ถอดรหัสเทกโอเวอร์ “ชทพ.” เกมเตะสกัด โดดเดี่ยว “พท.”

ในประเทศ/ถอดรหัสเทกโอเวอร์ “ชทพ.” เกมเตะสกัด โดดเดี่ยว “พท.”

“พรรคชาติไทยพัฒนาไม่ได้มีไว้เพื่อขาย ไม่ได้มีไว้ให้เซ้ง หรือให้ใครเข้าเทกโอเวอร์ เราไม่ใช่บริษัทจำกัดที่จะมารอการเทกโอเวอร์เหมือนกับการทำธุรกิจ การนำพรรคไปขายถือเป็นการทรยศจิตวิญญาณของนายบรรหาร…”

เป็นคำยืนยันของ “เสี่ยท็อป” นายวราวุธ ศิลปอาชา แกนนำพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) ลูกชายคนเล็กของ “มังกรเติ้ง” นายบรรหาร ศิลปอาชา อดีตนายกรัฐมนตรี ในวันที่ต้องออกมาตั้งโต๊ะแถลงข่าวปฏิเสธปมร้อน

เพราะ “ครอบครัวศิลปอาชา” โดยเฉพาะ “หนูนา” น.ส.กัญจนา ศิลปอาชา ถูกพาดพิงว่าได้ไปตกปากรับคำกับ “คนแดนไกล” ที่ได้ต่อสายมาถึงในช่วงระหว่างงานศพบิดาด้วยการรับข้อเสนอเป็นเงินค่าใช้จ่ายดูแลพรรคชาติไทยพัฒนาต่อให้

เสมือนเป็นการขอรับเซ้งพรรคต่อจากครอบครัวศิลปอาชาในวันที่ต้องสูญเสีย “หัวเรือใหญ่” อย่างนายบรรหารไป โดยมีข้อแลกเปลี่ยนที่ว่า พรรคชาติไทยพัฒนาจะต้องเป็น “พรรคสาขา” ด้วยการรับเด็กพรรคเพื่อไทยบางส่วนที่จำเป็นต้องแยกย้าย

จากกันชั่วคราวเข้าสังกัดเพื่อทำศึกเลือกตั้งปี 2561 ตามยุทธศาสตร์ “แยกกันตี” ก่อนไปรวมตัวกันเพื่อจัดตั้งรัฐบาลผสม

ทั้งนี้ ต้นสาวราวเรื่องอันเป็นที่มาของข่าวลือ ข่าวปล่อยที่ออกมาโหมประโคมการเข้า “เทกโอเวอร์” พรรคชาติไทยพัฒนาของอดีตนายกรัฐมนตรี “ทักษิณ ชินวัตร” มาจากบทวิเคราะห์ขนาดยาวที่สำนักข่าวออนไลน์แห่งหนึ่งรายงาน

แม้ว่าผู้หลักผู้ใหญ่ของพรรคชาติไทยพัฒนา จะมองบทวิเคราะห์ดังกล่าวด้วยความตลกขบขำก็ตาม แต่พลันที่ข่าวลือ ข่าวปล่อยกลายเป็นกระแสและได้เคลื่อนที่ไปอยู่ในบทวิเคราะห์บนหน้า “สื่อกระดาษ” อย่างครึกโครม

โดยเฉพาะบทวิเคราะห์ว่าด้วยการเฟ้นหาตัวเบอร์ 1 เพื่อไทยที่จะมาถือธงนำเลือกตั้ง เฟ้นหาสูตรรัฐบาลผสมที่มีพรรคชาติไทยพัฒนาเป็นส่วนหนึ่ง โดยมีอดีตนายกรัฐมนตรีเป็นผู้อำนวยการสร้าง

จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่นายวราวุธ บุคคลที่ถูกวางตัวให้รับไม้ต่อหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนาจำต้องออกมาชี้แจงอย่างหนักแน่น

ยิ่งเมื่อข่าวการเทกโอเวอร์ถูกนำไปเชื่อมโยงกับคำร้องขอของ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ระบุว่า “อย่าเลือกคนหน้าเก่า อย่าให้เหมือนเดิม” กลางที่ประชุม ไทยแลนด์ 4.0 ณ มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อสัปดาห์ก่อน จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องออกมาชี้แจง

