ในประเทศ / ออ อ่อ อ้อ อ๊อ อ๋อ

ในประเทศ

 

ออ อ่อ อ้อ

อ๊อ อ๋อ

 

แม้จะเก็บตัวเงียบมาตลอด

แต่นามของคุณหญิงอ้อ–คุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ ปรากฏเป็นข่าวครึกโครมอีกครั้ง

จะโดยที่เจ้าตัวตั้งใจ หรือไม่ตั้งใจก็ตาม

เริ่มจากข่าวสำนักพระราชวัง ความว่า

“เมื่อวันที่ 24 กันยายน เวลา 15.12 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จออก ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล นำคุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ รองประธานกรรมการมูลนิธิไทยคมและคณะผู้บริหาร เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายรถรักษาอัมพาตเคลื่อนที่ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน ที่ได้จากการร่วมออกแบบและจัดสร้างโดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และบริษัท อาร์เอ็มเอ ออโตโมทีฟ จำกัด จำนวน 1 คัน

ภายในรถติดตั้งเครื่องเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง (CT) ทำให้การวินิจฉัยและการรักษาถูกต้อง แม่นยำ และรวดเร็ว จากการดำเนินการโดยรถคันแรกในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา รักษาผู้ป่วยได้จำนวน 339 ราย สามารถลดระยะเวลาในการให้ยาสลายลิ่มเลือดเหลือ 20 นาที และร้อยละ 60 หายจากความพิการอันเนื่องจากภาวะอัมพฤกษ์อัมพาต

โครงการดังกล่าวนี้จึงขยายผลจัดสร้างรถคันที่สองโดยพัฒนาให้มีประสิทธิภาพดีกว่ารถคันแรก เพื่อใช้ประโยชน์ในการดูแลรักษาพยาบาลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน

โอกาสนี้ พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ รศ.นพ.วิศิษฏ์ วามวาณิชย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท รับพระราชทานรถรักษาอัมพาตเคลื่อนที่ฯ แก่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เพื่อใช้ในการบริการประชาชนต่อไป”

หลังจากนั้นมีผู้นำภาพและข่าวดังกล่าวไปแชร์ในโซเชียลมีเดีย

โดยมีการแสดงความเห็น “กว้างขวาง” และ “สุดไกล”

 

ผ่านไป 24 ชั่วโมง

ปรากฏข่าวการเมืองที่สร้างความประหลาดใจให้กับสังคมอีกข่าวหนึ่ง

เมื่อคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประกาศลาออกจากตำแหน่งประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย

โดยไม่ได้ระบุเหตุผล

เพียงแต่ยืนยันว่า

“ดิฉันยังเป็นสมาชิกพรรค”

จากนั้น มีกรรมการยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทยลาออกจากตำแหน่งตามไปด้วย

อาทิ นายโภคิน พลกุล และนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา นายวัฒนา เมืองสุข นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง นายตรีรัตน์ ศิริจันทโรภาส โฆษกคณะกรรมการยุทธศาสตร์ เป็นต้น

ยิ่งกว่านั้น นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ก็ได้ประกาศลาออกจากหัวหน้าพรรค

ทำให้กรรมการบริหารพรรคชุดเดิมต้องพ้นจากตำแหน่งไปทั้งหมด

การปรับโครงสร้างพรรคเพื่อไทย เกิดขึ้นแบบสายฟ้าแลบ

 

ปรากฏการณ์ข่าวทั้งหมดดูเหมือนจะไม่เกี่ยวข้องกัน

แต่พลันที่ ดร.สุวินัย ภรณวลัย ประธานยุทธศาสตร์วิชาการ สถาบันทิศทางไทย

ซึ่งมีจุดยืนทางการเมืองตรงกันข้ามกับกลุ่มประชาชนปลดแอกและแนวร่วมอย่างชัดเจน

ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว “Suvinai Pornavalai”

โดยใช้ชื่อว่า “หมากประกาศิตของคุณหญิงพจมาน”

ก็ดูเหมือนจะชี้นำกระแสโซเชียลมีเดียไปในทิศทางเดียวกัน

โดยโพสต์ ดร.สุวินัยระบุเนื้อหาว่า

“การเมืองไทยแต่เดิมก็เป็นการเมืองเชิงสัญลักษณ์อยู่แล้ว

อาการแพแตกของพรรคเพื่อไทยในคืนนี้ น่าจะเพราะได้รับสัญญาณบางอย่างจากเจ้าของพรรคตัวจริงนั่นเอง

ถ้าอาการแพแตกของพรรคเพื่อไทยในคืนนี้ ทำให้ถอนฟืนออกจากกองเพลิงได้

เราคงต้องขอบคุณคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ที่ขยับหมาก ‘ประกาศิต’ นี้เพื่อบ้านเมืองอย่างแท้จริง คุณหญิงพจมานฉลาดและล้ำลึกจริงๆ

