มุกดา สุวรรณชาติ : 44 ปี 6 ตุลา…88 ปี รัฐธรรมนูญไทย กลับไปเริ่มต้นใหม่…ที่พฤษภา 2535

มุกดา สุวรรณชาติ

จากการปฏิวัติ 2475
รัฐประหาร 6 ตุลา 2519
ครึ่งแรกของการเปลี่ยนระบอบ

44 ปีแรกนั้นได้ฝึกเดินบนเส้นทางประชาธิปไตยเพียงแค่ 14 ปี อีก 30 ปี คือระบอบอำมาตยาธิปไตย

24 มิถุนายน พ.ศ.2475 หลังการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย ก็มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรซึ่งมีชื่อว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ.2475 ประกาศใช้ครั้งแรกใน 10 ธันวาคม พ.ศ.2475

รธน.ฉบับนี้มีบทเฉพาะกาลให้มี ส.ส.ประเภท 2 หรือ ส.ว. โดยเหตุผลที่ว่าคนไทยไม่ค่อยรู้เรื่องประชาธิปไตย ยังมีการศึกษาน้อย มีไม่ถึงครึ่งที่เรียนจบประถม 4 แต่ให้ใช้ข้อนี้ไม่เกิน 10 ปี

แต่รัฐธรรมนูญฉบับแรกมีอายุยาวนานที่สุด 13 ปี กับ 5 เดือน ถูกยกเลิกเพราะมีการแก้ไขปรับปรุง เราจึงได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ชื่อว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2489

นี่พิสูจน์ว่ารัฐธรรมนูญต้องแก้ไขปรับปรุงได้

น่าเสียดายที่ใช้เพียงปีกว่าก็ถูกฉีก

8 พฤศจิกายน 2490 มีการทำรัฐประหารของ พล.ท.ผิน ชุณหะวัน ทำให้นายปรีดี พนมยงค์ ต้องหนีออกนอกประเทศ คณะรัฐประหารได้เชิญนายควง อภัยวงศ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์มาเป็นนายกฯ ชั่วคราว

มีการนำธรรมนูญการปกครองชั่วคราวมาใช้แทน

ซึ่งเปิดโอกาสให้แต่งตั้งทหารและข้าราชการเป็นสมาชิกวุฒิสภาได้ และมีจำนวนเท่ากับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

รัฐบาลนายควงจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ใน 29 มกราคม พ.ศ.2491 พรรคประชาธิปัตย์ชนะการเลือกตั้งแต่ได้เป็นรัฐบาลอยู่ถึงแค่วันที่ 6 เมษายน ก็ถูกทวงอำนาจคืน นายควงลาออก จอมพล ป.เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทนอย่างถาวรนานเกือบ 10 ปี

บางคนเรียกว่าเป็นระบอบอำมาตยาธิปไตยไม่เต็มใบ จบด้วยการถูกรัฐประหาร

และต่อด้วยระบอบอำมาตยาธิปไตยเต็มใบ ปกครองต่อโดยจอมพลสฤษดิ์ ต่อด้วยจอมพลถนอม-จอมพลประภาส ถือว่าระบอบอำมาตยาธิปไตยครองอำนาจต่อกันนานถึง 26 ปี

จนเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เกิดจากการเรียกร้องรัฐธรรมนูญ มีการเคลื่อนไหวของนักศึกษา ประชาชนครั้งใหญ่ แม้จะมีผู้เสียชีวิตไปจำนวนหนึ่งแต่ก็มีโอกาสได้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2517

หลังจากนั้นไม่นานก็มีการรัฐประหารและสังหารหมู่นักศึกษากลางเมืองในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 รัฐธรรมนูญฉบับ 2517 ถูกฉีกทิ้ง เมื่อเส้นทางประชาธิปไตยถูกปิด ถูกจับ ถูกฆ่า การต่อสู้ด้วยอาวุธก็เกิดขึ้น นักศึกษาหนีเข้าป่าหลายพัน จับปืนสู้กับรัฐบาลเผด็จการ

รบกันไปประมาณ 6 ปี ก็สงบศึกกัน

 

กลุ่มที่อยู่เบื้องหลัง
รัฐประหาร 6 ตุลา 2519
สืบทอดอำนาจต่อได้

ยังรู้สึกเหมือนกับเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 เพิ่งผ่านไปไม่นาน ทั้งที่ผ่านไป 44 ปีแล้ว การสร้างสถานการณ์อย่างโหดเหี้ยม เพื่อการรัฐประหารกลายเป็นตำนานความโหดที่สุด นับตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เป็นต้นมา

