เพ็ญสุภา สุขคตะ : พบ “โรงอบสมุนไพร” สายลังกาวงศ์อีกแห่ง ณ แหล่งโบราณคดี ลุ่มน้ำสบแจ่ม “วัดป่าแดง”

เพ็ญสุภา สุขคตะ

ตามที่ดิฉันได้เชิญชวนให้ผู้สนใจเข้าร่วมงานสัมมนาทางโบราณคดี “เชียงใหม่ใต้-เชียงใหม่เหนือ” ระหว่างวันที่ 18-19 กันยายน 2563 ซึ่งจัดโดยสำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ร่วมกับมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ ที่ผ่านมานั้น

“เชียงใหม่เหนือ” เป็นการลงพื้นที่อำเภอเชียงดาว เราเปิดประเด็นเสวนากัน 4 ข้อหลักๆ ได้แก่ 1.เจ้าหลวงคำแดงอารักษ์เมืองเชียงใหม่ 2.การค้นพบถ้ำผีแมนอีกแห่งที่ถ้ำหล้อง 3.เส้นทางเดินทัพพระนเรศวรมหาราชและปริศนาเมืองสวรรคต เมืองหางหรือเวียงแหง? 4.การนำเสนอโครงการจัดสร้างประติมากรรมกองทัพทหารสมเด็จพระนเรศวรมหาราชและสมเด็จพระเอกาทศรถ

ถึงจะน่าสนใจเพียงไร เรื่องราวของเชียงใหม่เหนือขอเก็บไว้ก่อน

ฉบับนี้ขอนำเสนอเรื่องราวของโบราณคดีเชียงใหม่ใต้ เพราะดิฉันกำลังตื่นเต้นอย่างหนัก จากการได้ลงพื้นที่กลุ่มโบราณสถาน 5 แห่งที่ตำบลบ้านแปะ อำเภอจอมทอง (สุดรอยต่ออำเภอฮอด) ณ ลุ่มน้ำสบแจ่ม (แม่ปิงกับแม่แจ่มมาบรรจบกัน) ได้ค้นพบหลักฐานทางโบราณคดีแปลกใหม่ที่น่าสนใจยิ่ง

นั่นคือกลิ่นอายศิลปกรรมแบบสุโขทัยในบริเวณนี้

จนถึงกับนักโบราณคดีของสำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ “สายกลาง จินดาสุ” ต้องตั้งคำถามว่า หรือว่าที่นี่จะเป็นที่พักยั้งขบวนเสด็จของพระมหาสุมนเถระจากสุโขทัย

และสายกลางยังตั้งฉายาให้กับโบราณสถานเหล่านี้ว่า “สบแจ่ม : สุโขทัยน้อยแห่งล้านนา”

 

ร่องรอยสุโขทัยในล้านนา
พระวิปัสสนากับโรงอบสมุนไพร

ไม่เพียงแต่การค้นพบเจดีย์ทรง “พุ่มข้าวบิณฑ์แบบสุโขทัย” ที่วัดร้างพระเจ้าดำ ดังที่ดิฉันเคยกล่าวและลงภาพประกอบให้ชมกันแล้วในคอลัมน์นี้เมื่อ 2-3 ฉบับก่อน ตอนประชาสัมพันธ์เชิญชวนผู้สนใจให้เข้าร่วมโครงการ

ทว่า สิ่งที่ดิฉันตื่นเต้นมากเป็นพิเศษคือการที่เราได้ค้นพบกองอิฐขนาดประมาณ 3 x 4 เมตร ก่อเป็นสันเรียงกันแบ่งเป็น 4 ช่อง ประกอบด้วยตอนกลางแนวอิฐ 3 แถว และขอบนอกอีก 1 คู่ รวมแนวอิฐ 5 แถว

แนวอิฐด้านใน 3 แถวก่อตั้งขึ้นโดยใช้สันอิฐด้านแคบเรียงชิดกัน แต่แถวอิฐคู่นอกสุด ก่อแบบแบนวางอิฐแนวราบธรรมดาในลักษณะที่เห็นได้ทั่วไป

