หนุ่มเมืองจันท์ | ยุติธรรม-คุณธรรม

หนุ่มเมืองจันท์facebook.com/boycitychanFC

วันก่อน มีโอกาสนั่งฟังคุณไพบูลย์ ดำรงค์ชัยธรรม หรือ “อากู๋” ของแกรมมี่ นั่งสนทนากับ “พี่เตา” บรรยง พงษ์พานิช ของธนาคารเกียรตินาคินภัทร

คุยกันเรื่องคุณเทียม โชควัฒนา

คุณเทียม คือ ผู้ก่อตั้ง “สหพัฒนพิบูล”

เป็นเจ้าของแนวคิด “โตแล้วแตก แตกแล้วโต”

นายห้างเทียมเป็นคนที่ชอบบันทึกเรื่องราวต่างๆ

มีหนังสือเล่มหนึ่งชื่อว่า “บันทึกความทรงจำ เทียม โชควัฒนา” เป็นไดอารี่ประจำวันของคุณเทียม

ภาษาเรียบๆ เล่าไปเรื่อยๆ ง่วงๆ แต่แทรกด้วยมุมมองทางธุรกิจและการบริหารคนที่ลึกซึ้งแบบตะวันออก

คุณเทียมได้ชื่อว่าเป็นเจ้าสัวที่มีคุณธรรมสูงมาก

ยากที่จะหาได้ในวันนี้

คุณไพบูลย์เป็น “ศิษย์รัก” ของคุณเทียม

ตอนที่ลาออกไปอยู่ “พรีเมียร์มาร์เก็ตติ้ง” เขาไม่กล้ากลับไปที่สหพัฒนฯ เลยเพราะกลัวจะหาว่าไปดึงตัวลูกน้องมาอยู่ด้วย

จน 7 ปีผ่านไป เขาจะแต่งงาน

ติดต่อขอพบ “นายห้าง” เพื่อเอาการ์ดไปแจก

วันที่ได้เจอเจ้านายเก่าอีกครั้ง

คุณเทียมยังเมตตาคุณไพบูลย์เหมือนเดิม

ตอนคุยกัน “นายห้าง” สามารถไล่เรียงว่าช่วง 7 ปีที่ผ่านมา “อากู๋” ทำอะไรมาบ้าง

“น้ำตาผมแทบไหล ไม่นึกว่านายห้างจะใส่ใจเราขนาดนี้”

คุณไพบูลย์เล่าว่า ตอนที่ทำงานกับคุณเทียม

จะอยู่กับ “นายห้าง” แทบจะตัวติดกันทุกวัน

เสาร์-อาทิตย์ก็นั่งรถไปดูตลาดต่างจังหวัดด้วยกัน

ครั้งหนึ่ง คืนวันศุกร์เขาตั้งวงกับเพื่อนถึงตีห้า

7 โมงเช้าวันเสาร์ คุณเทียมก็ส่งรถมารับที่บ้านเพื่อไปดูตลาดที่นครสวรรค์

ขึ้นรถปั๊บ เขาไม่สนใจว่าใครเป็นนาย ใครเป็นลูกน้อง

คอหัก หลับยาวจนถึงที่หมาย

เดินดูตลาดจนถึงเย็น

นั่งรถกลับ

พอขึ้นรถ “นายห้าง” ก็หลับบ้าง

พอคุณเทียมตื่น “อากู๋” ก็แซวเจ้านาย

“นายห้างก็หลับเหมือนกัน”

คุณเทียมยิ้มแบบคนมีเมตตา ตอบแบบสุภาพ

“เราหลับหลังจากทำงานเสร็จแล้ว”

ครับ “อากู๋” จำมาถึงวันนี้

ส่วน “พี่เตา” บอกว่า เขาเคยเจอ “นายห้างเทียม” ไม่กี่ครั้ง

แต่ที่เขาประทับใจที่สุด คือ ความมี “คุณธรรม”

ตอนนั้นสหพัฒนฯ และบริษัทในเครือเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ

การเข้าตลาดหุ้นนั้น ระบบบัญชีต้องโปร่งใส

แต่เมื่อบริษัทแม่และบริษัทลูกเข้าตลาดหุ้นเหมือนกัน บางทีระบบบัญชีจะเกี่ยวพันกันวุ่นวาย

จัดซื้อชนกันบ้าง

เงินจากกระเป๋านั้นไปอยู่กระเป๋านี้บ้าง

เป็น conflict of interest หรือการทับซ้อนของผลประโยชน์

เรื่องนี้บางทีเจ้าของก็ไม่ได้ตั้งใจ แต่ทำตามความเคยชินสมัยที่ยังอยู่นอกตลาด

บริษัทแบบนี้นักลงทุนจะไม่ชอบ

“พี่เตา” ในฐานะที่ทำงานในบริษัทหลักทรัพย์ก็จะเข้าไปคุยและเสนอให้ปรับระบบบัญชีใหม่ให้โปร่งใส

