วิเคราะห์ : เหตุใดอีก 40 ปีข้างหน้า จีนปลอดคาร์บอน

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

โรคโควิด-19 ย้ำเตือนให้มนุษยชาติเร่งปฏิวัติเขียว สร้างวิถีแห่งการพัฒนาและการดำรงชีวิตภายใต้สิ่งแวดล้อมดีๆ ต้องทำให้เร็วขึ้นกว่านี้ มนุษยชาติจะต้องไม่วางเฉยกับสัญญาณเตือนของธรรมชาติ

การดึงเอาทรัพยากรธรรมชาติมาใช้ประโยชน์เพียงอย่างเดียวไม่ใช่หนทางถูกต้อง

เราต้องลงทุนดูแลอนุรักษ์ธรรมชาติด้วย

การพัฒนาในทุกวิถีทางจะเกิดค่าใช้จ่ายด้านการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม

ข้อตกลงปารีสเพื่อให้โลกรวมพลังเปลี่ยนผ่านสู่กระแสเขียวและการพัฒนาภายใต้การควบคุมการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้น้อยที่สุดนั้นเป็นแนวทางที่ต้องทำเพื่อปกป้องโลกใบนี้

 

“จีนมีความมุ่งมั่นตั้งใจปฏิบัติตามข้อตกลงปารีสทั้งด้วยการวางนโยบายและมาตรการที่เข้มข้น

เรามีเป้าหมายว่าก่อนปี 2573 การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จะถึงจุดสูงสุด และก่อนปี 2603 ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในจีนจะเป็นศูนย์

เราขอให้ทุกประเทศทั่วโลกร่วมแรงร่วมใจเปลี่ยนผ่านโลกหลังยุคโควิด-19 ด้วยการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม สร้างสรรค์พลังขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืน”

ประธานาธิบดีสี จิ้น ผิง พูดผ่านวิดีโอลิงก์ไปยังที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ มหานครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เรียกเสียงฮือฮาไปทั่วโลก

นักวิเคราะห์การเมือง นักสิ่งแวดล้อมและสื่อมวลชนต่างหยิบคำพูดของผู้นำจีนคนนี้มาสังเคราะห์พร้อมกับตั้งคำถามว่า “สี จิ้น ผิง” ตั้งใจพูดเหมือนให้ตัวเองดูหล่อหรือมีความมุ่งมั่นตั้งใจให้จีนเดินไปถึงเป้าหมายจริงๆ

จีนเป็นแหล่งปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากที่สุดในโลก ปริมาณการปล่อยก๊าซพิษนั้น คิดเป็นสัดส่วนมากถึง 28 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณการปล่อยก๊าซพิษทั้งโลก ใช้ถ่านหินเป็นอันดับ 1 ของโลก และน้ำมันเป็นอันดับ 2 รองจากสหรัฐ

การจะลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศโลกให้เหลือเป็นศูนย์นั้น “สี จิ้น ผิง” ต้องใช้พลังอำนาจบารมีมหาศาล ต้องมีบังคับใช้กฎหมายเข้มงวด และจะต้องได้รับความร่วมมือร่วมใจจากชาวจีนกว่า 1,300 ล้านคน

 

สื่อบางฉบับมองว่า ผู้นำจีนใช้สหประชาชาติเป็นเวทีเล่นเกมการเมืองกับ “โดนัลด์ ทรัมป์” ประธานาธิบดีสหรัฐซึ่งเป็นคู่กัด

“ทรัมป์” ยกเลิกข้อตกลงปารีสเมื่อปลายปีที่แล้ว เพราะไม่เชื่อปรากฏการณ์โลกร้อนว่าเป็นเรื่องจริง กล่าวหาจีนบงการอยู่เบื้องหลังแนวคิดนี้ แถมยังอ้างว่า ถ้าสหรัฐทำตามข้อตกลงปารีส ในปี 2568 คนอเมริกันจะตกงาน 2,700,000 คน อุตสาหกรรมรถยนต์จะทรุดฮวบ

เมื่อทรัมป์เล่นเกมอย่างนี้ “สี จิ้น ผิง” ก็ฉวยจังหวะชิงเป็นผู้นำในการต่อสู้กับภาวะโลกร้อนร่วมกับนานาประเทศแทน

“สี จิ้น ผิง” พูดถึงการต่อสู้กับภาวะโลกร้อนว่าเป็นภารกิจร่วมของมนุษยชาติก่อน “ทรัมป์” ชนะเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐเสียอีก

 

ถ้าย้อนประวัติของผู้นำจีนคนนี้ จะเห็นว่ามีวิสัยทัศน์เรื่องสิ่งแวดล้อมมานานแล้ว ทั้งด้วยฐานความรู้ด้านวิศวกรรมเคมีจากชิงหัวซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของจีน และยึดมั่นในปรัชญาจีนว่าด้วยธรรมชาติ

ระหว่างสวมบทบาทเป็นผู้ว่าราชการมณฑลเจ้อเจียง “สี จิ้น ผิง” เรียนรู้ปัญหาสิ่งแวดล้อมทั้งน้ำเน่าเสีย อากาศเป็นพิษ เนื่องจากพื้นที่ของเจ้อเจียงเป็นแหล่งเศรษฐกิจรายล้อมไปด้วยโรงงานอุตสาหกรรม

