สุรชาติ บำรุงสุข 88 ปีระบอบทหารไทย Ep.11 สงครามและการเมืองจาก 2523

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

“ทหารไทยยังไม่เคยใช้การรบของรถถังอย่างจริงจังมาเลยในประวัติศาสตร์การรบที่ผ่านมา พวกเขาใช้มันในการทำปฏิวัติเสียมากกว่า แต่ถึงกระนั้นพวกเขาก็ยังใช้มันอย่างไม่คุ้มค่าแม้แต่น้อย”

พ.ท.รณชัย ศรีสุวรนันท์ (2529)

สงครามและการเมืองไทยนับจากปี 2522 เป็นต้นไป มีพลวัตและความพลิกผันที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง ดังที่กล่าวมาแล้วว่าพนมเปญซึ่งเป็นเมืองหลวงของรัฐบาลเขมรแดงแตกจากการรุกใหญ่ทางทหารของเวียดนามในเดือนมกราคม 2522

แน่นอนว่าในมิติความมั่นคงแล้ว ปีใหม่ปีนั้นไม่ใช่ “ปีแห่งความสุข” อย่างแน่นอน เพราะความเปลี่ยนแปลงใหญ่ที่เป็นดัง “ฝันร้าย” ได้เกิดขึ้นแล้ว

และตามมาด้วยคำถามสำคัญว่า การยึดครองของเวียดนามจะส่งผลอย่างไรกับสงครามประชาชนในไทย

เพราะถ้าพรรคคอมมิวนิสต์ไทยสามารถจับมือกับพรรคเวียดนามได้ อินโดจีนทั้งหมดจะเป็น “หลังพิงใหญ่” ให้กับสงครามปฏิวัติไทย

พร้อมกันนี้ในปีถัดมา เกิดการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลที่กรุงเทพฯ ในตอนต้นปี 2523 ที่แม้จะเป็นเพียงการเปลี่ยนจากผู้นำทหารคนหนึ่งไปสู่ผู้นำทหารอีกคนหนึ่ง แต่การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้กลับมีนัยสำคัญต่อการเมืองและการทหารของไทยอย่างมาก

การขึ้นสู่อำนาจของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ พร้อมกับการใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2521 กลายเป็นรากฐานใหม่ของการสร้าง “ระบอบพันทาง” (hybrid regime) ชุดสำคัญในการเมืองไทย

ที่การเมืองมีเสถียรภาพอย่างยาวนานในแบบ “กึ่งประชาธิปไตย”

การเมืองกับสงครามภายใน

การเข้ายึดครองกัมพูชาของเวียดนามตอนต้นปี 2522 เป็นปัญหายุทธศาสตร์ที่สำคัญของไทยโดยตรง เพราะเท่ากับภัยคุกคามของสงครามภายนอกมาจ่ออยู่ที่แนวพรมแดนไทยจริงๆ

และอาจจะต้องถือว่า หลังการเข้ามามีอิทธิพลของเวียดนามในลาวและในกัมพูชาแล้ว รัฐไทยเผชิญกับสถานการณ์ “สงครามภายนอก” อย่างเห็นได้ชัด

เพราะเมื่อครั้งสงครามเวียดนามนั้น สงครามอยู่ในพื้นที่หลักของเวียดนาม หรือปัญหาสงครามในลาว และในกัมพูชา ก็รบในพื้นที่ดังกล่าวเป็นหลัก…

สงครามก่อนปี 2522 จึงยังเป็นสงครามที่มีพื้นที่กันชนขีดขั้นอยู่ระหว่างเส้นเขตแดนไทย

ซึ่งทำให้ผู้นำทางทหารของไทยเชื่อว่า เราจะมีพื้นที่กันชนรองรับสงครามได้ก่อนที่การรบจะมาประชิดชายแดนไทย

สงครามภายนอกเช่นนี้แทบจะเป็นสิ่งที่รัฐไทยไม่เคยเผชิญมาก่อน เพราะสงครามครั้งก่อนที่กองทัพไทยใช้กำลังออกไปรบนอกบ้านคือ สงครามอินโดจีนระหว่างไทยกับฝรั่งเศสในปลายปี 2483

แต่สงครามกับรัฐภายนอกเช่นนี้ก็นานมากแล้ว จนดูเหมือนกองทัพไทยจะไม่เคยมีประสบการณ์การรบกับกองทัพของรัฐภายนอกอย่างจริงจังเท่าใดนัก

