ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 2 - 8 ตุลาคม 2563 |
---|---|
คอลัมน์ | รายงานพิเศษ |
เผยแพร่ |
รายงานพิเศษ
แกะรอย ‘บ้านจันทร์ส่องหล้า -ป่ารอยต่อฯ’
กับภารกิจยังไม่จบ
Mission Impossible ของ ‘บิ๊กแดง’
พบกันเมื่อชาติต้องการ
และอาถรรพ์ทุ่งดอนเมือง ภาค 2
ปรากฏการณ์ “กราบเดียว” ของคุณหญิงอ้อ พจมาน ดามาพงศ์ ที่ปรากฏตัวในข่าวราชสำนัก สั่นสะท้านทั้งการเมือง และสะเทือนรัฐบาล
ก่อนจะเกิดกระแสข่าวลือตามมา ทั้งรัฐบาลแห่งชาติ, นายกฯ คนกลาง, นายกฯ พระราชทาน
หรือแม้แต่ข่าว 2 อดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร และยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะได้กลับประเทศ
จน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ต้องออกมาสยบข่าวว่า “ผมอึดอัดใจกับข่าวลือเหล่านี้”
พร้อมออกตัวว่า ผมไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่องที่เกิดขึ้น เพื่อสยบข่าว “ดีล”
แต่ทว่า พล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้ปฏิเสธข่าวที่ว่า พรรคเพื่อไทยจะเข้าร่วมรัฐบาล หลังจากการปรับโครงสร้างพรรคใหม่ หลังคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ นำทีมลาออก
“เรื่องจะร่วมรัฐบาล มันเป็นเรื่องวันข้างหน้า วันหน้า ก็คือวันหน้า” พล.อ.ประยุทธ์ไม่ปิดประตู
แต่ทว่า ทุกอย่างย่อมมีที่มาและที่ไป มีเบื้องหน้าแล้วก็ต้องมีเบื้องหลัง
ก่อนการชุมนุมใหญ่ของประชาชนปลดแอก ที่มีนักศึกษาเป็นแกนนำ ที่เกิดความหวาดหวั่นว่า จะเกิดการเปลี่ยนแปลง ทั้งยุบสภา หรือนายกฯ ลาออก หรือแม้แต่การปฏิวัติรัฐประหาร
พบความเคลื่อนไหวของบิ๊กแดง พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ที่ตอนนั้นยังเป็น ผบ.ทบ.อยู่ เดินสายพูดคุยกับแกนนำคนเสื้อแดงหลายคน
ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะไม่ใช่ครั้งแรก เพราะ พล.อ.อภิรัชต์เดินสายพบปะพูดคุยกับคนเห็นต่างมาตลอด แบบเงียบๆ ลับๆ
แม้แต่เคยไปคุยลับกับนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และนายปิยบุตร แสงกนกกุล เมื่อปลายปีที่แล้ว ที่ตอนนั้นยังเป็นหัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่อยู่
ที่มีกระแสข่าวออกมาว่า ครั้งนั้น นอกจาก พล.อ.อภิรัชต์มาหยั่งเชิงแนวคิดของทั้ง 2 คนแล้ว ยังมีข้อเสนอบางประการของนายธนาธรที่ พล.อ.อภิรัชต์ไม่ยอมรับ จึงไม่เกิด “ดีล” ขึ้น ก่อนตามมาด้วยการขึ้นเวที “แผ่นดินของเรา” ฉะ “ฮ่องเต้ซินโดรม” พร้อม “ภาพเงา” ของนายธนาธร ที่ยืนข้างโจชัว หว่อง นักเคลื่อนไหวชาวฮ่องกง จนนำมาซึ่งการแฉแผน “ฮ่องกงโมเดล” ในไทย และการยุบพรรคอนาคตใหม่ตามมาในที่สุด
