ปัญหาของการมีความสุขมากเกินไป : นิ้วกลม

นิ้วกลมfacebook.com/Roundfinger.BOOK

หนึ่งเล่มถ้วน

คือจำนวนหนังสือที่ผมเหลือติดตัวอยู่

ทั้งที่ปกติแล้วผมจะต้องพกหนังสือไม่ต่ำกว่าห้าเล่มออกเดินทางไปด้วยกัน ไม่ว่าการเดินทางครั้งนั้นจะ

สั้นหรือยาว ติดกระเป๋าไปเยอะๆ อุ่นใจกว่า เผื่อเบื่อเล่มนี้จะได้อ่านเล่มนั้น เบื่อเล่มนั้นจะได้อ่านเล่มนู้น แต่เอาเข้าจริงก็อ่านไม่เคยครบทุกเล่มที่พกไป และน้อยครั้งที่จะอ่านจบเต็มๆ สักเล่มหนึ่ง

แต่ครั้งนี้โชคชะตาบังคับให้ผมจำต้องเหลือหนังสืออ่านเพียงหนึ่งเล่มถ้วน เพราะกระเป๋าเดินทางของผมดันหลงทางไปลงยังเมืองซัปโปโรในภาคเหนือของประเทศญี่ปุ่น ส่วนตัวผมนั้นลงถูกสนามบิน คือมาที่สนามบินนาโงย่าเพื่อเดินทางต่อไปยังจังหวัดนากาโน่ ซึ่งอยู่กลางประเทศ

กระเป๋าใบใหญ่ซึ่งบรรจุหนังสืออีกสี่เล่มไว้ในนั้นต้องใช้เวลาเดินทางอีกสองวันกว่าจะมาถึงอ้อมกอดเจ้าของ

นอกจากจะต้องหุ้มห่อร่างกายด้วยเสื้อผ้าที่เหลืออยู่เพียงหนึ่งชุด ผมยังต้องหุ้มห่อดวงตาด้วยตัวอักษรจากหนังสือเพียงหนึ่งเล่ม

“มาจากทางสายเปลี่ยว” โดย แฮร์มันน์ เฮสเสอะ แปลโดย พจนา จันทรสันติ คือเล่มเดียวที่ว่านั้น

เพียงบทแรกที่พลิกอ่าน ผมก็รู้สึกราวกับเฮสเสอะกำลังใช้ตัวหนังสือลูบหลังปลอบประโลมผม เขาพูดถึงความร่าเริงเบิกบานที่หายไปเพราะความเร่งรีบและรวดเร็วที่เพิ่มขึ้นในยุคสมัยใหม่ ซึ่งได้ทำลาย “เวลาว่าง” ซึ่งมีเหลืออยู่น้อยนิดลงไปโดยสิ้นเชิง

ความเร่งรีบและรวดเร็วที่ว่านั้นอยู่ในช่วงเวลาก่อน ค.ศ.1960

แล้วในวันนี้ความเร่งรีบนั้นจะเพิ่มขึ้นอีกกี่เท่า

ไม่เพียงบ่นถึงความกดดันจากการทำงานเท่านั้น เขาสะกิดให้เห็นด้วยว่า การหาความสุขของคนเราก็ตกอยู่ในภาษิตเดียวกันคือ “ให้ได้มากที่สุดและเร็วที่สุด”

ความบันเทิงต่างๆ จึงเพิ่มมากขึ้นทุกวัน ขณะที่ความสุขกลับลดลงเรื่อยๆ

เฮสเสอะแนะนำว่า “อย่าได้ละเลยความสุขเล็กๆ น้อยๆ”

ข้อแนะนำเรื่อง “ความสุขเล็กๆ” นั้นเราได้ยินมาจนหูชา หยิกไม่เจ็บแล้ว แต่เรื่อง “ความสุขน้อยๆ” สำหรับผมแล้วมันกลับทำให้หูสะดุด

มันช่างตรงกันข้ามกับคำอวยพรในโอกาสต่างๆ ที่เราได้ยินกันเป็นประจำ

“ขอให้มีความสุขมากๆ นะ”

เฮสเสอะกลับแนะนำให้มีความสุขน้อยๆ

ซึ่งการจะมีความสุขน้อยๆ ได้นี่ต้องอาศัยความกล้า

กล้าที่จะขวางกระแสธารที่เชี่ยวกรากซึ่งไหลอยู่รอบตัว

กล้าที่จะไม่เป็นที่หนึ่ง กล้าที่จะไม่อ่านหนังสือเล่มใหม่ล่าสุด ไม่ต้องซื้อนิตยสารที่ออกใหม่มาอ่านเพราะกลัวว่าจะพูดจากับเพื่อนไม่รู้เรื่อง กลัวไม่ทันสมัย