สงครามที่กองทัพไทยเข้าไปมีบทบาทนั้น มักจะเป็นเรื่องทางการเมืองภายใน หรือมีลักษณะของการใช้กำลังที่เกี่ยวข้องกับปัญหาการเมืองภายใน

การใช้กำลังทางทหารของไทยจึงเห็นได้ในสามมิติหลักคือ

1) “สงครามปราบกบฏ” ที่เป็นการใช้กำลังรบเข้าทำลายฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง เช่น ตัวแบบของการปราบกบฏวังหลวง (กุมภาพันธ์ 2492) หรือกบฏแมนฮัตตัน (มิถุนายน 2494) เป็นต้น

2) “สงครามปราบผู้เห็นต่าง” คือการใช้กำลังทหารเพื่อการปราบปรามผู้เห็นต่างทางการเมือง ดังเช่นการใช้กำลังทหารในเดือนตุลาคม 2516 และเดือนตุลาคม 2519 หรือเดือนพฤษภาคม 2535

และ 3) “สงครามปราบรัฐบาล” ซึ่งก็คือ การใช้กำลังรบทางทหารในการทำรัฐประหารเพื่อโค่นล้มรัฐบาลเดิมที่ผู้นำกองทัพไม่พอใจ และในหลายปีของการเมืองไทย ผู้นำทหารได้พากองทัพเข้าสู่สงครามชนิดนี้อย่างต่อเนื่อง

ฉะนั้น กองทัพไทยในเงื่อนไขของสงคราม 3 แบบเช่นนี้ จึงเป็นกองทัพที่อยู่กับ “สงครามภายใน” (internal warfare) หรือเป็นกองทัพที่มีความเกี่ยวข้องทางการเมืองสูง อันกลายเป็นบทบาทสำคัญของทหารไทยในยุคต่อๆ มา

และการที่ต้องยุ่งอยู่กับสงครามเช่นนี้ การมีบทบาททางการเมืองของทหารจึงกลายเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในตัวเอง

เพราะกองทัพได้กลายเป็น “กลไกทางการเมือง” สำหรับผู้นำทหารจากความเกี่ยวข้องที่เกิดขึ้น

แต่ก็มิได้มีนัยว่าทหารเป็นกลไกของรัฐบาลพลเรือน เช่น ที่เป็นหลักการของระบอบประชาธิปไตย

เพราะการหล่อหลอมของผู้นำทหารไทยทำให้การยอมรับหลักการดังกล่าวไม่อาจเกิดขึ้นได้

เว้นแต่พวกเขาต้องเผชิญกับแรงบีบของสถานการณ์สงคราม ที่มีการแพ้-ชนะของรัฐเป็นเดิมพัน

หลักนิยมความมั่นคงภายใน

แต่ขณะเดียวกัน สงครามภายในแบบที่ 4 ที่ทำให้กองทัพต้องใช้กำลังอย่างมากเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยก็คือ “สงครามปราบคอมมิวนิสต์” และเป็นสงครามที่ทำให้กองทัพมีข้ออ้างทางการเมือง บนคำอธิบายในเรื่องของ “หลักนิยมความมั่นคงภายใน” (internal security doctrine) ที่กลายเป็นรากฐานสำคัญของคำอธิบายในการมีบทบาททางการเมืองของสถาบันและตัวผู้นำทหาร

และหลักนิยมเช่นนี้ยังทำให้การแทรกแซงทางการเมืองของทหารไทยถูกประกอบสร้างให้มีความชอบธรรมรองรับ

ฉะนั้น หลักนิยมนี้ได้เอื้อให้กับผู้นำกองทัพเข้ามามีบทบาททางการเมืองเต็มรูปในลักษณะของการจัดตั้ง “รัฐบาลเผด็จการทหาร” หรือเป็นฐานทางความคิดรองรับการปรับตัวเช่นที่เกิดบนเงื่อนไขทางการเมืองและสถานการณ์สงครามหลังปี 2522/2523

เช่นในยุค พล.อ.เปรม ที่เห็นความพยายามในการออกแบบใหม่ที่เป็น “รัฐบาลพันทาง” เพื่อให้เกิดความชอบธรรมทั้งกับการเมืองภายใน และการต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์