มีคำถามมากมายต่อการล้อมปราบครั้งนี้

มีอำนาจเหนือรัฐบาลได้สั่งการให้ตำรวจสองหน่วยบุกธรรมศาสตร์

เดือนตุลาคม 2520 เพียงปีเดียว รัฐบาลเผด็จการของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ถูกรัฐประหารซ้อนโดย พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ แต่การปกครองแบบเผด็จการเดินต่อ มีการฟ้องร้องจำเลยในคดี 6 ตุลาฯ

ด้วยข้อหาร้ายแรง คือเป็นกบฏ และคอมมิวนิสต์

*จากคำให้การบางส่วนของพยานฝ่ายโจทก์ ซึ่งเป็นตำรวจที่บุกเข้าไปในธรรมศาสตร์พร้อมอาวุธ

จึงรู้ว่าเป็นตำรวจพลร่มค่ายเสือดำหัวหิน และหน่วยอาวุธและอุปกรณ์พิเศษ (S.W.A.T.) หน่วยพิเศษซึ่งใช้ปราบการก่อการร้าย และได้รู้ว่าไม่มีหน่วยปราบจลาจล ไม่มีการสกัดฝูงชนที่ถูกปลุกระดมมา แต่กลับช่วยเปิดทางให้บุกเข้าไป

14 กันยายน 2521 ด้วยฝีมือของทีมทนาย 6 ตุลาฯ การสืบพยานโจทก์ในศาล กลายเป็นการเปิดโปงพวกขวาจัด ทำให้ผู้อยู่เบื้องหลังใกล้เผยโฉม แต่ถูกตัดตอนโดยการนิรโทษกรรม

15 กันยายน 2521 พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ นายกรัฐมนตรีก็ได้นำร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมคดี 6 ตุลาคม 2519 เข้าสู่ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (ตั้งขึ้นหลังรัฐประหาร) และก็ลงมติ 3 วาระรวด

ในค่ำวันที่ 15 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงลงพระปรมาภิไธย พ.ร.บ.นิรโทษกรรม พล.อ.เกรียงศักดิ์ให้สัมภาษณ์ถึงกรณี 6 ตุลาคม 2519 ว่า…

“ความผิดความถูกนั้นก็ไม่รู้ว่าใครผิด แต่อย่าไปนึกถึงดีกว่า เพราะยังก้ำกึ่ง ทุกคนอาจผิดก็ได้ในวันนั้น ศาลยังไม่ได้ตัดสิน แต่ทุกคนเห็นแล้วว่า การกระทำที่เกิดขึ้นนั้นเป็นการกระทำต่อบ้านเมือง และการนิรโทษกรรมก็หมายถึงเลิกกันหมด ทั้งคนในป่า ทั้งประชาชน ทั้งเจ้าหน้าที่ผู้ทำตามกฎหมายบ้านเมือง”

นี่คือบทเรียนว่าการนิรโทษทางการเมือง คือการยกเว้นโทษให้ฆาตกร และผู้บงการ

 

จาก 6 ตุลา 2519
ถึงตุลา 2563 คือ 44 ปีหลัง
แต่ยังมีการรัฐประหาร
และใช้รัฐธรรมนูญ สืบทอดอำนาจ

สําหรับเหตุการณ์ปัจจุบันปี 2563 ก็ล้วนเกี่ยวพันกับการรัฐประหารและรัฐธรรมนูญทั้งสิ้น คือมีการรัฐประหารปี 2549 คมช.ฉีกรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 ทิ้ง แพ้เลือกตั้งก็ทำการรัฐประหารปี 2557 และ คสช.ฉีกรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 ที่กลุ่มตนเองร่างมาทิ้งทันที แล้วร่างฉบับเพื่อสืบทอดอำนาจปี 2560 ขึ้นมาแทน จึงกลายเป็นระบอบอำมาตยาธิปไตยที่มีรัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือ และห้ามแก้ไข

การใช้รัฐธรรมนูญสืบทอดอำนาจการรัฐประหารทำมาทุกสมัย

ในปี 2520 หลังการรัฐประหาร พล.อ.เกรียงศักดิ์ได้ตั้งมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และให้เป็นเลขานุการของกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) มีสาระที่จะทำให้การสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหาร พล.อ.เกรียงศักดิ์ดำเนินต่อไป คือ

1. ส.ว.มาจากการแต่งตั้งมีจำนวนไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดของสภาผู้แทนราษฎร มีวาระคราวละ 6 ปี เมื่อครบ 2 ปีให้สมาชิกออกจากตำแหน่งเป็นจำนวน 1 ใน 3 โดยวิธีจับสลาก และทำดังนี้จนครบ 6 ปี ส.ว.เป็นข้าราชการประจำได้

2. ส.ว.มีอำนาจหน้าที่เท่ากับ ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้ง เช่น สามารถโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีได้

3. นายกรัฐมนตรีไม่จำเป็นต้องมาจาก ส.ส.

