เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ | ทำทางไม่ให้แกะหลง

ทางรกต้องถกต้องถาง

ทำทางไม่ให้แกะหลง

ส่วนแกะหลงทางยังคง

เดินด้นวนวง…คงมี

สำนวนเขาว่า

ต้องทำทางไม่ให้แกะหลง ส่วนแกะหลงทางที่ยังมีอยู่ก็จะเป็นปัญหาส่วนน้อยแล้ว

ถอดความคือ ระบบดี สังคมดี ถ้าระบบไม่ดี สังคมจะดีได้อย่างไร

หลู่ซิ่น นักเขียนใหญ่ของจีน เป็นนายแพทย์ใหญ่ ก่อนจะมาเป็นนักเขียน ให้สัมภาษณ์ว่า

ถ้ายังเป็นแพทย์รักษาคนอยู่ก็จะไม่มีวันรักษาได้จบสิ้นตราบที่สังคมยังป่วยไข้อยู่ เขาจึงทิ้งเข็มฉีดยามาจับปากกาเยียวยาสังคมด้วยงานวรรณกรรมหลากหลาย อันมีผลช่วยปฏิวัติสังคมได้จริง

บริเวณอนุสรณ์สถานที่เป็นบ้านของหลู่ซิ่น มีหลักหินตั้งตระหง่านอยู่กลางลานพร้อมอักษรจีนตัวโตๆ เรียงเป็นแนวตั้งสี่ตัว ด้วยคำว่า

วิญญาณแห่งชาติ

วรรณกรรมเอกของหลู่ซิ่นสะท้อนถึงวิถีอันไม่เป็นธรรมของระบบกดขี่ในสังคมจีนช่วงก่อนปฏิวัติ เช่น สภาพยอมจำนนของคนชั้นผู้ถูกกดขี่ในเรื่องชื่อ “เรื่องจริงของอาร์คิว” และ “ปัญญาชนคนโง่และทาส” เป็นต้น

วรรณกรรมดีๆ จึงเป็นงานปฏิวัติที่มีปากกาเป็นอาวุธสำคัญ ด้วยการปลดปล่อยความไม่รู้ พร้อมยกระดับการต่อสู้ทางชนชั้นได้อย่างแหลมคมยิ่ง

“ความไม่รู้” เป็นพันธนาการที่ผูกมัดผู้คนให้ติดกับดักตัวตน ตั้งแต่การดิ้นรนเอาตัวรอดอย่างสามัญสัตว์ ไปจนถึงเอาตัวเป็นศูนย์กลางจักรวาลชนิด

อหังการ์คับฟ้า อัตตาคับกรง

ระบบเลวก็ยิ่งทำให้สังคมเลว คนจึงกลายเป็น “แกะหลงทาง” ในสังคมที่ทำให้คนเดินหลงไปลงเหวกันอยู่นี้

ความไม่รู้ของคนจึงเหมือนคนตาบอดที่จูงคนตาบอดไปลงเหวด้วยกัน

ในจีนสมัยหนึ่ง เขามีนโยบายที่เรียกว่า “เข็มมุ่ง” ดังนี้

ปลดปล่อยพลังการผลิต พัฒนาพลังการผลิต

ทำลายการกดขี่ขูดรีด

ขจัดช่องว่างระหว่างความมีจน

บรรลุสู่ความมั่งคั่งร่วมกัน

เขาถือว่า คนทุกคนมีความสามารถที่เป็นศักยภาพอันนำไปสู่ “การผลิต” คือสร้างประโยชน์ทั้งเพื่อส่วนตัวและส่วนรวมได้โดยธรรมชาติ หากแต่มีอะไรบดบังหรือปิดกั้นอยู่เท่านั้น เช่น “ความไม่รู้” นี่ก็ถือเป็นพันธนาการหนึ่งที่จำเป็นต้อง “ปลดปล่อย”

คือปลดพันธนาการความไม่รู้ออกเท่านั้นก็จะบรรลุถึงความรู้ใน “พลังการผลิต” ของตนได้ทันที

ในที่นี้ การศึกษาจึงถือเป็นส่วนหนึ่งของการปลดปล่อยพลังการผลิต คือปลด “ความไม่รู้” ออกไป ให้กลายเป็น “ความรู้” นั่นเอง

เมื่อปลดปล่อยจนประจักษ์ในความสามารถหรือศักยภาพของตนแล้ว เข็มมุ่งประการต่อมาก็คือ “พัฒนาพลังการผลิต” นั้นให้เป็นประโยชน์ทั้งต่อตนและส่วนรวมต่อไป

จะว่าไป เข็มมุ่งเหล่านี้ก็คือ “ยุทธศาสตร์” เพื่อปฏิรูปสังคมโดยตรง จากปลดปล่อยและพัฒนาพลังการผลิต ซึ่งคืองานปฏิรูปด้านการศึกษาและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์แล้ว ขั้นต่อไปคือ

ทำลายการกดขี่ขูดรีด และขจัดช่องว่างระหว่างความมีจน

ที่ไทยเรานำมาเป็นแนวทางปฏิรูปตั้งแต่ครั้งสภาและสมัชชาปฏิรูปที่มีท่านอานันท์ ปันยารชุน และคุณหมอประเวศ วะสี เคยเสนอเป็นวาทะว่า

ลดความเหลื่อมล้ำ

สร้างความเป็นธรรม

ขจัดช่องว่างระหว่างความมีจน ก็คือการ “ลดความเหลื่อมล้ำ” ทำลายการกดขี่ขูดรีด ก็คือการ “สร้างความเป็นธรรม”

นี่เป็นหัวใจของการปฏิรูป ดังไทยเรามาตั้งธงต่อคือ เพื่อบรรลุสู่ความ “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ซึ่งก็คือ “เข็มมุ่ง” ที่ว่า “บรรลุสู่ความมั่งคั่งร่วมกัน”

คํา “ปฏิ” ที่เราคุ้นชินนำมาใช้กันนี้มีอยู่สามคือ ปฏิวัติ ปฏิรูป และปฏิสังขรณ์ โดยนัยความหมาย ปฏิวัติคือเปลี่ยนแปลง ปฏิสังขรณ์คือปรับปรุง ปฏิรูปคือปรับเปลี่ยน โดยนำนัยยะของปฏิวัติกับปฏิสังขรณ์มาผสานกัน คือต้องมีทั้งการเปลี่ยนแปลงและปรับปรุงจนกลายเป็น “ปรับเปลี่ยน” อันเป็นความหมายของการปฏิรูปอยู่นี้

ระบบจะดีได้ต้องการการปฏิรูปอย่างจริงจังและจริงใจ ด้วยการสร้างระบบดีจะทำให้สังคมดี สังคมดีก็คือสังคมที่คนรู้จักตัวเอง มั่นใจในความเป็นตัวเอง ในความสามารถหรือศักยภาพของตนอย่างแท้จริง

ไม่เป็นแกะหลงทางเพราะทางรกวกวนเป็นเขาวงกตกันอยู่อย่างนี้

จากกลอนข้างต้น อาจเปลี่ยนเป็นกลอนข้างท้ายนี้ได้สำหรับแกะบางตัวที่ชอบหลงทาง

ทางรกต้องถกต้องถาง

ทำทางไม่ให้แกะหลง

ส่วนแกะหลงทางยังคง

เดินด้นวนวง…จงใจ!