รหัส มหายาน : ปรัชญาปารมิตาสูตร กับ นาคารชุน

หากถือเอาที่ท่าน “เสฐียรโกเศศ” เขียนในหนังสือลัทธิของเพื่อนฉบับสมบูรณ์เป็นจุดเริ่ม นามและแนวทางอันปรากฏผ่านนาคารชุน

ค่อนข้างลึกลับ ขรึมขลัง และเข้มข้น

ตามตำนานกล่าวว่า นาคารชุนมีอิทธิสามารถมาก เพราะฉะนั้น ประวัติของท่านผู้นี้จึงมีเรื่องราวกล่าวไปทางปาฏิหาริย์

เช่นกล่าวว่าคัมภีร์ชื่อปรัชญาปารมิตา (หนทางอันเข้าสู่ปัญญา) ซึ่งนาคารชุนเป็นผู้แสดง เป็นพระพุทธวจนะซึ่งพระพุทธเจ้าทรงรจนาและซ่อนไว้ในบาดาล มีนาคเป็นผู้พิทักษ์รักษาจนกว่าจะถึงเวลาอันสมควรที่มนุษย์จะสามารถเข้าใจข้อพระธรรมอันลึกซึ้งซึ่งมีอยู่นั้น

พระคัมภีร์นี้ นาคารชุนได้ลงไปนำขึ้นมาจากบาดาลและเป็นหลักในลัทธิที่นาคารชุนแสดง ซึ่งเรียกว่า “มาธยมิก” หรือนิกายสายกลาง

อันตรงกับที่ปรากฏในหนังสือพุทธศาสนามหายาน ของ สุมาลี มหณรงค์ชัย

เมื่อบวชแล้วก็ได้ศึกษาวิทยาการต่างๆ จนรอบรู้แตกฉานทั้งในเรื่องการแพทย์ การเล่นแร่แปรธาตุ รวมทั้งพุทธปรัชญา จนครั้งหนึ่งได้รับเชิญจากพระยานาคให้เดินทางลงไปยังบาดาลเพื่อสนทนาธรรม

ที่แห่งนั้นเองที่ท่านได้พบพระสูตรมหายานซึ่งเก่าแก่และมีชื่อเสียงมากที่สุดอันหนึ่ง นั่นคือปรัชญาปารมิตาสูตร จึงได้นำกลับมาเผยแผ่ยังโลกมนุษย์

สถานการณ์นี้เองจึงได้นาม “นาคารชุน”

อภิญวัฒน์ โพธิ์สาน อ้างข้อมูลทิเบตว่า นาคารชุนเมื่อเรียนจบในมหาวิทยาลัยนาลันทาแล้วก็ได้ใช้ความรู้ความสามารถในด้านพระพุทธศาสนาและศาสตร์ต่างๆ มาโต้แย้งหลักธรรมคำสอนของลัทธิพราหมณ์ และสอนธรรมะแก่พระนักศึกษาในมหาวิทยาลัย

เคยมีพวกนาคจำแลงกายเป็นเด็กหนุ่มมาร่วมฟังธรรมเทศนาของท่าน

การมาร่วมฟังธรรมหลายหนทำให้พวกนาคประทับใจและออกปากนิมนต์ท่านนาคารชุนลงไปโปรดพวกนาคในเมืองใต้บาดาลแห่งนาคพิภพ

ท่านก็ได้รับนิมนต์และลงไปอยู่เป็นเวลา 3 เดือน

พวกนาคประทับใจและเลื่อมใสอยากให้พักอยู่เป็นการถาวรเลย แต่ท่านนาคารชุนก็ปฏิเสธว่าต้องเผยแผ่พระศาสนาแก่ผู้คนในชมพูทวีป แต่ก็ให้สัญญาว่าจะกลับไปเยี่ยมพวกเขาอีกเป็นครั้งคราว แล้วท่านก็กลับมายังโลกมนุษย์พร้อมกับนำคัมภีร์ชื่อ “นาคสาหสริกา” มาด้วย

เนื่องจากท่านมีความสัมพันธ์เกี่ยวกับพวกนาคและเมืองนาคอย่างนี้ จึงได้รับสมัญญานามว่า “นาคารชุน” หมายถึง “พระอรชุนของพวกนาค”

นาคารชุนมาจากคำสันสกฤต 2 คำ คือ นาคะ+อรชุนะ

อาจแปลว่า “อรชุนหรือพระเอกของพวกนาค” หรือ “อรชุนหรือพระเอกในหมู่พวกนาค”

