การศึกษา / ส่องชีวิต ‘น.ร.’ ผ่านวีรกรรม ‘ครูจุ๋ม’ ได้เวลา ศธ.จัดระเบียบ ร.ร.เอกชน??

การศึกษา

 

ส่องชีวิต ‘น.ร.’ ผ่านวีรกรรม ‘ครูจุ๋ม’

ได้เวลา ศธ.จัดระเบียบ ร.ร.เอกชน??

 

กลายเป็นเรื่อง “ฉาว” และ “สะเทือนใจ” พ่อ-แม่ และผู้ปกครองทั่วประเทศ หลังเห็นภาพที่โหดร้ายจากกล้องวงจรปิดของ “โรงเรียนสารสาสน์วิเทศราชพฤกษ์” จ.นนทบุรี ที่ น.ส.อรอุมา ปลอดโปร่ง หรือครูจุ๋ม ซึ่งเป็น “พี่เลี้ยงเด็ก” ได้ “ทำร้าย” นักเรียน 3 ขวบ ชั้นอนุบาล 1 ห้องเรียน EP ขณะที่ครูประจำชั้น และครูคนอื่นๆ ที่อยู่ในห้องต่างเพิกเฉย จนผู้ปกครองทนไม่ไหว เข้าแจ้งความดำเนินคดีกับครูจุ๋ม

ล่าสุด เจ้าหน้าที่ตำรวจได้แจ้ง 2 ข้อกล่าวหากับครูจุ๋ม ในข้อหาทำร้ายร่างกายผู้อื่น และความผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก นอกจากนี้ ต้องแยกดำเนินคดีกับครูจุ๋มอีก 8 คดี ตามที่ผู้ปกครองแจ้งความดำเนินคดีกับครูจุ๋ม 8 ราย เป็นความผิดต่างกรรมต่างวาระกัน

ส่วนครูชาวฟิลิปปินส์ นายมาร์วิน ลิวานัก โอเรโฮลา ที่เป็นครูสอนภาษาอังกฤษร่วมห้องกับครูจุ๋ม ปรากฏภาพทำร้ายนักเรียนโดยการผลักหัวเด็ก และกระชากแขนอย่างแรง ได้เข้ามอบตัวกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยเข้ามาในไทยด้วยวีซ่านักท่องเที่ยว ไม่มีวีซ่าสำหรับทำงาน และไม่มีใบอนุญาตการสอน ซึ่งนายมาร์วินยืนยันว่าไม่ได้ทำร้ายนักเรียน

พนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องนายมาร์วินข้อหาทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงาน มีความผิดตาม พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 มาตรา 8, 101 วรรคหนึ่ง ปรับ 10,000 บาท จำเลยรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงปรับ 5,000 บาท!!

 

ทั้งนี้ โรงเรียนสารสาสน์วิเทศราชพฤกษ์ ได้ออกหนังสือชี้แจงการลงโทษนักเรียนที่ไม่เหมาะสม ระบุว่า โรงเรียนขอแสดงความเสียใจต่อนักเรียนและผู้ปกครองอย่างสุดซึ้ง และขอแสดงความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

โดย น.ส.อรอุมายอมรับว่ากระทำการเกินกว่าเหตุจริง และใช้วาจาไม่เหมาะสมต่อนักเรียน ทางโรงเรียนจึงให้ “พ้นสภาพ” ทันที และจะลงโทษทางวินัยต่อบุคคลที่เกี่ยวข้อง

และจากการตรวจสอบพบว่า น.ส.อรอุมาจบการศึกษาแค่ “ชั้น ม.6” และ “ไม่มี” ใบอนุญาตฯ!!

ส่วนครูประจำชั้น ครูสอนศิลปะ และครูชาวฟิลิปปินส์ ที่อยู่ในคลิป เนื่องจากเห็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่กลับนิ่งเฉย และไม่ช่วยเหลือนักเรียน เท่ากับยอมรับสิ่งที่พี่เลี้ยงเด็กทำ ถือว่ามีความผิดร่วมด้วย ทางโรงเรียนได้ให้ออกเช่นกัน