“สี จิ้น ผิง” ประกาศแผนปฏิรูปโครงสร้างเมืองและโครงสร้างพื้นฐานอุตสาหกรรมของมณฑลเจ้อเจียง ให้มุ่งสู่แนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยมองว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจจะเกิดต้นทุนทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ฉะนั้น การพัฒนาเศรษฐกิจจึงต้องคู่ขนานกับการดูแลอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

“ถ้ามนุษย์เอาชนะธรรมชาติด้วยวิทยาศาสตร์ ธรรมชาติจะแก้แค้นคืน” สี จิ้น ผิง อ้างถึงคำพูดของ “ฟรีดริช เอ็งเงิลส์” นักคิดนักเขียนชาวเยอรมัน และชมชอบแนวคิดของลัทธิเต๋าที่เคารพในธรรมชาติ

เมื่อก้าวขึ้นเป็นประธานาธิบดี “สี จิ้น ผิง” ประกาศปฏิรูปแผนแม่บทสิ่งแวดล้อมเพื่อแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นพิษทั้งน้ำ อากาศและดิน ปรับปรุงกฎหมายและเพิ่มมาตรการใหม่ๆ ด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมให้มีการบังคับใช้อย่างเข้มงวด มุ่งเน้นขับเคลื่อนจีนไปสู่ประเทศที่มีอารยธรรมนิเวศน์ (ecological civilization) ตามแนวทางที่ “หู จิ่น เทา” ผู้นำคนก่อนวางเอาไว้

ตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าจีนกำลังมุ่งหน้าสู่ “อารยธรรมนิเวศน์” ได้แก่ การปรับปรุงอุทยานแห่งชาติ 9 แห่งครอบคลุมพื้นที่ 170,000 ตารางกิโลเมตร ซึ่งจะใช้เป็นแบบอย่างของการพัฒนาระบบอุทยานแห่งชาติทั่วประเทศในระยะต่อไป

อุทยานแห่งชาติบางแห่งได้รับเงินอุดหนุนให้ดูแลรักษาสัตว์ป่าที่กำลังจะสูญพันธุ์อย่างเต็มที่ เช่น แพนด้ายักษ์ หรือเสือไซบีเรีย

ประกาศอนุรักษ์ต้นน้ำสำคัญ ได้แก่ แม่น้ำเหลือง แยงซีและล้านช้าง ให้คุณภาพน้ำได้มาตรฐาน เพิ่มมาตรการบังคับให้เจ้าหน้าที่ของรัฐรับผิดชอบดูแลป้องกันไม่ให้แหล่งน้ำดังกล่าวเกิดปัญหาเน่าเสีย

 

“แนวคิดสร้างสรรค์ การผนึกพลังร่วมมือ มุ่งเน้นรักษาสิ่งแวดล้อม แบ่งปันการพัฒนา ปรับปรุงให้มีคุณภาพและมีประสิทธิภาพคือแกนหลักของอารยธรรมนิเวศน์” สี จิ้น ผิง กล่าวในที่ประชุมใหญ่ของพรรคคอมมิวนิสต์

ผู้นำจีนยังลำดับแนวคิด “อารยธรรมนิเวศน์” เริ่มจากการเคารพ ปกป้องปรับปรุงธรรมชาติ อนุรักษ์ฟื้นฟูและนำทรัพยากรธรรมชาติมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด เชื้อเพลิงที่นำมาใช้ต้องปล่อยก๊าซพิษให้น้อยที่สุดและพัฒนาในแนวทางยั่งยืน

“อารยธรรมนิเวศน์คือหลักการของการฟื้นฟูประเทศจีนและบอกให้โลกได้รู้ว่านี่เป็นสิ่งสำคัญอันยิ่งยวด การพัฒนาเศรษฐกิจเป็นเรื่องรองลงมา”

จีนยังมุ่งเป็นผู้นำโลกในด้านพลังงานหมุนเวียนและพลังงานสะอาด ในเวลานี้ได้วางเป้าว่าจะปฏิวัติพลังงานและการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลให้น้อยลง เพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียน พลังงานสะอาดให้มากขึ้น

ทุกวันนี้จีนมีความพยายามใช้พลังงานสีเขียวอย่างเต็มที่ เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ จีนติดตั้งปีละ 80 กิ๊กกะวัตต์ ถึง 115 กิ๊กกะวัตต์ การใช้พลังงานลมปีละ 36 กิ๊กกะวัตต์ ถึง 45 กิ๊กกะวัตต์

แต่ถ้าจะให้ถึงเป้าหมายอย่างที่วางไว้ ทุกๆ ปีจีนต้องเพิ่มปริมาณการใช้โซลาร์เซลล์ พลังงานลมให้มากเป็นทวีคูณ เร่งพัฒนาแหล่งพลังงานสะอาดใหม่ๆ เช่น พลังงานไฮโดรเจน เพื่อนำมาใช้กับระบบขนส่งมวลชนขนาดใหญ่ทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิล ถ่านหิน ก๊าซ และน้ำมันซึ่งจีนต้องเลิกใช้อย่างสิ้นเชิง ต้องปลูกต้นไม้ให้เขียวชอุ่มทั่วประเทศเพื่อดูดซับก๊าซพิษ

ดูภาพรวมๆ อย่างนี้ การบรรลุเป้าหมายให้จีนปลอดจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอีก 40 ปีข้างหน้า เป็นเรื่องยากเย็นอย่างยิ่ง

แต่ทำไม “สี จิ้น ผิง” จึงออกมาประกาศอย่างมั่นอกมั่นใจ หรือเป็นแค่เกมเย้ยหยันคู่กัด?