การก่ออิฐเช่นนี้ เราเคยพบมาก่อนแล้วที่วัดพระยืน ตำบลเวียงยอง อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน ซึ่งดิฉันเคยเชิญ “ไมเคิล ไรท์” ปรมาจารย์ใหญ่ด้านโบราณคดีอุษาคเนย์ อดีตคอลัมนิสต์มติชนสุดสัปดาห์และศิลปวัฒนธรรม ลงพื้นที่เพื่อให้แกช่วยวิเคราะห์ตั้งแต่ปี 2549 ก่อนหน้าที่คุณไมค์จะเสียชีวิตได้ไม่นาน

ไมเคิล ไรท์ ฟันธงชัดเจนว่า กองอิฐ 5 แถว ที่กั้นพื้นที่ออกเป็น 4 ช่องนี้ เป็น “โรงอบสมุนไพร” หรือ “ห้องอบสมุนไพร” สำหรับพระภิกษุสายวัดป่าของพุทธลังกาวงศ์

กล่าวคือ เมื่อพระภิกษุได้นั่งวิปัสสนากัมมัฏฐานไปนานเข้าๆ มักเกิดอาการเหน็บชา เป็นตะคริว เลือดลมติดขัด เมื่อยเนื้อเมื่อยตัว

ข้อบัญญัติของพระสงฆ์ฝ่ายวิปัสสนาธุระสายลังกาวงศ์อนุญาตให้พระนักปฏิบัติเหล่านั้นสามารถเข้าไปผ่อนคลายยืดเส้นยืดเส้นด้วยการอบสมุนไพรในห้องเล็กๆ แคบๆ นี้ได้ ซึ่งในอดีตไม่ใช่ที่นั่งโล่งแจ้ง แต่มีผนังก่อด้านข้างและหลังคาคลุม ไม่ได้ประเจิดประเจ้อแบบนี้

โดยมากห้องอบสมุนไพรมักตั้งอยู่ในจุดที่เด่น เปิดเผย ไม่ไกลจากเสนาสนะสำคัญ อาทิ วิหาร เจดีย์ ไม่จำเป็นต้องไปหลบๆ ซ่อนๆ อยู่ในมุมอับมุมทึบแต่อย่างใด เพราะถือว่าการเข้าห้องอบยานี้เป็นส่วนหนึ่งของวิถีการปฏิบัติธรรมของพระสงฆ์ลังกา

ที่วัดพระยืน โรงหรือห้องอบสมุนไพรตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของพระเจดีย์ ในขณะที่วัดป่าแดง ลุ่มน้ำสบแจ่ม ที่สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ได้ขุดค้นพบนั้น ห้องอบสมุนไพรตั้งอยู่ด้านทิศเหนือของวิหารและพระเจดีย์

ไม่ว่าจะตั้งอยู่ทิศใดของเสนาสนะหลัก แต่ห้องอบสมุนไพรทั้งที่วัดพระยืนและที่วัดป่าแดง สบแจ่ม มีสิ่งที่เหมือนกันคือ ขนาดของห้องอบสมุนไพร มีสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน และระยะห่างจากพระธาตุเจดีย์ออกมาก็มีรัศมีที่ไม่ต่างจากกันมากนัก

จึงสันนิษฐานเบื้องต้นได้ว่า ผู้สถาปนาวัดป่าแดงแห่งนี้ น่าจะเป็นกลุ่มบุคคลเดียวกันกับกลุ่มคณะสงฆ์ที่สร้างห้องอบสมุนไพรที่วัดพระยืนลำพูน

นั่นหมายถึง เป็นกลุ่มของ “พระสุมนเถระ” สังฆราชาผู้เดินทางไกลมาจากสุโขทัย เพื่อนำพระพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์มาลงหลักปักฐาน ณ ดินแดนล้านนาเป็นครั้งแรกในปี 1912

 

พระสุมนเถระต้นนิกายสวนดอก
ไฉนวัดชื่อ “ป่าแดง”?

