วิเคราะห์ | “เพื่อไทย” ปรับทัพใหญ่ เขย่าขวดผสมคนรุ่นใหม่-เก่า ผสานการทำงานแบบ “มีหัว”

ย้อนกลับไปก่อนที่ “สมพงษ์ อมรวิวัฒน์” จะตัดสินใจยื่นใบลาออก เพื่อมีผลทำให้กรรมการบริหารพรรคชุดเดิมสิ้นสภาพไปโดยปริยายนั้น

ภายใน “เพื่อไทย” เกิดปัญหาหลายเรื่อง

ทั้งเรื่องการวางคิวอภิปรายของ ส.ส.แต่ละครั้ง มีการให้เวลากับคนบางกลุ่มมากกว่า

แถมยังต้องรายงานตัวกับคนที่มีสิทธิตัดสินใจวางชื่อคนที่จะได้อภิปราย

ไหนจะแสดงสคริปต์ ทำสไลด์ และพรีเซนต์ให้ฟัง ฯลฯ

ทำเอา ส.ส.หลายคนหัวเสียกับขั้นตอนและกระบวนการที่ยุ่งยากกันไปส่วนหนึ่ง

พ้นเรื่องที่หนึ่งไปไฟยังไม่ทันหายร้อน การวางตัวคนที่จะเข้าไปเป็นคณะกรรมาธิการ (กมธ.) โดยเฉพาะ กมธ.งบประมาณ ก็มามีปัญหาอีก

ครั้งนี้หนักหนาถึงขนาดต้องเรียกกันเข้าบ้าน และปิดห้องคุยกันอยู่หลายหน

แต่ก็ไม่จบ

ผลพวงของปัญหายาวมาจนต้องเรียกปิดห้องเคลียร์กันกลางสภา นอกจากนี้ ยังมีปัญหาหยุมหยิมอื่นๆ อีกไม่น้อย

เช่น การไม่ยอมรับในตัวบุคคลบางคนที่เข้ามามีบทบาทในการขับเคลื่อนพรรคในช่วงหลังๆ มานี้

ความน้อยเนื้อต่ำใจของ ส.ส.อีสาน ที่มี ส.ส.ในภาคมากกว่า 80 ที่นั่ง แต่กลับไม่ค่อยมีบทบาทในพรรค ไม่ค่อยมีใครนึกถึงเอาใจใส่ แถมยังขาดคนดูแลยามที่ต้องทำพื้นที่ขณะที่เป็นฝ่ายค้าน

ไหนจะปัญหาความขัดแย้งของกลุ่มก้อนในพรรคอีก อีนุงตุงนัง ปัญหาพันกันจนไม่รู้อันไหนเป็นอันไหน

หลังๆ ก็ชักงง เลยจำเป็นต้องแก้ปัญหาไปเป็นเรื่องๆ ก่อน

การเขย่าทัพปรับโครงสร้างใหม่ คือสูตรแรก และน่าจะเป็นสูตรที่ดีที่สุด (ในเวลานี้) ที่จะนำมาใช้แก้ปัญหาในพรรค โดยช่วง 2-3 เดือนก่อนหน้านี้จึงมีกระแสตั้งท่าว่าจะปรับโครงสร้างมารอบหนึ่ง

แต่สุดท้ายก็เรียกประชุมใหญ่เฉยๆ ไม่ขยับอะไร เพราะติดงานในสภา ไหนจะงานเรื่องงบประมาณ ไหนจะงานแก้รัฐธรรมนูญ ไหนจะม็อบนักศึกษาที่ออกมาเคลื่อนไหวในช่วงที่ผ่านมาอีก

ถ้าเปลี่ยนแปลงช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อนี้ ก็จะกลายเป็นการเปลี่ยนม้ากลางศึก

“ผู้ใหญ่” ของพรรคจึงเห็นว่า ควรทำงานในสภาให้เต็มที่ก่อน แล้วรอให้ปิดสมัยประชุมสภาเสียก่อนแล้วค่อยขยับ

