ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 25 กันยายน - 1 ตุลาคม 2563 |
---|---|
คอลัมน์ | ธรรมลีลา |
เผยแพร่ |
บนเส้นทางภิกษุณีสงฆ์ในประเทศไทย (18)
เครือข่ายภิกษุณีสงฆ์
ในการเกิดขึ้นของภิกษุณีสงฆ์ในสายเถรวาทในประเทศไทยนั้น หากเป็นการปลูกต้นไม้ ก็เรียกว่ายังเป็นเพียงหน่ออ่อนๆ จะรอดหรือจะตายก็ยังไม่แน่ใจ
เรานับการเกิดขึ้นอย่างเป็นทางการโดยการอุปสมบทภิกษุณีสายเถรวาทครั้งแรกที่มีการยอมรับโดยคณะสงฆ์ส่วนใหญ่และนักวิชาการพุทธศาสนา ในการอุปสมบทในประเทศอินเดียที่พุทธคยาและสารนาถ พ.ศ.2541
ที่พุทธคยาเป็นการอุปสมบทที่มีสงฆ์สองฝ่ายทั้งภิกษุสงฆ์และภิกษุณีสงฆ์ เฉพาะภิกษุณีสงฆ์จากศรีลังกาที่ได้รับการอุปสมบทดังกล่าว ได้เดินทางไปสารนาถและได้รับการอุปสมบทซ้ำจากภิกษุสงฆ์เฉพาะนิกายเถรวาท และเป็นการอุปสมบทตามสังฆกรรมที่กระทำโดยภิกษุสงฆ์ฝ่ายเถรวาท
นับเป็นการเริ่มต้นภิกษุณีสงฆ์สายเถรวาทตั้งแต่ครั้งนั้น
ภิกษุณีสงฆ์เริ่มกระจายไปสู่ประเทศอื่นนอกจากศรีลังกา ทั้งอินโดนีเซีย เวียดนาม ไทย สหรัฐอเมริกา บังกลาเทศ อินเดีย ฯลฯ
การกระจายตัวของภิกษุณีสงฆ์สายเถรวาทนี้ ด้วยความเคารพในพระวินัย ยังมีการเกาะกลุ่มกันอย่างหลวมๆ เป็นเครือข่ายภิกษุณีสายเถรวาทที่สนับสนุนกันมาตลอดเวลาร่วมสองทศวรรษ
ความสำคัญที่สุดของเครือข่ายที่ว่านี้ คือความตระหนักถึงความจำเป็นที่ต้องอิงอาศัยกัน โดยพระธรรมวินัย
ได้เล่าถึงเครือข่ายนี้ในบทก่อนๆ แล้ว เฉพาะตอนนี้อยากจะเล่าถึงเครือข่ายของภิกษุณีสงฆ์ในประเทศไทยเอง
ในประเทศไทย เมื่อเกิดภิกษุณีสงฆ์ไทยขึ้นนั้น เริ่มต้นจากท่านธัมมนันทาที่มาจากฐานของนักวิชาการสายพุทธศาสนา ในการออกบวชของท่านจึงพยายามอย่างยิ่งที่จะเดินตามเส้นทางที่ถูกต้องที่สุดตามพระธรรมวินัย พยายามปิดจุดอ่อนในการอุปสมบทภิกษุณีที่ผ่านมาในสองระลอกก่อนหน้านั้น ที่ไม่ประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะเงื่อนไขที่ละเอียดอ่อนของการอุปสมบทภิกษุณี
สตรีไทยที่มีความสนใจจะออกบวชเป็นภิกษุณีนั้นน่าจะมีมาก่อนหน้า พ.ศ.2544 ที่ท่านธัมมนันทาออกบวชแล้ว แต่ยังไม่มีใครกล้าที่จะเดินบนเส้นทางสายนี้
แต่เมื่อท่านธัมมนันทาเป็นคนแรกที่ออกบวชไปแล้ว 2 ปี เมื่อสงครามลมปากจากการวิพากษ์วิจารณ์นิ่งลง สตรีหลายๆ คนที่คิดจะออกบวชจึงเห็นถึงความเป็นไปได้