เมื่อพระสุมนเถระ เดินทางจากสุโขทัยมาถึงดินแดนล้านนาใหม่ๆ ช่วงสามปีแรกได้พำนักอยู่ ณ วัดพระยืน ก่อนที่จะย้ายไปตั้งนิกายลังกาวงศ์ (สายรามัญวงศ์) มีศูนย์กลางอยู่ที่วัดสวนดอก เชียงใหม่ จึงนิยมเรียกกันว่า “นิกายสวนดอก”

ต่อมาในเชียงใหม่ ศาสนาพุทธในสายลังกาวงศ์ได้เกิดนิกายใหม่ขึ้นมาอีกนิกายหนึ่งชื่อว่า “ป่าแดง” เป็นนิกายที่มีความขัดแย้ง จนถึงขั้น “เป็นปฏิปักษ์” กับนิกายสวนดอกอย่างรุนแรง

น่าสงสัยว่า ไฉนวัดที่ค้นพบ “โรงอบสมุนไพร” ในแหล่งโบราณสถานร้างลุ่มน้ำสบแจ่มจึงมีชื่อเรียกว่า “วัดป่าแดง” ทำไมไม่ชื่อวัดสวนดอก อันเป็นนิกายที่พระสุมนเถระสถาปนาในเชียงใหม่

เอาเถอะ! อาจไม่จำเป็นต้องชื่อวัดสวนดอกให้เหมือนกันกับศูนย์กลางนิกายนี้ก็ได้ แต่ไยเล่า ชื่ออื่นมีตั้งมากมาย ไฉนจึงไปเอาชื่อวัดที่เป็นปรปักษ์ต่อนิกายสวนดอกมาตั้งเป็นนามวัด?

เรื่องนี้ดิฉันสันนิษฐานได้ 3 แนวทาง

แนวทางแรก วัดป่าแดงที่สบแจ่มนี้ ครั้งแรกอาจได้รับการสถาปนาโดยพระสุมนเถระ ผู้เป็นต้นวงศ์นิกายสวนดอกจริงอยู่

แต่เมื่อกาลเวลาผ่านมา ยุคสมัยหนึ่งนิกายสวนดอกอ่อนล้าโรยแรงลง นิกายป่าแดงขึ้นมาเป็นใหญ่ และแข็งแกร่งอย่างสูงสุดในสมัยพระเจ้าติโลกราช อาจเป็นไปได้ว่า มีการเปลี่ยนแปลงนิกายเดิมเป็นนิกายใหม่ หรือเกิดการครอบนิกายป่าแดงสวมวัดเดิมของนิกายสวนดอก

แนวทางที่สอง วัดนี้อาจไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับพระสุมนเถระที่นำพระพุทธศาสนาขึ้นมาจากสุโขทัยในปี 1912 เลย แต่มาสร้างขึ้นในยุคที่นิกายป่าแดงรุ่งเรืองในล้านนา และเรายังไม่ได้ศึกษากันอย่างเจาะลึกเลยว่า แนวคิดการสร้างโรงอบสมุนไพรให้พระสายลังกาวงศ์ได้คลายกล้ามเนื้อยามติดขัดหลังวิปัสสนานานๆ นั้น ได้ถูกผูกขาดเป็นลิขสิทธิ์เฉพาะของพระสงฆ์สายรามัญวงศ์นิกายลังกาวงศ์เท่านั้นหรือไม่ หรือว่าพระภิกษุสายอื่นๆ ที่ไปเล่าเรียนมาจากลังกาโดยตรงก็มีสิทธิ์นำแนวคิดนี้ไปใช้ได้ด้วยเช่นกัน

หากเป็นตามข้อสันนิษฐานนี้ เราก็สามารถยกเรื่องราวของพระสุมนเถระ กับนิกายสวนดอก ออกไปจากความน่าจะเป็น โดยควรหันไปมองยุคสมัยที่มีการสนับสนุนนิกายป่าแดงแทน

แนวทางที่สาม ชุมชนในพื้นที่บอกว่า ชื่อเดิมของวัดแห่งนี้ อันที่จริงไม่ได้ชื่อวัดป่าแดง แต่ชื่อ “วัดปากแดง” หรือ “พระเจ้าปากแดง” เรียกตามลักษณะของพระพุทธรูปหินทรายที่พบเห็นในพระวิหารร้าง

ซึ่งต่อมาพระพุทธรูปองค์ดังกล่าวได้ถูกเคลื่อนย้ายไปเก็บรักษาที่วัดพระบาทหัวเสือ อำเภอจอมทอง เนื่องจากชาวบ้านเกรงจะสูญหาย