ถ้าคนอ่านเกมขาด หมากนี้ของคุณหญิงพจมานบอกได้คำเดียวว่า ‘มันจบแล้วท่าน’

หลังจากนี้พวกเสื้อแดงคงต้องตัวใครตัวมันแล้วละ

ส่วนม็อบวันที่ 14 ตุลาฯ เดือนหน้าคงเกิดยากแล้ว”

 

ในเวลาต่อมา ดร.สุวินัยได้โพสต์ในเฟซบุ๊กเพิ่มเติมว่า

“ทำไม 14 ตุลาคม 2563 คงเกิดยาก นั่นเพราะความเคลื่อนไหวครั้งนี้เกี่ยวข้องกับขบวนการล้มเจ้า ซึ่งพรรคเพื่อไทยไม่ต้องการเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย เพราะเกรงว่ามีความเสี่ยงที่จะถูกยุบพรรคอีก แต่พรรคเพื่อไทยมีความต้องการเพียงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อแก้ไขวิธีการเลือกตั้งในปัจจุบันที่พรรคเสียประโยชน์ จึงปรากฏคนเสื้อแดงมาร่วมชุมนุมกับม็อบนักศึกษาปลดแอกทั้งในวันที่ 16 สิงหาคม และวันที่ 19 กันยายน แต่ท้ายที่สุดเมื่อเกิดกระแสเกินเลยมากกว่าการล้มรัฐธรรมนูญ จึงมีคำสั่งหยุดขนคนมาเพิ่มที่สนามหลวงให้ครบ 100,000 คนในการชุมนุมเมื่อวันที่ 19 กันยายนที่ผ่านมา

และเป็นที่มาของ ‘หมากประกาศิต’ ของคุณหญิงพจมาน การที่คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ รวมถึง ส.ส.ในสายลาออกจากกรรมการยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย จึงสร้างแรงกระเพื่อมระดับสึนามิให้แก่การชุมนุมของคนเสื้อแดงและกลุ่มเยาวชนนักศึกษาปลดแอกหลังจากนี้อย่างแน่นอน”

ขณะเดียวกัน น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า

“สุดารัตน์ลาออก มันจะบังเอิญเกินไปไหม เมื่อเกิดภาพอยู่เป็น ของคุณหญิงพจมาน แล้วคุณหญิงสุดารัตน์ก็ลาออกเลย”

 

จะเป็นตรรกะ เชื่อมโยงกันได้หรือไม่ก็ตาม

แต่ต่อมา กระแสการตั้งรัฐบาลแห่งชาติกระหึ่ม

โดยแยกออกเป็น 2 ระดับ

ระดับแรก เป็นระดับพรรค โดยมีกระแสข่าวว่า คุณหญิงพจมานจะเข้ามาดูแลพรรคเพื่อไทยใกล้ชิดมากขึ้น เพื่อเป็นมิตรกับฝ่ายกุมอำนาจมากขึ้น

จะมีการตั้งองค์การบริหารแบบ “โปลิตบูโร”

โดยคุณหญิงพจมานเป็นหัวขบวน นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เป็นทีมฝ่ายเสธ. ดูงานวางแผน นายภูมิธรรม เวชยชัย เป็นฝ่ายประสาน ส.ส.และงานสภา นายชูศักดิ์ ศิรินิล ดูงานฝ่ายกฎหมาย ขณะที่นายพิชัย นริพทะพันธุ์ ดูแลด้านเศรษฐกิจ

และจะพยายามดึงคนเก่าๆ ของพรรคกลับมาทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มแคร์ หรืออดีตพรรคไทยรักษาชาติ แกนนำเสื้อแดง

ระดับสอง เป็นระดับรัฐบาล มีกระแสข่าวเช่นกันว่า จะมีการดึงพรรคเพื่อไทยร่วมรัฐบาล โดยผนึกกับพรรคพลังประชารัฐเป็นหลักในการบริหาร

ซึ่งจะมีเสียงเบ็ดเสร็จเด็ดขาด แม้จะไม่สามารถดึงฝ่ายค้านมาร่วมได้ทั้งหมด โดยเฉพาะพรรคก้าวไกล

แต่รัฐบาลก็จะมีสภาพกึ่งรัฐบาลแห่งชาติ

 

อย่างไรก็ตาม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

ปฏิเสธถึงกระแสดังกล่าวแทบจะทันที

โดยระบุว่า “เขียนกันเอาเองมั้ง ยังไม่เห็นเขาทำอะไรเลย นึกอยู่แล้วว่าสื่อจะต้องมาถาม การปรับเปลี่ยนกรรมการบริหารพรรคการเมืองถือเป็นเรื่องปกติ ยืนยันผมไม่เคยคุยเรื่องเหล่านี้กับใครทั้งสิ้น อย่าไปตั้งประเด็นกันขึ้นมา บางครั้งผมก็อึดอัดใจเหมือนกัน ไปตั้งโน่นตั้งนี่เขียนกันออกมา แต่มันไม่ใช่ผมนี่นา ถ้าผมพูดอะไรก็เป็นไปตามที่ผมพูด เพราะผมคือผม การจะปรับปรุงพัฒนาถ้าเป็นไปในทางที่ดีกับประเทศชาติก็ทำไปเถอะ ไม่ได้ว่าอะไรท่าน ส่วนจะร่วมหรือไม่ร่วมเป็นเรื่องที่ต้องไปว่ากันวันข้างหน้า วันนี้ยังเป็นรัฐบาลนี้อยู่”

