ต่างประเทศ : คอเคซัสใต้ระอุ อาเซอร์ไบจานเปิดศึกอาร์เมเนีย

กําลังเกิดศึกนองเลือดอย่างดุเดือดขึ้นในแถบภูมิภาคคอเคซัสใต้

ที่ทำให้หลายชาติ โดยเฉพาะที่มีผลประโยชน์เกี่ยวข้องนั่งก้นไม่ติดกับการเคลื่อนกำลังพลพร้อมอาวุธหนักเข้าปะทะกันระหว่างกองทัพอาเซอร์ไบจานกับกองกำลังอาร์เมเนีย ในเขตนากอร์โน-คาราบัก ที่ชื่อแปลว่า “สวนสีดำแถบภูเขา” ดินแดนแห่งความขัดแย้งของสองฝ่าย ที่ในเวทีระหว่างประเทศให้การรับรองว่าเป็นส่วนหนึ่งของสาธารณรัฐอาเซอร์ไบจาน

แต่ดินแดนดังกล่าวอยู่ภายใต้การปกครองของชนชาวอาร์เมเนีย ชาติพันธุ์ส่วนใหญ่ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว โดยมีสาธารณรัฐอาร์เมเนียให้การสนับสนุนอยู่ทั้งในทางการเมือง เศรษฐกิจ และการทหาร

ที่บอกว่าหลายชาติอาจนั่งก้นไม่ติดด้วยความร้อนใจ เพราะหากการปะทะกันของกองกำลังทั้งสองฝ่ายลุกลามกลายเป็นสงครามเต็มรูปแบบขึ้นมาก็จะพาลส่งผลสะเทือนต่อเสถียรภาพความมั่นคงไปทั่วภูมิภาค

ไม่เพียงเท่านั้น ดินแดนนี้ยังเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ในฐานะเป็นเส้นทางท่อส่งน้ำมันและก๊าซป้อนสู่ตลาดโลก

การจะปล่อยให้สถานการณ์ปะทะทวีความรุนแรงขึ้นไปเรื่อยๆ ก็จะยิ่งสร้างความหายนะไปกันใหญ่

 

เหตุการณ์ปะทะกันครั้งล่าสุดระหว่างกองกำลังอาเซอร์ไบจานและอาร์เมเนียเริ่มปะทุขึ้นมาตั้งแต่วันที่ 27 กันยายนที่ผ่านมา ซึ่งมีทั้งการโจมตีทางอากาศ การยิงจรวดและอาวุธหนักถล่มใส่กัน โดยที่ต่างฝ่ายต่างกล่าวโทษว่าอีกฝ่ายเป็นผู้ลงมือรุกรานก่อน ผ่านไปกว่า 3 วัน มีรายงานทหารและพลเรือนที่ล้มตายไปในสมรภูมิรบนากอร์โน-คาราบักรวมกันแล้วเกือบร้อยคน และทำให้ได้รับบาดเจ็บอีกหลายร้อยคน

ที่ผ่านมาอาเซอร์ไบจานและอาร์เมเนียซึ่งต่างเคยเป็นดินแดนอยู่ในหลังม่านเหล็กทั้งคู่ก่อนที่อดีตสหภาพโซเวียตจะล่มสลายลงในปี 1991 จนทำให้ดินแดนในอาณาจักรแห่งนี้แตกฉานซ่านเซ็นออกไป รวมถึงอาเซอร์ไบจานและอาร์เมเนียเองด้วย ได้เกิดปัญหากระทบกระทั่งกันมาตลอดจากการต่อสู้ช่วงชิงดินแดนนากอร์โน-คาราบัก ซึ่งเป็นพื้นที่ภูเขากินอาณาบริเวณราว 4,400 ตารางกิโลเมตร ตั้งอยู่แนวพรมแดนอาเซอร์ไบจานติดอาร์เมเนีย

โดยประชากรที่อาศัยอยู่ในพื้นที่นี้ส่วนใหญ่เป็นชาวคริสเตียนอาร์เมเนียและมุสลิมเติร์กเป็นส่วนน้อย

หลังจากสงครามนองเลือดระหว่างกองทัพอาเซอร์ไบจานกับกลุ่มแบ่งแยกดินแดนชาวอาร์เมเนียที่ยืดเยื้อมานานระหว่างปี 1988 จนถึงปี 1994 ทำให้มีผู้คนล้มตายไปมากถึง 3 หมื่นคน

และอีกนับล้านคนต้องกลายเป็นผู้พลัดถิ่น คู่ขัดแย้งทั้งสองฝ่ายก็ได้ทำข้อตกลงสงบศึกกันในปี 1994

ทว่าแม้ดินแดนนากอร์โน-คาราบักจะกลายเป็นเขตปกครองของชนชาวอาร์เมเนียไปโดยพฤตินัย แต่ในทางนิตินัยแล้วดินแดนดังกล่าวนี้เป็นของอาเซอร์ไบจาน