เพราะความเป็น “ระบอบกึ่งประชาธิปไตย” เช่นนี้จะไม่กลายเป็น “แนวร่วมมุมกลับ” ที่คอมมิวนิสต์จะใช้เป็นข้ออ้างเช่นที่เกิดในช่วงหลังการปราบปรามในปี 2519

ขณะเดียวกันก็เป็นที่ยอมรับของประชาชน ที่ไม่ต้องการอยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการเต็มรูปกับระบอบทหารแบบเก่า

อย่างน้อยยังมีเงื่อนไขบางประการที่เป็นประชาธิปไตยอยู่ในระบอบพันทาง เช่น มีการเลือกตั้ง แต่ก็อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญที่ฝ่ายทหารได้ร่างขึ้น เป็นต้น

ระบอบพันทางในยุคนี้จึงมีนัยถึง “ระบอบเปรม” ที่การสร้างเสถียรภาพทางการเมืองกลายเป็นเป้าหมายสำคัญ และการเอาชนะสงครามคอมมิวนิสต์ได้เป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายดังกล่าว เท่าๆ กับความพยายามที่จะทำให้เกิดการพัฒนาทางเศรษฐกิจจากการเมืองในรูปแบบนี้ รวมทั้งความพยายามในการจำกัดพฤติกรรมทางการเมืองของทหารให้อยู่ภายใต้ “การควบคุม” ของรัฐบาล (ที่แม้อาจจะไม่ใช่หลักการ “civilian control” เช่นในแบบของโลกตะวันตก)

และปัจจัยเช่นนี้ทำให้ระบอบพันทางประสบความสำเร็จ และดำรงอยู่จากมีนาคม 2523 จนถึงเมษายน 2531 จน พล.อ.เปรมเป็นผู้นำทหารคนเดียวที่อยู่ในอำนาจยาวนานในระบอบเลือกตั้ง

ต่างจากผู้นำทหารอย่างจอมพล ป. หรือจอมพลถนอม ที่อยู่นานในระบอบรัฐประหาร

สงครามภายนอก

แต่หากพิจารณาถึงสงครามภายนอกที่กองทัพไทยได้เข้าไปมีบทบาทโดยตรง อาจแบ่งออกเป็น 3 ช่วงเวลา คือ

ในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้แก่ สงครามอินโดจีนในปี 2483 และการเคลื่อนกำลังเข้าสู่สหรัฐไทยใหญ่ (เชียงตุง) ในปี 2485

ในยุคสงครามเย็น ได้แก่ การเข้าร่วมรบกับฝ่ายตะวันตกในสงครามเกาหลีในปี 2493 และเวียดนามในปี 2510

และในยุคสงครามกลางเมืองกัมพูชา (2522-2532) ได้แก่ การรบที่บ้านโนนหมากมุ่นในปี 2523 ที่ช่องบกในปี 2530 และที่บ้านร่มเกล้าในต้นปี 2531

หรืออาจกล่าวได้ว่า การรบเช่นนี้เป็นดัง “สงครามชายแดน” และการรบดังกล่าวไม่ขยายตัวเป็นสงครามใหญ่

จะเห็นได้ในรายละเอียดว่า มีเพียงสงครามอินโดจีนเท่านั้นที่มีลักษณะการรบใหญ่ที่เป็น “สงคราม”

ส่วนในเกาหลีและในเวียดนาม ทหารไทยออกไปรบนอกบ้านภายใต้การควบคุมทางยุทธการของกองทัพสหรัฐ

และหลังจากการยึดครองกัมพูชาในปี 2522 ไทยเผชิญกับการรบ/การปะทะตามแนวชายแดนมากกว่าจะอยู่ในรูปของสงคราม

และถ้าจะมีการรบใหญ่ก็คงเป็นการรบที่บ้านร่มเกล้า (ที่อาจจะต้องถือว่าเป็น “battle” มากกว่าจะเป็น “war” แม้ฝ่ายไทยจะเรียกกันว่า “สงครามบ้านร่มเกล้า”)

ดังนั้น จึงเห็นได้ว่าเมื่อเกิดการขยายอิทธิพลของเวียดนามเหนือลาวและกัมพูชาแล้ว ทำให้ผู้นำไทยมีความกังวลอย่างมากว่า สงครามจะขยายตัวข้ามพรมแดนเข้าสู่พื้นที่ตอนในของไทย