เพราะถือเป็นการแสดงความกังวลชัดๆ ของผู้มีอำนาจในช่วงเปลี่ยนผ่านที่ไม่แน่ใจว่า กฎกติกาว่าด้วยการเลือกตั้งที่กำหนดผ่านรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 จะปรากฏผลเป็นไปตามธงที่วางไว้หรือไม่

ขั้วอำนาจเดิมก่อนรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 จะกลับเข้าสู่อำนาจได้อีกครั้ง เหมือนกับที่เคย “เสียของ” มาแล้ว เมื่อรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 หรือไม่

ทั้งหมดนี้จึงเป็นที่มาว่า เพราะเหตุใดทำไมบรรดาแนวร่วม เครือข่ายของกลุ่มคนที่ช่วยกันลงเงิน ลงแรง ล้มสิ่งที่พวกเขาเรียกว่า “ระบบทักษิณ” ถึงแสดงความกังวล

เพราะเป็นความกังวลว่า ผลการเลือกตั้งจะปรากฏออกมาเหมือนกับที่เคยปรากฏขึ้นเมื่อเดือนมกราคม 2544 ที่พรรคไทยรักไทย โดยการนำของ นายทักษิณ ชินวัตร ชนะการเลือกตั้ง อีกทั้งยังสามารถยึดครองเสียงในสภาได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในการเลือกตั้งเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2548

สามารถจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้เป็นครั้งแรกของประวัติศาสตร์การเมืองไทย

เพราะเป็นความกังวลว่า ผลการเลือกตั้งจะปรากฏออกมาเหมือนกับเมื่อเดือนธันวาคม 2550 ที่ทำให้พรรคพลังประชาชนชนะการเลือกตั้ง ทำให้แผน “บันได 4 ขั้น” ของ คมช. ที่มุ่งแยกกระจายคนของพรรคไทยรักไทยให้ออกมาตั้งพรรคใหม่หลังถูกศาลสั่งยุบ ล้มเหลวไม่เป็นท่า

นายสมัคร สุนทรเวช สามารถขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีได้ ด้วยการเชิญพรรคที่ถูกแยกถูกกระจายออกจากพรรคไทยรักไทย เข้าร่วมเป็นรัฐบาลผสมได้สำเร็จ

เพราะเป็นความกังวลว่า จะมีบุคคลอย่าง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาวแท้ๆ มาเป็นตัวแทนทำศึกเลือกตั้งด้วยสโลแกน “ทักษิณคิด เพื่อไทยทำ” ดูดคะแนนเสียงให้กับพรรคเพื่อไทยได้อีก และยังสามารถจัดตั้งรัฐบาลผสมที่มีผู้หญิงเป็นนายกรัฐมนตรีได้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

จนเป็นเหตุผลสำคัญของการรัฐประหารยึดอำนาจเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 นั่นเอง

ดังนั้น ข่าวการเข้าเทกโอเวอร์พรรคชาติไทยพัฒนาของ นายทักษิณ ชินวัตร จึงดำเนินไปโดยมีเป้าหมายเดียวกับกรณีที่ “เสี่ยหนู” อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย เคยโดน นั่นคือ การเตะตัดขา สกัดโอกาสและโดดเดี่ยวพรรคเพื่อไทยในการหาพันธมิตรทางการเมืองในอนาคต ด้วยการจับแยกพรรคชาติไทยพัฒนาออกจากพรรคเพื่อไทยด้วยข่าวลือตั้งแต่เนิ่นๆ

สร้างกระแสไม่ให้พรรคขนาดกลาง ขนาดเล็ก สามารถไปจับมือกับพรรคเพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาลผสมได้โดยง่าย

เหมือนๆ กับที่เคยเกิดขึ้นเมื่อฟอร์มรัฐบาล นายสมัคร สุนทรเวช เมื่อปี 2550 เหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นเมื่อฟอร์มรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อปี 2554

