บทความพิเศษ/นงนุช สิงหเดชะ /ม็อบ (เด็กสร้างบ้าน) 19 ก.ย. แค่อีก ‘เวอร์ชั่น’ ของม็อบเสื้อแดง??

บทความพิเศษ/นงนุช สิงหเดชะ

ม็อบ (เด็กสร้างบ้าน) 19 ก.ย.

แค่อีก ‘เวอร์ชั่น’ ของม็อบเสื้อแดง??

 

หลายคนบ่นว่า “ผิดหวัง” ที่การชุมนุมของม็อบที่ใช้ชื่อว่า “แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม” เมื่อวันที่ 19 กันยายน ไม่ได้มีเนื้อหาสาระอะไรมากนอกจากการมุ่งเป้าโจมตีไปที่สถาบัน ทั้งที่ควรใช้โอกาสจากเวทีนี้ อภิปรายอย่างมีเนื้อหาสาระแบบแน่นๆ จัดหนักรัฐบาล

ข้อสังเกตอีกประการหนึ่งก็คือ ผู้ไปร่วมชุมนุมส่วนใหญ่ไม่ใช่เยาวชนหรือนักศึกษา แต่หากเป็นกลุ่มคนเสื้อแดงเก่าที่ค่อนข้างสูงวัย ซึ่งก็สอดคล้องกับการชุมนุมหลายครั้งก่อนหน้านี้ของม็อบดังกล่าว ก็ล้วนแต่โยงใยกับคนเสื้อแดง (ปัจจุบันบางส่วนก็กลายมาเป็นเสื้อส้ม)

คนออกหน้าออกตาสนับสนุนเงินทองในการจัดชุมนุมก็คือคนเสื้อแดง ส่วนแม่ยกที่ออกหน้าสนับสนุนโรงครัวในครั้งนี้ ก็เป็นดาราเสื้อแดง ยังไม่รวมที่สนับสนุนอย่างลับๆ หลังฉากจากนักการเมืองเสื้อแดง เสื้อส้ม

คนเหล่านี้สนับสนุนทั้งที่รู้อยู่แล้วว่าม็อบจะปราศรัยโจมตีสถาบันแบบ “เบิ้มๆ”

 

การชุมนุมครั้งนี้น่าจะมีกุนซือด้านกฎหมาย (ซึ่งใครๆ ก็รู้ว่าเขาเป็นใคร) เกี่ยวกับการเลี่ยงกฎหมายเพื่อจะได้ไม่ต้องขออนุญาตการชุมนุมตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ จึงจะเห็นได้ว่าแม้ผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มหาวิทยาลัยไม่ใช่สถานที่สาธารณะ) จะประกาศไม่อนุญาตให้ใช้สถานที่ เนื่องจากผู้ชุมนุมยืนยันจะปราศรัยพาดพิงสถาบัน แต่ผู้ชุมนุมก็ยังประกาศล่วงหน้าหลายวันว่าจะชุมนุมที่นั่นให้ได้

เมื่อถึงวันชุมนุม ก็ใช้วิธีพังรั้วประตูมหาวิทยาลัยเข้าไป แต่เมื่อเข้าไปได้แล้วก็อ้างว่าจำนวนคนล้น สถานที่ไม่เพียงพอ จึงพากันเคลื่อนย้ายออกมาสนามหลวง ซึ่งเป็นโบราณสถาน ไม่อนุญาตให้จัดกิจกรรมการเมือง

อันที่จริง สถานที่ชุมนุม เป้าหมายแท้จริงของผู้ชุมนุมก็คือสนามหลวง เพราะว่าตรงนั้นมองไปก็เห็นพระบรมมหาราชวังเป็นฉากหลัง แต่พวกเขารู้ว่าการจะขออนุญาตใช้สนามหลวงเป็นที่ชุมนุมไม่สามารถทำได้ จึงใช้วิธีบุกเข้าไปในธรรมศาสตร์ก่อน แล้วใช้ข้ออ้างว่าสถานที่ไม่เพียงพอรองรับคน จึงเคลื่อนออกมาสนามหลวงอย่างกะทันหัน

