ในประเทศ : เด็กคนนี้ นี่หรือคือ… “เนติวิทย์”

พฤษภาคม 2560 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ยังอยู่ในบรรยากาศเฉลิมฉลอง 100 ปี

เกิดปรากฏการณ์ “เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล” ขึ้น

เป็นปรากฏการณ์ที่ “เขย่า” สถาบันการศึกษาแห่งนี้ และลามออกไปข้างนอกอย่างกว้างขวาง

จนไม่น่าเชื่อ เด็กอายุ 21 ปี ในฐานะประธานสภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะเขย่าสถาบันอันเก่าแก่นี้ให้สั่นสะเทือนได้

ไม่ใช่เพียงในรั้วมหาวิทยาลัยเท่านั้น

หากแต่ลามออกไปข้างนอก ลามไปยังศิษย์เก่า ลามไปยังกลุ่มอนุรักษ์ กลุ่มชาตินิยม

แม้กระทั่งผู้นำประเทศ ก็ยังมี “ปฏิกิริยา” ต่อนิสิตหนุ่มผู้นี้ (อ่านคอลัมน์ แมลงวันในไร่ส้ม เนติวิทย์ ปธ.สภานิสิตฯ/ปชต.ในรั้วมหาวิทยาลัย /ปะทะการเมือง นอกรั้ว-หน้า 86)

 

ทําไมเนติวิทย์จึงเป็นเป้าแห่งความสนใจ

ด้านหนึ่ง อาจเป็นเพราะความเชื่อในแนวคิดเสรีนิยมของเขา

ที่มีมาตั้งแต่ครั้งเป็นนักเรียนโรงเรียนนวมินทราชินูทิศ เตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ และเลขาธิการสมาพันธ์นักเรียนไทยเพื่อการปฏิวัติระบบการศึกษาไทย

และยิ่งถูกจับตามองมากขึ้นเมื่อเข้ามาเป็นนิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

รวมทั้งเมื่อได้รับเลือกตั้งให้เป็นประธานสภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ทำให้คนในรั้วจุฬาฯ และข้างนอก ที่มีคำถามคำโตๆ ต่อบทบาทและการเคลื่อนไหวที่จะรื้อทำลายขนบ และธรรมเนียมที่เคยยึดถือกันมา

ไม่ว่าการเรียกร้องให้ยกเลิกเครื่องแบบนักเรียน นักศึกษา

เรียกร้องให้ปฏิรูปการศึกษา

เรียกร้องให้มีประชาธิปไตยจากการเลือกตั้ง

เรียกร้องให้ยกเลิกการรับน้อง

เรียกร้องให้รุ่นพี่ เคารพ ให้เกียรติรุ่นน้องในฐานะที่เป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน

เรียกร้องให้ยกเลิกการเกณฑ์ทหาร

ยกเลิกให้ใช้วัฒนธรรมสากลในการแสดงความเคารพ ฯลฯ (อ่านคอลัมน์ คำ ผกา : เด็กมันรักชาติ-หน้า 96)

ข้อเรียกร้องเหล่านี้ได้ไปกระทบกับความเชื่อ ความศรัทธา โดยเฉพาะในปีกอนุรักษ์ และปีกขวาอย่างเต็มที่

นำไปสู่ความหวาดระแวงว่า นิสิตคนนี้จะเป็นภัยคุกคามต่อตนเองและส่วนรวม

อันเป็นผลตกค้างจากความขัดแย้งอย่างรุนแรงใน “สงครามสี”

จึงนำไปสู่การต่อต้าน ขัดขวาง และทำลาย

 

บรรยากาศเช่นนี้ ทำให้หลายคนรำลึกย้อนหลังไปถึงกรณีที่ “จิตร ภูมิศักดิ์” เข้าไปเป็นนิสิตคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

