ศัลยา ประชาชาติ : “เศรษฐา ทวีสิน” บอส “แสนสิริ” ติวเข้มเศรษฐกิจ-การเมือง รัฐบาลต้องกล้าตัดสินใจ

สภาพปัญหาเศรษฐกิจของไทยที่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 นั้นหนักหนาสาหัส ความห่วงใยจากทุกภาคส่วน สะท้อนจากข้อเสนอแนะต่างๆ ทั้งนักวิชาการ นักเศรษฐศาสตร์ นักธุรกิจ และนักการเมือง

โดยเฉพาะ “เศรษฐา ทวีสิน” กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ที่เคยกระทั่งส่งจดหมายแนะนำ 11 ข้อเพื่อกระตุ้นระบบเศรษฐกิจระยะสั้นและระยะกลาง เมื่อเดือนพฤษภาคม

ในอีกทางหนึ่ง เศรษฐาใช้ทวิตเตอร์เป็นช่องทางแสดงความคิดเห็น และเสนอแนะแนวทางแก้ปัญหาเศรษฐกิจมาอย่างต่อเนื่อง

 

ปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา “เศรษฐา” ให้สัมภาษณ์พิเศษ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ประเทศไทยอยู่กับปัญหามานานพอสมควรแล้ว นับจากวันที่เขาส่งจดหมายถึงนายกฯ จนถึงวันนี้ปัญหาเดิมๆ ยังไม่ถูกแก้ไข ทั้งที่มีหลายอย่างที่รัฐบาลทำได้โดยไม่ต้องรอให้โควิดสิ้นสุด

“ผมอยากจะบอกว่าทำเถอะครับท่านนายกฯ เพราะว่าหลายๆ เซ็กเตอร์เดือดร้อน ก็เข้าใจว่าท่านมีขีดจำกัดทางด้านกฎหมาย ทางด้านข้อมูล แต่ว่าวันนี้เศรษฐกิจมันดิ่งลงไปพอสมควร ก็อยากให้ท่านรีบๆ ทำเถอะ”

“การตัดสินใจเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เราต้องกล้าตัดสินใจ จะถูกบ้างผิดบ้างก็ยังดีกว่าไม่ทำอะไรเลย”

เศรษฐาบอกอีกว่า ไทยเป็นประเทศที่รับมือโควิดได้ดีอันดับต้นๆ ของโลก ดังนั้น เราควรใช้โอกาสนี้ดึงนักท่องเที่ยวต่างประเทศกลับเข้ามา และต้องทำอะไรมากกว่าที่เคยทำมาก่อนหน้านี้

“คำว่า bubble tourism โผล่มาสองอาทิตย์ก็หาย บอกว่าจะเปิดภูเก็ตก็ถูกแรงต้าน อันนี้เป็นข้อหนึ่งที่ผมเห็นใจท่านนายกฯ ถ้าเปิดประเทศเต็มที่แล้วโควิดกลับมาใครจะรับผิดชอบ แต่ผมว่ามันมีหลายๆ อย่างที่เราทำได้ วันนี้คุณยังจัดการเรื่องโควิดไม่ได้ แต่เรื่องเศรษฐกิจสามารถทำได้ ตอนที่เริ่มมีการล็อกดาวน์ มีการจ่ายเงินคนละ 5,000 บาทเป็นเวลา 3 เดือน เทียบวันนี้กับวันนั้น วันนี้เดือดร้อนเยอะกว่า แล้วรัฐบาลทำอะไรมาแล้วบ้าง”

“ผมเข้าใจว่าผู้มีรายได้น้อยต้องได้รับการเยียวยา แต่คู่ขนานกันไปเราต้องทำอะไร”

 

ข้อเสนอแนะข้อแรกๆ ในจดหมายเปิดผนึกที่เศรษฐาส่งถึงนายกฯ คือเรื่องภาคการเกษตร บอสแสนสิริเน้นย้ำเรื่องนี้ว่า คนไทยส่วนมากประกอบอาชีพเกษตรกรรม รัฐบาลควรออกนโยบายรับประกันราคา เพื่อให้คนมีกำลังใจลุกขึ้นมาทำงาน ไม่ใช่ใช้วิธีการแจกเงินอย่างเดียว

เรื่องการลดดอกเบี้ยเงินกู้ เป็นการใส่เงินเข้ากระเป๋าประชาชนอีกทางหนึ่ง เพราะรายจ่ายหลักของคนคือดอกเบี้ย เมื่อเงินออกจากกระเป๋าน้อยลง ก็เท่ากับมีเงินในกระเป๋ามากขึ้น ดังนั้น จะด้วยวิธีอะไรก็ตาม รัฐบาลต้องลดดอกเบี้ยให้ได้

เศรษฐาคอมเมนต์มาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศด้วยว่า ถือว่าไม่ประสบความสำเร็จ เพราะคนไม่มีเงินในกระเป๋า ไม่สบายใจที่จะใช้เงิน เพราะกลัวว่าเศรษฐกิจจะแย่กว่าเดิม ส่วนคนที่มีเงินใช้จ่ายก็ติดปัญหาว่าการออกไปเที่ยวในช่วงวันหยุดยาวนั้น ต้องเจอรถติดเป็นชั่วโมงๆ รัฐก็ต้องดูรายละเอียดพวกนี้ด้วย

