ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 2 - 8 ตุลาคม 2563 |
---|---|
คอลัมน์ | แมลงวันในไร่ส้ม |
เผยแพร่ |
แมลงวันในไร่ส้ม
รื้อใหญ่ ‘เพื่อไทย’
ลดบทบาท ‘เจ๊หน่อย’
หึ่ง ‘รัฐบาลแห่งชาติ’
เกิดกระแสข่าวฮือฮา เมื่อคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ แกนนำคนสำคัญของพรรคเพื่อไทย ประกาศลาออกจากประธานกรรมการยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย
ตามมาด้วยการลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคของนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ในวันถัดมา
ทำให้เกิดกระแสข่าวแพร่สะพัดว่า เป็นการเซ็ตซีโร่พรรคใหม่ โดยมือที่เอื้อมเข้ามากดปุ่ม คือ คุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร ภรรยานายทักษิณ ชินวัตร
และนำไปสู่การวิเคราะห์ว่าการเซ็ตซีโร่ครั้งนี้จะนำไปสู่การเข้าร่วมรัฐบาลในลักษณะของ “รัฐบาลแห่งชาติ”
โดยผู้ขับเคลื่อนเกมนี้คือคุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร
นายสุวินัย ภรณวลัย อดีตอาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในบทบาท “ประธานยุทธศาสตร์วิชาการสถาบันทิศทางไทย” ได้โพสต์เฟซบุ๊กวิเคราะห์ว่า
เป็นการกลับมาทวงพรรคคืนของ “เจ๊อ้อ” เจ้าของพรรคตัวจริง เป็น “หมากประกาศิต” ที่มีผลถอนฟืนออกจากกองเพลิงได้ พวกเสื้อแดงคงต้องตัวใครตัวมัน ส่วนม็อบวันที่ 14 ตุลาคม คงเกิดยากแล้ว
และมีการวิเคราะห์เสริมเติมเข้ามาว่าจะมีการตั้งรัฐบาลแห่งชาติ ดึงเอาพรรคเพื่อไทยมาร่วมรัฐบาล และตัดพรรคประชาธิปัตย์ออกไป
อย่างไรก็ตาม การวิเคราะห์ในประเด็นนี้ไม่มีความคืบหน้าหรือยืนยันข้อเท็จจริงใดๆ จากผู้เกี่ยวข้อง
ย้อนกลับไปดูเหตุการณ์เมื่อวันที่ 25 กันยายน คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย โพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊ก “คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ Sudarat Keyuraphan” ระบุว่า ได้ขอลาออกจากประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทยแล้ว แต่ยังเป็นสมาชิกพรรคที่พร้อมจะยืนหยัดต่อสู้เคียงข้างกับพี่น้องประชาชนในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย และร่วมผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ขอบพระคุณพี่น้องประชาชนที่สนับสนุนพรรคเพื่อไทย ทำให้พรรคชนะการเลือกตั้งเป็นลำดับ 1 ของประเทศได้จำนวน ส.ส.มากที่สุด
หลังจากนั้นกรรมการยุทธศาสตร์อีกหลายคนได้ยื่นลาออก อาทิ นายโภคิน พลกุล นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง และกรรมการบริหารพรรค อาทิ นายจิรายุ ห่วงทรัพย์
ต่อมาวันที่ 26 กันยายน พรรคเพื่อไทยเปิดเผยหนังสือลาออกของนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ จากตำแหน่งหัวหน้าพรรค
ใจความสรุปว่า ตามที่ที่ประชุมใหญ่วิสามัญ พรรคเพื่อไทย ครั้งที่ 1/2562 ได้เลือกให้ผมดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคเพื่อไทยตั้งแต่วันที่ 12 พฤษภาคม 2556 เป็นต้นมา โดยมีคณะกรรมการบริหารรวมทั้งสิ้น 29 คน เต็มตามข้อบังคับพรรค
ตาม พ.ร.ป.พรรคการเมืองและข้อบังคับพรรค คณะกรรมการบริหารพรรคเป็นองค์กรสูงสุดของพรรค มีอำนาจหน้าที่สำคัญในการดำเนินกิจการของพรรคให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายและข้อบังคับพรรค กำหนดนโยบายการบริหารและพัฒนาพรรค กำกับดูแล และตรวจสอบให้องค์กรของพรรคส่วนต่างๆ ปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปโดยมีประสิทธิภาพ เป็นไปตามกฎหมายและนโยบายของพรรค และมีอำนาจและหน้าที่อย่างอื่นๆ อีกหลายประการ
