เทศะแห่งอาณานิคมและกาละของผู้ปกครอง : การระบาดครั้งใหญ่ของไข้ทรพิษ

ชีวิตาในโลกใหม่ (25) เทศะแห่งอาณานิคมและกาละของผู้ปกครอง

“พระเจ้าทรงยุติความขัดแย้งทั้งมวลด้วยการส่งไข้ทรพิษมาที่นี่ พระองค์ทรงกำจัดวิญญาณของผู้อยู่นอกศาสนาและจัดเตรียมพื้นที่ให้กับบรรดากองทัพของพระองค์ผู้มาเยือน”

วิลเลี่ยม วู้ด-William Wood นิว อิงแลนด์ 1634

เมื่อเริ่มต้นศตวรรษที่สิบเจ็ด โรคไข้ทรพิษได้ลดความรุนแรงของมันลง ทว่า โรคติดต่อที่ผ่านทางพาหะอื่น อาทิ หนูหรือแมลง ได้เข้ารับหน้าที่เข่นฆ่าชาวท้องถิ่นแทน

โรคต่างๆ เหล่านั้นได้แก่ โรคไทฟอยด์ กาฬโรค รวมกระทั่งโรคมาลาเรีย

โรคเหล่านั้นเดินทางมาจากโลกเก่าในทวีปยุโรปสู่โลกใหม่ในทวีปอเมริกา และระบาดเป็นระยะๆ

การระบาดนั้นเกิดขึ้นในที่นั่นบ้าง ที่นี่บ้าง กระจัดกระจายไปทั่วดินแดนที่คนผิวขาวบุกรุกไปถึง การระบาดนั้นอาจเริ่มจากการขาดแคลนอาหารหรืออาจเริ่มจากสุขภาพที่ไม่แข็งแรงของคนพื้นถิ่นที่ต้องทำงานอย่างหนักเพื่อรับใช้เจ้าอาณานิคม

ในส่วนของการขาดแคลนอาหารนั้นเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ฝนฟ้าไม่ตกต้องตามฤดูกาล ฝูงแมลงเข้าโจมตีธัญพืช หรือแม้แต่โรคในตัวพืชชนิดนั้นเอง

การขาดแคลนอาหารย่อมทำให้ร่างกายทรุดโทรมตามมาและทำให้เชื้อโรคเข้าโจมตีได้ง่าย

และการโจมตีเพียงธรรมดาอาจทำให้มีผู้คนล้มตายในปริมาณมากอย่างไม่น่าเชื่อ

อาทิ ในแถบตอนกลางของเม็กซิโกที่การเพาะปลูกธัญพืชนั้นไม่ค่อยได้ผลและส่งผลให้มีการขาดแคลนอาหารอยู่เสมอ

ในบริเวณดังกล่าวจำนวนประชากรมีอัตราเพิ่มขึ้น ลดลง และเพิ่มขึ้นและลดลงอีกด้วยผลจากโรคระบาดดังกล่าว

แม้ว่าการระบาดของโรคชนิดอื่นจะเกิดขึ้น แต่ไข้ทรพิษก็ยังคงแสดงพิษสงของมันอีกครั้งในช่วงทศวรรษที่สองของศตวรรษที่สิบเจ็ด

มีรายงานว่าเกิดการระบาดของไข้ทรพิษและหัดแถบตอนกลางของเม็กซิโกในปี 1613

แต่ที่รุนแรงจริงๆ อยู่ในปี 1615 ถึง 1616 มีผู้ล้มตายจำนวนมากในการระบาดครั้งนั้น

สิ่งที่น่าสนใจคือจากบันทึกของบาทหลวงคณะเยซูอิตคือนอกเหนือจากการระบาดใหญ่ครั้งนี้แล้ว ในพื้นที่นั้นยังมีการระบาดย่อยของโรคต่างๆ อาทิ โรคไทฟอยด์ นิวโมเนียหรือโรคปอดบวมด้วยในช่วงปี 1601-1602 ,1607-1608,1612-1613,1617 และ 1623-1625 เป็นต้น

มาที่อีกซีกหนึ่งของโลกใหม่คือแถบเทือกเขาแอนดีส

การระบาดของเชื้อโรคในศตวรรษที่สิบเจ็ดกลับมีความซับซ้อนกว่ามาก

แหล่งกำเนิดเชื้อโรคปรากฏในหลายสถานที่ อาทิ ในท่าเรือคาร์ตาเจน่า-Cartagena (ซึ่งปรากฏในนวนิยายเรื่องความรักและปีศาจตนอื่นๆ ของ การ์เบรียล การ์เซีย มาร์เกซ)

