อภิญญา ตะวันออก : สู่ฝันอันพิลาส จากยุคกลางถึงเขมรเรเนอซองส์

อภิญญา ตะวันออก

สําหรับฉัน มันยังเป็นเรื่องโกหกอย่างวายร้ายตั้งแต่วิทยาการใหม่ของไลดาร์ : LIDAR-เลเซอร์สแกนเนอร์ที่สแกนพื้นที่นับล้านๆ จุดในทุกๆ 4 วินาที จนเป็นที่มาของการค้นพบมเหนทรบรรพต-บริเวณเทือกเขาพนมกุเลนเมื่อ 8 ปีก่อน (2555)

ตั้งแต่นั้นมา นิยายมหภาคแห่งนครยุคกลางที่สูญหายก็ถูกรื้อฟื้นขึ้นมาอีกครั้ง และให้ตายเถอะ มันช่างยิ่งใหญ่ราวกับพลังอำนาจยุคใหม่แห่งวงการโบราณคดีวิทยาสากลอีกครั้ง

ทว่า…หลังจากนั้น การยืนงงเหนือความจริงข้อนี้ยังคงเหมือนเป็นปริศนาที่เร้นลับ ราวกับสมบัติพระศุลี? โดยที่มากกว่านั้น แม้การมาถึงของไลดาร์ที่เป็นเหมือนวิทยาการใหม่แห่งศตวรรษที่ 21 นั้น ทว่ากลับเงียบงันต่อมาล่วงกว่า 8 ปีที่…เราแทบจะไม่รู้อะไรเกี่ยวกับอาณาจักรแห่งใหม่นั่นเลย นอกจากเรื่องราวของอาณาจักรยุคกลางแห่งชัยวรมันที่ 7 แห่งเมืองพระนคร ให้ตายสิ!

เพราะนอกจากตำแหน่งที่ตั้งอันคลุมเครือบนเทือกเขาพนมกุเลนเหนือนครวัดและทะเลสาบใหญ่แล้ว เราก็ไม่เคยรับทราบอะไรที่มากกว่านี้จากนักโบราณวิทยาออสเตรเลีย

ด้วยเหตุนี้ที่ไม่ชัดเจนมาแต่ต้น ฉันจึงอดตั้งคำถามไม่ได้ว่า นี่เป็นเรื่องโกหกของเทคโนโลยีใหม่ในยุคนี้ที่ถูกนำมาปั่นให้เป็นกระแสหรือไม่?

โดยเฉพาะนัง “ไลดาร์” ที่มาพร้อมกับเทคนิคการเล่าเรื่องแบบใหม่ ไม่ต่างจากเรื่องเล่าของชาวยูทูบเบอร์ที่เต็มไปด้วยจินตนาการแห่งความน่าตื่นเต้น ไม่ต่างจากนิยายในรูป 3 มิติ (3D) ของชาว 5 จีที่เกลื่อนกล่นในออนไลน์ปัจจุบัน

ทั้งที่จริงแล้วเนื้อหาของความเป็นอาณาจักรมเหนทรบรรพตแทบจะไม่ปรากฏเป็นหลักฐานอย่างชัดเจนเลยด้วยซ้ำ นอกจากภาพประทับรอยที่สร้างขึ้นจากอาณาจักรยุคกลางเหนือทะเลสาบใหญ่คือพระนคร (บายน) และนครวัด

ไม่ว่าจะเป็นรัชสมัยสุรยวรมันแห่งศตวรรษที่ 11 และชัยวรมันที่ 7 (ศว.13) ที่เสนอโดยเบอร์นาร์ด โกรสิเยร์ ที่สุดจะอลังการแห่งความมลังเมลืองนั่น ในปี พ.ศ.2481 ความเห็นของฟิลิปเป สเติร์น ดูจะเสริมส่งให้อาณาจักรแห่งนี้มีความเป็นนวัตกรรมที่ก้าวหน้าและยิ่งใหญ่กว่ากาลเวลาสมัยตน

พลันการมาถึงของนักสำรวจยุคใหม่ ที่พร้อมกับเทคโนโลยีสแกนภาพแห่งศตวรรษที่ 21 ก็ก่อให้เกิดมุมมอง การวิเคราะห์ที่น่าตกตะลึงอันตามมา นั่นคือ

เรื่องเล่าของไลดาร์ ที่เหนือกว่าภูมิปัญญานักโบราณวิทู?

 

ฉันไม่แน่ใจว่ามันเป็นปัญหาของนักประวัติศาสตร์ยุคนี้หรือไม่? ที่พวกเขาฝากทักษะในการทำงานภาคพื้นดินไว้กับวิทยาการสมัยใหม่ จนเกิดช่องแห่งความพ่ายแพ้นั่น?

