กาแฟดำ | เมื่อคุณถูกโซเชียลมีเดีย ครอบงำชีวิตโดยไม่รู้ตัว!

สุทธิชัย หยุ่น

เรากำลังเป็น “เจ้านาย” หรือ “ทาส” ของโซเชียลมีเดีย?

คำตอบคือบ่อยครั้งเรานึกว่าเราเป็นผู้ควบคุมเกมขณะที่ความจริงเรากำลังถูกควบคุมโดยไม่รู้ตัว

หรือด้วยความเต็มใจด้วยซ้ำไป

นี่คือ “ภัยคุกคาม” ของการใช้ชีวิตอยู่กับ apps ทั้งหลายวันละหลายๆ ชั่วโมงจนกลายเป็น “สิ่งเสพติด” ที่จะทำให้เรา “ลงแดง” หากอยู่หากจากมันเพียงไม่กี่นาที

และนี่คือคำเตือนจากสารคดีใน Netflix เรื่อง The Social Dilemma ที่กำลังเป็นที่กล่าวขวัญอย่างกว้างขวางในหมู่คนที่ได้ดูแล้วเกิดอาการ “ตื่นจากภวังค์”

แต่ก็ยังไม่แน่ใจว่าจะทำอะไรมากไปกว่าการ “ตระหนัก” ถึงภัยใกล้ตัว

แต่ก็ยังต้องอาศัยมันเพราะโซเชียลมีเดียมีประโยชน์มหาศาลในอีกหลายๆ ด้าน

นั่นคือสิ่งที่เรียกว่า Dilemma หรือ “ทางสองแพร่ง”

ด้านหนึ่งคือ ด้านบวกของโซเชียลมีเดียที่เป็นเหมือนเครื่องมือที่ช่วยในการทำงานและหาความบันเทิงอย่างไม่มีข้อจำกัด

อีกด้านหนึ่งคือ การที่เราถูกใช้เป็นเครื่องมือทำมาหากินของบริษัทยักษ์ที่เอาข้อมูลของเราไปขายต่อเพื่อสร้างรายได้เต็มพิกัดโดยที่เราไม่มีทางรู้เส้นสนกลในของมันอย่างละเอียดรอบด้านได้เลย

ผมชวนคุณกวีวุฒิ “ต้อง” เต็มภูวภัทร เจ้าของเพจ “แปดบรรทัดครึ่ง” และคนที่ใช้ชีวิตกับโซเชียลมีเดียมากที่สุดคนหนึ่งของประเทศไทยคุยสารคดีเรื่องนี้

เริ่มด้วยประโยคทองของสารคดีเรื่องนี้ที่ว่า

If you don”t pay for the product, you ARE the product.

ถ้าคุณไม่ควักกระเป๋าจ่ายเพื่อซื้อสินค้า, คุณก็กลายเป็นสินค้าเอง

เพราะเขาเอาความเป็นคุณและเนื้อหาสาระกับกิจกรรมที่คุณทำออนไลน์ทั้งหลายไปสร้างรายได้จากโฆษณาที่มีคุณเป็นตัวสินค้านั่นเอง

“ส่วนตัวผมเห็นว่าหนังเรื่องนี้สนุกดี, ตื่นเต้นดี, ตัดต่อดีครับ…”

สารคดีเรื่องนี้เน้นเอาคนที่เคยทำงานในบริษัทโซเชียลมีเดียดังๆ มา “สารภาพ” ว่าธุรกิจเหล่านี้ล้วนแล้วแต่มีเป้าหมายประการเดียวคือทำเงินจากคนที่เข้ามา “เล่น” ในแพลตฟอร์มของเขามากที่สุด

โดยไม่สนใจเรื่องจริยธรรมหรือการ “ปั่น” (manipulate) ข้อมูลเกี่ยวกับคุณเพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจเป็นหลัก

“ยุคเราจะเป็นยุคสุดท้ายก่อน ก้าวเข้าสู่โลก Matrix โดยสมบูรณ์”

สารคดีเรื่องนี้จบในตอน มีความยาว 1 ชั่วโมงกว่า แต่มันอัดแน่นไปด้วยชุดข้อมูลที่กำลังบอกเราว่า โลกเรากำลังเข้าสู่ ยุคอันตราย ที่จะทำให้มนุษยชาติเปลี่ยนแปลงไปตลอดกาล