ฤกษ์งามยามดีในการรีโนเวตพรรคก็มาลงที่วันที่ 1 ตุลาคมนั่นเอง

แต่กว่าจะมาถึงจุดนี้ ก่อนหน้าไม่กี่วันก็มีการวัดพลังกันในพรรคอีกรอบ

โดยหลังจากที่ “คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์” ประกาศลาออกจากตำแหน่งประธานยุทธศาสตร์พรรค คณะบุคคลฝั่ง “คุณหญิงสุดารัตน์” ก็พากันทยอยลาออกจากตำแหน่งคณะกรรมการยุทธศาสตร์บ้าง ตำแหน่งกรรมการบริหารพรรคบ้าง พร้อมกับต่อรองวิธีการปรับปรุงโครงสร้างอยู่พักหนึ่ง

เป็นเหตุให้ “สมพงษ์” ตัดสินใจใช้วิธีการยื่นใบลาออก เพื่อยุติการต่อรองวิธีการต่างๆ

แต่ในการประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคชุดรักษาการวันที่ 28 กันยายน มีการต่อรองขอให้ยืดเวลาการประชุมใหญ่วิสามัญพรรคเพื่อไทย (พท.) ออกไปก่อนอีก บอกว่าวันที่ 1 ตุลาคมนั้นเร็วเกินไป แต่ไม่เป็นผล

เพราะความตั้งใจให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนั้นเข้มข้นเกินต้านทานแล้ว

การปรับโครงสร้างของพรรคเพื่อไทยครั้งนี้ ยังคงจะได้หัวหน้าพรรคชื่อ “สมพงษ์ อมรวิวัฒน์” เช่นเดิม เนื่องจากคนเข้ามาทำหน้าที่หัวหน้าพรรค พท.ขณะนี้ ต้องทำหน้าที่ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรไปโดยปริยายด้วย

ชื่อ “สมพงษ์” เป็นชื่อที่มีความอาวุโส มากบารมี และยังเป็นที่ยอมรับ

ทั้งยังเป็นคนที่ยังพอจะคุยกันได้กับฝั่งรัฐบาลเวลาที่ต้องขอความร่วมไม้ร่วมมือในบางเรื่อง

เพราะมีดีกรีเป็นพี่ใหญ่ของกลุ่ม 16 มาก่อน

สำหรับเลขาธิการพรรค ได้ “ประเสริฐ จันทรรวงทอง” มานั่งเป็นพ่อบ้าน เหตุที่ต้องเป็น “ประเสริฐ” เพราะเป็นคนกลางๆ ไม่ทะเลาะกับใคร คุยกับทุกฝ่ายได้ และมาจาก “ภาคอีสาน”

เพราะเมื่อหัวหน้าพรรคมาจากภาคเหนือแล้ว เลขาธิการพรรคก็น่าจะให้บทบาทกับฝั่งอีสาน

ขณะที่ตำแหน่งโฆษกพรรค ได้ “อรุณี กาสยานนท์” อดีตรองโฆษกพรรคไทยรักษาชาติ และผู้ประกาศฝีปากกล้ามานั่ง

“อรุณี” มีภาพลักษณ์ของคนรุ่นใหม่ชัดเจน กล้าพูด กล้าชน ฉะฉาน ชัดเจน เข้าใจวัยรุ่น

 

ในขณะเดียวกันด้วยความเป็นอาจารย์ก็สามารถทำงานกับผู้ใหญ่ได้เป็นอย่างดีด้วย

เรียกได้ว่า ถ้าอดีตพรรคอนาคตใหม่มี “ช่อ-พรรณิการ์ วานิช” พรรค พท.ในเวลานี้ก็มี “อาจารย์หญิง” นี่แหละ

ส่วนตำแหน่งรองหัวหน้า และกรรมการบริหารพรรค มีการเขย่าใหม่ ผสมผสานระหว่างคนรุ่นเก่าและคนที่มีประสบการณ์เข้าด้วยกัน

ดังนั้น จะเห็นชื่อคนรุ่นใหม่เข้าไปนั่งในตำแหน่งกรรมการบริหารพรรคเพิ่มขึ้นอย่างตั้งใจ