ภาพการแตกครั้งที่ 2 ของพนมเปญในต้นปี 2522 จากการรุกเข้าตีอย่างรวดเร็วของกองทัพเวียดนาม ทำให้ชนชั้นนำและผู้นำทหารไทยอยู่ด้วยความกังวลกับการขยายสงครามของเวียดนาม

การเปิดการยุทธ์ด้วยทหารราบยานยนต์ในแบบหลักนิยมของโซเวียตนั้น ชี้ให้เห็นถึงขีดความสามารถทางทหารของเวียดนามอย่างมาก

และสำหรับการรุกเช่นนี้ โลกได้เห็นมาก่อนแล้วจาก “ฉากสุดท้าย” ของสงครามเวียดนามในเดือนเมษายน 2518 ซึ่งโลกตะวันตกยังมีความหวังว่าหลังจากการถอนตัวของสหรัฐแล้ว กองทัพเวียดนามใต้น่าจะมีขีดความสามารถทางทหารในการยันการรุกของกองกำลังเวียดกงและกองทัพเวียดนามเหนือได้อีกระยะหนึ่ง ไม่ใช่ความพ่ายแพ้ในปี 2518

ดังได้กล่าวแล้วว่าผลที่เกิดขึ้นเป็น “ฝันร้าย” ของนักความมั่นคงไทยอย่างชัดเจน เพราะสงครามที่จบลงในปี 2518 นี้ได้เปลี่ยนเงื่อนไขทาง “ภูมิรัฐศาสตร์ไทย” ไปจากเดิม

และกลายเป็นประเทศที่มีแนวพรมแดนประชิดกับเพื่อนบ้านที่เป็น “รัฐสังคมนิยม”

และฝันร้ายก็เกิดอีกครั้ง เมื่อพนมเปญแตกอีกในปี 2522… ต้องถือว่าเป็นความโหดร้ายอย่างมากว่า ในระยะเวลาประมาณ 5 ปี รัฐไทยต้องเผชิญกับฝันร้ายของสงครามจากภายนอกถึง 2 ครั้ง

อันเท่ากับเป็นสัญญาณในตัวเองว่า ถึงเวลาที่กองทัพไทยจะต้องเตรียมรับ “สงครามจากภายนอก”

และหากกองทัพผสมเวียดนาม-กัมพูชาเปิด “การยุทธ์ข้ามชายแดน” แล้ว กองทัพไทยจะยันการรุกนี้ได้นานเท่าใด

ศึกนอก-ศึกใน

ความท้าทายทางด้านความมั่นคงอย่างมากในยุคของ พล.อ.เปรม ได้แก่ การต้องเผชิญหน้ากับ “สงครามสองแนวรบ” คือ สงครามภายนอกและสงครามภายใน

ซึ่งในภาวะเช่นนี้ รัฐบาลไทยตัดสินใจทางยุทธศาสตร์ครั้งสำคัญด้วยการมีนโยบายใหม่คู่ขนานคือ การออกคำสั่งที่ 66/23 เพื่อลดเงื่อนไขของสงครามภายใน และเพื่อสร้างความปรองดองทางการเมือง

และอีกด้านคือการเปิดความร่วมมือทางทหารกับจีน เพราะจีนเป็นคู่ขัดแย้งใหญ่กับเวียดนาม และจีนมีศักยภาพในการ “เหนี่ยวรั้ง” ทางทหาร หากเวียดนามจะเปิดการยุทธ์ข้ามเข้ามาในดินแดนของไทย อย่างน้อย “สงครามสั่งสอน” ในช่วงต้นปี 2522 เป็นคำยืนยันที่ชัดเจนในกรณีนี้

ขณะเดียวกัน “สงครามภายใน” ของพรรคคอมมิวนิสต์ไทยก็ทวีความรุนแรงมากขึ้น

พรรคไทยจะเลือกเส้นทางไปกับพรรคจีน หรือพรรคเวียดนาม

แต่ถ้าเดินไปกับจีน สงครามประชาชนในไทยจะไปต่ออย่างไร…

ผู้นำรัฐบาลไทยและผู้นำพรรคไทยมีความท้าทายทางยุทธศาสตร์ที่อาจไม่แตกต่างกัน และถ้าตัดสินใจพลาดแล้ว ก็อาจมีนัยถึงจุดจบของฝ่ายตนด้วย…

ความผิดพลาดทางยุทธศาสตร์ต้องจ่ายด้วยราคาแพงเสมอ!