ขณะเดียวกัน ในหนังสือชีวิตและผลงานนักปราชญ์ชาวพุทธ ยังอ้างอีกตำนานว่า โยคีตนหนึ่งสำแดงอิทธิฤทธิ์กระทั่งทำให้พญานาคราชชื่อมุจลินทร์เจ็บป่วยแสนสาหัส

ท่านนาคารชุนทราบจึงไปช่วยรักษาจนหาย

พญานาคราชมีความกตัญญูคิดจะตอบแทนบุญคุณจึงถวายคัมภีร์ปรัชญาปารมิตาสูตรให้ นัยว่าคัมภีร์นี้พญานาคราชได้รับมอบมาจากพระอานนท์ พุทธอนุชา นานมาแล้ว

ท่านนาคารชุนเมื่อได้คัมภีร์ปรัชญาปารมิตาสูตรมาก็สนใจศึกษาอย่างกระตือรือร้น และพบว่ามีบางส่วนขาดหายไป พญามุจลินทร์นาคราชให้มาไม่ครบ จึงหายตัวไปด้วยพลังฤทธิ์ไปปรากฏตัวยังนาคพิภพใต้บาดาลมหาสมุทร

ทวงถามแล้วนำกลับคืนมายังโลกมนุษย์

ขณะเดียวกัน ข้อมูลจากพระกุมารชีพก็ไม่ควรมองข้าม นั่นก็คือ พญานาคราชได้พาท่านนาคารชุนไปยังวังใต้มหาสมุทร และได้เปิดห้องเก็บสมบัติล้ำค่า 7 ประการ เปิดภาชนะบรรจุสมบัติล้ำค่านั้น

เลือกคัมภีร์ไวปุลยสูตรให้ท่านนาคารชุนได้อ่านศึกษา

โดยการได้อ่านคัมภีร์เหล่านี้ท่านนาคารชุนเข้าใจความหมายของคัมภีร์ทั้งหมดอย่างทะลุปรุโปร่งและลุ่มลึก ทำให้ความรู้ความเข้าใจในหลักธรรมมหายานเต็มสมบูรณ์ และเมื่อจะกลับขึ้นไปยังดินแดนมนุษย์ ได้นำคัมภีร์ส่วนหนึ่งคือปรัชญาปารมิตาสูตรจากคัมภีร์ไวปุลยสูตรมาจากเมืองนาคใต้มหาสมุทรด้วย

ท่านจึงได้ชื่อว่า “นาคารชุน” นับแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

ย้อนกลับไปอ่านหนังสือพุทธศาสนามหายาน ฉบับปรับปรุงแก้ไข พิมพ์ครั้งที่ 2 ของ สุมาลี มหณรงค์ชัย

ยิ่งชวนให้ตื่นตาตื่นใจ

วันหนึ่งในขณะที่ท่านกำลังอภิปรายปัญหาธรรมอยู่ ได้มีพญานาค 2 ตัวแปลงกายเป็นเด็กเที่ยวเล่นอยู่บนโลกมนุษย์

เมื่อได้ยินก็รีบหนีลงไปยังบาดาล

นาคารชุนะติดตามลงไป และได้ค้นพบคัมภีร์ปรัชญาปารมิตา ซึ่งมีถึง 100,000 คาถาที่นั่น

เหตุที่ท่านได้ชื่อว่านาคารชุนะ มีข้อสันนิษฐานหลายประการ อาทิ บ้างก็เชื่อว่าเป็นเพราะท่านเป็นผู้ปราบเหล่าพญานาค

บ้างก็เชื่อว่าเป็นเพราะท่านเกิดมาพร้อมกับสัจธรรมที่ลึกซึ้งดุจเดียวกับพญานาค ซึ่งออกมาจากมหาสมุทรลึก

บ้างก็กล่าวว่าเป็นเพราะท่านมีหลักปรัชญาที่ลึกซึ้งราวกับมหาสมุทร

และบ้างก็กล่าวเอาตรงๆ กันว่าเป็นเพราะท่านถือกำหนดที่ใต้ต้นไม้

ปรัชญาปารมิตาสูตรแปลจากภาษาสันสกฤตเป็นภาษาจีนหลายสำนวน แต่ที่ทุกคนต่างยอมรับมากที่สุดคือสำนวนของพระกุมารชีพ และเท่าที่มีการถ่ายทอดจากจีนสู่ไทยสำนวนที่แพร่หลายมากที่สุดเป็นของ เสถียร โพธินันทะ

ล่าสุดเมื่อปี พ.ศ.2544 อมร ทองสุก ได้แปลออกมาอีกสำนวนหนึ่งในชื่อ วัชรปรัชญาปารมิตาสูตร