ไม่แค่นั้น พล.อ.อภิรัชต์ยังมีมิชชั่นลับในการเจรจา เพื่อนำไปสู่ความสงบเรียบร้อย และความมั่นคงของสถาบัน
แม้แต่บทบาทของแรมโบ้ นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ อดีตแกนนำเสื้อแดงกลับใจ ที่ย้ายมาเข้าพรรคพลังประชารัฐ และเป็น ผช.รมต.ประจำนายกฯ
หลังจากที่ตอนรัฐประหารพฤษภาคม 2557 เคยคิดจะหนีออกนอกประเทศ แต่ พล.อ.อภิรัชต์โทร.แนะนำไม่ให้หนี แต่อย่าต่อต้าน เคลื่อนไหว จะดูแลความปลอดภัยให้ ที่ทำให้ชีวิตแรมโบ้ถึงจุดเปลี่ยน จนมาอยู่เคียงข้าง พล.อ.ประยุทธ์ในวันนี้
ยิ่งมีความเคลื่อนไหวของขบวนการหมิ่นสถาบัน พล.อ.อภิรัชต์ก็เดินสายคุยกับคนเสื้อแดงอย่างต่อเนื่อง
มีรายงานถึงคำพูดของ พล.อ.อภิรัชต์ที่ไปคุยกับแกนนำเสื้อแดง ว่า ทหารกับคนเสื้อแดงไม่ใช่ศัตรูกัน
เราเพียงเห็นต่างกันในการปกครองระบอบประชาธิปไตย และรัฐธรรมนูญ
จนทำให้ พล.อ.อภิรัชต์มั่นใจว่า คนเสื้อแดงพันธุ์แท้ แม้มีจุดยืนทางการเมืองแตกต่างออกไป แต่เสื้อแดงพันธุ์แท้ไม่เคยคิดล้มล้างสถาบัน อันเป็นเสาหลักของประเทศ แต่ต่อต้านเผด็จการ และความไม่เป็นประชาธิปไตยเท่านั้น
หากมองกลยุทธ์ของ พล.อ.อภิรัชต์ คือ การแยกเสื้อแดงออกจากขบวนการล้มล้างสถาบันให้ได้มากที่สุด แม้จะมีบางส่วนไปเป็นแนวร่วมการชุมนุมก็ตาม
จึงไม่แปลกที่เมื่อมีปรากฏการณ์กราบเดียวของคุณหญิงพจมาน จะมีกระแสข่าวพาดพิง พล.อ.อภิรัชต์ ที่ถือเป็นบุคคลในเชิงสัญลักษณ์ของสถาบัน
เพราะต้องไม่ลืมว่า พล.อ.อภิรัชต์เป็นลูกชายของ พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ ซึ่งถือเป็นผู้มีพระคุณของนายทักษิณและคุณหญิงพจมานในด้านธุรกิจ เป็นคนช่วยให้ได้รับสัมปทานดาวเทียมไทยคมในยุคนั้น
และต้องไม่ลืมอีกเช่นกันว่า คุณหญิงพจมานและลูกทั้ง 3 อยู่รอดปลอดภัยบนแผ่นดินไทยโดยไม่ต้องหนีออกนอกประเทศ
แล้วก็เป็นคุณหญิงพจมานที่เมื่อครั้งหลังรัฐประหารปี 2549 เคยเข้าบ้านสี่เสาเทเวศร์ พบ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษในเวลานั้น มาแล้ว
ไม่แค่นั้น สายสัมพันธ์บ้านจันทร์ส่องหล้า กับบ้านป่ารอยต่อฯ ก็ยังคงมีเยื่อใยกันอยู่ เพราะเมื่อครั้งที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ประธานมูลนิธิป่ารอยต่อฯ พี่ใหญ่ 3 ป. ได้ขึ้นเป็น ผบ.ทบ.ในยุคทักษิณ
เพราะก่อนหน้านั้น พล.อ.ประวิตรก็สนิทสนมใกล้ชิดกับแกนนำและคนใกล้ชิดนายทักษิณ และคนใกล้ชิดคุณหญิงพจมาน จำนวนไม่น้อย จนถึงขั้นที่คุณหญิงพจมานเคยพยายามจะหาคู่ให้ พล.อ.ประวิตรมาแล้ว
กระแสข่าวในเวลานั้นก็ระบุว่าได้รับการสนับสนุนจากคุณหญิงพจมาน ไม่เช่นนั้นแล้วก็คงไม่มีพลังถึงขั้นที่นายทักษิณจะเด้งบิ๊กตุ้ย พล.อ.ชัยสิทธิ์ ชินวัตร ญาติผู้พี่จาก ผบ.ทบ. ไปเป็น ผบ.ทหารสูงสุด เพื่อเปิดทางให้ พล.อ.ประวิตรขึ้นเป็น ผบ.ทบ.