สนามหลวงเป็นสถานที่ชุมนุมที่ตรงกับเป้าหมายใหญ่แท้จริงของกลุ่มม็อบที่ต้องการมาแสดงสัญลักษณ์ต่อสู้กับสถาบัน ดังจะเห็นว่านอกจากแกนนำ 3 คนจะปราศรัยแบบ “เบิ้มๆ” โจมตีสถาบันในช่วงดึกแล้ว พอ “ย่ำรุ่ง” ก็ทำพิธีฝังหมุดคณะราษฎรบนท้องสนามหลวง

คณะราษฎรคือคณะบุคคลที่ทำการยึดอำนาจสถาบันกษัตริย์และเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี 2475

การฝังหมุดคณะราษฎรที่ท้องสนามหลวง ใกล้กับพระบรมมหาราชวัง คือสิ่งที่ฝ่ายม็อบต้องการจะสื่อความหมาย และเป็นไปตามสโลแกนการชุมนุมที่ว่า “ทวงอำนาจคืนราษฎร”

ที่ผ่านมาทราบกันดีว่าพรรคการเมืองไหนรณรงค์อย่างต่อเนื่อง เกี่ยวกับเจตนารมณ์ที่จะสานต่อภารกิจคณะราษฎร 2475 ให้ลุล่วง และม็อบกลุ่มนี้ก็ทำหน้าที่รับไม้ต่อแนวคิดนี้มาด้วยการนำมาปราศรัยเรียกร้องอย่างเปิดเผยในที่สาธารณะ

การใช้เยาวชน นักศึกษาออกหน้าในการต่อสู้กับสถาบัน ผู้ชักใยที่อยู่เบื้องหลังคิดว่าจะทำให้สาธารณชนมองว่าเป็นพลังบริสุทธิ์และจะสามารถเรียกพลังแนวร่วมได้มาก จนเชื่อว่าจะสามารถโค่นรัฐบาลได้สำเร็จพร้อมๆ กับการลดอำนาจสถาบันกษัตริย์ตามที่ต้องการ 10 ข้อ

 

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากม็อบ 19 กันยายน แทบจะทุ่มหน้าตักทั้งหมดไปที่การโจมตีสถาบันอย่างเปิดเผยที่สุดเท่าที่เคยมีมา ชนิดที่ม็อบเสื้อแดงปี 2552-2553 ต้องชิดซ้ายไปเลยนั้น ผลลัพธ์ที่ออกมาก็คงเป็นไปอย่างที่ พล.ท.พงศกร รอดชมภู อดีต ส.ส. และอดีตรองหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 21 กันยายน ว่า

“เคยได้ยินคำว่าธงไหมครับ มันคือการเอาผลหรือคำตอบมาตั้งไว้ก่อนแล้วค่อยไปหาวิธีทำมาให้ได้ พวกหัวหน้าหน่วยงานที่คิดไม่เป็นระบบ เอาตัวเองเป็นที่ตั้งมักชอบตั้งธงแล้วสั่งให้ไปทำมาให้ได้ การทำอะไรก็ลำบากไปหมดหรือพังไปเลย

ทหารเราก็ได้ยินคำว่าที่หมาย ซึ่งเวลาฝึกจะมีธงแดงๆ ไปปักไว้ ในชีวิตจริงของการรบเราต้องใคร่ครวญเลือกเป้าหมายที่จะสามารถยึดได้ สถาปนาที่มั่นได้แล้วรุกต่อเนื่องจนกว่าจะชนะ

ในปัจจุบันที่หมายเบื้องต้นของการรบมักอยู่บนอวกาศแล้ว ไม่จำเป็นต้องมีคนไปอยู่เสียด้วย การเลือกที่หมายเบื้องต้น ที่หมายระหว่างทางในสมัยก่อนสำคัญมาก

ในสมัยนี้ที่หมายจะเป็นใจกลางของศัตรูทีเดียวจบแล้วจึงเคลื่อนทัพเข้าไป แต่นั่นหมายถึงต้องมีจรวดร่อนและดาวเทียมของตัวเองก่อน หากไม่มีก็จบแต่แรก