ทั้งนี้ ต้องไม่ลืมว่าระบบเลือกตั้งตามกติการัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ที่เรียกว่า “จัดสรรปันส่วนผสม” ถือเป็นความพยายามที่ตั้งใจไม่ให้พรรคการเมืองขนาดใหญ่สามารถได้ที่นั่งในสภาได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

โดยการปรับลด ส.ส.เขตลงเหลือ 350 ที่นั่ง ขณะที่ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อเพิ่มให้เป็น 150 ที่นั่ง เปลี่ยนจากการใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบมาใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว โดยจะนำคะแนนของ ส.ส.เขตทั้งหมดที่แต่ละพรรคได้รับมาคิดคำนวณเพื่อหาที่นั่ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อให้

จึงคาดหมายกันว่า ด้วยระบบเลือกตั้งเช่นนี้ จะทำให้พรรคขนาดกลางอย่างพรรคชาติไทยพัฒนา พรรคภูมิใจไทย จะมีโอกาสได้รับที่นั่งในสภามากขึ้นกว่าระบบเดิมๆ ที่เคยใช้มา ประกอบกับ ส.ว. 250 คน ที่แต่งตั้งโดย คสช. ตามบทเฉพาะกาลจะมีอำนาจในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีด้วย

และหากพรรคเพื่อไทยต้องการจะเป็นรัฐบาล จึงจำเป็นอย่างยิ่งจะต้องได้เสียงของพรรคการเมืองขนาดกลางและขนาดเล็กรวมกันเพื่อโหวตสู้กับ “พรรค ส.ว.” เพื่อจัดตั้งรัฐบาล

ดังนั้น การพุ่งเป้าไปที่พรรคชาติไทยพัฒนาจึงถูก “สเป๊ก” พอดิบพอดี ที่ไม่ว่าขั้วไหน การเมืองไหน หรือแม้แต่ “ทหาร” ก็อยากได้ เพราะแม้ว่าในวันที่ไม่มีนายบรรหารก็ยังสามารถดำรงคงอยู่ได้ ด้วย “เลือดแท้” ที่เคียงคู่อยู่กันมาตั้งแต่สมัยพรรคชาติไทย

แถมในวันนี้ ยังมี “ลูกหลาน” ของบรรดาเลือดแท้เข้ามาเพิ่มเป็นกำลังสำคัญของพรรคเพิ่มอีก

ไม่ว่าจะเป็น 2 พี่น้องตระกูลปริศนานันทกุล “ภราดร-กรวีร์” ที่ครองพื้นที่จังหวัดอ่างทองแทน “เสี่ยตือ” นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล ที่มีอันต้องพ้นบทบาททางการเมืองในฉากหน้าด้วยเงื่อนไขเรื่องคุณสมบัติ

หรือ นายเสมอกัน เที่ยงธรรม ลูกชายแท้ๆ ของ “เฮียจอง” จองชัย เที่ยงธรรม อดีตนักการเมืองเก่าแก่ของ จ.สุพรรณบุรี ด้วย

ขณะเดียวกัน พรรคชาติไทยพัฒนายังพยายามที่จะขยายฐาน ส.ส. โดยเสนอตัวเป็น “น้ำเย็น” ให้ ส.ส. ที่สนใจหลีกหนีการเมืองร้อนๆ มาขออยู่ที่เย็นๆ ความเห็นทางการเมืองกลางๆ ตามแนวทางของนายบรรหารได้ อย่างที่เคยอ้าแขนรับ “เสธ.หนั่น” พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ มาแล้ว

ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นเหตุให้ข่าวการเข้าเทกโอเวอร์พรรคติดกระแส จนต้องรีบออกมาดับกระแส และเชื่อได้เลยว่าทุกพรรค แม้กระทั่ง “พรรคชาติพัฒนา” ก็จะต้องถูกข่าวลือ ข่าวปล่อยเช่นเดียวกับที่พรรคชาติไทยพัฒนากับพรรคภูมิใจไทยโดน

เพราะทั้งหมดถือเป็นทิศทางที่กำลังมุ่งหน้าไปสู่การเลือกตั้งโดยแท้ แม้ว่า “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะยังไม่ยืนยันว่าจะเกิดขึ้นได้เมื่อไหร่ก็ตาม