ธงทอง จันทรางศุ | ผู้ใหญ่ “โดนแกง”

ธงทอง จันทรางศุ

ถึงแม้จะไม่ได้มีอาชีพเป็นครูสอนภาษาไทยโดยตรง

แต่ผมก็ทะนงตนเสมอมาว่าเป็นผู้ที่ใช้ภาษาไทยในการทำมาหากินมากกว่ามาตรฐานปกติของคนทั่วไปพอสมควร

เพราะได้อาศัยภาษาไทยนี่แหละเป็นเครื่องมือในการพูดการเขียนเพื่อสื่อสารความคิดและความรู้ต่างๆ ที่สะสมไว้ตลอดชีวิตแบ่งปันให้คนอื่นได้รู้ได้เข้าใจไปด้วย

จึงไม่น่าแปลกใจ ถ้าผมจะมีความสนใจในเรื่องวิวัฒนาการของภาษาเป็นพิเศษ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อได้ติดตามการสื่อสารหรือการใช้ภาษาของเด็กวัยรุ่น ที่อายุอานามอยู่ในเขตที่เป็นลูกศิษย์หรือลูกงานของผมได้สบายๆ ผมได้พบว่ามีคำที่เกิดขึ้นใหม่หลายครั้งหลายคำ

ทำเอาชายชราอย่างผมอ่านแล้วก็งวยงงไปเหมือนกัน

ต้องแก้ไขความไม่รู้ของตัวเองโดยการโทรศัพท์ไปถามลูกศิษย์บ้าง ถามหลานสาวหลานชายที่อยู่รอบตัวบ้าง

หรือบางทีก็ใช้วิธีการเขียนข้อความแปะไว้ใน Facebook เป็นคำถามสาธารณะที่ให้คนเข้ามาช่วยกันตอบหรือให้ข้อมูล

ตัวอย่างเช่น เมื่อประมาณต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ผมอ่านพบในหลายที่และได้ยินอีกหลายครั้งว่ามีคำใหม่เกิดขึ้นคำหนึ่ง เด็กๆ เขาพูดกันว่า “ปังปุริเย่”

เมื่อได้ยินบ่อยเข้าก็เกิดความสงสัยและลุกขึ้นตั้งคำถามทิ้งไว้ใน Facebook

โอ้โฮ! คนเข้ามาตอบเยอะแยะเลยครับ ส่วนใหญ่แล้วจากความได้ไปในทำนองเดียวกันว่าคำดังกล่าวหมายความว่า เลิศมาก หรือสุดยอดไม่มีอะไรเปรียบปานได้

หลายคนให้ข้อมูลว่า คำศัพท์คำนี้ขึ้นต้นจากคำว่า “ปัง” ก่อนเป็นประเดิม ปังที่ว่านี้แปลว่าดี แถมมีบางคนยังเดามาให้ด้วย ว่าคำว่าปังที่แปลว่าดีนี้ อาจมาจากเสียงดังปัง เช่น เสียงของปืน นำมาใช้ในความหมายว่ามีชื่อเสียงโด่งดังนั่นเอง

จริงเท็จอย่างไรให้ไปถามเอาที่ราชบัณฑิตยสภานะครับ อิอิ

อยู่ไปอยู่มา คำว่าปังคำเดียวไม่สาแก่ใจเสียแล้ว จึงมีการเติมสร้อยเข้าไปครั้งแรกว่า ปังปุริ

พอมีปังปุริแล้ว ก็มีใครไม่รู้คนหนึ่งหรือหลายคนนำคำว่าเย่ไปเติมเข้าข้างหลัง นัยว่าให้เสียงไพเราะมากขึ้น ฟังดูคล้ายภาษาฝรั่งเศสอย่างไรก็ไม่รู้ กลายเป็นคำใหม่ว่าปังปุริเย่ ที่ใช้กันในหมู่วัยรุ่นทั่วไปและผมขอยืมมาใช้บ้างในบางเวลา

ไม่ทราบเหมือนกันครับว่าคำนี้จะติดอยู่ในความนิยมไปได้ช้านานเพียงใด

คําประเภทนี้ภาษาฝรั่งเรียกว่า Slang (สแลง) เป็นคำที่เกิดขึ้นจากความนิยมของผู้คนในบางกลุ่มบางเวลา ส่วนใหญ่เกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไปในเวลาไม่นานนัก

แต่บางคำก็สามารถอยู่ยั้งยืนยงจนกระทั่งกลายเป็นถ้อยคำที่ทุกคนยอมรับว่าเป็นคำสามัญขึ้นมา ไม่ใช่คำสแลงอีกต่อไปแล้ว