ขณะที่นายพิบูลย์ ยงค์กมล ประธานอำนวยการโรงเรียนในเครือโรงเรียนสารสาสน์ ได้มีหนังสือถึงหัวหน้าภาค หัวหน้าเขต และผู้อำนวยการในเครือ เรื่องการลงโทษนักเรียน ระบุว่า โรงเรียนมีนโยบายไม่ให้ลงโทษนักเรียนโดยการตี หรือทำร้ายร่างกาย ให้ผู้บริหารอบรมครูให้ดูแลนักเรียนด้วยความรัก ด้วยการอภิบาล ห้ามตีนักเรียนโดยเด็ดขาด แต่ยังมีคนฝ่าฝืนอยู่เป็นประจำ ที่เป็นเช่นนี้เพราะผู้บริหารระดับหัวหน้า รวมทั้งผู้อำนวยการ ไม่ใส่ใจ…

ฉะนั้น ให้หัวหน้าภาคไปตรวจสอบ ผู้บริหารคนใดที่ไม่ปฏิบัติตามนโยบาย ให้ลงโทษ ดังนี้ 1.ให้ทำทัณฑ์บน 2.ให้พักงาน และ 3.ให้ออกจากงาน

อย่างไรก็ตาม ปัญหาดังกล่าวไม่ได้เกิดในโรงเรียนสารสาสน์วิเทศราชพฤกษ์เพียงแห่งเดียว แต่โรงเรียนในเครือสารสาสน์ทั่วประเทศ 42 แห่ง สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ปกครองว่าโรงเรียนในเครือสารสาสน์ถึง 34 แห่ง มีปัญหา

อาทิ การบูลลี่ การจัดการเรียนการสอนครู การลงโทษนักเรียน และการเรียกเก็บค่าธรรมเนียม เป็นต้น!!

 

ทั้งนี้ นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้ลงพื้นที่ร่วมกับนายกมล รอดคล้าย ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ. และนายอรรถพล ตรึกตรอง เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.) เพื่อพูดคุยกับตัวแทนโรงเรียนสารสาสน์วิเทศราชพฤกษ์อีกครั้ง หลังพูดคุยกับผู้ปกครอง โรงเรียน กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เจ้าหน้าที่ตำรวจ ฯลฯ

แต่ไม่มีผู้ถือใบอนุญาตจัดตั้ง หรือลูกหลานมาร่วมประชุม มีเพียง “คณะกรรมการมาจัดการปัญหาของโรงเรียน” เป็นตัวแทนมาร่วมประชุมเท่านั้น

หลังเสร็จสิ้นการประชุม รัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ.ได้มอบหมายให้นายดิศกุล เกษมสวัสดิ์ เลขาธิการคุรุสภา แจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษผู้บริหารโรงเรียน รวมทั้งครู ในประเด็นที่นำผู้ที่ไม่จบครูมาดูแลบุตรหลาน โดยจะดำเนินคดีให้ถึงที่สุด

มอบหมายให้เลขาธิการ กช.ดูว่าบุคคลที่สอนนักเรียนมีใบอนุญาตฯ หรือไม่ พร้อมร้องทุกข์กล่าวโทษโรงเรียนในประเด็นการจ้างครูต่างชาติที่ไม่มีใบอนุญาตการสอน และไม่มีใบอนุญาตทำงาน

นอกจากนี้ ผู้มีอำนาจในการบริหารจัดการโรงเรียน คือนายพิบูลย์ ยงค์กมล ไม่ลงมาดูแลปัญหาที่เกิดขึ้น แสดงว่าไม่มีความพร้อมที่จะแก้ปัญหา และไม่ได้แสดงความจริงใจ ให้ สช.ส่งหนังสือเพื่อขอหารือกับผู้บริหาร รวมถึงผู้ถือใบอนุญาตจัดตั้งอีกครั้ง หากไม่มา จะฟ้องร้องดำเนินคดี ฯลฯ

อีกทั้ง สช.ได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง 12 คน ลงพื้นที่ตรวจสอบโรงเรียนในเครือสารสาสน์ทั้ง 34 แห่ง ที่ได้รับการร้องเรียน เบื้องต้นได้ตรวจสอบครูโรงเรียนสารสาสน์วิเทศราชพฤกษ์ 140 คน พบว่า มีใบอนุญาตฯ ถูกต้อง

แต่ครูต่างชาติที่โรงเรียนจ้างมา ไม่มีใบอนุญาตทำงาน และไม่มีใบอนุญาตการสอน!!

