เปิดอก “ฟอร์ด ทัตเทพ” เตือนผู้มีอำนาจ “อย่าหน้าด้าน! ไม่ฟังเสียงประชาชน”

“ถึงผู้มีอำนาจทั้งในสภา ในรัฐบาล ขออย่าหน้าด้าน เมินเฉยต่อข้อเรียกร้องของประชาชน…บีบให้ประชาชนออกมาบนท้องถนน และผมก็ไม่สามารถทำนายได้ว่ามันจะจบแบบไหน แต่ประวัติศาสตร์จะไม่ซ้ำรอยแน่นอน”

นี่คือความรู้สึกอัดอั้นของ “ทัตเทพ เรืองประไพกิจเสรี” หรือ “ฟอร์ด” แกนนำคณะประชาชนปลดแอก หนึ่งในผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ชุมนุมหน้ารัฐสภาเพื่อเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 24 กันยายน

ทว่าเสียงส่วนใหญ่ของรัฐสภากลับมีมติให้ตั้งคณะกรรมาธิการศึกษาญัตติการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 6 ฉบับ เท่ากับเป็นการยืดเวลาการพิจารณาออกไปอีก 1 เดือน

เราถือโอกาสนี้สนทนากับ “ฟอร์ด” ถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นว่าจะเป็นเสมือนการเติมฟืนลงบนกองไฟ กระทั่งปลุกเร้าอารมณ์ของผู้ชุมนุมให้ลุกโชนขึ้นอีกหนหรือไม่?

: ความรู้สึกของ “ฟอร์ด” หลังรัฐสภามีมติให้ตั้งคณะกรรมาธิการศึกษาญัตติการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

จากเหตุการณ์ในวันนั้นทำให้ผมโมโห และรู้สึกว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำที่ทุเรศ เป็นการปิดสมัยประชุมสภาที่ทุเรศที่สุดเท่าที่ผมเคยได้ยินมา แสดงให้เห็นถึงความไม่จริงใจต่อประชาชน ไม่จริงจังต่อการแก้ไขปัญหา

เพราะการร่างรัฐธรรมนูญใหม่เป็นทางออกเดียวที่ทำให้คนทุกภาคส่วนได้เลือกตั้งตัวแทนของตนเองมาหาทางออกร่วมกันอย่างสันติ

แต่คุณกลับทิ้งโอกาส ทิ้งบันไดขั้นแรก แล้วซื้อเวลาไปอีก 30-45 วัน

: ทำไมกลุ่มผู้ชุมนุมถึงใช้คำหยาบคาย มีการด่าขบวนรถของ ส.ส. และ ส.ว.ที่ทางออกรัฐสภา ถือเป็นการคุกคามหรือไม่?

บรรยากาศในวันนั้นเป็นเสมือนการเติมฟืนลงบนกองไฟ ผมดูออกเลยว่าทุกคนโกรธมาก บางคนแสดงท่าทางเปลี่ยนไปจากที่เราเคยเห็น โดยมีการด่าทอขบวนรถของ ส.ส. หรือ ส.ว. ด้วยคำหยาบคาย

แต่คำหยาบตรงนี้มันเกิดขึ้นเพราะพวกคุณ (ส.ส. และ ส.ว.ที่ลงมติเห็นด้วยกับการตั้ง กมธ.) เอง ซึ่งมันเป็นปฏิกิริยาที่พวกคุณสมควรจะได้รับอยู่แล้ว

ผมคิดว่ามันเทียบกันไม่ได้ ระหว่างคำด่าไม่กี่คำกับสิ่งที่เขาเคยใช้กระสุนมายิงเรา ออกหมายจับเรา จับเราขังคุก ติดตามเราไปที่บ้าน ไปคุกคามพ่อ-แม่ ผู้ปกครองของเด็กนักเรียน นิสิต นักศึกษา

และการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ตราบใดที่ไม่มีการไปทำร้ายให้มีการบาดเจ็บล้มตาย นั่นคือการต่อสู้โดยสันติแล้ว

หากต้องการการเรียกร้องที่ดูนุ่มนวลลงกว่านี้ ผมว่าพวกเราจะต้องนั่งพับเพียบกราบพวกคุณแล้ว

: การชุมนุมของกลุ่มคนรุ่นใหม่มีแนวร่วม นปช.เข้าร่วมจำนวนมาก กลัวจะซ้ำรอยเหตุรุนแรงในปี 2553 หรือไม่?