ท่าเรือแห่งนี้เป็นตลาดค้าทาสที่ใหญ่ที่สุดในแถบนั้น จากรายงานของบาทหลวงเยซูอิตที่รับผิดชอบพื้นที่นั้นในปี 1611 บันทึกว่า แม้เรือค้าทาสที่แล่นมาจาก เคป เวอร์เด้-Cape Verde ก็ยังถูกจำกัดไม่ให้จอดเทียบท่าเพราะการระบาดของโรค

รายงานระบุว่า มีการตรวจพบว่าทาสที่ถูกส่งมากับเรือมีการติดโรคไข้ทรพิษ โรคหัดและโรคไทฟอยด์

ในบันทึกเล่าว่า แม้จะมีการป้องกันเช่นนั้น แต่การปล่อยให้บาทหลวงเยซูอิตที่มีชื่อว่า อลอนโซ่ เดอ ซานโดวัล-Alonso de Sandoval ขึ้นไปทำพิธีมิสซาบนเรือกลับทำให้เกิดการระบาดของโรคในที่สุด

จากบันทึก โรคหัดเริ่มระบาดในแถบนั้นในปี 1611 ก่อนจะติดตามมาด้วยโรคไทฟอยด์

การระบาดจบลงในปี 1612 แต่แล้วก็เกิดการระบาดของโรคอีดำอีแดง หรือ Scarlet Fever ขึ้น เด็กๆ พากันป่วยและล้มตาย และก่อนที่พวกเขาจะแข็งแรง โรคหัดในเด็กก็ระบาดอีกครั้งในปี 1618

นอกจากในบริเวณนี้โรคหัดยังขยายตัวไปถึงแถบโคลัมเบียและทำให้ประชากรพื้นถิ่นที่นั่นล้มตายถึงหนึ่งในห้าของประชากรทั้งหมด

เช่นเคยพวกคนสเปน เจ้าอาณานิคม ได้รับผลกระทบที่ว่านี้น้อยมาก

การระบาดที่ว่านี้ยังมีบันทึกว่าทำให้เหมืองที่ลอส เรเมดิออส และซาราโกซ่า ในโคลัมเบียถึงกับกลายเป็นเหมืองร้างเลยทีเดียว

เขตเปรูนั้นก็ดูจะเป็นพื้นที่ที่โรคหัดสำแดงตนอย่างต่อเนื่อง

ดังมีพระราชสาส์นจากพระเจ้าฟิลิปป์ที่สาม กษัตริย์แห่งสเปนในปี 1618 ถึงผู้สำเร็จราชการแผ่นดินที่เปรู

พระราชสาส์นนั้นแสดงความยินดีที่เขาสามารถปราบปรามการระบาดของโรคหัดลงได้

ทว่า ในปีถัดมาคือ 1619 โรคหัดก็ระบาดอีกครั้งแถบโคปาคาบาน่าโดยเฉพาะแถบลุ่มทะเลสาบทิทิคาก้า

การระบาดนี้ลงไปทางใต้ตามเทือกเขาแอนดีส

เซบาสเตียน เดอ โควารูเบียส-Sebastian de Covarrubias ผู้ที่รับหน้าที่ทำแผนที่ในดินแดนแถบนั้นเล่าว่าอาการของโรค “เป็นจุดแดงบนใบหน้า อันเกิดจาdการที่ร่างกายทิ้งความร้อนและเลือดอันเป็นผลจากโรคไว้เป็นหลักฐาน ก่อนที่จะลามไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกายในเวลาต่อมา”

การระบาดครั้งนี้เล่นงานทางใต้ของเปรูโดยเฉพาะแถบเมืองโปโตซี่ ในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงสิงหาคม 1619

การระบาดรุนแรงจนถึงขั้นต้องจัดตั้งสถานพยาบาลชั่วคราวในบริเวณนั้นซึ่งมีผลต่อการลดจำนวนผู้เสียชีวิตลงได้บ้าง

อย่างไรก็ตาม บันทึกของแพทย์เล่าว่า “เชื้อโรคเป็นตัวที่กัดกินลำไส้ของผู้ป่วยนั้นทำให้การรักษาเป็นไปได้ยากเพราะมันสามารถกัดกินยาที่ให้กับผู้ป่วยด้วย”

ช่วงเวลานั้นเองไม่ไกลนัก ทางใต้ ไข้ทรพิษก็ระบาดในชิลี มีชนพื้นเมืองเสียชีวิตถึง 50,000 คนเลยทีเดียว