ดังนั้น ธงที่ตั้งไว้ต้องไม่มีอคติเป็นที่ตั้ง มิฉะนั้น การทำงานจะไร้ความหมาย คนทำงานจึงมักบ่นว่าปักธงผิดแบบนี้ทำงานยากครับ”

 

พล.ท.พงศกรน่าจะสื่อความไปถึง “หัวหน้าและแกนนำตัวจริง” ของพรรคก้าวไกล ที่วางยุทธศาสตร์ผิดพลาด เพราะแทนที่จะเน้นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ กลับดันไปมุ่งเล่นงานสถาบันกษัตริย์ เสี่ยงจะเสียแนวร่วมที่เป็นกลางๆ ทำให้งานใหญ่เสียไปหมด

คนที่อยู่เบื้องหลังอาจจะสะใจกับคำปราศรัย “เบิ้มๆ” ความยาว 20 นาทีของรุ้ง ปนัสยา นักศึกษาหญิงธรรมศาสตร์ เพราะนั่นเท่ากับมีคนพูดแทนความต้องการตัวเองไปแล้วแบบหมดเปลือก

แต่การเปิดหน้าชนสถาบันอย่าง “เบิ้มๆ” เช่นนั้น ยิ่งทำให้สังคมภายนอกแน่ใจว่า เป้าหมายของม็อบกลุ่มนี้ตลอดมา ไม่ใช่เรื่องการเมือง ไม่ใช่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ

น่าคิดว่าพรรคการเมืองฝ่ายค้านที่ไปร่วมอยู่ในม็อบวันนั้น แต่อ้างว่าแค่ไปสังเกตการณ์ จะรอดจากการเป็นผู้สนับสนุนการทำผิดมาตรา 112 ได้หรือไม่

แม้กระทั่งนางเจี๊ยบ อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ส.ส.นครปฐม พรรคก้าวไกล ที่ไปแชะภาพยิ้มร่าถูกใจกับหมุดคณะราษฎรที่ม็อบฝังไว้ที่ท้องสนามหลวง ก็เสี่ยงจะติดร่างแหสนับสนุนการทำผิด รวมทั้งนายพิธา หัวหน้าพรรคก้าวไกล ที่โพสต์ชื่นชมม็อบว่ามีความสง่างามที่ต้องจารึกไว้นั่นด้วย

ส่วนคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย ที่เคยออกมาเตือนนายพริษฐ์หรือเพนกวิน หนึ่งในแกนนำม็อบ ไม่ให้ก้าวล่วงสถาบัน ในคราวการชุมนุมที่ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม แล้วนายเพนกวินออกมาสวนกลับว่า “อย่ามาสั่งสอน” พร้อมกับลำเลิกบุญคุณว่าตนเคยเลือกพรรคเพื่อไทย

เท่านั้นแหละคุณหญิงสุดารัตน์ถอยกรูด (อาจจะเพราะกลัวสมัยหน้าเพนกวินจะไม่ลงคะแนนให้) ยอมออกมาขอโทษเพนกวิน

การออกมาขอโทษอีกนัยหนึ่ง มันก็คล้ายๆ กับว่า คุณหญิงหน่อยจะไม่ห้ามเพนกวินก้าวล่วงสถาบันแล้ว

เช่นนี้แล้ว คุณหญิงสุดารัตน์ยังสมควรจะได้ครอบครองเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า อันทำให้สุดารัตน์มีคำนำหน้าชื่อว่า “คุณหญิง” อยู่อีกหรือไม่

การปราศรัยแบบเบิ้มๆ ของเพนกวิน รุ้ง และอานนท์ ในวันนั้น คงสมใจผู้สนับสนุนที่อยู่หลังฉากแน่ๆ แต่ผลลัพธ์ที่จะตามมาภายหลังนั้นน่าลุ้นเป็นที่สุด ว่าจะ “ปักธงผิด” แบบที่ พล.ท.พงศกรพูดเป็นนัยเอาไว้หรือไม่

ปักธงผิด เพราะพรรคการเมืองเด็กๆ ไป “คบเด็กสร้างบ้าน” ก็เสี่ยงจะพังกันหมดทั้งแดง ทั้งส้ม