การเมืองมาเลเซีย : ยังคงปั่นป่วน ด้วยผู้อาวุโสระวังนักการเมืองรุ่นใหม่

ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตาปรานีเสมอ มวลการสรรเสริญมอบแด่อัลลอฮฺผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก ขอความสันติสุขแด่ศาสนทูตมุฮัมมัด และสุขสวัสดีผู้อ่านทุกท่าน

23 กันยายน 2563 สื่อมาเลเซียและชายแดนภาคใต้โฟกัสไปที่อันวาร์ อิบราฮิม ผู้นำพรรคฝ่ายค้านมาเลเซีย แถลงข่าวระบุว่า ขณะนี้มีเสียงสนับสนุนจาก ส.ส.ในรัฐสภามากเพียงพอที่จะโค่นล้มรัฐบาลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีมูห์ยิดดิน ยัสซิน และจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ขึ้นบริหารประเทศแทน

นอกจากนี้ อันวาร์ยังระบุว่า กำลังรอเข้าเฝ้าสมเด็จพระราชาธิบดี เพื่อกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่อย่างเป็นทางการ หลังจากกำหนดการเข้าเฝ้าเดิมเมื่อช่วงกลางวันของวันดังกล่าวได้ถูกเลื่อนออกไป เนื่องจากพระองค์ต้องทรงเข้ารับการรักษาที่ศูนย์โรคหัวใจ

ขณะที่มูห์ยิดดิน ยัสซิน นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ออกแถลงการณ์พร้อมประกาศว่า “ยังคงดำรงตำแหน่งผู้นำมาเลเซียโดยชอบธรรมและไม่หวั่นไหวกับข้อกล่าวอ้างที่เลื่อนลอยของอันวาร์ อิบราฮิม เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นจะต้องเป็นไปตามกระบวนการทางกฎหมายและรัฐธรรมนูญของประเทศ และขณะนี้พรรครัฐบาลยังมีความแข็งแกร่งอยู่”

สอดคล้องกับหะยีฮาดีผู้นำพรรค PAS ที่จะยังคงสนับสนุนมูห์ยิดดิน ยัสซิน และปฏิเสธว่าไม่มี ส.ส.คนใดหนุนอันวาร์

ด้านสมเด็จพระราชาธิบดีมาเลเซีย จะไม่ให้ใครเข้าเฝ้าเป็นเวลา 1 สัปดาห์ เพราะจะเสด็จไปประทับที่โรงพยาบาล หลังจาก “อันวาร์ อิบราฮิม” แกนนำฝ่ายค้านจะเข้าเฝ้าเพื่อทูลขอพระราชานุญาตจัดตั้งรัฐบาลใหม่

เจ้าหน้าที่สำนักพระราชวังมาเลเซียแจ้งว่า คณะแพทย์ถวายคำแนะนำให้สมเด็จพระราชาธิบดี สุลต่าน อับดุลลาห์ ประทับที่โรงพยาบาลเป็นเวลา 1 สัปดาห์ เพื่อสังเกตพระอาการ ดังนั้น ในระหว่างนี้จะไม่ให้ผู้ใดเข้าเฝ้าทั้งสิ้น

ดร.มหาธีร์ มูฮัมหมัด ให้ทัศนะว่า “นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่อันวาร์ประกาศแบบนี้”

และปฏิเสธไม่ได้ว่า “นี่คือการเล่นเกมทางการเมืองแย่งชิงตำเเหน่งผู้นำประเทศของเล่นอาวุโสทางการเมือง”

การเคลื่อนไหวของอันวาร์ อิบราฮิม มหาธีร์และเครือข่ายนายิบและนายกรัฐมนตรีมูห์ยิดดินครั้งนี้ส่งผลให้ประชาชนทั่วไปในมาเลเซียเริ่มเอือมระอานักการเมืองเหล่านี้ โดยเฉพาะช่วงวิกฤตโควิด

ดังนักวิชาการมาเลเซีย เช่น อาจารย์รุสนันท์ เจ๊ะโซ๊ะ นักวิชาการชาวไทยเชื้อสายมลายูปาตานี ปัจจุบันเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยมลายา ประเทศมาเลเซีย วิเคราะห์ว่า

“การเมืองน่าเบื่อ แต่ประชาชนเขาฉลาดพอไม่ตะอ์ซูป (บ้าคลั่งตาม) ต่อนักการเมือง แต่ยังไงนายมูห์ยิดดินก็เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไปจนกว่าโควิดจะคลี่คลาย คนส่วนใหญ่ไม่อยากให้เปลี่ยนตัว แม้แต่คนจีนมลายูที่ไม่ได้ชอบมูห์ยิดดิน ก็ยังอยากให้เขาเป็นต่อ”