 

ขณะที่กรรมการบริหารโรงเรียนในเครือสารสาสน์ แจ้งภายหลังประชุมร่วมกับ ศธ.ว่าจะปรับโครงสร้างใหญ่ในการบริหารงาน และแต่งตั้งผู้อำนวยการให้เร็วที่สุด

โดยมาตรการเยียวยานักเรียนที่ไม่ต้องการเรียนต่อ จะคืนเงินค่าเทอมให้ทั้งหมด…

ส่วนมาตรการแก้ไข สำหรับนักเรียนที่ผู้ปกครองประสงค์ให้เรียนต่อ ทางโรงเรียนดำเนินการได้ทันทีภายใน 10 วัน ดังนี้

  1. ผู้ปกครองสามารถเข้าถึงกล้องวงจรปิดแบบเรียลไทม์ในชั้นเรียน และในแง่มุมต่างๆ ของโรงเรียน
  2. แจ้งมาตรการแนวทางการแก้ไขปัญหา ปรับปรุง โดยมีนักจิตวิทยาจาก สธ.เข้ามาเยียวยาจิตใจนักเรียน และผู้ปกครอง ฯลฯ
  3. ตรวจสอบ และแก้ไขปรับปรุงคุณภาพอาหารกลางวันให้เหมาะสม
  4. ปรับปรุงเรื่องความสะอาดในห้องน้ำ ห้องเรียน และอุปกรณ์การเรียนการสอน
  5. โรงเรียนจะช่วยตรวจสอบมาตรฐานของรถโรงเรียน รวมทั้งเรื่องความปลอดภัยในการขับขี่
  6. เรื่องการทานน้ำ และไปห้องน้ำของเด็ก จะจัดเวลาในการกินน้ำ และเข้าห้องน้ำให้เหมาะสมทุกๆ 2 ชั่วโมง

และ 7.จัดให้ประชุมผู้ปกครองทุกๆ ปีการศึกษา เพื่อแก้ไขปัญหาร่วมกันทุกชั้นเรียน

อย่างไรก็ตาม ยังมีผู้ปกครองบางส่วนไม่พอใจกับมาตรการเยียวยาดังกล่าว!!

 

ปัญหาที่เกิดขึ้น นางประกายรัตน์ ต้นธีรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ทำหน้าที่แทนประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มองว่า การที่ครูหรือบุคลากรทางการศึกษามีพฤติกรรมใช้ความรุนแรงต่อนักเรียน สะท้อนว่าครูขาดทักษะวิชาชีพครู ขาดทักษะการจัดการปัญหา และขาดวุฒิภาวะ ศธ.จำเป็นต้องแก้ปัญหา โดยจัดฝึกอบรมทักษะครูในโรงเรียนปฐมวัยในวิชาจิตวิทยาการศึกษา และจิตวิทยาพัฒนาการ อย่างเข้มข้น และมีการประเมินเป็นระยะ เพื่อให้มีเจตคติที่ดีในการพัฒนาเด็กปฐมวัย

ขณะที่ นพ.จิรรุจน์ ชมเชย กุมารแพทย์เชี่ยวชาญโรคระบบหายใจ กลุ่มงานกุมารเวชกรรม โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวกรณีครูมีปัญหา ทำไมคนรับผลนั้นต้องเป็นเด็ก ระบุว่า ทุกครั้งที่เกิดปัญหาแบบนี้ ผู้ลงมือกระทำมักจะอ้างเรื่องของ “ปัญหาครอบครัว”, “หนี้สิน” และ “สุขภาพและความเครียด” เป็นมูลเหตุให้ต้องกระทำรุนแรงกับเด็กๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่ “ยอมรับไม่ได้” และ “ไม่ใช่เหตุแห่งความเห็นใจ” หรือ “เหตุแห่งการบรรเทาโทษ”

ทั้งนี้ทั้งนั้น เจ้ากระทรวงอย่างนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ระบุว่า การสั่งปิดโรงเรียน ไม่ว่าจะชั่วคราวหรือถาวร ตามที่มีผู้เสนอ จะต้องพิจารณาให้รอบคอบ เพราะผู้ที่ได้รับผลกระทบไม่ได้มีแค่นักเรียนที่ถูกกระทำ แต่ยังมีนักเรียนคนอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องอีก ดังนั้น อาจต้องพิจารณาแนวทางอื่นที่เป็นไปได้ อย่างการตั้งคณะกรรมการควบคุมโรงเรียน

ต้องติดตามว่า ศธ.จะแก้ปัญหาได้ “ตรงจุด” และ “ตรงใจ” ผู้ปกครองหรือไม่…

      ที่สำคัญ ศธ.น่าจะใช้วิกฤตครั้งนี้ “จัดระเบียบ” โรงเรียนทั่วประเทศ เพื่อป้องกันไม่ให้ “นักเรียน” ถูก “ครู” แอบทารุณกรรม!!