สารที่สารคดีเรื่องนี้ต้องการสื่อก็คือว่า เทคโนโลยีที่ทำให้เราเชื่อมต่อกันได้ (connect) ก็ควบคุม (control) และปั่นให้เราไปในทิศทางที่คนอื่นต้องการ (manipulate) ด้วย

สารคดีที่ใช้เทคนิคการสืบสวนสอบสวนด้วยที่เรียกว่า Docudrama เรื่องนี้กำกับฯ โดย Jeff Orlowski เขียนบทโดย Orlowski, Davis Coombe และ Vickie Curtis

ทีมนี้เคยสร้างสารคดีว่าด้วยโลกร้อน Chasing Ice และ Chasing Coral

จึงเป็นทีมสร้างเนื้อหาที่สอดส่องประเด็นที่มีผลกระทบต่อพฤติกรรมของสังคมในรูปแบบต่างๆ

เมื่อเป็นเรื่องพฤติกรรมของมนุษย์เกี่ยวกับการใช้เวลาในโซเชียลมีเดียแบบ “หมกมุ่น” สิ่งที่บริษัทต่างๆ เหล่านี้ต้องการมากที่สุดของเราคือ

เวลาและความหมกมุ่น

เรียกมันว่า Attention economy ก็ได้

คุณต้องบอกว่า “ในความเห็นส่วนตัวของผม มองมุมหนึ่งก็น่ากลัว มองอีกมุมหนึ่งก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะสื่อเช่นทีวีและวิทยุก็พยายามจะแย่งชิงเวลาและความสนใจของเราเพื่อหารายได้จากโฆษณานั่นแหละ”

เพียงแต่เมื่อเทคโนโลยีถูกพัฒนามากขึ้น ก็สามารถสร้างอิทธิพลได้มากขึ้น “โดยที่เจ้าตัวเองไม่รู้ด้วยซ้ำไปว่ากำลังตกเป็นเหยื่อของมัน”

สารคดีชุดนี้มุ่งวิพากษ์แพลตฟอร์มที่มีผู้ติดต่อสูงระดับต้นๆ เช่น Facebook, YouTube, Twitter, Instagram, Pinterest

อธิบายแบบง่ายๆ ว่าถ้าแพลตฟอร์มให้ “ใช้ฟรี” นั่นแปลว่า “ตัวผู้ใช้” จะกลายเป็นสินค้านั่นเอง

สารคดีเรื่องนี้ชี้ให้เห็นว่าคนส่วนใหญ่อาจเข้าใจว่าก็แค่ดูโฆษณาในแพลตฟอร์มไม่เห็นจะมีปัญหาอะไร

แต่เอาเข้าจริงๆ สิ่งที่ผู้บริโภคต้องแลกกับของฟรีคือ “อาการเสพติด”

ไม่แต่เท่านั้น นานๆ เข้าพฤติกรรมของแต่ละคนก็จะค่อยๆ ปรับเปลี่ยนไปตามที่เขาต้องการ

และคนที่ทำนั้นอาจไม่ใช่มนุษย์ด้วยซ้ำ

มันคือ Agorithm ที่นักเขียนโปรแกรมสร้างขึ้นมาโดยมีเป้าหมายประการเดียวคือ

ทำเงินให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้โดยไม่มีข้อจำกัดด้านศีลธรรมจรรยา

ถามตัวเองว่าตื่นขึ้นมาสิ่งแรกที่คนทั่วไปทำคืออะไร…หนีไม่พ้นว่าหยิบโทรศัพท์มือถือมาเพื่อจะดูว่ามีอะไรที่ตัวเองต้องการรู้…ไม่ว่าจะเป็นข่าว, บันเทิง, ข้อความจากเพื่อน, ดราม่าล่าสุด และอะไรคือสิ่งที่กำลัง “เทรนดิ้ง” อยู่ ณ นาทีนั้น

เมื่อมนุษย์ไม่ได้เป็นคนกำหนด หากแต่เป็นกระบวนการ “ปัญญาประดิษฐ์” หรือ AI (Artificial Intelligence) ก็หนีไม่พ้นว่ามนุษย์ก็กลายเป็นหนูทดลองโดยไม่รู้ตัว

และเกิดขึ้นตลอดเวลาทั้งแต่ตื่นจนเข้านอน…และแม้หลับแล้วบ่อยครั้งก็ยังฝันถึงโซเชียลมีเดียที่ใช้อยู่เป็นประจำ

