ด้วยการอ่านกรณี “โยนบก” จิตร ภูมิศักดิ์ ปัญญาชนปฏิวัติแนวมาร์กซิสต์ ผ่าน www.oocities.org/thaifreeman/
ได้ข้อคิด อะไรหลายอย่าง
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตอกย้ำว่าการปลุกกระแส ปลุกระดม หรือโฆษณาชวนเชื่อ ให้เกิดความเกลียดชัง ต่อฝ่ายที่เห็นต่างนั้น
รังแต่จะนำไปสู่เหตุการณ์อันไม่พึงประสงค์ รุนแรง ถึงขนาดทำร้าย หรือเข่นฆ่าผู้อื่นได้ง่ายๆ
อย่างที่ทราบ กรณีของ จิตร ภูมิศักดิ์ มาถึง จุดแตกหักกรณีจัดทำหนังสือ 23 ตุลาฯที่ ถอดรื้อ-สร้าง รูปแบบ และเนื้อหา ขึ้นใหม่
ก่อผลสะเทือน กับ “ระบบเก่า” อย่างรุนแรง
แม้ มีความพยายามของจิตร ภูมิศักดิ์ กับกลุ่มเพื่อน สนับสนุนให้ซักฟอก กลางหอประชุมใหญ่
เพื่่อแลกเปลี่ยนถกเถียง ด้วยเหตุผลอย่างปัญญาชน
แต่การถูกปลุกกระแสอย่างต่อเนื่องว่า หนังสือ23 ตุลาฯ กระทำสิ่งไม่บังควร เอียงซ้าย ฝักใฝ่ คอมมิวนิสต์ ทำลายศาสนา
ทำให้ การยอมรับฟังของ “อีกฝ่าย” แทบจะปิดตาย
ยิ่งมีเหตุการณ์อย่างที่ หนังสือพิมพ์ตอนนั้นรายงาน ในทำนองเดียวกันว่า เมื่อจิตร ชี้แจงถึงเหตุที่เปลี่ยนแปลงการทำหนังสือปรากฏว่ามีเสียงปรบมือสนับสนุนดังมาจากเหล่านิสิตที่นั่งฟังอยู่ด้านล่าง (ประมาณ 3,000 คน)ทั่วทั้งหอประชุม
ส่งผลให้นิสิตฝ่ายปฏิกิริยาเริ่มเสียขวัญ
ยิ่งเมื่อ จิตรได้ขอร้องให้ สภามหาวิทยาลัย นำเอาหนังสือ23 ตุลาฯ ที่พิมพ์เสร็จแล้วออกมาแจกจ่าย
เพื่อพิสูจน์ให้เห็นข้อเท็จจริงที่ถกเถียงกันในวันนี้ แทนที่จะกล่าวประณามตนแต่เพียงฝ่ายเดียว โดยที่เพื่อนนิสิตไม่มีโอกาสที่จะได้อ่านหนังสือเจ้าปัญหาฉบับดังกล่าวนี้เลยแม้แต่น้อยนิด
มีเสียงตะโกนขึ้นว่า “ให้ตีแผ่หนังสือออกมา” ดังลั่นทั่วทั้งหอประชุม
ก่อให้เกิดความเดือดดาลขึ้นในหมู่นิสิตปฏิกิริยาขวาจัด พร้อมเสียงตะโกนขึ้นว่า “โยนน้ำเลย”
จากนั้นมี นิสิตเลือดร้อนกลุ่มขวาจัดวิ่งกราดเข้าเตะจิตรจนล้มฟุบลงกับพื้น แล้วก็ตรงเข้ามาประกบล็อคตัวจิตรไว้ทั้งซ้ายขวาพร้อมตะโกนขึ้นว่า “อย่าโยนน้ำเลย โยนบกนี่แหละ”
แล้วร่างของจิตรก็ถูกโยนลงมาจากเวทีหอประชุม ลงมากองอยู่กับพื้นไม้อัดด้านล่าง
สื่อมวลชนขณะนั้นระบุว่า “เป็นการกระทำที่ทารุณ โหดร้าย และป่าเถื่อนอย่างที่นิสิตหลายคนมิอาจยอมรับได้”
อันทำให้จิตรบาดเจ็บ ต้องรักษาตัวอยู่ 4 เดือน
ขณะที่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยซึ่งยึดมั่นในขนบเก่า สั่งพักการเรียนจิตร 12 เดือน ซึ่งเท่ากับจิตร ต้องหมดสิทธิเรียนถึง2 ปี
และยังถูกสันติบาล ติดตามสอบสวนในฐานฝักใฝ่คอมมิวนิสต์อีก
“การโยนบก” ที่เกิดขึ้นมาจากความเดือดดาลขาดสติของนิสิตขวาจัด นั้น
มาจาก ระบบโยนน้ำ ซึ่งถือกันว่าเป็นประเพณีการลงโทษนิสิตผู้กระทำผิดของ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย ที่ยึดมั่นในระบบอาวุโส หรือที่รู้จักกันในนาม SOTUS (SENIORITY ORDER TRADITION UNITY SPIRIT)
กรณีที่มีผู้ฝ่าฝืนจารีตธรรมเนียมประเพณีที่มีมาแต่เดิม
นิสิตจะถูกลงโทษด้วยการโยนลงไปในสระน้ำ แต่ทั้งนี้จะต้องได้รับความเห็นชอบจากทางคณะกรรมการ หรือนิสิตส่วนใหญ่เสียก่อน
แต่ จิตร ได้ถูกอารมณ์ที่ผ่านการปลุกระดมมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งศาลเตี้ยตัดสินโยนบกอย่างเหี้่ยมอย่างฉับพลันทันใด
กระนั้นแม้ เรามีบทเรียน จากกรณีดังกล่าว
แต่สังคมไทยก็ไม่เคยสรุปบทเรียน
เราถึงได้ก้าวไปไกลสุดกู่แห่งความหฤโหดในเวลาต่อมา
และที่เกิดกับคนเดียว กลายเป็นหมู่
นั่นคือการล้อมปราบ นิสิตนักศึกษา เมื่อ 6 ตุลาคม 2519แผลเป็น”ฉกรรจ์”ของชาติมาถึงทุกวันนี้
ที่น่าสนใจ แม้เกิดขึ้นไปแล้ว ก็อย่าวางใจว่าจะไม่เกิดขึ้นอีก
โดยเฉพาะกับพวกนิสิตนักศึกษาหัวดื้อ ขบถ ทั้งหลาย ไม่ว่าจุฬาหรือไหนๆมีโอกาสเป็นเหยื่อได้
เป็นข้อเตือนใจ ที่ใครจะเชื่อหรือไม่เชื่อก็ได้
——————————-