จึงไม่แปลกที่ความเคลื่อนไหวของคุณหญิงพจมานในการกลับมาคุมพรรคเพื่อไทยเอง และปรับโครงสร้างใหม่ครั้งนี้จะถูกมองว่ามีที่มาและที่ไป
และไม่ใช่เป็นความเคลื่อนไหวในช่วงเวลาแค่วันสองวัน สัปดาห์สองสัปดาห์ หรือเดือนสองเดือน แต่มีความพยายามต่างๆ เกิดขึ้นมาตลอด
จนนำมาซึ่งกระแสข่าวบทบาท พล.อ.อภิรัชต์ที่เป็นตัวเดินเกมหลัก โดยเฉพาะบทบาทใหม่ในการเป็นรองเลขาธิการพระราชวัง
แม้แต่การที่ พล.อ.อภิรัชต์เชิญบิ๊กจิ๋ว พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกฯ และอดีต ผบ.ทบ.มาเยี่ยม ทบ.ในวันสุดท้ายก่อนที่ พล.อ.อภิรัชต์จะส่งมอบหน้าที่ให้บิ๊กบี้ พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ เมื่อ 29 กันยายนที่ผ่านมานั้น ก็เป็นการส่งสัญญาณการย้ายข้างของ พล.อ.ชวลิต ที่ระยะหลังหันมาสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตร รวมทั้งการเทิดพระเกียรติ และแสดงออกถึงการปกป้องสถาบัน
โดยเฉพาะในวันที่มาพบ พล.อ.อภิรัชต์ ที่ พล.อ.ชวลิตสวมเครื่องแบบทหารมาด้วย
แม้จะเป็นเรื่องสายสัมพันธ์ของหลานแดงกับอาจิ๋ว ที่เป็นทั้งนายและเพื่อน จปร.1 ของบิ๊กจ๊อด พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ อดีต ผบ.ทหารสูงสุด บิดา ที่เห็นบิ๊กแดงมาตั้งแต่เด็กๆ ก็ตาม แต่ก็ถูกมองว่าเป็นความเคลื่อนไหวที่มีนัยยะ โดยเฉพาะการปิดห้องคุยกันส่วนตัว
“ผมทำงานจนวันสุดท้าย” พล.อ.อภิรัชต์เปรยก่อนที่จะเปลี่ยนไปแต่งเครื่องแบบสีกากีเมื่อรับหน้าที่ใหม่
ทั้งนี้ พล.อ.อภิรัชต์ทำหน้าที่ ผบ.ทบ.เต็มตัว วันสุดท้าย 28 กันยายน 2563 เพราะ 29 กันยายน ก็ส่งมอบหน้าที่แล้ว ซึ่งต่างจาก ผบ.ทบ.คนอื่น ที่จะส่งมอบวันที่ 30 กันยายน แต่เพราะ พล.อ.อภิรัชต์ต้องไปรับหน้าที่รองเลขาธิการพระราชวัง วันที่ 30 กันยายน พล.อ.อภิรัชต์จึงเป็น ผบ.ทบ.ในปีที่ 2 แค่ 364 วัน
แต่ก็ไม่ถือว่า พล.อ.อภิรัชต์เกษียณราชการ เพราะแค่พ้นจากหน้าที่ผู้บัญชาการทหารบก พ้นจาก ทบ.และกระทรวงกลาโหม โดยย้ายโอนไปเป็นข้าราชการในพระองค์ที่ไม่มีวันเกษียณ
เช่นที่ พล.อ.ชวลิตกล่าวว่า ภารกิจของ พล.อ.อภิรัชต์ยังไม่จบ แต่นี่แค่เริ่มต้นเท่านั้น
แต่กระนั้นก็ตาม พล.อ.อภิรัชต์ปฏิเสธความเกี่ยวข้องใดๆ กับความเคลื่อนไหวทางการเมืองที่เกิดขึ้น
แต่พูดเพียงสั้นๆ ว่า “เป็นสิ่งดีๆ ที่เกิดขึ้น”