แล้วเข้าไป “เขย่า” ระบบเดิมๆ เมื่อ พ.ศ.2496

ผ่านการเข้าเป็นสาราณียากร ให้กับหนังสือ “23 ตุลา” อันเป็นหนังสือประจำปีของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี พ.ศ.2496

เขาได้เปลี่ยนแปลงเนื้อหาที่ “ซ้ำๆ ซากๆ”

โดยลงบทความสะท้อนปัญหาสังคม ประณามผู้เอารัดเอาเปรียบในสังคม ซึ่งรวมถึงรัฐบาลด้วย

รวมทั้งชี้ให้เห็นค่านิยมอันไม่ถูกต้อง ซึ่งผู้คนนับถือกันมานาน

บทความเหล่านั้น มีทั้งที่จิตรเขียนเอง ร่วมแก้ไข หรือเพื่อนๆ คนอื่นเขียน

ผลก็คือระหว่างการพิมพ์หนังสือได้ถูกตำรวจสันติบาลอายัด และมีการ “สอบสวน” จิตรที่หอประชุมใหญ่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ในเหตุการณ์นั้น จิตรถูกกล่าวหาว่าโน้มเอียงเป็นคอมมิวนิสต์ ก้าวร้าว รุนแรงต่อสังคมเดิม

จนถูกกลุ่มนิสิตจากคณะวิศวกรรมศาสตร์กลุ่มหนึ่ง ตั้งศาลเตี้ยจับ “โยนบก” ลงจากเวทีหอประชุม

ทำให้จิตรได้รับบาดเจ็บต้องเข้าโรงพยาบาลและพักรักษาตัวอยู่หลายเดือน

แถมต่อมาทางมหาวิทยาลัยได้ตั้งคณะกรรมการพิจารณาโทษและมีมติให้ จิตร ภูมิศักดิ์ ถูกพักการเรียนเป็นเวลา 1 ปี คือในปี พ.ศ.2497

 

จิตรได้เขียนวิพากษ์วิจารณ์ความคิดใหม่ หรือทรรศนะใหม่ ในช่วงที่เกิดเหตุการณ์กรณีโยนบกว่า

“ใน พ.ศ.2496 นั้นเอง ข้าพเจ้าได้รับเลือกตั้งเป็นสาราณียกรของหนังสือพิมพ์มหาวิทยาลัย ข้าพเจ้าตัดสินใจที่จะใช้หนังสือนี้เป็นเวทีแสดงทรรศนะใหม่อย่างเต็มที่

…มีทรรศนะก้าวหน้ามากมายหลายบท ที่นิสิตอักษรศาสตร์และรัฐศาสตร์ช่วยกันเขียน

และมีบางบทความที่ข้าพเจ้าเขียนขึ้นเอง

บทที่ข้าพเจ้าเขียนบทหนึ่ง คือ พุทธปรัชญาไม่ใช่วัตถุนิยม ซึ่งเป็นการระเบิดเอาความรู้สึกเกี่ยวกับพุทธศาสนาที่อัดอั้นอยู่ในจิตใจของข้าพเจ้ามานานแล้วนั้น ออกมาอย่างสุดฤทธิ์

ผลคือหนังสือถูกยับยั้ง ตำรวจเรียกตัวข้าพเจ้าไปสอบสวน และได้เกิดกรณีโยนบกขึ้น โดยนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ และฝ่ายปฏิกิริยา ที่สมคบกันวางแผนจับข้าพเจ้าโยนลงมาจากเวทีหอประชุม ขณะข้าพเจ้ากำลังปราศรัยชี้แจงเนื้อหาของหนังสือที่ถูกยับยั้งแก่นิสิตประมาณ 3 พันคน ตัวข้าพเจ้านอนเจ็บอยู่ 4 เดือน และถูกพักการเรียน 2 ปี