เพราะในที่สุดของการวิเคราะห์แล้ว ในที่สุดของความเบาโหวง (ในวิทยานั่น) พวกเขาก็หันไปหยิบเอาเรื่องเก่าๆ ประหนึ่งอาณาจักรยุคกลางของปราสาทเมืองพระนครที่ลึกลับและค้นพบในศตวรรษที่ 19

เช่น การหยิบยกเอกลักษณ์ของสถาปัตยกรรมของปราสาทบายนและปีกตะวันตกเฉียงใต้ของปราสาทนครวัด

การตีความใหม่เช่นนี้ แม้จะเกิดขึ้นก่อนการมาของไลดาร์ถึง 10 ปี การก่อตัวของนักวิจัยเขมรกลุ่มหนึ่งซึ่งเรียกตัวเองว่า “Khmer-Renaissance” นำโดยศาสตราจารย์อัง จูเลียน, เปรียบ จันมารา, ซียุน โสเภียริท, กง วิเรียะ และอื่นๆ ซึ่งมุ่งหมายจะฟื้นฟูศิลปวิทยายุคกลางเกี่ยวกับอารยธรรมเขมรด้วยงานวิจัยเชิงก้าวหน้าและมีคุณภาพ อย่างครอบคลุมวิทยาการแบบท้องถิ่นและองค์รวม

เราจึงได้เห็นหัวข้อที่หลากหลายในวิถีชุมชน ซึ่งบางส่วนในรูปดังกล่าวได้ปรากฏอยู่ในเรื่องราวที่ในวิจัยกลุ่มไลดาร์นำไปอ้างไว้

ตลกร้ายกว่านั้น ข้อศึกษาแบบเขมรเรเนอซองส์กลุ่มนี้ ยังมีท่วงทำนองบางอย่างที่เผยให้เห็นถึงแนวคิดแบบยุคสังคมนิยมก่อนจะถ่ายผ่านไปเป็นเขมรแดง (2518) ซึ่งนักวิจัยบางรายได้เติบโตมาจากยุคนั้น

ขณะเดียวกันก็พบว่าเป็นงานวิจัยที่มีความเป็นกลางกึ่งสากล ไม่เบี่ยงเบนในทางชาตินิยม ดังที่กระแสสังคมยุคหนึ่งได้พัดพาไปสู่กระบวนทัศน์อันสุดโต่งดังกล่าว

โดยหลังจากที่ถูก “รหัสนัย” ต่างๆ ที่นักวิทูยุคก่อนพากันลงมือถอดความและทิ้งร้างปล่อยให้เราตีความไประยะหนึ่งที่ยาวนานหลายทศวรรษนั้น

เราจะเชื่อว่าเรื่องเล่าของชาวนาที่อยู่ในงานวิจัยของไลดาร์ คือความจริงแห่งการค้นคว้าใหม่ ที่ไม่ใช่การเล่นแร่แปรธาตุทางจินตนาการของนักสำรวจกลุ่มหนึ่ง-เท่านั้น

 

นี่ไม่ใช่การโจมตีหรือกล่าวหานักโบราณคดีต่อมา ด้วยข้อกล่าวหาที่ว่า “อาศัยเทคโนโลยีเพื่อสร้างนิยายลวงโลก” แต่ใคร่สำรวจว่า ในการขยับใกล้อาณาจักรยุคกลางแห่งความลี้ลับนั่น จะเป็นเรื่องจริงที่ไม่ใช่การสร้างรูปนิยายจากเทคโนโลยีแห่งจินตนาการ

ไม่ว่าจะเป็นเหล่าแท่นบูชาในป่าดงพงพนา มิพักว่าจะเป็นสัญลักษณ์ขององคชาตชาย-หญิง หรือเทพปกรณัมการเคารพบูชา จากหลืบหินใต้ธารน้ำที่ไหลสู่อ่างเก็บน้ำบารายเพื่อส่งไปสู่วิถีแรงงานทาสสแรที่จะผลิตข้าวได้ 3 ถึง 4 ครั้งต่อปีนั่น

แต่มันคือความสมบูรณ์พูนโภคของระบบการผลิตโบราณที่ทันสมัยถึงปัจจุบัน สำหรับแหล่งผลิตจากแรงงานที่สร้างความอุดมสมบูรณ์แก่งศูนย์กลางอำนาจที่ขณะนั้นสามารถแผ่ขยายอาณาเขตออกไปถึง 1,000 ตารางกิโลเมตร จากมวลน้ำ 48 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปีของพื้นที่บารายเพียง 1 แห่งที่เกิดจากทาสแรงงาน 200,000 นาย จนเกิดเป็นแหล่งผลิตอาหาร (ข้าว) ที่ใหญ่ที่สุดของสมัยกลาง (และอาจจะของโลก)

