มนัส สัตยารักษ์ | เงินเดือน ส.ว. 1 คน สามารถจ้างพนักงานได้มาก

เงินเดือนคนทำงาน

“มะอ่อง” เป็นชื่อคนทำงานบ้านชาวกะเหรี่ยงที่มาอยู่บ้านเราตั้งแต่บ้านยังคงเป็น “บ้าน” ในความหมายของคำว่าบ้าน กล่าวคือ ประกอบด้วยพ่อ แม่ ลูกชาย ลูกสาว ห้องนอน ห้องน้ำ ครัว และสวนเล็กๆ (แต่ต้นไม้เยอะ) และต้นไม้ให้ร่มเงาจำนวนหนึ่ง

มีสัตว์เลี้ยงเพียงปลาตู้ในบ้านกับปลาแรดเผือกในบ่อข้างบ้าน และเมื่อปลาตู้และตู้ปลาหมดอายุการใช้งาน ก็เหลือเพียงปลาแรดยักษ์ในบ่อตัวเดียว

มะอ่องเริ่มต้นเงินเดือน 5,000 บาท แล้วเพิ่มขึ้นทีละน้อยจนถึง 7,000 บาท เมื่อรัฐบาลประกาศให้ค่าแรงขั้นต่ำระดับปริญญาตรี 1.5 หมื่นบาท หล่อนควรจะมีเงินเดือนอย่างน้อย 1 ถึง 1.2 หมื่น แต่ผมมีเงินบำนาญเพียงเดือนละ 3 หมื่น มะอ่องจึงไม่ขอเงินเดือนเพิ่มแต่อย่างใด และผมก็ใจจืดพอที่จะทำตัวเป็น “จ่าเฉย”

แล้ววันหนึ่งหล่อนก็ขอลาออกไปทำงานที่บ้านหลังใหญ่ของผู้มีอันจะกินที่อยู่ห่างออกไปค่อนข้างไกล ผมถามว่าเขาจะให้เงินเดือนเท่าไร มะอ่องตอบว่า “หมื่นสอง”

วันเวลาที่มะอ่องขอลาออกนั้น “บ้าน” ไม่ค่อยจะเป็นบ้านตามความหมายของคำว่าบ้านสักเท่าไรแล้ว ผมจึงเห็นด้วยและอนุญาตทันที

“รีบไปเร็วๆ เลย” ผมบอกอย่างจริงใจ

ที่ว่าบ้านไม่ค่อยจะเป็น “บ้าน” นั้นไม่ใช่โวหาร กล่าวคือ เราเหลือกันอยู่แค่ 2 คน พ่อกับบุตรสาว คนอื่นแยกย้ายกันไปตามยุคสมัยและตามวิถีชีวิตของตนเอง

เราสองคนพ่อ-ลูกใช้บ้านเป็นที่ทำงานมากกว่าใช้เป็นที่กินอยู่หลับนอน ผมใช้เป็นที่เขียนและอ่านหนังสือ ส่วนบุตรสาวซึ่งเป็นอาจารย์ใช้เป็นที่สอนหนังสือผ่านระบบออนไลน์

ผมกับบุตรสาวทำครัวไม่เป็น รสนิยมทางการกินก็ต่างกัน เวลาที่หิวและกินก็ต่างกันด้วย ลูกบอกว่าไม่ต้องเป็นห่วงเขา เพราะเขาเป็นประเภท “กินอะไรก็อร่อย” และเขาไม่ลดความอ้วน แต่เขาก็ไม่ค่อยกินอาหารปักษ์ใต้แบบที่พ่อชอบ

เรามีรถยนต์ขี่กันคนละคัน และบ้านเมืองเรามีศูนย์อาหารทั่วกรุงเทพฯ และต่อมามีบริการ “สั่งอาหารทางไลน์” จึงไม่ค่อยมีปัญหากับเรื่องอาหารการกินเท่าไรนัก

ครัวจึงเหมือนถูกปิดตาย เหลือแต่ตู้เย็น เครื่องปิ้งขนมปัง กับไมโครเวฟสำหรับอุ่นหรือทำอาหารง่ายๆ บางอย่าง เช่น ไข่ลวก ไข่ดาว หรือผักต้ม รวมทั้งอาหารสำเร็จรูปประเภทมาม่า ข้าวต้ม หรือซุปซอง เป็นต้น

พูดถึงอาหารปักษ์ใต้ มะอ่องทำแกงเหลืองและผัดสะตอกุ้ง (แบบใส่กะปิ) ได้อร่อยกว่าที่ร้านขายข้าวแกงปักษ์ใต้ทั่วไป อร่อยและมีคุณภาพเท่ากับร้านในสนามกอล์ฟหรือร้านอาหารที่มีชื่อเสียงที่มีราคาแพง

โดยเฉพาะแกงเหลืองสามารถพลิกแพลงไปแกงแบบภูเก็ตและพังงา ซึ่งอร่อยไปอีกแบบหนึ่ง น้ำแกงไม่ข้นเท่าแกงแบบสงขลา พัทลุง หรือนครศรีธรรมราช

ผมเคยแนะนำร้านอาหารปักษ์ใต้เจ้าประจำถึงการทำอาหารทั้ง 2 อย่างข้างต้น ผลก็คือพวกเขาโกรธและส่ายหน้า ส่วนผมก็ห่างหายไปกินอาหารถิ่นอื่น