ขณะที่ยังมีคนเก่าก็อยู่ทำหน้าที่เหมือนเดิมด้วย

แน่นอนว่าการปรับโครงสร้างขนานใหญ่ของพรรคเพื่อไทยครั้งนี้ “นายหญิงแห่งบ้านจันทร์ส่องหล้า” ย่อมต้องรับรู้ รับทราบ และเห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

อาจถึงขั้นให้คำแนะนำ

แต่ถึงขนาดว่า จะเข้ามานั่งแท่นบริหารงานในพรรคเองนั้น คงเป็นไปไม่ได้

เพราะสไตล์การบริหารงานของ “หญิงอ้อ” ตลอดเส้นทางที่มีชื่อในทางการเมืองมา “นายหญิงบ้านจันทร์” บริหารอยู่ “ข้างหลังตลอด”

ซึ่งคำว่า “ข้างหลัง” นี้ หมายถึงการวางขุนพลให้เหมาะกับงาน และให้คนที่วางไว้ขับเคลื่อนงานตามเป้าหมายในแต่ละช่วงมากกว่า

เราจึงได้ยินชื่อ “คุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์” เฉพาะเวลาที่มีทีเด็ดทีขาดเท่านั้น

เนื่องจากใครๆ ในพรรคก็เอาชื่อนี้ยกขึ้นมาอ้างข่มกันเองในพรรคตลอด

ส่วนเจ้าตัวคิดอ่านอย่างไร ไม่ค่อยมีใครได้รับสัญญาณโดยตรงนัก

การปรับทัพครั้งนี้ของ “เพื่อไทย” ถือเป็นการคืนอำนาจให้กรรมการบริหารพรรค

ซึ่งที่ผ่านมา ผู้ใหญ่และอดีตรัฐมนตรีของพรรคไปอยู่ในวงยุทธศาสตร์ ทำให้อำนาจในการบริหารงานและขับเคลื่อนพรรคไปอยู่ในมือคณะกรรมการยุทธศาสตร์มากเสียจนคณะกรรมการบริหารพรรคไร้บทบาท และทำหน้าที่เป็นตราประทับ คอยดำเนินการตามทิศทางที่คณะกรรมการยุทธศาสตร์เคาะมาแล้วเท่านั้น

การปรับทัพครั้งนี้ของ “เพื่อไทย” คือการเสริมทัพหลังบ้านให้แกร่ง

ทั้งการดึงขุนพลที่เป็นมันสมอง ทั้งกลุ่มยุทธศาสตร์สุดปึ้กตั้งแต่ครั้งรุ่งเรืองของพรรคไทยรักไทย ทั้งทีมงานรุ่นใหม่จากอดีตพรรคไทยรักษาชาติ ไม่ว่าจะด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคม การศึกษา การสื่อสาร ทีมโซเชียลมีเดีย ลึกไปจนถึงขุนพลที่ลงไปทำหน้าที่ระดับปฏิบัติงาน

นอกจากนี้ การปรับทัพครั้งนี้ของ “เพื่อไทย” ยังมีการเปลี่ยนโลโก้พรรค พท. ให้ตัวอักษร พ. และ ท. “มีหัว” แม้เหตุผลหลักคือการทำให้โลโก้ชัดเจนบนบัตรเลือกตั้ง แต่คนกลับเชื่อที่ “ชูศักดิ์ ศิรินิล” รักษาการหัวหน้าพรรค บอกมากกว่าว่า “ให้มันมีหัว เพราะทุกทีมันมีเหลี่ยมก็ให้มันมีหัว เพราะมีหัวแล้วดีกว่าไม่มีหัว ยิ่งมีหลายหัวด้วยก็ดี”

เนื่องจากเวลาที่ผ่านมา “หัว” หรือผู้นำของพรรคไม่ชัดเจน แบ่งเป็นกลุ่มก้อน การปรับโครงสร้างครั้งนี้ก็จะทำให้ “หัว” ชัดขึ้น

แต่อีกนัยหนึ่งที่คนมองเห็นและคิดได้ คือมีคนที่เป็น “หัวสมอง” ของ “ทักษิณ ชินวัตร” เข้ามาทำงาน

เพื่อเปลี่ยนภาพลักษณ์ของพรรคกันให้พรึบ!