สําหรับทางฝั่งบราซิล ในปี 1613 มีการระบาดของไข้ทรพิษในทาสที่ทำงานในโรงงานน้ำตาลแถบริโอ เดอจาเนโร ในช่วงแรกผู้คนเชื่อกันว่าโรคไข้ทรพิษนี้แฝงอยู่ในตัวของทาสชาวแอฟริกัน

อย่างไรก็ตาม การระบาดครั้งนี้เป็นไปเพียงชั่วคราว ก่อนที่มันจะระบาดอย่างหนักในปี 1616 ทางตะวันออกเฉียงเหนือของบราซิล

ข้อกล่าวหายังเป็นดังเดิมคือโรคที่ว่านี้มาจากทาสชาวคองโกและทาสชาวกิวนี

ต่อมาในปี 1621 ชนเผ่าทูปินัมบ้า-Tupinamba ในเมืองซานหลุยส์ เดอ เมรันเฮา ติดเชื้อไข้ทรพิษ และล้มตายลงอย่างทันด่วนในเวลาเพียงสามวันเท่านั้น และมันได้ล้างเผ่าพันธ6Nชนเผ่าทูปินัมบ้าในเขตนั้นลงถึงหนึ่งในสามทีเดียว

ขึ้นมาในแถบอเมริกาเหนือ ดินแดนที่เรียกกันว่านิวอิงแลนด์ เกิดการระบาดครั้งใหญ่ในปี 1612-1613

การระบาดครั้งนั้นถูกบันทึกทั้งในหมู่พ่อค้าชาวดัตช์ที่เดินทางค้าขายมาในแถบฮัดสัน และยังปรากฏในบันทึกของคนอังกฤษที่มาถึงดินแดนแถบนั้นในเจ็ดปีต่อมา

เชื่อกันว่าเชื้อโรคระบาดจากชายชาวฝรั่งเศสคนหนึ่งที่รอดชีวิตจาการที่กลุ่มคนฝรั่งเศสมีการทำศึกกับชนพื้นเมือง

ชายผู้นั้นกล่าวว่า “พระเจ้าจะลงโทษพวกท่านจนไม่มีใครรอดชีวิตได้”

พวกหัวหน้าเผ่าของคนพื้นเมืองไม่เชื่อคำสาปแช่งนั้น

แต่ไม่ช้าโรคระบาดก็เกิดขึ้นและทำให้เกิดความหวาดกลัวคำสาปแช่งของคนผิวขาวในเวลาต่อมา

การระบาดที่ว่าทำให้ดินแดนแถบนี้กลายเป็นที่รกร้างว่างเปล่า พวกชนผิวขาวผู้มาทีหลังที่มีความต้านทานต่อโรคเข้ายึดครองดินแดนแถบนั้นอย่างง่ายดาย

มีบันทึกว่าในปี 1616-1617 ที่มีการบุกเบิกดินแดนแถบเมน-Maine พวกคนอังกฤษนอนร่วมอยู่กับซากศพของคนอินเดียนที่ล้มป่วยและเสียชีวิตลง หากแต่ไม่มีผู้ใดเป็นอันตรายเลย

สิ่งที่น่าสนใจคือ โรคอะไรกันแน่ที่โจมตีดินแดนแถบอเมริกาเหนือ บรรดาผู้มาใหม่ไม่มีหลักฐานในเรื่องนี้ พวกเขาพบแต่โครงกระดูกและหลุมฝังศพทั่วดินแดนเท่านั้น มีการทักทำนายต่างๆ นานา บ้างก็ว่าเป็นโรคไข้ทรพิษ บ้างก็ว่าเป็นโรคหัด โรคอีดำอีแดง หรือโรคไทฟอยด์ก็อาจเป็นได้

ทว่า โรคเหล่านี้เคยระบาดในฮอลแลนด์และอังกฤษก่อนหน้านี้มาแล้วมันจึงไม่ส่งผลอย่างไรต่อผู้รุกราน

อย่างไรก็ตาม มีการจดบันทึกสถิติเพื่อเตรียมการรับมือโรคเหล่านี้

พวกบาทหลวงเยซูอิตพบว่าการระบาดใหญ่นั้นมักนำร่องด้วยไข้ทรพิษก่อนจะตามมาด้วยโรคหัดและโรคอื่นๆ

วาระการระบาดที่สำคัญนับตั้งแต่การจัดตั้งโรคใหม่คือ ปี 1518-1525, ปี 1576-1591 และปี 1614-1620