เฮสเสอะแนะนำว่า “ขอให้ใครก็ตามซึ่งมีนิสัยชอบดูภาพเขียนในห้องแสดงภาพเสียจนถ้วนทั่ว หากมีสักครั้งหนึ่ง ลองใช้เวลาสักชั่วโมงหรือนานกว่านั้น หน้าภาพเขียนชิ้นเยี่ยมเพียงภาพเดียว และก็ให้รู้สึกพึงพอใจแล้วสำหรับวันนั้น เชื่อแน่ว่าเขาจะได้รับมากยิ่งในการทำดังนั้น”

เมื่อใช้เวลากับ “ปริมาณ” ที่น้อยลง เราจะได้ “คุณภาพ” ที่มากขึ้น

แทนที่จะรีบเดินไล่ดูภาพเขียนจนครบทั้งห้องแสดงภาพหรือทั่วพิพิธภัณฑ์เพียงเพื่อความคุ้มหรือจะได้บอกกับเพื่อนได้ว่าฉันเคยเห็นภาพนั้นภาพนี้มาแล้ว หากเราใช้เวลาจดจ่ออยู่กับภาพเขียนเพียงภาพเดียว เราย่อมมองเห็นรายละเอียดที่ไม่เห็นเมื่อดูผาดเผิน ได้ซึมซับความรู้สึกจากภาพเขียนนั้น กระทั่งอาจมีความทรงจำบางอย่างที่เก็บรักษาเอาไว้ได้

ไม่จำเป็นต้องใช้เวลาจนหมด แต่เมื่อดูจนอิ่มแล้วก็กลับบ้าน ไม่ต้องเดินดูภาพอื่นจนหมดเวลา

เราอาจต้องการเพียงหนึ่งภาพที่ประทับใจมากกว่าที่จะต้องการทุกภาพแต่จำอะไรไม่ได้เลย

มาเที่ยวนากาโน่ครั้งนี้มีสถานที่เที่ยวน่าสนใจมากมาย แต่สถานที่ที่ผมประทับใจที่สุดกลับเป็นพื้นที่เล็กๆ ข้างถนนในเมืองเล็กๆ แห่งหนึ่ง

คุณพี่คนขับจอดรถแล้วเรียกพวกเราให้ลงไป สิ่งที่ผมเห็นแวบแรกมีเพียงก้อนหินขนาดใหญ่สามก้อนตั้งเรียงรายกันอยู่ริมถนน ข้างๆ กันมีซากุระแผ่กิ่งก้านอวดดอกสีชมพูเต็มต้น เสริมสร้างบรรยากาศให้โรแมนติกมากยิ่งขึ้น

แสงแดดตอนเกือบหกโมงเย็นช่วงปลายฤดูหนาวระบายสีท้องฟ้าเป็นสีทองอมชมพู

ระหว่างที่กำลังสงสัยว่าพี่คนขับหยุดรถที่นี่ทำไม เสียงบางเสียงก็ลอยเข้ามาในหูของผม…

เป็นเสียงกล่องดนตรีนิ้งหน่องที่ไพเราะชวนฝัน ท่วงทำนองที่บรรเลงนั้นไม่บอกก็รู้สัญชาติได้ทันที

เพลงญี่ปุ่นยุคก่อน

เสียงดนตรีกรุ๊งกริ๊งอันหวานละมุนล่องลอยออกมาจากหินก้อนใหญ่?

เดินตามเสียงไปใกล้ๆ จึงได้เห็นกล่องดนตรีขนาดเล็กตั้งไว้หลังหินก้อนที่สอง ยืนฟังและมองบรรยากาศรอบตัว แม่น้ำที่กำลังไหลริน ภูเขาที่โอบล้อมเมืองเล็กๆ แห่งนี้ ซากุระที่แผ่กิ่งก้านพร้อมดอกชมพูสะพรั่ง ท้องฟ้าสีทองอมชมพู ทั้งหมดนั้นรวมกันเป็นความประทับใจ

พี่คนขับรถซึ่งเป็นชาวเมืองแห่งนี้อธิบายให้ฟังว่า เพลงที่ได้ยินอยู่นี้เป็นเพลงดังของญี่ปุ่น ผู้ประพันธ์เพลงเกิดที่เมืองนี้ ซึ่งก็คือคนที่มีรูปติดอยู่ในก้อนหินที่ตั้งอยู่นี่เอง