“และเชื่อว่าจากนี้ จะมีสิ่งดีๆ เกิดขึ้นตามมาอีก” พล.อ.อภิรัชต์ทิ้งปริศนา
แม้จะพ้นจากการเป็น ผบ.ทบ.แล้ว แต่ พล.อ.อภิรัชต์ก็ยังคงถูกจับตามองต่อไปในตำแหน่งใหม่ รวมถึงอนาคตหลังจากนั้น เพราะนักการเมืองและคนในแวดวงยังคงมีความเชื่อที่ว่า เขาคือนายกรัฐมนตรีในอนาคต
แต่มิชชั่นของ พล.อ.อภิรัชต์ที่จะทำให้เกิดความสงบสุขในประเทศ ยังคงมีหลายมิติ
โดยมี พล.อ.ณรงค์พันธ์ ผบ.ทบ.คนใหม่ มาดูแลกองทัพบกแทน แต่ยังคงมีการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดภายใต้จุดยืนของ “นายทหารคอแดง” ผู้จงรักภักดีอย่างมั่นคงเช่นกัน
จึงไม่แปลกที่ในวันส่งมอบหน้าที่ ผบ.ทบ.และอำลากองทัพบก พล.อ.อภิรัชต์จะบอกกับนายทหารใน ทบ.ว่า “พบกันเมื่อชาติต้องการ”
กองทัพบกเปลี่ยนผ่านผู้นำทัพไปอย่างเรียบร้อย เพราะเป็นไปอย่างที่คาด
แต่ที่ถูกจับตามองว่าจะมีปัญหาตามมาคือทุ่งดอนเมืองที่ยังคงมีความอาถรรพ์หวนกลับมาได้เสมอ
การจัดทัพฟ้าของ พล.อ.อ.มานัต วงษ์วาทย์ จากการโยกย้ายที่ผ่านมา ถูกวิพากษ์วิจารณ์ไม่น้อย ทั้งการเสนอชื่อบิ๊กแอร์ พล.อ.อ.แอร์บูล สุทธิวรรณ เป็น ผบ.ทอ. ทั้งๆ ที่มาจากผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ ทอ.
ทั้งการจัด 5 เสืออากาศ และโดยเฉพาะการส่งออกนายทหารอากาศที่อกหักพลาดเก้าอี้ ออกนอก ทอ. หรือเรียกว่า ถูกเด้ง หรือข้ามห้วย
ทั้งบิ๊กจ้อ พล.อ.อ.ธเรศ ปุณศรี ผช.ผบ.ทอ. เพื่อน ตท.20 ที่ใครๆ เคยคิดว่าเป็นเต็งหนึ่ง ผบ.ทอ.คนใหม่ ให้ข้ามไปเป็นรองปลัดกลาโหม ในปีสุดท้ายก่อนเกษียณ
เป็นประวัติศาสตร์ซ้ำรอยบิ๊กเจี๊ยบ พล.อ.อ.ธเรศ ปุณศรี พี่ชาย ที่เมื่อครั้งเป็น เสธ.ทอ. เป็นตัวเต็ง ผบ.ทอ. แต่ที่สุดโดนเด้งข้ามไปเป็นรองปลัดกลาโหม
ส่งผลให้เพื่อนร่วมรุ่นเตรียมทหาร 20 นายเรืออากาศ (นนอ.) 27 ไม่แฮปปี้ เพราะแทนที่บิ๊กนัตจะเสนอชื่อบิ๊กจ้อเพื่อนร่วมรุ่น แต่กลับเสนอชื่อ พล.อ.อ.แอร์บูล รุ่นน้อง ตท.21 ทั้งๆ ที่ไม่ได้มาจาก 5 เสืออากาศ
นอกจากนี้ บิ๊กต่วย พล.อ.อ.สุทธิพันธ์ ต่ายทอง (ตท.21) เสธ.ทอ. แคนดิเดต ผบ.ทอ. ที่พลาดหวัง ก็ถูกส่งข้ามไปเป็นรอง ผบ.ทหารสูงสุด เพราะมีอายุราชการถึงกันยายน 2565 หากอยู่ ทอ.ต่อ อาจจะยังมีสิทธิ์ลุ้นเป็น ผบ.ทอ. เพราะมีข่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ก็ชื่นชมในการทำงาน