รวมไปถึงนโยบายสนับสนุนให้เอกชนจ้างงาน โดยรัฐบาลอุดหนุนค่าจ้าง 50% เศรษฐามองว่า มีแต่รัฐบาลและบริษัทใหญ่ๆ ไม่กี่แห่งเท่านั้นที่ทำได้ คงไม่มีเอกชนอื่นๆ ที่มีความสามารถในสถานการณ์เช่นนี้

เศรษฐาบอกว่า เห็นใจนายกรัฐมนตรีในเรื่องข้อจำกัดต่างๆ “ถ้าจะพูดกันอย่างตรงไปตรงมา ท่านอาสามาทำแล้ว ท่านต้องทำให้ได้ ไม่ใช่มาอธิบายว่าทำไมถึงทำไม่ได้”

อีกประเด็นสำคัญที่ทั้งภาคเอกชนและประชาชนจับตามองคือ ตำแหน่ง รมว.คลังที่ว่างลงตั้งแต่วันที่ 2 กันยายน ถึงตอนนี้มีเพียงชื่อแคนดิเดต แต่ยังไม่ทราบว่าสุดท้ายแล้วเป็นใครจะเป็นผู้เข้ามาดูแลนโยบายการเงินการคลังและระบบเศรษฐกิจของประเทศในภาวะวิกฤตนี้

“เศรษฐา” เน้นย้ำสเป๊ก รมว.คลังคนใหม่เอาไว้ว่า จะต้องมี “5 กล้า” ได้แก่

1. กล้าต่อรองกับนายกฯ ว่าจะทำอะไรบ้าง

2. กล้าชนกับกลุ่มการเมือง โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของชาติเป็นที่ตั้ง

3. กล้าชนกับแบงก์ชาติเรื่องนโยบายการเงินเพื่อต่อสู้กับวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์

4. กล้าผลักดันนโยบายการคลังผ่านกลไกระบบข้าราชการที่เชื่องช้าให้มี speed to market

5. กล้าร่วมกับแบงก์ชาติผลักดันให้แบงก์พาณิชย์ลด net interest margin เพื่อให้ดอกเบี้ยเงินกู้ถูกลง

“รัฐมนตรีคลังคนใหม่จะเป็นใครก็ตาม อยากแนะนำให้กล้าคุยกับท่านนายกฯ ว่า ถ้าเข้ามาจะทำ 1-2-3-4-5 วันนี้ศักยภาพแข่งขันของไทยเทียบกับประเทศอื่นถือว่ายังดีอยู่ ที่บอกว่าหนี้สาธารณะจะถึง 60% แล้ว ช่วงโควิดหนี้ทุกประเทศขึ้นหมด ของเราก็ขึ้นได้ 60% เป็นแค่กรอบ การจะต่อสู้กับเศรษฐกิจที่เลวร้ายคุณจะต้องมีกระสุน ตอนนี้ต้องกู้ก่อน เพราะว่ารายได้ประเทศลดลงจากการเก็บภาษีได้น้อยลง แต่จำเป็นต้องมีการกระตุ้นเกิดขึ้นอย่างใหญ่หลวง”

 

ด้านประเด็นการเมืองที่กำลังเผ็ดร้อน เศรษฐาชี้ว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีข้อที่ประชาชนไม่ยอมรับ เพราะฉะนั้น รัฐบาลต้องแก้ตามข้อเรียกร้อง และต้องมีความจริงใจที่จะแก้ไขจริงๆ

“ยกตัวอย่างเช่น เรื่อง ส.ว.เลือกนายกฯ ผมไม่เห็นด้วยแน่นอน ผมไม่เห็นว่า ส.ว. 250 คนมีอำนาจเหนือคนธรรมดาทั่วไป อันนี้ก็เป็นความเหลื่อมล้ำอันหนึ่ง สิ่งที่ต้องจริงใจอันแรกคือการเลือก ส.ส.ร. ต้องได้คนที่เป็นตัวแทนของทุกภาคส่วนจริงๆ”

เศรษฐามองว่า การแสดงความคิดเห็นและเสนอแนะเรื่องเศรษฐกิจและการเมือง เป็นการทำหน้าที่ประชาชนคนหนึ่งที่อยากเห็นประเทศเดินหน้า ตัวเขาเองอยากให้คำแนะนำกับทุกคนที่มาบริหารประเทศ

“ผมไม่สนว่าคุณอยากฟังผมหรือไม่อยากฟัง ผมคิดว่าสิ่งที่ผมพูด ผมมีความหวังดี อาจจะถูกหรือผิดนั่นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ผมอยากแสดงความจริงใจว่าอยากให้ประเทศเดินไปข้างหน้า ผมก็แค่ให้คำแนะนำ”

ข้อเสนอแนะของเศรษฐา ทวีสิน เรียกได้ว่าเป็น “คอร์สติวเข้ม” จากนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จมากคนหนึ่งของประเทศไทย

“ผมเสนอ 10 ข้อ ท่านทำ 1 ข้อ ผมก็ดีใจแล้ว ยืนยันว่าไม่ได้เป็นเรื่องส่วนตัว การที่ผมทวีตเรื่องเศรษฐกิจที่ยังไม่ถูกแก้ไขปัญหา มันเป็นความบริสุทธิ์ใจจริงๆ ที่มีความหวังดีอยากให้ท่านแก้ไข” บิ๊กบอสแสนสิริยืนยันเจตนาดี