และเมื่อแน่ใจว่าปลอดภัย โดยดูจากภิกษุณีธัมมนันทา จึงเริ่มมีการเดินทางออกไปบวชตามเส้นทางที่ท่านธัมมนันทากรุยทางไว้ให้นั่นเอง
มีบางคนที่จัดการอุปสมบทลับๆ ในประเทศไทย เพราะคณะสงฆ์ไทยไม่อนุญาตให้พระภิกษุไทยให้การอุปสมบทแก่ภิกษุณี ทำให้มีการวิพากษ์วิจารณ์ถึงความถูกต้องของการบวชนั้นๆ
ส่วนใหญ่แล้วก็นิยมออกไปบวชที่ศรีลังกา และกลับมาในประเทศไทย
บางท่านเดิมมีสำนักแม่ชีอยู่แล้ว ก็ปรับสำนักแม่ชีนั้นให้เป็นภิกษุณีอาราม
กรณีเช่นนี้ รวมถึงนิโรธาราม จ.เชียงใหม่ ทิพยสถานธรรม ที่เกาะยอ จ.สงขลา เป็นต้น
วัตรทรงธรรมกัลยาณี จ.นครปฐม เป็นแห่งแรก ที่ตั้งมาตั้งแต่ พ.ศ.2501 นับว่าเก่าแก่ที่สุด ในปัจจุบันทั้งประเทศมีภิกษุณีไทยถึง 285 รูป กระจายกันอยู่ในไม่น้อยกว่า 40 จังหวัดในทุกภาคของประเทศ
ครั้งแรกมีความพยายามที่จะจับกลุ่มกันเป็นเครือข่ายหลวมๆ แต่ไม่เป็นผลสำเร็จ ปัญหาที่พอจะจับทิศทางได้เกิดจากไม่มีการยอมรับซึ่งกันและกัน ติดขัดเรื่องการเดินทางติดต่อกันหากจะมีการเรียกประชุม ภิกษุณีที่เพิ่งบวชเข้ามาใหม่บางรูป ยังไม่มีเป้าหมายที่ชัดเจน บางครั้งก็ยังไม่เข้าใจพระวินัยชัดเจนดีนัก ฯลฯ ความหวาดระแวงเกรงว่าอารามใดอารามหนึ่งจะเข้ามาเป็นใหญ่ปกครอง ฯลฯ
ด้วยท่าทีเช่นนี้ ท่านธัมมนันทาซึ่งเป็นภิกษุณีรูปแรกและอาวุโสสูงสุดจึงมอบให้ภิกษุณีที่เกาะยอดำเนินการแทน แต่ท้ายที่สุดก็พับไป ไม่มีการเรียกประชุมอีก
เรียกได้ว่าขณะนั้นภิกษุณีสงฆ์เองยังไม่มีความพร้อม
ขณะเดียวกันก็มีไลน์กลุ่มของภิกษุณีไทย ที่จริงแล้วเป็นช่องทางที่น่าจะใช้ได้มากที่สุด แต่เนื่องจากขาดการดูแลใกล้ชิด ภิกษุณีบางรูปเข้ามายึดพื้นที่ใช้ในการสอนของตัวเอง ภิกษุณีรูปอื่นๆ ก็ค่อยๆ สลายตัวออกไป
แต่ใน พ.ศ.2562 อาศัยไลน์กลุ่มนี้ ท่านธัมมนันทาแม้ว่าจะอายุมากที่สุดก็ยังอาสาทำงาน โดยเป็นศูนย์รวมเก็บข้อมูลพื้นฐานของภิกษุณีให้
ทำให้การสำรวจจำนวนภิกษุณีทั่วประเทศสำเร็จ ทำให้ทราบจำนวนภิกษุณีและอารามในจังหวัดต่างๆ ดังที่รายงานไปแล้วข้างต้น
ยังมีไลน์กลุ่มเป็นการติดต่อกันในภิกษุณีกลุ่มเล็กๆ อยู่บ้าง สำหรับของท่านธัมมนันทาเองนั้น โดยเฉพาะในพรรษานี้ พ.ศ.2563 ท่านจัดการสอนพระวินัยแก่ภิกษุณีที่อารามของท่านที่นครปฐมทุกวัน
ชั้นเรียนของภิกษุณีนี้ ยินดีเปิดสำหรับภิกษุณีจากอารามอื่นๆ ที่สนใจด้วย