รวมถึงนายทหารดาวรุ่งในยุคบิ๊กต่าย พล.อ.อ.ชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน เป็น ผบ.ทอ. ถึงขั้นถูกมองว่าจะเป็น ผบ.ทอ.ในอนาคตเลยทีเดียว อย่างบิ๊กป้อม พล.อ.ท.ธนะศักดิ์ เมตตะนันทน์ (ตท.22) รองเสธ.ทอ. ก็ถูกเด้งออกไปเป็นรองเสธ.ทหาร ที่ บก.ทัพไทย
แม้จะได้เป็นพลอากาศเอก แต่ก็ต้องจากตึกแปดแฉก จากทุ่งดอนเมือง มาอยู่เสือป่า แจ้งวัฒนะ ออกนอกวงโคจร “นภา 1”
ก่อนหน้านี้ ก็มีสัญญาณแจ้งเตือนมาแล้วว่า พล.อ.อ.มานัตไม่ได้เลือก พล.อ.ท.ธนศักดิ์
เพราะในโผโยกย้ายเมษายน 2563 ที่ผ่านมา เขาดันเสธ.หนึ่ง พล.อ.ท.ชานนท์ มุ่งธัญญา จากเจ้ากรมยุทธการ ทอ. มาเป็นรองเสธ.ทอ. เท่ากับ พล.อ.ท.ธนศักดิ์
ทั้งนี้ ก็เพื่อจะเร่งสปีดให้ทันขึ้นเป็นเสธ.ทอ.ในโผนี้ และถูกมองว่า วางตัว พล.อ.ท.ชานนท์คนนี้เป็น ผบ.ทอ.ต่อจาก พล.อ.อ.แอร์บูลที่นั่งปีเดียว โดยจะเกษียณกันยายน 2564 แล้ว
ส่วน พล.อ.อ.ชานนท์ นักบิน F5 call sign ‘Cannon’ ขึ้นเป็นเสธ.ทอ. มีอายุราชการถึง 2567
แต่ทว่า ไม่มีใครรู้ว่า พล.อ.อ.แอร์บูลจะเลือก พล.อ.อ.ชานนท์ให้เป็น ผบ.ทอ.ต่อ ตามที่ พล.อ.อ.มานัตเล็งไว้หรือไม่
เพราะยังมีสายใยความเป็นเพื่อน ตท.21 ของ พล.อ.อ.แอร์บูล กับทั้งบิ๊กตั้ว พล.อ.อ.สฤฏษ์พงศ์ วัฒนวรางกูร ที่ขึ้นเป็น ผบ.คปอ. และบิ๊กป้อง พล.อ.อ.นภาเดช ธูปะเตมีย์ ประธานที่ปรึกษา ทอ. ที่ขึ้นมาในโผนี้ ที่มีอายุราชการถึงกันยายน 2565 ทั้งคู่
แถมรู้กันดีว่า พล.อ.อ.สฤฏษ์พงศ์เป็นน้องรักของ 2 ป. บิ๊กป้อม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ และบิ๊กป๊อก พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา
แต่อย่างไรก็ตาม พล.อ.อ.มานัตยืนยันว่า การเลือก ผบ.ทอ. เลือกผู้นำ ทอ.นั้น มีการพิจารณาอย่างมีเหตุผล มีแบบประเมิน ต้องพิจารณาจากความฉลาด มีวิสัยทัศน์ บนการมีต้นทุนที่ดีมาตั้งแต่กำเนิด ถือเป็นคุณลักษณะพึงประสงค์ในการถูกคัดเลือก หรือถูกสร้างให้เป็นผู้นำ ทอ. บนความเป็นองค์กรที่มีเทคโนโลยีเป็นฐานราก
โดยพิจารณาประเมินผลผู้บังคับบัญชา โดยดูพฤติกรรมมาในทุกระดับอย่างละเอียด เป็นครั้งแรกของ ทอ. รวมคะแนนเต็ม 380 คะแนน
ทั้งนี้ มีการประเมิน 6Q 10 ประการ