เช่นเดียวกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ กล่าวสั้นๆ “ไม่มี” พร้อมโบกมือปฏิเสธ

ส่วนพรรคเพื่อไทย นายชูศักดิ์ ศิรินิล รักษาการหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า รัฐบาลแห่งชาติไม่น่าเป็นไปได้ และไม่น่าจะเกิดขึ้น

ขณะที่ตัวละครสำคัญคือคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ กล่าวว่า พูดหลายครั้งแล้วเรื่องรัฐบาลแห่งชาติ ไม่มีทางที่จะเกิดขึ้นได้

“เราไม่ไปร่วมสังฆกรรมแน่นอน…มีคำถามเรื่องนี้มาหลายครั้ง ก็ยืนยันว่าเป็นไปไม่ได้ รัฐบาลแห่งชาติเป็นเพียงการซื้อเวลา ต่อเวลาให้ผู้มีอำนาจเท่านั้น”

 

เมื่อมีการปฏิเสธจากทั้ง 2 ฝ่าย

ทำให้กระแสการตั้งรัฐบาลแห่งชาติลดระดับลง

แต่กระนั้นจะให้สิ้นความสงสัยเลยก็คงยาก

เพราะด้านหนึ่งมีผู้ได้ประโยชน์จากกระแสข่าวนี้

โดยเฉพาะในฝั่งฟากที่หนุนรัฐบาลและต่อต้านประชาชนปลดแอก

ด้วยทันทีที่มีกระแสข่าวพรรคเพื่อไทยเปลี่ยนไป ย่อมทำให้มวลชนเกิดภาวะหวั่นไหว เพราะพรรคเพื่อไทยเป็นแกนสำคัญในการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ

หากสะวิงไปอยู่อีกฟาก ย่อมทำให้เกิดภาวะเสียกระบวน

ถึงขนาดที่ ดร.สุวินัย ภรณวลัย ฟันธงในตอนต้นว่า หลังจากนี้พวกเสื้อแดงคงต้องตัวใครตัวมัน

ส่วนม็อบวันที่ 14 ตุลาฯ เดือนหน้าคงเกิดยากแล้ว

อันสะท้อนให้เห็นถึงปฏิบัติการข่าวสาร ด้วยการหยิบเอาเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น มาหลอมรวมแบบ “ทฤษฎีสมคบคิด” แล้วชี้นำไปยังการเกิดรัฐบาลแห่งชาติ และลอยแพมวลชน

ทำให้ในส่วนพรรคเพื่อไทยเองต้องยืนยันการเปลี่ยนแปลงในพรรคเพื่อไทย เป็นการปรับเพื่อที่จะให้พรรคเดินหน้าต่อไปได้ในฐานะฝ่ายค้านที่เข้มแข็ง มิได้มีเป้าประสงค์ที่จะปูทางเพื่อไปร่วมกับใคร

ส่วนการเข้าเฝ้าฯ เพื่อถวายสิ่งต่างๆ โดยเสด็จพระราชกุศลในนามมูลนิธิไทยคมนั้น คนในพรรคเพื่อไทยยืนยันว่า คุณหญิงพจมานได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง

มิได้มี “นัย” อย่างมีผู้พยายามเชื่อมโยง

 

สิ่งที่เกิดขึ้น จึงถูกมองว่าเป็นเพียงปฏิบัติการข่าวสารหรือไอโอ

สอดคล้องกับกระแสข่าวว่า นายทักษิณ ชินวัตร ได้ปรารภกับคนใกล้ชิด ข่าวการแต่งตั้งนายกฯ พระราชทานและการตั้งรัฐบาลแห่งชาติ เป็นเพียงไอโอ เพื่อสร้างความขัดแย้ง และตัวของนายทักษิณไม่เกี่ยวข้องใดๆ

ส่วนคุณหญิงอ้อเป็นท่าทีปกติอยู่แล้วที่จะสงบนิ่งกับทุกเรื่อง

ปล่อยให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์

แบบรอไล่ให้ครบเสียง

คือ ออ อ่อ อ้อ อ๊อ แล้วไปจบลงที่ “อ๋อ”

“อ๋อ” ว่าเรื่องนี้เป็นไปอย่างที่มีผู้พยายามสร้างให้มันสลับซับซ้อนหรือไม่!?!