เศรษฐกิจ / จับตามาตรการรีดภาษีโอทีที ทำได้จริงหรือแค่ราคาคุย!

เศรษฐกิจ

 

จับตามาตรการรีดภาษีโอทีที

ทำได้จริงหรือแค่ราคาคุย!

 

ความพยายามในการเรียกเก็บรายได้จากกิจการโอเวอร์ เดอะ ท็อป (โอทีที) หรือผู้ประกอบการ อาทิ เฟซบุ๊ก ยูทูบ อินสตาแกรม และทวิตเตอร์ มีมาหลายรูปแบบ และหลายยุคสมัย

อย่างปีก่อน ‘ฐากร ตัณฑสิทธิ์’ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) ให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า ประเทศไทยจะเสนอให้มีการจัดเก็บภาษีกิจการโอทีที ทั้งภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีนิติบุคคล โดยเฉพาะต้องมีการจัดเก็บภาษีกิจการโอทีทีทุกประเทศในภูมิภาคอาเซียน

เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจ ในการหลอมรวมเทคโนโลยีกับกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม สู่แพลตฟอร์มออนไลน์ รูปแบบใหม่ๆ ยังไม่ได้มีการจัดเก็บภาษี

ดังนั้น ไทยจึงไม่ได้ประโยชน์ในการนำเงินมาพัฒนาประเทศ เพราะแพลตฟอร์มขนาดใหญ่มาจากผู้ให้บริการต่างประเทศ

จึงควรมีการกำกับท่าทีและแนวทางในการดำเนินการอย่างจริงจังและเป็นรูปธรรม

 

ฟาก ‘กรมสรรพากร’ โดยสมหมาย ศิริอุดมเศรษฐ โฆษกกรมสรรพากร เผยว่า กรมสรรพากรจะเริ่มจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ให้บริการอิเล็กทรอนิกส์และดิจิตอลแพลตฟอร์มในต่างประเทศ (อีเซอร์วิส) ได้ในปีภาษี 2564 หลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ภาษีแพลตฟอร์มดิจิทัลต่างชาติ ไปเมื่อต้นเดือนมิถุนายน 2563

ซึ่งขั้นตอนจากนี้จะเสนอให้ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา หากเห็นชอบจะประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป และหลังจากนั้น 6 เดือนจึงจะเริ่มจัดเก็บได้

สำหรับเป้าหมายการจัดเก็บภาษีอีเซอร์วิสปีแรก หากดูฐานจากปี 2562 คาดว่าจะได้ประมาณ 3,000 ล้านบาท แต่จากการระบาดของโควิด-19 จะเห็นว่าคนใช้ออนไลน์เพิ่มมากขึ้น คาดว่าจะจัดเก็บได้เพิ่มขึ้น ซึ่งจะเกิดความเป็นธรรมสำหรับผู้ให้บริการในประเทศไทยที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% เพราะในแต่ละปีผู้ให้บริการต่างประเทศได้รายรับปีละ 40,000 กว่าล้านบาท แต่ไม่เคยเสียภาษี โดยยืนยันว่าผู้ให้บริการรายใหญ่ๆ พร้อมที่จะเสียภาษีดังกล่าวแล้ว

ทั้งนี้ ภาษีอีเซอร์วิสผู้ให้บริการต่างประเทศ ทั้งแพลตฟอร์มดูหนัง เล่นเกม นายหน้า สื่อโฆษณา ตลาดกลางที่จับผู้ซื้อและผู้ขายมาเจอกัน รวมถึงบริการอีคอมเมิร์ซ เช่น เฟซบุ๊ก ยูทูบ กูเกิล ไลน์ เน็ตฟลิกซ์ และลาซาด้า เป็นต้น ที่ให้บริการในประเทศไทย และมีรายรับเกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี จะต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม นำส่งให้กับกรมสรรพากร โดยไม่มีภาษีซื้อ

อาทิ ถ้าให้บริการ 100 บาท จะต้องนำส่งทันที 7 บาท หรือ 7% ของค่าบริการ

 

ขณะที่ ‘สืบศักดิ์ สืบภักดี’ เลขาธิการสมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (สทค.) เผยว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่มีความสำคัญ และจำเป็นมาก อย่างแรกต้องยอมรับว่า ปัจจุบันคนไทยใช้เทคโนโลยีดิจิตอล ใช้เทคโนโลยีออนไลน์เพิ่มขึ้น หลายอย่างเป็นผู้ประกอบการในประเทศที่ทำถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งเป็นความพยายามในการอุดช่องโหว่

แต่ด้วยแพลตฟอร์มออนไลน์และแพลตฟอร์มดิจิตอล ทำให้เกิดการค้าขายรูปแบบหนึ่งมาจากผู้ประกอบการต่างประเทศ ในแง่ของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ความสะดวกสบายก็มีผลดี แต่ในแง่การส่งผลกระทบต่อทั้งการเก็บรายได้ หรือแม้แต่ผู้ประกอบการในประเทศ นำมาสู่ความเหลื่อมล้ำ

เช่น ผู้ประกอบการในประเทศต้องเสียภาษีทุกขั้นตอน ขณะที่ผู้ประกอบการต่างประเทศอาจจะมีช่องโหว่ ซึ่งอาจจะไม่ต้องเสียภาษีหรือมีความได้เปรียบในแง่ของต้นทุนมากกว่า และหากมองในภาพรวมที่เป็นระดับมหภาค คือ ภาครัฐเองก็สูญเสียรายได้จากการเก็บภาษีค้าขาย ซึ่งปกติจะเป็นภาษีส่วนหนึ่ง ที่ผู้เข้ามาทำค้าขายในประเทศต้องจ่ายเพื่อเป็นรายได้เข้ารัฐ