ในด้านความฉลาดทางวิทยาศาสตร์ (เป็นฐานรากของกำลังทางอากาศ) ผลการศึกษาในโรงเรียนเตรียมทหาร ผลการศึกษาโรงเรียนนายเรืออากาศ จบการศึกษาจากสถาบันการศึกษาต่างประเทศ
MOQ (ความฉลาดทางคุณธรรมจริยธรรม) และไม่ใช้ระบบอุปถัมภ์ (เส้นทางความก้าวหน้าในอาชีพสอดคล้องกับผลการเรียนและผลงาน)
มีความซื่อสัตย์สุจริตในการปฏิบัติหน้าที่ราชการ (ไม่มีผลการสอบสวนที่ระบุว่ามีความผิดจริง) ไม่มีความเสื่อมเสียในการครองตน (มีความรับผิดชอบต่อครอบครัว, ไม่ผิดประเวณี) ไม่มีผลประโยชน์แอบแฝง (โครงการจัดซื้อจัดจ้าง : ไม่มีความผิดปกติ/เป็นไปตามแนวทาง Purchase and Development)
ด้าน CQ (ความคิดสร้างสรรค์) วิชาชีพ ขีดความสามารถในการจัดทำและขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ ขีดความสามารถในการปฏิบัติงานระดับยุทธการในแต่ละสายวิทยาการ ขีดความสามารถในการปฏิบัติงานระดับยุทธวิธีในแต่ละสายวิทยาการ เส้นทางอาชีพ ผลงานพัฒนาในสายวิทยาการ (ความคิด ผลงาน โครงการริเริ่มใหม่) การใฝ่รู้ (ป.โท/ป.เอก หลักสูตรเกี่ยวกับกำลังทางอากาศ, วิศวกรรม, สายวิทยาการ, งบประมาณ)
ผลการศึกษาหลักสูตรนายทหารชั้นผู้บังคับฝูง หรือเทียบเท่า
ผลการศึกษาหลักสูตรเสนาธิการกิจ หรือเทียบเท่า ผลการศึกษาหลักสูตรการทัพอากาศ หรือเทียบเท่า
ด้าน LQ ความเป็นผู้นำ (5 คะแนน)
ผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลง : สภาวะแวดล้อม, เทคโนโลยี (กฎระเบียบ, IT (P&D <–> Smart System)) ผู้นำองค์กร (หน.หน่วยกำลัง, หน.หน่วยฯ-สู่การเปลี่ยนแปลงและพัฒนาที่สำคัญ) นำตนเอง/นำครอบครัว (อาชีพการทำงานพิเศษ มีกิจการเสริมการงานอาชีพให้กับครอบครัว)
ด้าน AQ (ความสามารถในการแก้วิกฤต) ร่วมแก้ไขภัยพิบัติ, สถานการณ์วิกฤต : ตามระดับที่รับผิดชอบในแต่ละสายวิทยาการ (บริหาร-แนวคิด-วิธีการ-เครื่องมือ)
ด้าน ACQ (ความรับผิดชอบต่อตนเอง และองค์กร)
รับผิดชอบสังคม (ร่วมกิจกรรมเพื่อส่วนรวม-อาสาสมัคร-พัฒนาชุมชน) รับผิดชอบหน่วยงาน (ทุกระดับ ต้น-ปลาย/การปฏิบัติสัมพันธ์กับหน่วยนอก)
รับผิดชอบต่อตนเอง (วินัย-หน้าที่), ครอบครัว (ความสมบูรณ์), เพื่อน-ผู้ร่วมงาน (กิจกรรม)
ด้าน EQ (ความฉลาดทางอารมณ์)
การเข้าสังคมและการวางตน (มนุษยสัมพันธ์ดี มีมารยาททางสังคม รู้จักกาลเทศะ ไม่ประจบสอพลอ ดูแลผู้ใต้บังคับบัญชา)
