ทำไมซีรี่ส์วายถึงประสบความสำเร็จสูงสุด ? และแนวโน้ม หญิง-หญิงที่กำลังจะมาถึง ?

คีย์ ออฟ ซัคเซส ของซีรี่ส์วาย และเรื่องหญิงรักหญิงที่กำลังจะมาถึง

เอ่ยถึงจีเอ็มเอ็มทีวี คำว่า “ซีรี่ส์วาย” ก็ผุดขึ้นในหัว

ฟังนพณัช ชัยวิมล คอนเทนต์โปรดักชั่น ผู้ดูแลการผลิตซีรี่ส์ให้ค่ายนี้ยิ้ม แล้วบอกว่าแต่ละปีบริษัทเขาทำซีรี่ส์ 12-13 เรื่อง เป็นงานวายไม่เกิน 2-3 เรื่อง แต่งานแนวนี้มักถูกพูดถึงอย่างกว้างขวาง ทั้งๆ ที่เรื่องแนวอื่นดีงามไม่แพ้กัน

เหตุผลส่วนหนึ่งนั้น คนที่ทำ “เขามาเช็งเม้งข้างๆ หลุมผมครับ“, “Dark Blue Kiss“, “เพราะเรา (ยัง) คู่กัน” ฯลฯ ประเมินว่า น่าจะเป็นเพราะคอนเทนต์วายทำงานกับกลุ่มคนที่ชื่นชมวัฒนธรรมไอดอล

“แล้วเวลาชื่นชมไอดอล เขาก็จะพูดถึง จะสนับสนุน เสียงก็เลยไปกลบเรื่องอื่นๆ”

นพณัชบอกด้วยว่า คนที่ติดตามงานของจีเอ็มเอ็มทีวีคือกลุ่มวัยรุ่น แต่ส่วนของซีรี่ส์วายแยกได้ว่าส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง และ “มีลักษณะเฉพาะคือจะใช้โซเชียลไปพร้อมๆ กัน”

“มันก็ส่งผลให้คนที่ไม่ได้ดู เห็นผ่านตา”

ตอนกระแส “คั่นกู” ที่คนถามกันให้ควักว่าคืออะไร ก่อนจะได้ความว่ามาจากเรื่อง “เพราะเรา (ยัง) คู่กัน” คือตัวอย่าง แต่แน่นอนว่ามีอีกหลายปัจจัยที่ทำให้งานเหล่านี้ประสบความสำเร็จ

“ละครอื่นๆ ที่คนดู หนึ่งมาจากแคสติ้งที่ใช่ ที่เรียกคนดูได้ แต่ในความเป็นซีรี่ส์วายจะมีเชิงกลยุทธ์ลงไปอีกว่าเราต้องผลักดันเด็กใหม่เข้าสู่วงการ เพราะจะไม่มีภาพติดมาก่อนว่าเขาเป็นใคร ทำให้เกิดเมจิกของการดู แล้วเชื่อว่านี่คือตัวละครได้ง่ายกว่า”

ตัวเรื่องก็สำคัญ นพณัชว่า

“เรื่องที่เราทำส่วนใหญ่อยู่บนพื้นฐานของความสนุก คนดูมีประสบการณ์ร่วม วัฒนธรรมในมหาวิทยาลัย โรงเรียน ทุกคนมีประสบการณ์ ที่สำคัญเล่าผ่านเรื่องรัก เรื่องโรแมนติก ทุกคนเข้าถึงได้ง่ายอยู่แล้ว”

ขณะเดียวกันเขามองว่า นี่คือเทรนด์

“5 ปีหลังมานี้จะเห็นการเติบโตแบบก้าวกระโดด เมื่อก่อนจะหาเรื่องบอย เลิฟ ต้องไปหาที่แอบอยู่ตามชั้นต่างๆ แต่เดี๋ยวนี้เดินเข้าร้านหนังสือ ไปยืนตรงไหนก็ได้แล้วหมุน 360 องศา จะเห็นปกนิยายวายรอบตัว แล้วพอไม่ต้องแอบซ่อน คนก็เปิดรับง่ายขึ้น”

เรื่องการจะติดต่อนักแสดงมาเล่น เขาว่าเดี๋ยวนี้ก็ง่ายขึ้นเช่นกัน

“มันเป็นช่องทางลัดที่หลายคนเลือกใช้” เขาให้ความเห็น

“ที่ผ่านมามันมีคีย์ ออฟ ซัคเซสของการเล่นวายแล้วเกิดได้ง่ายๆ มากมาย สัดส่วนและโอกาสนำพามาซึ่งการเกิดได้ง่ายกว่าจริงๆ แต่ก็ไม่เสมอไปทุกเคส เพราะซีรี่ส์วายที่ไม่ประสบความสำเร็จก็มีอีกจำนวนหนึ่งทีเดียว”