ผมคิดว่าคนเสื้อแดงพวกเขาก็เป็นคน นักศึกษาก็เป็นคน ชนชั้นกลางก็คือคน เป็นมนุษย์ที่มีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกันทุกคน ไม่ว่าใครจะสวมเสื้อสีใดมาก่อน พวกเราก็ยินดีต้อนรับ หากคุณคือคนที่ต้องการการเปลี่ยนแปลง และมีเป้าหมายเดียวกันคือต้องการระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

ดังนั้น ไม่ควรตีตราว่าคนใส่เสื้อสีนี้ต้องเป็นอย่างไร โดยเฉพาะคนเสื้อแดง เพราะพวกเขาเป็นคนที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยมาเป็นสิบปี แต่พวกเขากลับถูกใส่ร้ายป้ายสี

การต่อสู้ครั้งนี้ไม่ใช่สงครามระหว่างรุ่น ไม่ใช่การต่อสู้ทางความคิดระหว่างคนที่อายุน้อยกับคนที่อายุมาก แต่เป็นการต่อสู้ระหว่างคนที่ต้องการการเปลี่ยนแปลงกับคนที่ได้รับผลประโยชน์จากโครงสร้างอำนาจเดิมและต้องการที่จะรักษามันไว้ เพื่อคงสถานะอภิสิทธิ์ของตัวเอง นี่คือการต่อสู้ระหว่างสองสิ่งนี้ต่างหาก

ในนามของคณะประชาชนปลดแอกและกลุ่มเยาวชนปลดแอก ยืนยันว่าความรุนแรงไม่มีทางเกิดขึ้นจากฝั่งผู้ชุมนุม เราจะไม่มีทางทำร้าย หรือทำให้ใครบาดเจ็บล้มตายเด็ดขาด

มีแต่รัฐเท่านั้นที่สามารถทำได้ หรือมือที่สาม และในปี 2553 เชื่อว่ารัฐน่าจะได้รับบทเรียนอะไรบางอย่างแล้ว

: การลงถนนกับความหวังของคณะประชาชนปลดแอก

ช่วงแรกที่เราตัดสินใจเคลื่อนไหว เนื่องจากเราไม่มีความเชื่อมั่นในระบบรัฐสภากับรัฐบาล เพราะมันบิดเบี้ยวไปหมด จึงตัดสินใจลงถนนตั้งแต่วันที่ 18 กรกฎาคมเป็นต้นมา โดยหวังว่าจะสามารถบีบให้รัฐสภาที่มันบิดเบี้ยวให้มันเข้าร่องเข้ารอย

และเราก็ได้เห็นพัฒนาการที่ดีขึ้นจากการยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ส.ว.บางท่านมีท่าทีอ่อนลง แต่เมื่อถึงเวลาจริงๆ กลับใช้วิธีลักไก่พวกเราด้วยการยื้อเวลาออกไปอีก

ส่วนตัวผมเชื่อว่าน่าจะมีอำนาจจากนอกสภาหรือมีใบสั่งจากผู้มีอำนาจแทรกแซงอยู่ ทำให้พวกเราผิดหวังมาก และคณะประชาชนปลดแอกจะยกระดับการกดดันไปเรื่อยๆ

: แนวทางการต่อสู้ของคณะประชาชนปลดแอก

สําหรับรูปแบบกิจกรรมการต่อสู้ จากนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการหารือร่วมกัน

ซึ่งในส่วนของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ได้มีการนัดหมายหยุดงานในวัน 14 ตุลาคมนี้

แต่รูปแบบกิจกรรมยังไม่ชัดเจนว่าจะจัดรูปแบบใด

ในส่วนของคณะประชาชนปลดแอก เราจะกลับมาชุมนุมใหญ่อีกครั้งในเดือนตุลาคมนี้เช่นกัน

ซึ่งอยู่ระหว่างหารือถึงวันเวลาและสถานที่ในการจัดกิจกรรม

: การออกมาต่อสู้ต้องแลกกับสิ่งใดบ้าง?

