สมชัย ศรีสุทธิยากร | ถึงเวลา สภาเดียว

“…ที่เราจําต้องมีสมาชิกประเภทที่ 2 ไว้กึ่งหนึ่งก็เพื่อที่จะช่วยเหลือผู้แทนราษฎร ในฐานะที่เพิ่งเริ่มมีการปกครองแบบรัฐธรรมนูญ เราย่อมทราบอยู่แล้วว่า ยังมีราษฎรอีกเป็นจํานวนมากที่ยังไม่ได้รับการศึกษาเพียงพอ ที่จะจัดการปกครองป้องกันผลประโยชน์ของตนเองได้บริบูรณ์ ถ้าขืนปล่อยมือให้ราษฎรเลือกผู้แทนโดยลําพังเองในเวลานี้แล้ว ผลร้ายก็จะตกอยู่แก่ราษฎร เพราะผู้ที่จะสมัครไปเป็นผู้แทนราษฎรอาจเป็นผู้ที่มีกําลังในทางทรัพย์ คณะราษฎรปฏิญาณไว้ว่าถ้าราษฎรได้มีการศึกษาเพียงพอแล้ว ก็ยินดีที่จะปล่อยให้ราษฎรได้ปกครองตนเอง โดยไม่จําเป็นต้องมีสมาชิกประเภทที่ 2 ฉะนั้น จึงวางเงื่อนไขไว้ขอให้เข้าใจว่าสมาชิกประเภทที่ 2 เป็นเสมือนพี่เลี้ยงที่จะช่วยประคองการงานให้ดําเนินไปสมตามความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญ และเป็นผู้ป้องกันผลประโยชน์อันแท้จริง…”

ผมเอาคำกล่าวของ อ.ปรีดี พนมยงค์ ที่กล่าวต่อรัฐสภาหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 ถึงสาเหตุของการเริ่มต้นมีวุฒิสภา ซึ่งในขณะนั้นยังไม่ได้แยกออกเป็น 2 สภาชัดเจน แต่ให้สภาผู้แทนราษฎรประกอบด้วยสมาชิกสองประเภท คือ เลือกตั้งและแต่งตั้ง

ผ่านไป 88 ปี หากตรรกะว่า คนไทยยังไม่มีการศึกษา หรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน จะไม่มีคุณวุฒิเพียงพอที่จะทำหน้าที่ทางนิติบัญญัติให้รอบคอบ ยังต้องมีสภาพี่เลี้ยงคอยประคับประคองงาน

กระทรวงศึกษาธิการของไทยน่าจะมีปัญหาวิกฤต

สภากลั่นกรอง ยิ่งกรองยิ่งช้า?

หน้าที่ของวุฒิสภาที่เป็นหน้าที่หลัก คือ การเป็นสภากลั่นกรอง ให้คำแนะนำ และเลือกสรรบุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญ

การเป็นสภากลั่นกรอง เป็นการทำหน้าที่หลังจากการผ่านกฎหมายของสภาผู้แทนราษฎร โดยกำหนดกรอบเวลาในการดำเนินการ เช่น กรณีการกลั่นกรองกฎหมายทั่วไป ต้องพิจารณาให้เสร็จภายใน 60 วัน แต่หากเป็นกฎหมายทางการเงิน ต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จใน 30 วัน (มาตรา 136 ของรัฐธรรมนูญ) แต่หากเป็น พ.ร.บ.งบประมาณ ต้องพิจารณาให้เสร็จใน 20 วัน (มาตรา 143)

กรอบเวลาดังกล่าว แม้ว่าจะมีกำหนดเวลาไม่มากนัก และยังกำหนดว่า หากครบกำหนดเวลาแล้ววุฒิสภายังไม่สามารถพิจารณาให้เสร็จสิ้น ให้ถือว่ากฎหมายดังกล่าวได้ผ่านการพิจารณาของวุฒิสภาแล้ว แต่หากไม่เห็นชอบก็มีสิทธิยับยั้งและส่งคืนสภาผู้แทนราษฎร ก็จะทำให้การพิจารณากฎหมายเนิ่นนานออกไปอีก 180 วัน

ภายใต้บริบทของการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่รวดเร็ว การออกกฎหมายต่างๆ ควรมีความคล่องตัวหรือจะเพิ่มกลไกที่ทำให้เนิ่นช้ามากขึ้นเป็นประเด็นที่ควรหยิบยกมาอภิปราย