ความสะอาดภายในบ้านเมื่อไม่มีคนทำงานบ้านนั้น เดิมไม่ค่อยมีปัญหาเท่าใดนักเนื่องจากผมเป็นอดีต cadet ที่มีประสบการณ์ทำความสะอาดกองร้อยมาแล้ว ประกอบกับในช่วงแรกๆ มะอ่องยังหาโอกาสปลีกตัวจากงาน “บ้านผู้มีอันจะกัน” มาทำที่ “บ้านที่ไม่เป็นบ้าน” ได้สัปดาห์ละครั้ง หล่อนไม่เรียกค่าทำงาน แต่ผมจ่ายค่าทำและค่ารถครั้งละพันบาท

อยู่ไปพักหนึ่ง ผู้มีอันจะกินเพิ่มเงินเดือนให้มะอ่องเป็นเดือนละ 1.5 หมื่นบาท พร้อมกับเพิ่มงานดูแลผู้ชรากับอัลเซเชียน งานใหม่ที่เพิ่มขึ้นนี้ มะอ่องบอกว่า หล่อนทำอย่างต็มใจโดยมีความสุข แต่จะไม่มีเวลามาที่บ้านของเราได้เหมือนเดิม

ผมจึงต้องจ้างคนงานรับเหมาก่อสร้างจากบริษัทของญาติมาทำงานบ้านสัปดาห์ละครั้ง ครั้งละ 1 พันบาทเท่ามะอ่อง ซึ่งบางทีเขาก็มากัน 2 หรือ 3 คนถ้าเราบอกมีงานพิเศษ เช่น ล้างบ่อปลา พรวนดิน หรือตัดแต่งต้นไม้

ผมได้ข้อสังเกตว่าคนงานชาวไทยจากบริษัท 2 หรือ 3 คนทำผลงานสู้มะอ่องคนเดียวไม่ได้ ผมเดาว่าสำนึกใน “ความรับผิดชอบ” ต่างกันมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์หรือดีเอ็นเอ

ในช่วง “โควิด-19” นิวนอร์มอล สำหรับบ้านเราก็คือ ขยะธรรมดาและขยะพลาสติกเพิ่มขึ้นอย่างมากและรวดเร็ว ผมพยายามแยกขยะพลาสติกออกไปต่างหากไม่ให้ปะปนกับขยะธรรมดา พบว่ามันมีจำนวนมากเกินกว่าที่คาดไว้ มากเกินกว่าที่เราเคยประกาศต่อต้านการใช้ถุงพลาสติกหลายต่อหลายเท่า

จนรู้สึกวิตกว่าวิกฤตต่อจากโควิด-19 ก็คือวิกฤตขยะพลาสติกนี่แหละ

และตลอดเวลาของช่วงนี้ผมคิดถึงแต่ภาพของรถเก็บขยะตอนเช้ามืดบนถนนของเมืองโตรอนโต ประเทศแคนาดา และเสียดายที่ไม่ได้ถามถึงอัตราเงินเดือนของคนงานที่ทำงานอย่างอารมณ์เบิกบานสนุกสนานเหล่านั้น

มะอ่องเงียบหายไปตลอดช่วงวัน-เวลาของวิกฤตโควิด จนกระทั่งสถานการณ์โควิด-19 ของไทย ไม่มีตัวเลขการติดเชื้อเกิดขึ้นเป็นเวลาเกินกว่า 3 เดือนติดต่อกัน หล่อนจึงโทรศัพท์มาสอบถามถึงสถานการณ์ “การทำความสะอาดบ้าน” ของผมแล้วรับปากว่าจะมา “ชำระล้าง” ให้สะอาดเหมือนเดิมด้วยตัวคนเดียว

วันที่มะอ่องมาทำงานบ้านนั้นบังเอิญว่าเป็นวันที่เรามีกิจธุระนอกบ้าน จึงโทรศัพท์บอกว่าเราจะไม่ล็อกประตูด้านหลังบ้าน

เมื่อเรากลับมาในตอนเย็นปรากฏว่าภายในบ้านสะอาดเรียบร้อยแล้ว ห้องครัวนอกบ้านที่ร้างมานานถูกจัดวางใหม่ ห้องนอน ห้องน้ำมีกลิ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโรค ตู้ โต๊ะ กระจกและม่านปราศจากฝุ่น เหลือเพียงแต่กวาดใบไม้รอบบ้านเท่านั้น

เราพูดคุยถามทุกข์สุขกันตามประสาคนที่ไม่ได้พบกันนาน ได้ความว่าหล่อนไม่ได้กลับไปพม่าในช่วงวิกฤตโควิด-19 จึงไม่มีปัญหาในการอยู่และทำงานในเมืองไทยในวันนี้

ที่น่าสนใจอย่างมากก็คือ ที่ผ่านมานายจ้างให้เงินเดือนเพิ่มขึ้นเป็น 17,000 บาท!

ผมเคยวาดหวังว่าไทยเราจะมีที่ทิ้งขยะที่ห่างไกลชุมชนมากขึ้น มียานพาหนะเก็บขยะหลายขนาดให้พอเพียง ลงทุนสร้างโรงกำจัดขยะให้สมดุลกับจำนวนขยะ และมีพนักงานทางด้านนี้ให้เหมาะสมกับปริมาณงาน พร้อมกับให้เงินเดือนเริ่มต้นขั้นต่ำสุดอย่างน้อย 2 ถึง 30,000 บาท

เป็นการสร้างงานและลดอัตราว่างงานโดยตรง

บ้านเมืองของเราก็จะผ่านพ้นภัยจากสิ่งแวดล้อมเป็นพิษอย่างมั่นคงถาวร

แค่ 2-3 หมื่นบาท เอาเงินเดือน ส.ว. 1 คนมาจ้างก็สามารถจ้างพนักงานได้มากกว่า 6 คนถึง 10 คน