แต่เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องที่ประเทศไทยประสบอยู่ประเทศเดียว หลายประเทศก็ประสบอยู่เช่นกัน ดังนั้น การหากลไก หรือข้อบังคับเพื่อกำกับหรือจัดเก็บภาษีตามรายได้อันควร เพราะตามความเป็นจริง เมื่อมีแนวโน้มรายได้ที่เติบโตขึ้นเรื่อยๆ รัฐเองควรมีรายได้จากส่วนนี้ ไม่อย่างนั้นจะสูญเสียรายได้จากการค้าขายให้กับผู้ประกอบการต่างชาติโดยไม่มีกำแพงอะไรเลย ซึ่งส่งผลกระทบต่อทั้งระดับนโยบาย ระดับงบประมาณชาติ แม้แต่ผู้ประกอบการรายกลาง หรือรายเล็กก็ได้รับผลกระทบด้วย

ฉะนั้น จึงควรทำให้เกิดความสมดุล และเกิดความเป็นธรรมทางการค้าขาย

 

ส่วนประชาชนผู้ใช้บริการ พอมีรูปแบบออนไลน์เข้ามาย่อมสะดวกสบายขึ้นอยู่แล้ว แต่อยากให้เข้าใจว่า ทุกอย่างมีต้นทุนและความจริงควรมีความเป็นธรรมในเรื่องของการค้าขาย ซึ่งหากมีกฎหมายกำกับดูแล อาทิ เรื่องของการหลอกลวง การได้รับของที่ไม่มีคุณภาพ ส่งมาจากต่างประเทศแล้วได้รับของไม่ตรงตามที่สั่ง ไม่รู้จะไปส่งคืนที่ใคร ซึ่งผู้บริโภคควรจะมองเห็นข้อดีเหล่านี้ด้วย

“สถานการณ์นี้เกิดขึ้นจริงในหลายประเทศ ที่มีความพยายามในการจัดเก็บรายได้จากผู้ประกอบการ แต่ด้วยเรื่องนี้มีความเกี่ยวพันกับหลายหน่วยงาน ไม่ใช่แค่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) หรือกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) อย่างเดียว หรือกรมสรรพากร ซึ่งสังกัดกระทรวงการคลัง หรือรวมถึงกระทรวงพาณิชย์ ดังนั้น ควรมีหน่วยงานที่เป็นเจ้าภาพ ดูแลเรื่องนี้ในการออกกฎร่วมและบังคับใช้ได้อย่างจริงจัง เพื่อลดความยากลำบากในการประสานงานต่างๆ ซึ่งจะสามารถเชื่อมโยงกันได้ เพราะในความเป็นจริง กฎนี้ที่ใช้กับออนไลน์ จะเกี่ยวพันกับหลายกระทรวง หลายหน่วยงาน ซึ่งหากออกกฎที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้ หรือเป็นวันสต๊อปเซอร์วิส ไม่ใช่ต้องไปหน่วยงานนั้นทีหน่วยงานนี้ที ทำให้ผู้ประกอบการต่างประเทศอาจจะตั้งลำไม่ถูก ดังนั้น ความร่วมมือหรือความชัดเจนของระดับนโยบายที่ต้องบูรณาการกฎระเบียบขึ้นมาใหม่ เพราะกฎเดิมจะไม่ครอบคลุม เป็นเรื่องสำคัญ”

สืบศักดิ์ระบุ

 

ทั้งนี้ ข้อมูลจาก Digital Information World ระบุว่า รายงานประจำไตรมาส 1/2562 เฟซบุ๊กมีรายได้ 15,077 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 467,387 ล้านบาท โดยมาจากการโฆษณา, รายได้จากชำระเงินและค่าธรรมเนียมอื่นๆ, มาจากเอเชีย-แปซิฟิก, ยุโรป, สหรัฐอเมริกาและแคนาดา และพื้นที่อื่นๆ ซึ่งเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรเฟซบุ๊กที่มีอยู่ในภูมิภาคนั้นๆ สหรัฐอเมริกาถือเป็นภูมิภาคที่มีผู้ใช้งานเฟซบุ๊กน้อยสุด เมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นๆ ทำให้การนำประชากรเฟซบุ๊กต่อรายได้ที่เกิดขึ้นมาหารกัน ทำให้ผู้ใช้จากสหรัฐอเมริกาเป็นผู้ใช้งานที่มีค่าหัวสูงสุดในเฟซบุ๊กเลยทีเดียว

แต่ก็ยังมีแพลตฟอร์มดิจิตอลสัญชาติอเมริกันอื่นๆ ที่ทำรายได้ได้อย่างน่าสนใจเช่นกัน เช่น เน็ตฟลิกซ์ มีรายได้ในปี 2561 ที่ 15,794.34 ล้านบาท จากจำนวนผู้ใช้ทั้งสิ้น 177,070 ล้านบัญชี แบ่งเป็นผู้ใช้ที่สมัครสมาชิกรายเดือน 167,874 ล้านบัญชี และผู้ที่ใช้งานเฉพาะช่วงที่เปิดให้ทดลองใช้ 9,196 ล้านบัญชี

นี่แค่ตัวอย่างรายได้ของโอทีทีนอกประเทศ ถ้าหน่วยงานรัฐร่วมมือร่วมแรงและร่วมใจทำให้เกิดได้จริง ประเทศไทยคงมีรายได้เข้าประเทศมาช่วยจุนเจือคนในประเทศที่ยังมึนๆ อึนๆ กับชีวิตในห้วงที่โควิดยังไม่ยอมไปไหน