“สำหรับผม การทำซีรี่ส์วายคือสูตรเดียวกับการสร้างซีรี่ส์ทั่วไป แต่ลักษณะเฉพาะที่พอจะแชร์ได้คือต้องเป็นเรื่องที่คนรีเลต มีประสบการณ์ร่วมได้ง่าย และความเป็นซีรี่ส์ที่ว่าด้วย LGBT ความหลากหลายทางเพศ เพราะฉะนั้น อะไรที่รุนแรงไป เลิฟซีนมากไป หนักเกินไป คงไม่ดี ผมว่ามันจะง่ายขึ้นถ้าดูพร้อมพ่อ-แม่ได้ ไม่ต้องแอบ สมมุตินั่งดูกับหลานที่เป็นผู้ชาย แล้วมีการจูบกันของผู้ชายกับผู้ชาย มันอดไม่ได้ที่จะผงะ หรือจะต้องพยายามอธิบาย”

“ตอนนี้การยอมรับเรื่องความหลากหลายทางเพศเติบโตขึ้นมากๆ แล้ว แต่ก็ยังไม่ทั้งหมดหรอกครับ ในระดับส่วนตัวคืออย่างน้อยเราก็ใช้ซีรี่ส์วายเป็นตัวขับเคลื่อน จะมากจะน้อยก็แล้วแต่ แต่เราต้องให้แมสเสจที่ดีงาม ไม่ชี้นำค่านิยมผิดๆ ว่าการเป็นตัวละครชายรักชาย ความหลากหลายทางเพศจะต้องจบลงที่แทรจิดี้ ถูกบังคับให้แต่งงาน สุดท้ายฆ่าตัวตาย ที่ผ่านมาเรามีชุดความคิดที่ถูกปลูกฝังมาตลอด ไม่เคยมีพื้นที่ให้ชายรักชายที่สวยงาม สุข สมหวัง แต่ยุคนี้มันมีความสุขได้ ก็อาจจะเป็นเรื่องที่คนเปิดใจยอมรับกันมากขึ้น”

กับการทำงานแนวนี้ นพณัชบอกว่า ทีมคัดกรองของจีเอ็มเอ็มทีวี จะช่วยกันดูแลเรื่องความเหมาะสม

“อะไรที่หมิ่นเหม่ หรือชี้นำไปสู่อะไรบางอย่างที่เข้าใจผิดก็ต้องระมัดระวัง เพราะคอนเทนต์ที่เกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศจะเซ็นซิทีฟกว่าเรื่องอื่น เพราะมันก่อให้เกิดชุดความคิดของคนดูที่ถกเถียงกันได้เสมอ”

ในส่วนของคนดู จากเดิมนอกจากในบ้านเราและคนดูในแถบเอเชียที่ชื่นชอบ นพณัชบอกว่าเริ่มมีแฟนๆ จากฝั่งยุโรป ละตินอเมริกา สเปน ฝรั่งเศส อังกฤษ และอเมริกาแล้ว

อย่างไรก็ตาม เมื่อถามถึงอนาคตของซีรี่ส์แนวนี้ เขาว่านั่นเป็นเรื่องที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ ที่ทำได้ก็เพียง “ทำให้ดีที่สุด”

“สำหรับผม ทุกเพศก็มีความรักที่ดีได้ อาจจะฟังดูโลกสวย แต่สุดท้ายทุกอย่างมันก็แค่นี้เอง วันนี้อาจจะยังไม่ต้องไปถึงความเท่าเทียมก็ได้ แต่ว่ามันมีอยู่จริง ช่วยรับรู้ และเปิดใจหน่อย”

หญิงรักหญิง

ขณะที่ซีรี่ส์ชายรักชายกลายเป็นที่นิยมและมีจำนวนการผลิตมากขึ้น เรื่องของหญิงรักหญิงกลับไม่ค่อยถูกหยิบยกมานำเสนอ เกี่ยวกับเรื่องนี้นพณัชมองว่าอาจเป็นเพราะยังไม่มีใครกล้าลงทุน

“ซีรี่ส์วายมันเคยถูกหยอดไปในซีรี่ส์ชายหญิง แล้วเห็นว่ามีคนดูแบบนี้ ชอบแบบนี้ เลยค่อยๆ ถูกขยายมาเป็นตัวหลัก แต่กับหญิง-หญิง อาจยังไม่มีความเชื่อมั่นว่าจะมีคนดูพอไหม”

“แต่จีเอ็มเอ็มทีวีกำลังเริ่มต้นกับซีรี่ส์ เฟรนด์โซน 2 แล้วดูซิว่าคนจะชอบไหม แต่ผมเชื่อว่าในอนาคตข้างหน้าจะถูกพัฒนาไปให้มี เพราะผมก็อยากให้มีพื้นที่ในเรื่องนี้ และเชื่อว่าคนดูก็เฝ้ารอ อยากจะเห็น”