ทีนี้ก็รู้แล้วว่า รธน.2560 มายังไง… ลอกมาจากผลงานเก่า 40 ปีก่อน เพียงแต่ลดดีกรีเผด็จการลงตามยุคสมัย ตามแผน ผู้ที่มาเป็นนายกฯ ตาม รธน.2560 จะต้องเข้ามาบริหารตามแบบ พล.อ.เปรม แต่พอทำจริงกลับล้มเหลวไม่ได้เรื่อง ความหวังที่จะอยู่ยาว 8-10 ปี จบแล้ว

สถานการณ์ที่เผชิญหน้าปัจจุบันคือการเรียกร้องรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย ทางออกแบบสันติก็คือทางแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยผ่านรัฐสภา แม้จะถูกล็อกไว้ด้วยกุญแจ 3 ชั้น 4 ชั้น เนื่องจากต้องการให้รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 เป็นเครื่องมือในการสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหาร คสช.ซึ่งรัฐประหารมาตั้งแต่ 2557 แต่ถ้ารัฐบาลและ ส.ว.จะยอมแก้ไขให้เป็นประชาธิปไตย ก็ยังทำได้ เพียงแต่จะยอมลดอำนาจลง

แต่ถ้าคิดจะสืบทอดอำนาจจากการรัฐประหารต่อไป โดยไม่ยอมให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ถูกแก้ไข

สิ่งที่จะเกิดขึ้นมีสองทางคือ รัฐธรรมนูญ 2560 จะถูกยกเลิกไปด้วยการรัฐประหารของคนบางกลุ่ม หรือการปฏิวัติของประชาชน ซึ่งดูแล้วไม่ใช่หนทางที่จะเป็นทางออกแบบสันติ

 

อะไรจะเกิดขึ้น จากนี้ไป

คําตอบก็คือ ตัวแบบที่ใกล้เคียงที่สุด อาจเริ่มแบบเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และจบแบบเหตุการณ์พฤษภาทมิฬปี 2535

ประเมินสถานการณ์ระยะสั้น จะเป็นดังนี้

1. การซื้อเวลาโดยตั้งกรรมาธิการศึกษาญัตติการแก้รัฐธรรมนูญ 1 เดือน บ่งชี้ว่าฝ่ายรัฐบาลและ ส.ว.ก็ไม่มั่นใจในพลังของม็อบนักศึกษา-นักเรียน ถ้ามั่นใจพวกเขาคงโหวตล้มญัตติแก้ รธน.ไปเรียบร้อยแล้ว การดึงเวลา 1 เดือนหมายความว่าต้องการดูปฏิกิริยาการต่อต้านจะมีมากน้อยแค่ไหน ถ้าดูแล้วไม่แรงพอก็จะไม่ยอมแก้ไขรัฐธรรมนูญ

2. ปฏิกิริยาโต้กลับของฝ่ายที่เรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญน่าจะแรงพอ ในขณะที่สถานการณ์เปลี่ยน ล่าสุดพวกเขามองเห็นว่าอุปสรรคไม่ใช่อยู่ที่เนื้อหาของการแก้ไข แต่อยู่ที่ตัวนายกรัฐมนตรีและ ส.ว. ดังนั้น ในการโต้กลับที่ยกระดับแรงขึ้น

จะกลายเป็นการไล่ทั้งนายกฯ และ ส.ว.ออกจากตำแหน่ง

กระแสให้มีรัฐสภาแบบสภาเดียวไม่ต้องมีวุฒิสภาอีกแล้วจะแรงขึ้น จากนี้ไปทั้งรัฐบาลและนายกฯ จะถูกขุดคุ้ยเรื่องต่างๆ มาโจมตีหนักขึ้น

3. ถ้าถูกบีบหนักทั้งรัฐบาลและ ส.ว.จะยอมแก้รัฐธรรมนูญ แต่จะผ่านเฉพาะร่างของรัฐบาลโดยยอมให้มีการตั้ง ส.ส.ร. แต่การคัดเลือก ส.ส.ร.และคนร่างรัฐธรรมนูญฝ่ายรัฐบาลจะได้เปรียบ เมื่อเป็นเช่นนี้ฝ่ายค้านและฝ่ายประชาชนจะไม่ยอม การประท้วงต่อต้านจะยังคงเดินต่อไปอีก

4. ฝ่ายค้านจะพยายามให้ ส.ว.ยอมแก้ไขมาตรา 272 ที่ลดอำนาจการโหวตเลือกนายกฯ ของ ส.ว.ออก และจะให้ ส.ว.ยังคงอยู่ต่อไปได้ อีกข้อหนึ่งก็คือการเลือกตั้งให้ใช้บัตร 2 ใบ ทั้งข้อ 3 และข้อ 4 อาจมีการต่อรองกันได้