ผมว่าเราต้องเสียต้นทุนทางเศรษฐกิจ ทั้งค่าเดินทาง ค่าอาหาร ขณะที่เราทำกิจกรรมชุมนุม ทุกอย่างมันต้องมีค่าใช้จ่าย สองคือต้นทุนทางสังคม โดยเฉพาะคนที่เปิดตัวขึ้นปราศรัย พวกเขาถูกจับตามองมากขึ้น มีโอกาสถูกคุกคามมากขึ้น นี่คือสิ่งที่เราต้องสูญเสีย

แต่เรามองว่าการสูญเสียนี้ ถ้าเกิดว่ามันนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง นำไปสู่ชัยชนะที่อำนาจสูงสุดจะกลับคืนสู่ประชาชน ทำให้พวกเราสามารถลืมตาอ้าปาก ทำให้ระบบเศรษฐกิจเอื้อต่อคนทุกกลุ่ม มีโอกาสเติมเต็มความฝันอย่างเท่าเทียมกัน

แม้ว่าส่วนตัวผมจะรู้สึกเหนื่อยมาก เพราะการเคลื่อนไหวถูกตอบแทนมาด้วยคดีความหลายคดี แต่มันก็เป็นสิ่งที่เราคาดไว้อยู่แล้วว่าจะเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น เพราะว่าเราอยู่ในรัฐที่ไม่ได้เป็นประชาธิปไตยแต่เป็นเผด็จการ รัฐที่ไม่ได้เคารพสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างแท้จริง

แต่ถ้าเราชนะ มันคุ้มค่ากับสิ่งที่เราถูกดำเนินคดี มันคุ้มค่ากับต้นทุนที่เราเสีย ผมยอมแลก

: มีอะไรจะฝากถึงผู้มีอำนาจในบ้านเมือง?

คือบอกตรงๆ ว่าเราก็โกรธจากเหตุการณ์ที่รัฐสภามีมติให้ตั้งคณะกรรมาธิการศึกษาญัตติการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาก

ดังนั้น พวกเราขอให้ผู้มีอำนาจทั้งในสภา ในรัฐบาล ขอจริงๆ อย่าหน้าด้าน อย่าเมินเฉยต่อข้อเรียกร้องของประชาชน

เพราะข้อเรียกร้องที่เราพูดไปเป็นข้อเรียกร้องที่ทำให้เกิดได้ภายใต้กติกาของรัฐธรรมนูญ ภายใต้กระบวนการของรัฐสภาทั้งนั้น ถ้าคุณไม่รับข้อเรียกร้องใดเลย เท่ากับว่าคุณกำลังปิดประตูรัฐสภา และบีบให้ประชาชนออกมาบนท้องถนน

และผมก็ไม่สามารถทำนายได้เลยว่ามันจะจบแบบไหน แต่ประวัติศาสตร์จะไม่ซ้ำรอยแน่นอน

: มีอะไรจะฝากถึงคนรุ่นใหม่ไหม?

ผมขอให้ทุกคนมีกำลังใจในการต่อสู้ต่อไป การต่อสู้ที่ผ่านมาของพวกเรากว่า 2 เดือน ไม่สูญเปล่า มันมีความเคลื่อนไหวในหลายๆ อย่าง มันมีการตื่นตัวของพี่น้องประชาชน นี่คือสิ่งที่คุ้มค่าที่เราทำกันมาถึงทุกวันนี้

พวกเราลองหันไปมองกลุ่มเยาวชน ทั้งนักเรียนมัธยมต้น มัธยมปลาย และนักศึกษา พวกเขาลุกขึ้นมาอ่านหนังสือประวัติศาสตร์ ลุกขึ้นมาอ่านหนังสือที่เกี่ยวข้องกับการเมืองไทยที่เป็นกระแสรองมาอย่างยาวนาน ที่มันฉีกไปจากประวัติศาสตร์ในโรงเรียน

ในระยะยาวพวกเราชนะแล้ว เพราะเวลาอยู่เคียงข้างเรา และการเคลื่อนไหวของเราทุกวันนี้ไม่ใช่การรอเวลา แต่มันเป็นการเร่งเวลาให้ใกล้เข้ามาเรื่อยๆ

ขอให้ทุกคนสู้ต่อไปอย่าท้อถอย ถ้าเหนื่อยเราก็พัก พักแล้วเราก็มาสู้กันต่อไป