ยิ่งเมื่อพิจารณาจากผลงานของรัฐสภา ในช่วงหนึ่งปีเศษของการทำหน้าที่ของวุฒิสภา (เริ่ม 14 พฤษภาคม 2562) มีร่างพระราชบัญญัติที่ผ่านการพิจารณาจากสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภาเพียง 7 ฉบับ

โดย 3 ใน 7 ฉบับดังกล่าวเป็นพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2563 และ พ.ศ.2564 และพระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่าย พ.ศ.2563 ซึ่งถือเป็นงานประจำ หากไม่ผ่าน รัฐบาลไม่มีงบประมาณใช้

อีก 2 ฉบับ เป็นพระราชบัญญัติเหรียญราชรุจิ และเหรียญรัตนาภรณ์ในรัชกาลที่ 10

มีเพียง 2 ฉบับเท่านั้นที่เป็นกฎหมายเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจคือ พ.ร.บ.ยุบเลิกบรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย และพระราชบัญญัติกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (ยังรอประกาศในราชกิจจานุเบกษา)

ปรากฏการณ์ดังกล่าว อาจโทษวุฒิสภาว่าเป็นฝ่ายทำให้ล่าช้าฝ่ายเดียวไม่ได้ เนื่องจากหากไม่ผ่านจากสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภาที่เป็นไม้สองจะพิจารณาได้อย่างไร เพราะหนึ่งปีกว่าที่ผ่านมา สภาผู้แทนราษฎรมีการผ่านกฎหมายในขั้นรับหลักการและผ่านในวาระสามรวมกันแค่ 11 ฉบับ

แต่สิ่งที่ช้าอยู่แล้วกลับมีกลไกเพิ่ม ย่อมช้ายิ่งขึ้น ปัญหาของบ้านเมืองที่ต้องอาศัยกฎหมายเป็นตัวนำ ก็ย่อมได้รับการแก้ไขล่าช้าไปอีกเท่านั้น

เปรียบเทียบกับสมัยมีสภาเดียว คือ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ หลังการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 มีผลงานการออกกฎหมายในช่วงเกือบ 5 ปี ถึง 472 ฉบับ หรือเฉลี่ยปีละเกือบร้อยฉบับ

แม้จะได้สมญาว่าเป็นสภาตรายางในยุค คสช. แต่ถือว่าได้ผ่านกฎหมายต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหามากมาย ในขณะที่กลไกสองสภานี้ ไม่แน่นักว่าสี่ปีจะออกกฎหมายได้สักกี่ฉบับ

สภาให้คำแนะนำ แนะนำใคร ใครรับฟัง

ความหมายของวุฒิสภาในฐานะสภาผู้มีวุฒิ หรือมีความรู้ความเข้าใจในปัญหาอันหลากหลายของสังคมที่สามารถให้คำแนะนำแก่รัฐบาลในฐานะผู้บริหารราชการแผ่นดิน หรือให้คำแนะนำต่อสภาผู้แทนราษฎรในฐานะสภาพี่เลี้ยง

การให้คำแนะนำต่อรัฐบาล นอกเหนือจากการตั้งกระทู้ถาม ตามมาตรา 150 ของรัฐธรรมนูญแล้ว สมาชิกวุฒิสภาไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ยังสามารถเข้าชื่อขอเปิดอภิปรายทั่วไปตามมาตรา 153 เพื่อให้นายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีมาแถลงข้อเท็จจริงหรือชี้แจงปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินได้พร้อมไปกับการรับฟังความคิดเห็นและคำแนะนำที่มีคุณค่าของสมาชิกวุฒิสภา

ปรากฏว่า หนึ่งปีครึ่ง ผ่านไป 3 สมัยประชุม วุฒิสภายังไม่เคยใช้สิทธิตามมาตรา 153 คำแนะนำต่อรัฐบาลจึงมีค่าเป็นศูนย์

ในด้านการให้คำแนะนำต่อสภาผู้แทนราษฎร แทนที่เราจะเห็นการสนทนาธรรมอย่างอารยะ ที่ผ่านมาสมาชิกวุฒิสภาหลายท่านกลับทำหน้าที่วิจารณ์สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่อยู่ในฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล

และเห็นบรรยากาศการอภิปรายในการประชุมร่วมของรัฐสภาแบบไม่สร้างสรรค์

แค่คุยกันอย่างเป็นมิตรยังยาก จะหวังอะไรกับการแนะนำเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ต่อการรับฟัง