แบบนี้ก็มีอยู่มาก

คำที่ฝรั่งเรียกว่าสแลงนี้ ผมเคยอ่านพบในพระราชนิพนธ์เรื่องไกลบ้านของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ได้ทรงพระราชนิพนธ์ไว้เมื่อคราวเสด็จประพาสทวีปยุโรปครั้งที่สองในปีพุทธศักราช 2450 หนังสือเรื่องดังกล่าวกว่าจะได้พิมพ์เผยแพร่ครั้งแรก ก็เป็นเวลาถึงอีก 16 ปีต่อมา กล่าวคือ ได้พิมพ์ขึ้นเมื่อพุทธศักราช 2466 ในงานฉลองพระชันษา พระอัครชายาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมขุนสุทธาสินีนาฏ

ผมสังเกตว่าหนังสือเล่มนี้ ผู้จัดพิมพ์ได้ทำเชิงอรรถขึ้นอธิบายขยายความให้ผู้อ่านได้ทราบว่า ชื่อบุคคลก็ดี ข้อความบางตอนก็ดีที่ปรากฏในพระราชนิพนธ์นั้น หมายถึงท่านผู้ใด พระองค์ใด หรือหมายความว่าอะไร เพราะระยะเวลาห่างกันถึง 16 ปีจากวันที่ทรงเขียนหนังสือเล่มนี้ขึ้นจนถึงวันที่คนทั่วไปได้อ่านหนังสือเป็นครั้งแรก ความรู้อาจจะเลือนหายไปแล้วเป็นอันมาก

ถ้อยคำหลายคำที่ปรากฏในพระราชนิพนธ์ดังกล่าว และต้องมีการทำเชิงอรรถเพื่อความเข้าใจ เชิงอรรถใช้คำอธิบายว่าคำเหล่านั้นเป็นคำแผลง ซึ่งก็คือคำสแลงที่เรากำลังพูดกันอยู่นี่เอง

ตัวอย่างเช่น เมื่อเสด็จพระราชดำเนินไปพบหมอเพื่อตรวจพระอาการ เมื่อตรวจพระอาการเสร็จ ก่อนเสด็จฯ กลับ ทรงเล่าว่า “แกเลยทุ่มเหว ว่าพ่อกลัวจะตายในสามปีนั้นไม่ตาย ถ้าผ่อนทำงานให้น้อยลงหน่อย นอนให้มากขึ้นอีกหน่อย จะอยู่ได้ 80…”

เชิงอรรถตอนท้ายหน้าดังกล่าวอธิบายว่า “ทุ่มเหวหรือทุ่ม เปนคำแผลง หมายความว่ายอ”

ตัวอย่างอีกที่หนึ่ง ทรงเล่าถึงวันที่เสด็จพระราชดำเนินออกจากพระนคร มีผู้คนมาส่งเสด็จเป็นจำนวนมากทั้งไทยและฝรั่ง ทรงอธิบายว่า “…ตามทางฝรั่งทึ่งก็มาก แต่ไทยๆ ออกไม่ใคร่รู้สึก เห็นเปนเสด็จเที่ยวตามเคย…”

คำว่าทึ่ง ตรงนี้ เชิงอรรถบอกว่าเป็นคำแผลง หมายความว่า ใคร่ดู

ผมเคยอ่านพบที่ไหนสักแห่งหนึ่ง แต่ตอนนี้ยังหาไม่เจอ ย้อนความไปถึงต้นกำเนิดของคำว่าทึ่ง ว่าในสมัยรัชกาลที่ห้านั้นเองได้ทรงเลี้ยงนกอีมูไว้ตัวหนึ่ง ในพระบรมมหาราชวัง นกนี้ก็เดินไปเดินมาอยู่ด้านหน้าของพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท เมื่อนกอีมูพบเห็นอะไรที่สนใจเป็นพิเศษก็จะเดินเข้าไปใกล้ และส่งเสียงในลำคอดังได้ยินว่า “ทึ่ง ทึ่ง…” แล้วจับตามองด้วยความสนใจ

คำว่าทึ่ง จึงเกิดขึ้นในฐานะเป็นคำแผลงในภาษาไทยก่อน แต่เป็นคำที่ติดลมบน หมายความว่าเป็นที่นิยมกันทั่วไป และใช้ต่อเนื่องกันมาช้านานจนกลายเป็นคำสามัญไปเสียแล้ว เวลาผมเห็นอะไรน่าสนใจน่าแปลกใจควรแก่การที่จะได้ดูเป็นพิเศษ ผมก็บอกว่าเรื่องนี้น่าทึ่งเป็นอันมาก อย่างนี้เป็นต้น