ตรวจสอบง่าย

“พี่เตา” เคยไปเสนอบริษัทยักษ์ใหญ่บางแห่งที่มีบริษัทในเครือเข้าตลาดให้ปรับระบบบัญชีเช่นเดียวกัน

ปรากฏว่าเจ้าของโกรธ

เพราะเขาคิดว่าถือหุ้นใหญ่ทั้ง 2 บริษัท จะโอนไปโอนมา บริษัทไหนจะได้หรือเสีย เขาก็ได้หรือเสียด้วย

เจ้าของคนนั้นลืมไปว่า นอกจากเขาแล้วยังมีผู้ถือหุ้นรายย่อยด้วย

รายย่อยของแต่ละบริษัทนั้นเป็นคนละคนกัน

แต่สำหรับ “นายห้างเทียม” พอ “พี่เตา” อธิบายเรื่องการทับซ้อนของผลประโยชน์ให้ฟัง

เขานั่งฟังอย่างตั้งใจ

ฟังจบก็อุทานขึ้นมา

“อย่างนี้เราก็เอาเปรียบเขาสิ”

บอกให้ “พี่เตา” เข้ามาปรับระบบบัญชีทันทีเพื่อไม่ให้นักลงทุนรายย่อยเสียเปรียบ

นี่คือ “คุณธรรม” ของ “นายห้างเทียม” ที่ “พี่เตา” ประทับใจ

ผมนึกถึงเรื่องนี้อีกครั้งตอนที่ “เฮียตึ๋ง” หรือคุณอนันต์ อัศวโภคิน ไปบรรยายที่ ABC

แม้จะได้สัมภาษณ์คุณอนันต์บนเวทีหลายครั้ง แต่ทุกครั้งก็จะได้มุมคิดใหม่ๆ เสมอ

อย่างครั้งนี้

มีน้องคนหนึ่งบอกว่า เขาเคยฟังคุณอนันต์มาแล้วครั้งหนึ่ง

ครั้งนั้นมีคนถามว่า ระหว่างความยุติธรรมกับความเสมอภาค คุณอนันต์เลือกอะไร

“เฮียตึ๋ง” ตอบว่า “ความเสมอภาค”

เขาไม่เข้าใจว่าทำไมจึงไม่เลือก “ความยุติธรรม”

คุณอนันต์ไม่ตอบ

แต่บอกว่าจะเล่าเรื่องหนึ่งให้ฟัง

มีเด็ก 3 คนอยากดูฟุตบอล

แต่มีกำแพงกั้นอยู่

เด็กคนแรก สูงเกินกำแพงจึงดูบอลได้สบาย

เด็กคนที่สอง ศีรษะเกือบถึงขอบกำแพง เขย่งก็ยังไม่เห็น

เด็กคนที่สาม ตัวเตี้ย สูงไม่ถึงไหล่คนที่สอง

ถ้าเรามีกล่องไม้ 3 กล่อง เราควรจะแบ่งอย่างไร

แบบแรก แบ่งให้เด็กคนละกล่อง

คนแรกที่สูงเกินกำแพงดูบอลได้อยู่แล้ว ก็ยิ่งสูงขึ้นไปอีก

คนที่สองได้กล่องมาเสริมจนสูงเกินกำแพง ดูบอลได้

ส่วนเจ้าตัวเล็ก แม้จะมีกล่องมารองรับ แต่ก็ยังไม่สูงพอที่จะดูบอลได้

แต่ถ้าเราแบ่งแบบที่สอง

คนแรกไม่ได้ คนที่สองได้ 1 กล่อง เจ้าตัวเล็กได้ 2 กล่อง

ทุกคนก็จะสามารถดูบอลผ่านกำแพงได้

“เฮียตึ๋ง” บอกว่าแบ่งแบบแรก ยุติธรรม เพราะทุกคนได้เท่ากันคนละ 1 กล่อง

ส่วนแบบที่สอง ไม่ยุติธรรมเพราะแบ่งไม่เท่ากัน

“แบบนี้เสมอภาค แต่ไม่ยุติธรรม”

จบ…

ไม่ตอบว่าทำไมถึงชอบ “ความเสมอภาค” มากกว่า

ให้คิดเอง

“ความยุติธรรม” นั้นเป็นเรื่อง “เหตุผล”

ต้องใช้ “สมอง” ตัดสิน

แต่ “ความเสมอภาค” นั้นเป็นเรื่อง “ความรู้สึก”

ใช้ “หัวใจ” นำทาง