พระเจ้าปากแดง เป็นการนำสีแดงมาทาที่ริมฝีปากของพระพุทธรูป เป็นคติหนึ่งที่สะท้อนถึงความเชื่อเรื่อง “พระเจ้ามีชีวิต” หรือการที่พระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์ชีพอยู่เสมอ แม้จะเข้าปรินิพพานไปแล้ว

แต่ในความรู้สึกของคนพม่า มอญ ล้านนา จะมีความรู้สึกผูกพันว่า พระพุทธองค์ยังทรงประทับอยู่ใกล้ๆ กับพุทธศาสนิกชน

ทำให้เกิดประเพณี สีพระทนต์ (แปรงฟัน) ให้พระพุทธรูป ดังเช่นพระมหามัยมุนีที่มัณฑะเลย์ ประเพณีหลัวไฟพระเจ้า (ผิงไฟให้หายหนาว) ตลอดจนคติการเปลี่ยนเครื่องทรง 3 ฤดู ของพระแก้วมรกต ที่มีต้นกำเนิดจากล้านนา ก็ล้วนแล้วแต่เกิดจากความเชื่อเรื่องพระเจ้ามีชีวิต

จาก “พระเจ้าปากแดง” การเรียกชื่อวัดที่ไม่มีการใช้สอยนานเข้าๆ ก็กลายเป็น “วัดปากแดง” ไปๆ มาๆ เพี้ยนเป็น “ป่าแดง” ทำให้ไปพ้องกับชื่อ “นิกายป่าแดง” อันเป็นนิกายที่ไม่ถูกกับนิกายสวนดอก

อนึ่ง การเรียกชื่อวัดตามลักษณะของพระพุทธรูปประธานที่ชาวบ้านไปพบเห็นนั้นต้องยอมรับว่ามีแนวคิดเช่นนี้มากพอสมควร เพราะยังปรากฏอยู่กับวัดอีกแห่งหนึ่งในโบราณสถานกลุ่มนี้ นั่นคือ วัดพระเจ้าดำ เป็นการเรียกตามลักษณะของพระพุทธรูปที่อาจเป็นหินสีเข้มออกเทาดำ หรืออาจสร้างด้วยปูนปั้นแล้วลงน้ำรักเพื่อรองรับการปิดทองคำเปลว แต่ปัจจุบันพระพุทธรูปองค์นี้สูญหายไปจากวัดพระเจ้าดำแล้ว

สมมุติว่าเรายืนยันความเชื่อที่ว่า โบราณสถานลุ่มน้ำสบแจ่มทั้งหมดนี้ควรสร้างขึ้นพร้อมกันคราวเดียวโดยกลุ่มของพระสุมนเถระจากสุโขทัยทั้งหมด ข้อสันนิษฐานแนวทางที่ 1 และ 3 ของดิฉันก็น่าจะมีความเป็นไปได้มากกว่าแนวทางที่ 2 อันเป็นเรื่องการเข้ามาสร้างวัดของอีกนิกายหนึ่ง ในลักษณะเบียดแทรกใกล้กับบริเวณที่เคยมีนิกายเดิม

เรื่องราวของ “สุโขทัยน้อย” ที่ปรากฏในแหล่งโบราณสถานลุ่มน้ำสบแจ่ม ยังพบพระเจดีย์องค์หนึ่งบ้างเรียกวัดช้างล้อม บ้างเรียกช้างค้ำ มีการทำฐานล้อมรอบเป็นรูปช้าง อันเป็นคติที่นิยมมากในสุโขทัยซึ่งรับมาจากลังกา

ในบริเวณวัดป่าแดง (ปากแดง) เอง ก็มีการพบ “เว็จกุฎี” (ฐานหรือส้วมหลุมสำหรับพระสงฆ์) ก่อด้วยอิฐอีกด้วย

สิ่งที่นำเสนอทั้งหมดในครั้งนี้ ยังไม่มีข้อสรุปที่ตายตัว ถือว่าเป็นการเปิดเผยข้อมูลใหม่ทางวิชาการครั้งแรกต่อสาธารณชนในวงกว้างของแหล่งโบราณคดีลุ่มน้ำสบแจ่ม