การแย่งชิงอำนาจของผู้อวุโสทางการเมืองเหล่านี้ อาจส่งผลดีต่อวัยรุ่นคนรุ่นใหม่ ทั้งนี้ อายุเฉลี่ยของนักการเมืองมาเลเซียอยู่ที่ราว 55 ปี ในขณะที่ประชากรมาเลเซียจำนวน 32 ล้านคนมีอายุเฉลี่ยที่ 29 ปี ดังนั้น จึงไม่แปลกที่เห็นนายซัยยิด ซอดิก (Syed Saddiq bin Syed Abdul Rahman) อายุ 27 ปี นักการเมืองรุ่นใหม่มาเลเซียเคลื่อนไหวตั้งพรรคการเมืองใหม่ เพราะในอนาคตมาเลเซียอาจปกครองโดยคนรุ่นใหม่

ซึ่งเขาได้แรงบันดาลใจก่อตั้งพรรคจากอนาคตใหม่ (ของไทย) และอองมาร์ช (ฝรั่งเศส)

รายงานระบุว่า หนึ่งในนักการเมืองที่เด็กที่สุดของมาเลเซีย จะเริ่มการจัดตั้งพรรค ที่มีฐานเสียงเป็นคนรุ่นใหม่ในเดือนนี้ ด้วยความหวังว่าจะเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์การเมืองในประเทศ ที่อยู่ภายใต้อิทธิพลของนักการเมืองรุ่นเก่าและธนกิจการเมืองมายาวนาน

นายซัยยิด ซอดิก (Syed Saddiq bin Syed Abdul Rahman) กล่าวว่า พรรคที่ยังไม่มีชื่อของเขานั้นจะทำงานเพื่อสร้างความเท่าเทียมให้ผู้หญิงและคนรุ่นใหม่ในรัฐสภา พร้อมกับล้มล้างระบบเส้นสายทางการเมือง ที่นักวิจารณ์มองว่าเป็นการบ่อนทำลายความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

“เราต้องการถอดโซ่ตรวนมาเลเซียออกจากการเมือง ประเภทที่ยึดการเงินและอำนาจเป็นหลัก และเติมพลังด้วยคนรุ่นใหม่ที่มีหัวใจเป็นธรรม มีสติปัญญา และความเอาใจใส่ ซึ่งสามารถขับเคลื่อนมาเลเซียไปข้างหน้าได้”

นายซัยยิด ซอดิก เผยด้วยว่า เขาได้รับแรงบันดาลใจในการตั้งพรรคจากพรรคอองมาร์ชของ “เอ็มมานูเอล มาครง” ประธานาธิบดีฝรั่งเศส และพรรคอนาคตใหม่ของประเทศไทย ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อเขย่าวัฒนธรรมทางการเมือง ที่ขับเคลื่อนโดยนักการเมืองสูงวัยมานานหลายทศวรรษ

ถ้าจำกันได้ที่ผ่านมา นายซัยยิด ซอดิก เริ่มมีชื่อเสียงในระดับประเทศ หลังร่วมมือกับ ดร.มหาธีร์เพื่อขับไล่รัฐบาลในปี 2018 ก่อนที่เขาจะกลายเป็นสมาชิกคณะรัฐมนตรีที่เด็กที่สุดของมาเลเซีย โดยได้รับแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีกระทรวงเยาวชนและกีฬา ภายใต้รัฐบาลของ ดร.มหาธีร์

อย่างไรก็ตาม มหาธีร์ให้สัมภาษณ์เมื่อหลังจากที่รู้ข่าวการตั้งพรรคใหม่นี้ว่าเขาไม่มั่นใจว่ากลุ่มของซัยยิด ซอดิก จะประสบความสำเร็จ เพราะแม้ว่าคนรุ่นใหม่จะเป็นกลุ่มขนาดใหญ่ในหมู่ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง แต่ปัจจัยนี้ก็ยังไม่เพียงพอที่จะทำให้เขาชนะ

แม้ ดร.มหาธีร์จะไม่เชื่อมั่นเขาและคนรุ่นใหม่ แต่อย่าลืมว่า พลังเงียบของคนรุ่นใหม่ที่ออกมาใช้สิทธิ์เลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาทำให้พันธมิตรฝ่ายค้านปากาตัน ฮาราปัน ยัดเยียดความปราชัยให้กับพรรครัฐบาล ที่ครองอำนาจมากว่าหกทศวรรษ และส่งผลให้มหาธีร์กลายเป็นนายกรัฐมนตรีที่มีอายุมากที่สุดในโลก

ฟันเฟืองหลักที่ช่วยสร้างความสำเร็จของ ดร.มหาธีร์ในการเลือกตั้งทั่วไปของมาเลเซียที่ผ่านมา คือ วัยรุ่นคนรุ่นใหม่ที่มีเขาเป็นหัวหน้าปีกยุวชนพรรคสหประชาชนมาเลย์ (Parti Pribumi Bersatu Malaysia) หรือ PPBM

ผู้ถึงพร้อมด้วยรูปร่างหน้าตา สติปัญญา และวาทศิลป์