นอกจากตั้งก้อนหินเป็นสัญลักษณ์เพื่อรำลึก ชาวเมืองที่เดินทางผ่านมาบริเวณนี้ก็จะนำดอกไม้มามอบให้ และก็ถือโอกาสฟังเพลงเพราะๆ จากกล่องดนตรีซึ่งอาศัยพลังงานแสงอาทิตย์กล่องนี้ด้วย ตัวเขาเองก็แวะพักที่บริเวณนี้อยู่บ่อยๆ

ระหว่างทาง ข้างถนน กล่องดนตรี

ท้องฟ้ายามเย็น แม่น้ำสวย ซากุระบาน

ทั้งหมดนั้นล้วนเป็นสุนทรีย์ในชีวิตประจำวัน มิใช่เรื่องลึกลับซับซ้อน มิใช่เรื่องที่จะต้องไปไขว่คว้าเพื่อหามาครอบครอง

สิ่งที่เราต้องการคือเวลา

เวลาว่างเพื่อจะมาสัมผัสสิ่งสวยงามและไพเราะเหล่านี้

จอดรถเพื่อลงมาฟังเพลง

พักจากการมุ่งหน้าสู่จุดหมายเพื่อรื่นรมย์กับระหว่างทาง

ผมใช้เวลากับกล่องดนตรี ก้อนหิน ต้นซากุระ ผู้ประพันธ์ และดวงตะวันยามเย็น กระทั่งเสียงดนตรีเงียบหายไปในรอบสุดท้าย ไม่สามารถบรรเลงเพลงได้อีกแล้ว เพราะแสงอาทิตย์ซึ่งเป็นพลังงานไม่เพียงพอ

นี่เองหรือเปล่า เคล็ดลับความสุขในชีวิตที่เฮสเสอะพยายามบอกกับเรา

น้อยๆ แต่นานๆ

ซึมซับ แทนที่จะเร่งรีบ

ความบันเทิงมากมายที่ได้จากการเดินทางตลอดหนึ่งวันที่ผ่านมาสร้างความประทับใจให้กับผมไม่ถึงครึ่งของสถานที่เล็กๆ แห่งนี้เพียงแค่ที่เดียว

เป็นความละเอียดอ่อนของคนญี่ปุ่นที่สร้างสถานที่เช่นนี้ไว้ริมทางข้างถนน

สิ่งเหล่านี้ท้าทายความเร่งรีบของผู้คนที่ผ่านทางไปมา

“คุณมีเวลาว่างให้ความงามในชีวิตบ้างไหม” คล้ายมันส่งเสียงถามเช่นนั้น

“ลองพยายามแสวงหาความสุขเล็กๆ น้อยๆ ให้ได้ทุกๆ วัน และลองลดทอนความปรารถนาในความสุขอย่างใหญ่…เพราะความสุขเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้แหละที่ช่วยผ่อนคลายชุบชีวิต ช่วยปลดปล่อยและบรรเทา หาใช่ความสุขอย่างใหญ่ไม่”

เฮสเสอะบอกเอาไว้อย่างนั้น

ปัญหาของการมีความสุขมากเกินไปก็คือ เรามักจะมองข้ามความสวยงามที่อยู่ตรงหน้าแล้วสอดส่ายสายตาออกหาความสวยงามถัดไปอยู่เสมอ

ยิ่งกับชีวิตทุกวันนี้ซึ่งแวดล้อมไปด้วย “ความสุข” สารพัดรูปแบบ

เราอาจต้องอาศัยความกล้าเพื่อปฏิเสธความสุขที่มากล้นเหล่านั้น

เพราะ “ปริมาณ” ของความสุขนั้นเองที่เป็นอุปสรรคต่อ “คุณภาพ” ของความสุข

เสียงเพลงจากกล่องดนตรียังคงบรรเลงก้องอยู่ในสองรูหูของผม

เพลงเดียวเท่านั้น

สถานที่เล็กๆ แห่งเดียวเท่านั้น

จดจำภาพเขียนที่เรารักหนึ่งภาพ ย่อมประทับใจกว่าเห็นทุกภาพในพิพิธภัณฑ์แต่กลับจำอะไรไม่ได้เลย

กระเป๋าเดินทางของผมยังคงมาไม่ถึง

หนึ่งเล่มถ้วน

คือจำนวนหนังสือที่ผมเหลือติดตัวอยู่

เวลายังมีอีกมาก