เหตุการณ์ปะทะครั้งล่าสุด ยังนับเป็นเหตุการณ์ต่อสู้แบ่งแยกดินแดนครั้งรุนแรงที่สุดของคู่ขัดแย้งนี้นับจากปี 2016 ที่ครั้งนั้นมีผู้เสียชีวิตจากเหตุปะทะกันอย่างน้อยกว่า 200 คน

 

ภายใต้ความขัดแย้งนี้ ยังมีตัวแสดงที่ทรงอิทธิพลเข้ามามีบทบาทเกี่ยวข้องสำคัญ ซึ่งก็เป็นการคานดุลอำนาจกันในภูมิภาคนี้ นั่นก็คือรัสเซีย ชาติพันธมิตรทางทหารของอาร์เมเนีย และตุรกีที่เลือกข้างสนับสนุนอาเซอร์ไบจาน ที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวเติร์กมุสลิม

ในเหตุปะทะกันครั้งนี้ ฝ่ายอาร์เมเนียกล่าวหาตุรกีว่าได้ให้การช่วยเหลือทางทหารกับอาเซอร์ไบจานโดยตรง โดยเฉพาะการสนับสนุนด้วยอาวุธหนัก เพื่อให้กองทัพอาเซอร์ไบจานได้เข้าควบคุมอำนาจเหนือดินแดนนากอร์โน-คาราบัก

โอเลสยา วาร์ทานยาน ผู้สันทัดกรณีจากอินเตอร์เนชั่นแนล ไครซิส กรุ๊ป มองถึงปัญหาความขัดแย้งที่ปะทุขึ้นมาอีกครั้งระหว่างอาร์เมเนียกับอาเซอร์ไบจานว่า เป็นเพราะการไร้ซึ่งตัวกลางไกล่เกลี่ยระดับนานาชาติ เพื่อคลี่คลายข้อพิพาทที่ปะทุขึ้นอีกตั้งแต่เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาแล้ว แม้จะไม่ได้เกิดในพื้นที่นากอร์โน-คาราบักก็ตาม แต่เป็นที่แนวรอยต่อพรมแดนของทั้งสองชาติเลย

การไม่รีบตัดไฟตั้งแต่ต้นลมก็ยิ่งทำให้ไฟความขัดแย้งลุกโชนไปมากขึ้น

 

ขณะที่เกลา วาซาดเซอ นักวิเคราะห์ผู้เชี่ยวชาญในกรุงทาบิลิซีตั้งข้อสังเกตว่า ในเหตุปะทะของคู่ขัดแย้งคู่นี้ในปี 2016 หลักใหญ่เป็นการใช้เครื่องบินลาดตระเวน

แต่มาครั้งนี้เราได้เห็นการนำเอาอาวุธหนักมาใช้กันขนานใหญ่

อย่างไรก็ตาม เขาเชื่อว่าคู่ขัดแย้งทั้งสองฝ่ายไม่ได้มีสรรพกำลังมากพอที่จะยืนหยัดทำสงครามห้ำหั่นด้วยอาวุธหนักขนานใหญ่เช่นนี้ไปในระยะยาวได้

ส่วนความเห็นของนักวิเคราะห์อีกกลุ่มหนึ่งมองว่า ตราบเท่าที่การปะทะกันของคู่ขัดแย้งนี้ยังอยู่ตามรอยต่อพรมแดน ก็ยังไม่เป็นที่น่าห่วงวิตกมากเท่าใดนัก

แต่หากมีการรุกคืบทางทหารเข้าไปในดินแดนที่ลึกขึ้น ไม่ว่าจะในฝั่งของอาร์เมเนียหรืออาเซอร์ไบจานเอง ก็อาจจะเป็นตัวเร่งปลุกเร้าให้ ไม่รัสเซียก็ตุรกีจะต้องยื่นมือเข้ามาแทรกแซงโดยตรงได้เป็นแน่

ตอนนี้นอกจากเสียงทักท้วงร้องเตือนของหลายชาติ รวมถึงจากองค์การสหประชาชาติ ที่ออกมาห้ามปรามให้ทั้งอาร์เมเนียและอาเซอร์ไบจานต่างยับยั้งชั่งใจ เพื่อไม่ให้สถานการณ์เลวร้ายลงไปมากกว่านี้แล้ว

ที่จะต้องจับตาดูกันอีกทางคือความเคลื่อนไหวของคณะทำงานที่เรียกว่า “มินสก์ กรุ๊ป” ซึ่งตั้งขึ้นในปี 1992 นำโดยฝรั่งเศส รัสเซีย และสหรัฐอเมริกา ในการเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ยปัญหาพิพาทในดินแดนนากอร์โน-คาราบัก ที่เคยนำทั้งสองฝ่ายตกลงสงบศึกกันมาได้แล้วนั้น

จะเป็นกลไกช่วยดับไฟขัดแย้งครั้งล่าสุดนี้ลงได้หรือไม่