ในช่วงที่รัฐบาลปิดประเทศเพราะการระบาดของโควิด-19 ท่านก็ได้อาศัยส่งคลิปการสอนไปยังภิกษุณีอารามต่างๆ ที่สนใจและติดต่อขอมาอย่างสม่ำเสมอ การเรียนการสอนยังทำทุกวัน และมีการส่งข่าวสารข้อมูลการเรียนในชั้นเรียน อย่างน้อยที่สุดวันเว้นวัน เพื่อให้ภิกษุณีที่อยู่ตามลำพัง หรือกระจายกันอยู่ ยังมีความรู้สึกว่ามีการเกาะกลุ่มกันอยู่ อาจจะนัดหมายทำกิจกรรมร่วมกันเป็นครั้งคราว
ที่สำคัญ วัตรทรงธรรมกัลยาณีภิกษุณีอาราม ต้อนรับให้ภิกษุณีเถรวาทไม่จำกัดเชื้อชาติมาลงปาติโมกข์ร่วมกันเดือนละสองครั้ง ในวันขึ้น 15 ค่ำ และแรม 14 หรือ 15 ค่ำ
โดยนิมนต์พระมหาเถระมาให้โอวาทตามเงื่อนไขของพระวินัยก่อนสวดปาติโมกข์เสมอ
ผู้เขียนเองยังมองการแก้ปัญหาการเดินทางที่เป็นอุปสรรคสำหรับภิกษุณีที่กระจายกันอยู่ในประเทศว่าอาจจะรวมตัวกันตามภูมิภาค เช่น ภาคเหนือ อาจจะรวมตัวกันลงปาติโมกข์ที่เชียงใหม่ ซึ่งมีอารามใหญ่ ภาคใต้ก็อาจจะรวมตัวกันที่ทิพยสถานธรรมภิกษุณีอาราม ที่เกาะยอ ภาคกลาง สะดวกที่สุดน่าจะเป็นที่วัตรทรงธรรมกัลยาณี ภิกษุณีอาราม เป็นต้น
มีรายละเอียดที่ต้องให้ความเคารพ คือความสมัครใจของเจ้าอาวาสที่เป็นเจ้าของสถานที่ในจังหวัดนั้นๆ ว่าท่านจะมีความสะดวกใจมากน้อยเพียงใดที่จะเปิดพื้นที่รับภิกษุณีจากที่อื่น
โดยหลักตามพระวินัย การลงปาติโมกข์ก็ควรจะเป็นโอกาสของพระทุกรูป
ข้อจำกัดอีกข้อหนึ่งคือ ภิกษุณีที่จะมาลงปาติโมกข์นั้น บวชมาถูกต้องหรือไม่
หากสงฆ์ไม่ชัดเจน ภิกษุณีรูปดังกล่าวต้องแสดงความบริสุทธิ์ใจ
มีเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นที่ประเทศอินเดีย เมื่อคราวที่ไปจัดการอุปสมบทภิกษุณีที่นั่น ภิกษุณีที่ไม่ได้มาจากการบวชในประเทศศรีลังกา แต่ท่านเป็นภิกษุณีอาวุโสต่างชาติ
โดยทั่วไปแล้ว สายเถรวาทนับการเริ่มต้นของภิกษุณีที่ พ.ศ.2541 แต่ภิกษุณีต่างชาติรูปนี้อุปสมบทมาก่อน พ.ศ.2541 ภิกษุณีรูปอื่นแสดงความแคลงใจแต่ไม่มีใครกล้าถาม ภิกษุณีธัมมนันทาอาศัยที่อายุมากที่สุด จึงขออภัยและขอดูเอกสารรับรองการอุปสมบทในสายเถรวาทของท่าน
ท่านเองก็มีความตระหนักว่าอาจจะไม่ได้การยอมรับจากภิกษุณีส่วนใหญ่ที่นับการเริ่มต้นที่พุทธคยา พ.ศ.2541 ด้วยความเคารพต่อพระวินัย ท่านรีบแสดงเอกสารทันที ท่านอุปสมบท พ.ศ.2540 ฝ่ายภิกษุณีสงฆ์เป็นเกาหลี แต่ภิกษุสงฆ์ 10 รูป เป็นเถรวาทจากศรีลังกา