5. ในฝ่าย ส.ว. ถ้ามีแรงกดดันทางการเมืองจากประชาชนมากๆ จะแตกออกเป็น 2 ส่วน

พวกที่ยังจงรักภักดีกับรัฐบาล กับพวกที่คิดตั้งตนเป็นอิสระ ยิ่งอำนาจของนายกรัฐมนตรีอ่อนลงเท่าใด จำนวนผู้สนับสนุนการแก้รัฐธรรมนูญก็จะมากขึ้น ไม่มีกฎหมายข้อไหนผูกพัน ส.ว.ไว้กับนายกฯ หรือรัฐบาล

ดังนั้น ถ้านายกฯ ลาออก รัฐบาลล้มหรือยุบสภา ส.ว.ก็ยังคงอยู่ได้และยิ่งเป็นอิสระ

พวก ส.ว.อ่านเกมได้ว่าถ้ามีการเลือก ส.ส.ร.ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และมีการเลือกตั้ง ส.ส.ใหม่ กว่า ส.ว.ชุดนี้จะหลุดจากตำแหน่ง ก็จะอยู่ได้ไม่น้อยกว่า 2 ปี

เพราะการร่างรัฐธรรมนูญที่ ส.ส.ร.มาจากการเลือกตั้งของประชาชนโดยตรง ถึงอย่างไรก็จะได้ ส.ส.ร.ที่มีความคิดต่างกัน เนื่องจากในทุกจังหวัดมีกลุ่มคนที่มีความคิดแตกต่างอยู่ไปทั่ว ในสัดส่วนที่สามารถมีตัวแทนได้ การหนุนจากพรรคการเมือง จะทำให้จังหวัดที่มี ส.ส.ร. 2 คนขึ้นไป ก็มีโอกาสที่จะได้คนต่างความคิดกันเข้าไปเป็น ส.ส.ร. เมื่อคนเหล่านี้ไปเลือกผู้ทรงคุณวุฒิร่างรัฐธรรมนูญ หรือเข้าไปร่วมแสดงความคิดเห็นเอง ความแตกต่างทางความคิด การถกเถียงจะยืดเยื้อ ทำให้การร่างรัฐธรรมนูญใช้เวลายาวนาน

ตอนนี้ ส.ว.จะต้องเลือกว่าจะยอมแก้ รธน.เพื่ออยู่ต่อ และลงหลังเสือได้ หรือจะถูกไล่ล่า

 

จะจบภาค 1 แบบไหน?

สถานการณ์แวดล้อมทั่วไป ยิ่งนานไปไม่ใช่ม็อบจะฝ่อ แต่น่าจะขยาย

ถ้ายิ่งเน้น เปิดโปง เรื่องการทำงานของรัฐบาล เศรษฐกิจ การคอร์รัปชั่น ส.ว. และการแก้ รธน. คนหนุนม็อบจะยิ่งเพิ่ม เพราะความเดือดร้อนเรื่องทำมาหากินหนักขึ้นเรื่อยๆ พอถึงสิ้นปี 2563 ธุรกิจที่ไปไม่ไหวก็จะปิดบัญชีและปิดตัวลงอีกมากมาย จำนวนคนตกงานจะเพิ่มอย่างน่าตกใจ และจะเป็นแรงกดดันที่พุ่งเข้าสู่รัฐบาล

สถานการณ์โควิด-19 ทำให้รัฐไม่กล้าใช้เป็นข้ออ้างมาขู่ม็อบ เนื่องจากต้องการเปิดรับนักท่องเที่ยวเพื่อหาเงินเข้าประเทศ แต่ถ้าเกิดการระบาดจากนักท่องเที่ยวก็ต้องโดนด่าหนัก ถ้าเป็นเรื่องใหญ่ รัฐบาลอาจไปเพราะโควิด-19

การชุมนุมของนักเรียน นักศึกษา ประชาชน ในเดือนตุลาคมจะเป็นแรงกดดันสำคัญ

ในอดีตการชุมนุม 14 ตุลาคม 2516 ไม่ได้ชุมนุมคนมากมายทุกวัน การชุมนุมในธรรมศาสตร์ก่อนหน้า 5-6 วันเป็นเรื่องใหม่ในสมัยนั้น ต้องค่อยๆ สะสมกำลังและความคิด แต่การนัดหมายวันที่ 13 ตุลาคม 2516 ตอนเที่ยงรวมกำลังแล้วเคลื่อนขบวนทันที จึงทำได้ เพราะคนจำนวนหลายแสนไม่สามารถมาอยู่อย่างยาวนานได้

ถ้ารัฐบาล และ ส.ว.ยอม… เกมจะยาวและมีการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น แต่ซับซ้อน

ถ้ารัฐบาลไม่ยอม อาจเป็นแบบพฤษภาคม 2535 และต่อด้วยการเปลี่ยนแปลงที่ซับซ้อนเช่นกัน