วิธีคิดกับการตัดสินใจ (มีตรรกะตามหลักเหตุผล มีความรับผิดชอบต่อส่วนรวม ไม่เห็นแก่ตัว) การควบคุมอารมณ์ (บริหารความขัดแย้ง/รับฟังความคิดเห็น : ผู้บังคับบัญชา, เพื่อนร่วมงาน, ผู้ใต้บังคับบัญชา)
MQ (ความสามารถในการจัดการองค์กร)
ผลงานและรางวัลของตนเองจากการปฏิบัติงานในแต่ละระดับ : ยุทธศาสตร์-ยุทธการ-ยุทธวิธี ในแต่ละสายวิทยาการ
ผลงานและรางวัลของหน่วยงานตามตัวชี้วัด : ยุทธศาสตร์-ยุทธการ-ยุทธวิธี ในแต่ละสายวิทยาการ (ผลผลิตมูลค่าเพิ่ม-ทวีคูณ)
ด้าน SQ (จิตวิญญาณ ที่ปรากฏในรูปความพยายาม)
จิตวิญญาณความเป็นทหาร (วินัยทหาร), ความรู้ทางทหาร (แผนการทัพ-หลักนิยม-ยุทธศาสตร์-เทคโนโลยี-สภาวะแวดล้อม) จิตวิญญาณความเป็นครู วิทยาทาน การอบรมสั่งสอน การบรรยาย การให้ข้อคิด-แนวทาง คิด ต่อเดือน-ต่อปี
จิตวิญญาณความเป็นคนไทย : เห็นแก่ประเทศชาติ-การทำตนเป็นแบบอย่าง เช่น บริจาคเลือด งานสาธารณกุศล สาธารณประโยชน์ ได้อีก 2 คะแนน
ด้าน PQ ความฉลาดทางร่างกาย 5 คะแนน ผลการตรวจร่างกาย (สภาพร่างกาย : โรคประจำตัว) 2 คะแนน (ผลการทดสอบร่างกาย การออกกำลังกาย : รายวัน-สัปดาห์-เดือน) 2 คะแนน เพศสภาพ 1 คะแนน
และมีแบบประเมิน ผู้บังคับบัญชา ตำแหน่ง-รุ่น ตท.-ลำดับอาวุโส ปัจจุบัน พิจารณาจากการบรรยายพิเศษในสถาบันการศึกษานอกหน่วย 10 คะแนน
ตำแหน่งที่เป็นอยู่ เช่น รอง ผบ.ทอ. 10 คะแนน. เป็น ผช.ผบ.ทอ., เสธ.ทอ., ผบ.คปอ. ได้ 10 คะแนน
แต่พิจารณาตั้งแต่ก่อนเป็น 5 เสืออากาศ เช่น เคยเป็นรอง เสธ.ทอ. ปลัดบัญชี ทอ. เจ้ากรมยุทธศึกษา ทอ. ผบ.รร.นายเรืออากาศ ได้ 20 คะแนน
เป็น หัวหน้า Air Working Group 10 คะแนน เป็นเจ้ากรมในกรมฝ่ายเสนาธิการ 20 คะแนน
และก่อนเป็นเจ้ากรม หรือ หน.หน่วยหลัก ดูจากการบรรยายหลักสูตร PME 10 คะแนน ยุทธศาสตร์/งบประมาณ 20 คะแนน ธรรมาภิบาล/PMQA (หน.คณก.) 10 คะแนน ยุทธศาสตร์ หลักนิยม 10 คะแนน
การเคยเป็นผู้บัญชาการกองกำลัง 10 คะแนน, โครงสร้างการจัด (ภารกิจ-Job Description) 10 คะแนน เคยทำงานในศูนย์ปฏิบัติการกองทัพอากาศ (ฝ่ายเสนาธิการ) 10 คะแนน เคยเป็นผู้ช่วยทูตทหารอากาศ 20 คะแนน
รวมทั้ง ก่อนเป็น หน.หน่วยกำลัง เช่น เคยเป็นผู้บังคับการกองบิน 20 คะแนน ผู้อำนวยการกองแผนกรมฝ่ายเสนาธิการ 10 คะแนน
ฝ่ายเสนาธิการ ฝ่ายอำนวยการ 10 คะแนน, ผู้บังคับฝูง 20 คะแนน