กรณีโยนบก และหนังสือมหาวิทยาลัยฉบับนี้เป็นผลที่เกิดจาก

1) มองเห็นแต่ทฤษฎี (บางส่วน) แต่ไม่รู้จักมรรควิธีภาคปฏิบัติ

2) ตื่นเต้นต่อสัจธรรมที่เพิ่งจบ และกระโดดออกมาโฆษณาสิ่งที่ตนเห็นว่าถูกต้องที่สุดอย่างคนเมา เป็นลักษณะร่วมทั่วไปของผู้ที่ตื่นตัวใหม่ แต่กรณีของข้าพเจ้าออกจะรุนแรงมากไปกว่าปกติธรรมดา

3) เป็นการระเบิดรุนแรงที่เกิดขึ้นจากการต่อสู้ขั้นแตกหัก ระหว่างความขัดแย้งภายใน ความคิดของข้าพเจ้า ซึ่งความคิดใหม่ชนะความคิดเก่า และสะท้อนออกมาเป็นการเหวี่ยง จากปลายสุดขั้วทางขวามาสู่ปลายสุดขั้วทางซ้าย

4) ผู้ผลักดันข้าพเจ้าทั้งหมด ไม่เข้าใจความเปลี่ยนแปลงทางคุณภาพที่เกิดขึ้นภายในความคิดของข้าพเจ้า เข้าใจว่าข้าพเจ้าลงพิมพ์เรื่องก้าวหน้าด้วยจิตใจลัทธิวีรบุรุษ ทำให้การผลักดันกลายเป็นการช่วยกันผลักไสให้ข้าพเจ้าเอาหัวชนกำแพงให้แรงที่สุด โดยไม่มีการประคับประคองยับยั้งหรือให้สติ

แต่อย่างไรก็ดี อีกด้านหนึ่ง กรณีโยนบก ก็เป็นผลสะเทือนที่ดีต่อจุฬาฯ คือได้เปิดศักราชของการต่อสู้ ระหว่างทรรศนะการเมืองสองแนวขึ้นในมหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์อย่างแจ่มชัดนับแต่นั้น และต่อส่วนตัวข้าพเจ้าก็เป็นเส้นชี้ขาดของการเปลี่ยนความคิดอย่างเด็ดขาดแท้จริงนับแต่นั้นเป็นต้นมา” (ข้อมูล NeoFreeEnergy Group)

 

อย่างที่ทราบกัน จิตร ภูมิศักดิ์ เลือกที่จะเดินทางซ้าย

อันนำไปสู่เหตุการณ์ ดังบทเพลง “จิตร ภูมิศักดิ์” ของ สุรชัย จันทิมาธร

“…พฤษภา ห้าร้อยเก้า แดดลบเงาจางหาย

เขาตายอยู่ข้างทางเกวียน

ศพคนนี้นี่หรือคือ จิตร ภูมิศักดิ์

ศพคนนี้นี่หรือคือ จิตร ภูมิศักดิ์”

น่าเสียดายที่วาระ 100 ปี แห่งการสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ 51 ปีแห่งการจากไปของ จิตร ภูมิศักดิ์ มิได้มีเวทีที่จะกล่าวถึงนักคิด นักเขียน นักประวัติศาสตร์ นักอักษรศาสตร์ ฯลฯ ผู้นี้

แถมยังเกิดปรากฏการคล้ายๆ กัน คือ “กรณีเนติวิทย์”

แม้จะไม่รุนแรง ถึงขนาดถูกโยนบก

แต่ก็ส่อให้เห็นถึงแนวโน้มแห่งความรุนแรงอย่างน่าเป็นห่วง

ยังไม่รู้ว่าตลอด 4 ปีของการเป็นนิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ เขาจะท้าทายและต้องเผชิญอะไรอีก

แต่ พฤษภา ห้าร้อยหกสิบ

เสียงถามไถ่ถึง

เด็กคนนี้

นี่หรือคือ

“เนติวิทย์”

ก็กระหึ่มมหาวิทยาลัย 100 ปีแห่งนี้