ยิ่งเห็นบรรยากาศและมุมมองของสมาชิกวุฒิสภาที่อภิปรายในที่ประชุมร่วมรัฐสภาในญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ยิ่งเห็นมุมมองของคนสองโลก โลกของอดีตข้าราชการที่สุดแสนอนุรักษ์ ใช้ตัวเองเป็นศูนย์กลาง ไม่เคยเห็นประชาชนในสายตา ไม่สามารถไว้วางใจให้มี ส.ส.ร.ที่ประชาชนเลือกตั้งกันเองเพื่อร่างรัฐธรรมนูญของประชาชน กับโลกของนักการเมืองรุ่นใหม่ ที่เลิกเชื่อถือปรัชญาว่าผู้ปกครองย่อมรู้ดีกว่าประชาชน

ถามว่า วันนี้จะเหลือกี่ ส.ส.ที่อยากฟังคำแนะนำจาก ส.ว.บ้าง

สภาเพื่อรับรององค์กรอิสระ และองค์กรอื่นๆ ตามรัฐธรรมนูญ

คงเหลือแค่บางหน้าที่ที่ยังหาเจ้าภาพไม่ได้ เช่น หากมีการสรรหาองค์กรอิสระ หรือศาลรัฐธรรมนูญ หรือองค์กรอื่นๆ เช่น กรรมการ กสทช. จะใช้กลไกใดมารับรองและกลั่นกรองบุคลากรเหล่านี้ ให้ได้คนที่มีความสามารถและเป็นกลาง รัฐธรรมนูญจึงกำหนดให้ผู้จะดำรงตำแหน่งดังกล่าวต้องได้รับเสียงเห็นชอบจากสมาชิกวุฒิสภาด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง (มาตรา 204) หากไม่เห็นชอบก็ให้ไปสรรหามาใหม่จนกว่าจะได้รับความเห็นชอบ

คำถามใหญ่สองคำถามในเรื่องนี้ คือ กลไกวุฒิสภาได้ทำหน้าที่ในการคัดกรองคนดีได้อย่างเหมาะสมหรือไม่ และเป็นกลไกการคัดกรองที่มีประสิทธิภาพหรือยัง

ในคำถามแรก อาจยังไม่มีคำตอบชัด เพราะยังไม่มีกรณีให้เห็นเนื่องจากกรรมการองค์กรอิสระส่วนใหญ่ถูกลงมติคัดเลือกในช่วงสภานิติบัญญัติ หรือ สนช.ไปเกือบหมดแล้ว

แต่ก็เห็นได้ว่า บุคคลที่ได้มายังผิดฝาผิดตัวมิใช่น้อย เป็นมหาเทพก็เป็นมหาเทพที่สร้างความผิดหวังในประชาชนครั้งแล้วครั้งเล่า และคนที่ทำหน้าที่คัดองค์กรอิสระใน สนช.ก็แปลงร่างมาเป็นสมาชิกวุฒิสภาเป็นหลักร้อยคน

ในคำถามที่สอง ตอบได้ด้วยผลการคัดองค์กรอิสระบางหน่วยงาน ได้แก่ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งครบตำแหน่ง 6 ปีไปตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2558 มาถึงจนทุกวันนี้ยังไม่สามารถหาบุคคลมาดำรงตำแหน่งได้ครบ การทำงานขององค์กรดังกล่าวไม่สามารถได้กรรมการตัวจริงมาทำหน้าที่

ทั้งหมดจึงเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาว่าถึงเวลาต้องหากลไกใหม่มาทำหน้าที่ดังกล่าวแล้วหรือยัง

วันนี้ ถึงเวลาที่จะยอมรับว่าประชาชนมีการศึกษา มีคุณภาพเพียงพอในการตัดสินใจเลือกผู้แทนฯ ของเขา

ถึงเวลาที่ต้องมองว่าสภาผู้แทนฯ นั้นประกอบด้วยบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถมีวุฒิภาวะไม่น้อยไปว่าสมาชิกวุฒิสภา

และถึงเวลาที่กระบวนการกลั่นกรองกฎหมายไม่ควรมีขั้นตอนที่ยืดยาว เพื่อให้กฎหมายต่างๆ ได้ออกมาแก้ไขปัญหาของสังคมได้อย่างทันการณ์

ถึงเวลาออกแบบรัฐสภาใหม่ ให้มีสภาเดียว