ผลการศึกษาหลักสูตรเสนาธิการกิจ 20 คะแนน, การฝึกผสมขนาดใหญ่ MD/MC อีก 10 คะแนน
และดูที่ชั่วโมงบิน ต้องมากกว่า > 1,000 ช.ม.บิน 10 คะแนน และขึ้นอยู่กับแบบอากาศยาน ว่าเป็นนักบินขับไล่ ไฟต์เตอร์ หรือนักบินลำเลียง 20 คะแนน
ต้นทุน “เริ่มที่ตัวเรา-จบที่ตัวเรา” 80 คะแนน, เหล่า (สาขาวิชา) 20 คะแนน, นักเรียนนายเรืออากาศต่างประเทศ 20 คะแนน เป็นหัวหน้าตอน 20 คะแนน เป็นนักเรียนบังคับบัญชา 10 คะแนน
รวมทั้งการประเมินผลในชั้นเรียน 10/10 เต็มชั้นเรียน : ไม่ซ้ำชั้น = 10, ซ้ำชั้น = 0, แต่ถัาเคย Drop = -10 (ติดลบ)
ถ้าเป็นนักเรียนนายเรืออากาศต่างประเทศ : สหรัฐอเมริกา, เยอรมนี, ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ได้อีก 20 คะแนน ฝรั่งเศส, ออสเตรเลีย และอังกฤษ ได้ 10 คะแนน
การเลือกเหล่า หรือสาขาวิชา วิศวกรรมหลัก ทั้งไฟฟ้า, อากาศยาน, คอมพิวเตอร์ = 20 คะแนน วิศวกรรมทั่วไป ช่างโยธา, อุตสาหการ = 10 คะแนน
ถือเป็นการประเมินที่สร้างความฮือฮาที่สุดใน ทอ. เพราะไม่เคยทำมาก่อน และไม่ใช่ทำในระดับนายพลเท่านั้น แต่รวมไปถึงระดับนาวาอากาศเอกพิเศษ และนาวาอากาศเอก ที่เป็นระดับผู้บังคับกองบิน และรองนายพลด้วย
เป็นสิ่งที่ พล.อ.อ.มานัต แกะจากบุพการี ทอ.เจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ ที่ท่านได้วางไว้ มาเป็นหัวข้อในการประเมิน
ส่วนที่มีข่าวว่า มีใบสั่ง มีสัญญาณ อะไรนั้น พลอากาศเอก มานัต กล่าวว่า ไม่มี เป็นแค่เชื่อข่าวลือ อย่าไปเขื่อมโยง ไม่มีการถูกแทรกแซง ใดๆ เพราะถ้าแทรกคงไม่ได้เป็นชื่อแอร์บูล แต่ผมพิจารณาคนเดียวทั้งหมด แล้วส่งไปที่นายกฯ มีเอกสารแบบประเมินและมีคะแนนชัดเจนได้คะแนนสูงสุด
และเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ พล.อ.อ.มานัต เลือกเสนอชื่อ พล.อ.อ.แอร์บูล จากผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ ทอ. ขึ้นเป็น ผบ.ทอ. เพราะมองกันยาวๆ
แต่ท้ายที่สุด แม้ พล.อ.อ.มานัตจะเริ่มไว้ ก็ใช่ว่าจะได้รับการสานต่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเลือกแม่ทัพฟ้าคนใหม่ในอนาคต ที่ต้องดูกันยาวๆ ว่าสิ่งที่ได้ทำไว้ วางไว้ จะสูญเปล่าหรือไม่
อาถรรพ์เกิดขึ้นได้เสมอ ไม่ว่าจะกับกองทัพอากาศ หรือการเมืองไทย