ท่านธัมมนันทายินดีรับการอุปสมบทของท่าน เพราะเงื่อนไขการอุปสมบทตามพระวินัยนั้น หากได้รับการอุปสมบทจากภิกษุสงฆ์สายเถรวาท นับว่าท่านนั้นเป็นภิกษุณีสายเถรวาท
เหตุการณ์จึงผ่านไปด้วยดี เพราะทั้งสองฝ่ายต่างทำด้วยความเคารพในพระวินัย
แต่ก็มีบางกรณี เช่น ภิกษุณีไทยมาลงปาติโมกข์ ปรากฏว่าท่านให้ข้อมูลรายละเอียดการอุปสมบทของท่านไม่ได้ ท่านอุปสมบทในประเทศไทย ภิกษุณีสงฆ์ที่มาร่วมการอุปสมบทเป็นนานาสังวาส คือมาจากสายมหายานบ้าง เถรวาทบ้าง วัชรยานบ้าง
และที่สำคัญ พอถามถึงภิกษุสงฆ์ ท่านไม่มีข้อมูลเลย ไม่รู้จักว่าอุปัชฌาย์ชื่ออะไร การอุปสมบทนี้ทำในประเทศไทย หากภิกษุไทยมาร่วมในการอุปสมบท เป็นอาบัติ เพราะคณะสงฆ์ไทยไม่อนุญาต ในกรณีของภิกษุณีรูปนี้ จึงจัดให้ท่านนั่งนอกหัตถบาส คือไม่ได้ร่วมในพิธีการสวดปาติโมกข์
ต่อมาท่านเข้าใจว่าหากท่านไม่สามารถอธิบายการอุปสมบทของท่านได้ ท่านก็จะมีปัญหากับการทำสังฆกรรมกับภิกษุณีไทยที่อารามอื่นๆ ด้วย ท้ายที่สุดท่านตัดสินใจไปรับการอุปสมบทใหม่ที่ถูกต้องที่ประเทศอินเดียเมื่อต้นปี 2560
เครือข่ายภิกษุณีสงฆ์ในประเทศไทยมีอยู่ แต่เป็นการเกาะกลุ่มกันหลวมๆ และไม่สมบูรณ์ คือไม่ได้ครอบคลุมทุกกลุ่ม
ผู้เขียนรายงานจากข้อมูลที่ตนเองมีอยู่ หากท่านผู้อ่านมีข้อมูลที่จะเพิ่มเติมเพื่อการพัฒนาภิกษุณีไทยก็ยินดีและขอบคุณล่วงหน้าค่ะ
ประเด็นที่เราจะละเลยไม่ได้ คือท่าทีที่ถูกต้อง ว่า เราทุกฝ่ายต้องการแสดงความเคารพต่อการรักษาพระธรรมวินัย
เราต้องยอมเสียสละความยึดมั่นส่วนตน เช่น การบวชคลุมเครือ แต่บวชมานานแล้ว กลัวเสียหน้ากับลูกศิษย์ กลัวเสียพรรษา การบวชซ้ำสามารถทำได้โดยไม่เสียพรรษา และควรทำเพื่อให้เกิดการยอมรับโดยส่วนรวม
และข้อสำคัญ เพื่อให้ภิกษุณีไทยเดินต่อไปอย่างสง่างาม
ประเด็นที่ไม่สามารถสร้างเครือข่ายภิกษุณีสงฆ์ไทยได้อย่างสมบูรณ์ส่วนหนึ่งมาจากการที่มีคำถามถึงความถูกต้องของการอุปสมบทของภิกษุณีบางรูปในลักษณะที่ว่านี้เอง
ข้อสำคัญ ภิกษุณีไทยต้องมีความตระหนักรู้ว่า ไม่สามารถอยู่ตามลำพังได้ หากมีความมั่นคงแข็งแรงแล้วก็เมตตายื่นมือให้ความอนุเคราะห์แก่ภิกษุณีรูปอื่นด้วย
แต่ทั้งหมดทั้งมวล ต้องอยู่บนฐานความเคารพและความเข้าใจร่วมกันในพระธรรมวินัย