เจ้า AI สามารถจะบันทึกทุกอย่างที่เราทำ, คิด, แชร์, แสดงความเห็น

มันรู้ว่าเราดูภาพอะไร, นานเท่าไหร่หรือดูวิดีโอล่าสุดกี่วินาที

มันรู้ถึงขนาดว่าปุ่มที่คุณชอบควรเป็นสีอะไร

และกลุ่มที่แนะนำให้เราควรเป็นกลุ่มไหน

ในที่สุดมันก็คือการนำเสนอในสิ่งที่เราชอบเท่านั้น

และเราก็จะไม่เคยได้รับรู้ข้อมูลและความเห็นอีกด้านหนึ่งเลย

เหมือนอยู่กันคนละโลกทั้งๆ มันก็คือมือถือเครื่องเล็กๆ นั่นแหละ

คุณต้องบอกว่า AI สามารถจะทำให้เรารับรู้เพียงเรื่องที่เราชอบ และจะไม่ให้เราได้อ่านหรือสัมผัสสิ่งที่เราไม่ชอบ

ไปๆ มาๆ เราก็ตกอยู่ในสภาวะ Confirmation Bias หรือ “อคติ” ส่วนตัวของเราที่ถูกย้ำอยู่บ่อยๆ จนเราเชื่อว่านั่นคือความจริงสิ่งเดียวในโลก

มันคือ Echo Chamber หรือ “ห้องเสียงก้องสะท้อนกลับ”

แปลว่าเราจะได้ยินเฉพาะสิ่งที่เราเองอยากจะฟัง และจะรับรู้เฉพาะสิ่งที่เราคุ้นเคยและชอบเท่านั้น

นั่นเป็นที่มาของความขัดแย้งในสังคมที่หนักหน่วงและรุนแรงขึ้นตลอดเวลา

เพราะผู้คนถูกแยกให้อยู่ใน Echo Chamber ของตัวเองแต่เพียงอย่างเดียว

ไม่ได้รับรู้หรือรับฟังอะไรที่เป็นข้อมูลและความคิดเห็นที่อยู่คนละด้านกับเราเลย

เมื่อโซเชียลมีเดียมีอิทธิพลต่อความคิดความอ่านและความรู้สึกของเราขนาดนั้น ก็จะทำให้เกิด “อาการซึมเศร้า” เพราะเราเสพในสิ่งที่ทำให้เราเชื่อวว่าเราไม่เหมือนคนอื่น

เราจะเริ่มถามตัวเองว่าทำไมคนอื่นมีความสุข ได้ท่องเที่ยว ได้กินอาหารดีๆ ในขณะที่เราไม่เคยมีประสบการณ์เช่นนี้

สารคดีนี้บอกว่า สถิติการฆ่าตัวตายในกลุ่มวัยรุ่นเพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจหลังปี 2013

เหตุเพราะโซเชียลมีเดียเริ่มครอบงำความคิดของผู้คน

และดูเหมือนแนวโน้มจะรุนแรงมากขึ้นทุกที

ไปถึงจุดหนึ่งความขัดแย้งเพราะคนกลุ่มต่างๆ ได้รับทราบข้อมูลเพียงด้านเดียว แต่เจ้าตัวไม่ตระหนัก

เพราะกระบวนการของโซเชียลมีเดียสามารถเจาะลึกเข้าถึง “ก้านสมอง” ของทุกคนซึ่งมีผลทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของมนุษย์

โดยที่เจ้าตัวไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตนตกอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถควบคุมความคิดความอ่านของตัวเองด้วยซ้ำ

คนเขียนคนดังชาวยิว Yaval Noah Harari เคยเขียนไว้ใน Homo Deus ว่า

ถึงจุดหนึ่งมนุษย์ต้องตัดสินใจว่าจะยอมให้ AI ควบคุมเราหรือเราจะต่อสู้ดิ้นรนเพื่อสั่งการ AI

และเขาก็สรุปว่าในท้ายที่สุดมนุษย์อาจจะหมดแรงที่จะต้านพลังแห่งเทคโนโลยีที่มนุษย์สร้างขึ้นมาเอง

เป็นความน่ากลัวที่แฝงมากับการกินอยู่หลับนอนกับเจ้า apps ทั้งหลายในมือถือของเราจริงๆ!