นี่แปลว่าคำแผลงหรือคำสแลงบางคำ ลบเลือนหายไปจากความรับรู้ของผู้คนในเวลาไม่ช้า เช่น ถ้ามีใครพูดคำว่าทุ่มเหวขึ้นมาเวลานี้ ใครเลยจะไปรู้ว่าหมายความว่าการสรรเสริญเยินยอ

ส่วนใหญ่คงเข้าใจว่าเอาไปทุ่มเหวกันจริงๆ เท่านั้น ถ้ารอดตายตะเกียกตะกายขึ้นมาจากก้นเหวได้ค่อยมาพูดกันอีกทีหนึ่งก็แล้วกัน

แต่คำบางคำเช่นทึ่ง ก็เป็นที่ยอมรับคุ้นเคยจนไม่มีใครรู้แล้วว่าต้นทางเคยเป็นคำสแลงมาก่อน

เหมือนกับคำว่า “เชย” ไงครับ

ถ้าไปอ่านหนังสือก่อนรัชกาลที่เจ็ดขึ้นไปเราจะไม่พบคำนี้เลยในความหมายที่เราใช้กันในปัจจุบันว่าตกยุคตกสมัย เพราะคำว่า “เชย” เช่นที่เราพูดกันในประโยคว่า ทำไมอาจารย์ธงทองถึงแต่งตัวเชยอย่างนี้ เป็นคำสแลงที่เกิดขึ้นจากงานเขียนของ ป.อินทรปาลิต ในนิยายชวนหัวชุดพล นิกร กิมหงวน ที่ผมติดงอมแงมเมื่อตอนเป็นเด็ก ในเรื่องดังกล่าวมีตัวละครตัวหนึ่ง ชื่อลุงเชย มาจากปากน้ำโพ ลุงเชยแกทำอะไรไม่เหมือนคนอื่นทั่วไป ถ้าเป็นปัจจุบันก็ต้องบอกว่า “เอาต์” (out) มาก

แรกทีเดียวใครเห็นคนอื่นทำตัวผิดยุคผิดสมัยก็จะทักว่า ทำตัวเป็นลุงเชยไปได้

อยู่ไปอยู่มา “ลุง” ก็หายไป เหลือแต่คำว่า “เชย” ให้เราใช้อยู่จนปัจจุบัน

แต่ใครจะไปรู้ได้ วันข้างหน้าแม้แต่คำว่าเชยเองก็อาจจะไม่เหลืออยู่ก็เป็นได้นะครับ

เรื่องอย่างนี้ไม่มีใครสั่งการบังคับบัญชาได้ คำแผลงแต่ละคำเมื่อเกิดขึ้นแล้ว ส่วนใหญ่สืบไม่ได้ว่ามาจากที่ใด บางคำอาจจะพอรู้เค้าบ้าง แต่จะยืนยันมั่นคงเอาแน่นอน 100% ก็ไม่ค่อยได้หรอกครับ และเมื่อเกิดขึ้นแล้วจะได้รับความนิยมอยู่ช้านานเพียงใดก็ไม่มีใครกำหนดบอกได้

เรียกว่าเป็นวิวัฒนาการของภาษาอย่างหนึ่งที่น่าสนใจ

ตัวอย่างล่าสุดที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา คือคำว่าโดนแกง หรือคำว่า “แกง” เฉยๆ ที่มีผู้ใช้อธิบายปรากฏการณ์การเตรียมรับสถานการณ์ของเจ้าหน้าที่บริเวณรอบทำเนียบรัฐบาลในตอนเช้าวันที่ 20 กันยายนที่ผ่านมา แต่สุดท้ายแล้วก็ไม่มีใครไปชุมนุมประท้วงอะไรแถวนั้นเลย

บังเก้อไปมากทีเดียว

เด็กๆ บอกว่า ผู้ใหญ่ “โดนแกง” เสียแล้ว และเป็นแกงหม้อใหญ่บิ๊กไซซ์ (Big size) เสียด้วย

ผมก็รีบไปถามเด็กทีเดียวว่าคำนี้แปลว่าอะไรและมาจากที่ไหน ได้คำอธิบายว่า คำดังกล่าวมีความหมายว่าถูกหลอกหรือโดนแกล้ง ส่วนต้นทางนั้นมีคำอธิบายเป็นสองฝ่าย ฝ่ายแรกบอกว่ามาจากคำว่าแกล้ง ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งบอกว่ามาจากคำว่าต้มยำทำแกง ฟังดูก็มีเหตุผลอยู่ทั้งสองอย่าง

ข้อนี้ให้ไปถามราชบัณฑิตยสภาเช่นเคยว่าอะไรเป็นคำตอบที่ถูกต้อง ฮา!

อย่าไปถามคุณลุงอะไรนั่นทีเดียวนะครับ ตัวใครตัวมัน

ผมไม่เกี่ยวนะเออ