และตามมาด้วยระบบจัดเก็บภาษีที่ซับซ้อน สามารถเลี้ยงดูประชากรและผดุงชนชั้นอย่างเป็นระบบสังคมอีกคำรบหนึ่ง

เชื่อมั้ยว่า นี่คือเรื่องราวที่ครั้งหนึ่งนักวิจัยสายกรรมาชีพอย่างฮู ยุน, ฮู นิม, เขียว ทีริต, เขียว สัมพัน น่าประหลาด วิทยานิพนธ์ที่ยึดโยงกับระบบชนชั้นชาวนาบริเวณที่ราบตนเลสาบนี้มีมาให้เห็น ตั้งแต่ระบบการจัดเก็บภาษีที่เอารัดเอาเปรียบสมัยอาณานิคมในรูปข้อเสนอทางทฤษฎี ไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างทั้งระบบ

จากแนวคิดอันน่าพิศวงที่บริบทการตกผลึกเป็นกระบวนทัศน์ (conceptual) และจบลงด้วยการปฏิวัติ สู่การด้อยค่าและโค่นทำลายโครงสร้างของชนชั้น ซึ่งก็คือการฆ่าล้างประชาชนและจุดจบอย่างเดียวกันของระบอบเขมรแดง

เป็นโศกนาฏกรรมของการฟื้นฟูวิทยาการ-เขมรเรเนอซองส์ยุคที่ 1 ที่ช่างมืดบอดและล้มเหลว

 

โดยจะรู้ตัวหรือไม่ การมาของไลดาร์และเทคโนโลยีภาคสนามใดๆ นัยที ได้ปลดเปลื้องพันธนาการแห่งยุคเก่าต่อโบราณวิทูเขมรยุคใหม่ ให้มีกระบวนทัศน์ที่ไม่ซับซ้อนและชาตินิยมสุดโต่ง

การหลุดพ้นจากขนบจารีตวิจัยเดิมๆ นี้ ยังส่งผลต่องานวิจัยของโบราณวิทูเขมรยุคหลังที่ให้ความสำคัญเชิงปัจเจกและหลักฐานชนชั้นต่างๆ บนภาพสลักหินปราสาทบายน (ตลอดจนปราสาทหินกลุ่มอื่นๆ) ซึ่งพบว่างานศึกษาวิถีชุมชนยุคกลางส่วนนี้มีผลการค้นพบความก้าวหน้าใหม่ๆ ในสังคมปัจจุบัน เฉกเดียวกับวิชาการยุคสังคมนิยมนั้น แต่ต่างด้วยการนำไปใช้และคุณค่าการตีความ

ชาววิจัยเขมรเรเนอซองส์ดูจะก้มหน้าก้มตาทำงานในบริบทแห่งความเงียบไม่ต่างจากสมัยอาณานิคมที่ชนท้องถิ่นถูกจำกัดการรับรู้จนกลายเป็นปกติวิสัย เช่นเดียวกับกรณีนักวิจัยต่างชาติที่สมอ้างว่าพบที่ตั้งอาณาจักรยุคกลางแห่งใหม่บนเทือกเขาพนมกุเลนนั้น

ให้น่าสังเกตว่า นักโบราณวิทยาเขมรดูจะไม่มีอะไรเคลื่อนไหว

 

ต่อการตกอยู่ภายใต้อิทธิพลแหล่งทุนวิจัยและองค์การนานาชาติต่อเนื่องยาวนานหลายทศวรรษ ทั้งคณะทำงานจากสถาบันวิจัยฝรั่งเศสปลายบูรพาทิศ ตลอดจนนักวิจัยสายอื่นๆ เช่น เยอรมัน ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น อินเดีย ฯลฯ สุดแล้วแต่แหล่งทุนบริจาคและโครงสร้างอำนาจทางการเมือง ที่มีส่วนกำหนดเขตทับซ้อนสัมปทานศึกษาเหล่านั้น ซึ่งก็พบว่า ชั้นหลังมานี้

เขตสัมปทานสำคัญๆ อย่างกลุ่มปราสาทเมืองพระนครและศูนย์อำนาจของอาณาจักรยุคกลาง ตกเป็นของทีมวิจัยลูกหลานจูต้ากวนและพรรคคอมมิวนิสต์จีน

ท่ามกลางนักบุญในคราบคนบาปผู้ฉกฉวยผลประโยชน์แห่งการฟื้นฟูวิทยาการนี้

เห็นทีว่าการต่อสู้ของชาวเขมรเรเนอซองส์จะดำรงต่อไปอีกกึ่งศตวรรษ