ที่ผ่านมา ผมเห็นว่า ด้วยองค์ประกอบของคณะกรรมการบริหาร และการกำหนดภารกิจในส่วนต่างๆ ของพรรค ทำให้คณะกรรมการบริหารยังไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และบรรลุผลตามนโยบายและข้อบังคับของพรรค
ผมจึงเห็นว่า สมควรที่จะปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการบริหารเสียใหม่ เพื่อให้ก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในขณะนี้ และเพื่อให้การบริหารงานของพรรคเพื่อไทยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ บรรลุตามนโยบายของพรรคที่ได้ประกาศไว้
ด้วยเหตุนี้ ผมจึงขอลาออกจากการเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทย โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 26 กันยายน 2563 เวลา 16.00 น. เป็นต้นไป เพื่อจะได้มีการเรียกประชุมใหญ่สมัยวิสามัญ และเลือกคณะกรรมการบริหารชุดใหม่ต่อไป
การลาออกของนายสมพงษ์ ทำให้กรรมการบริหารทั้งชุดสิ้นสภาพ ต้องจัดการประชุมใหญ่วิสามัญเพื่อเลือกตั้งกรรมการชุดใหม่ ซึ่งรวมถึงห้วหน้าพรรค และเลขาธิการพรรคด้วย
ซึ่งนายชูศักดิ์ ศิรินิล รักษาการหัวหน้าพรรค แถลงภายหลังว่า การประชุมใหญ่วิสามัญจะมีขึ้นในวันที่ 1 ตุลาคม เวลา 10.00 น.
โดยมีข่าวว่า นายสมพงษ์จะกลับมาเป็นหัวหน้าพรรคอีกครั้ง ส่วนเลขาธิการพรรคจะเปลี่ยนจาก น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ แกนนำในกลุ่มคุณหญิงสุดารัตน์มาเป็นนายประเสริฐ จันทรรวงทอง ส.ส.นครราชสีมา ที่ใกล้ชิดกับแกนนำพรรคหลายกลุ่ม
ส่วนกระแสข่าวที่ระบุว่าคุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร ภรรยานายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จะมาเป็นผู้นำทัพพรรคเพื่อไทยนั้น นายชูศักดิ์กล่าวว่า คุณหญิงพจมานถือเป็นผู้ใหญ่ของพรรค แต่ไม่เห็นสัญญาณว่าจะมาเป็นผู้นำทัพในขณะนี้ แม้ที่ผ่านมาอาจจะมีข้อเสนอแนะข้อแนะนำต่างๆ ให้กับพรรคก็ตาม
สําหรับประเด็นรัฐบาลแห่งชาติ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวปฏิสธว่า สื่อเขียนกันไปเอง ไม่เคยคุยกับใครเลยในเรื่องนี้ เข้าใจว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงกรรมการบริหารพรรคตามปกติ
ขณะที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ยืนยันว่าไม่มี
ส่วนพรรคเพื่อไทยเอง นายชูศักดิ์ ศิรินิล รักษาการหัวหน้าพรรค ตอบคำถามผู้สื่อข่าวเรื่องการเข้าร่วมรัฐบาลว่า เรื่องอย่างนี้ต้องดูที่ดีเอ็นเอด้วย เป็นการยืนยันถึงความแตกต่างในระดับที่ลึกกว่าปกติ
ในประเด็นเรื่องการเข้ามาคุมพรรคเองของคุณหญิงอ้อ ถึงขนาดจะเข้ามานั่งประชุมด้วย เป็นที่ทราบว่าข่าวมีที่มาจากทิศทางใด
การเปลี่ยนแปลงในพรรคเพื่อไทย ด้านหลักน่าจะอยู่ที่ “องค์ประกอบของคณะกรรมการบริหารและการกำหนดภารกิจในส่วนต่างๆ ของพรรค” ดังปรากฏในหนังสือลาออกของนายสมพงษ์
เพราะบทบาทของพรรคเพื่อไทยที่ผ่านมา เกิดการชนกันเองบ่อยครั้ง ระหว่างกรรมการยุทธศาสตร์ กับกรรมการบริหารพรรค
ทำให้มีข่าวความขัดแย้งปรากฏออกมาบ่อยๆ และหลายจังหวะกลายเป็นก้าวพลาด โดยเฉพาะในเกมการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และการชุมนุมของคนรุ่นใหม่
มีผลต่อคะแนนนิยมของพรรค ทั้งที่รัฐบาลเองอยู่ในสภาพเพลี่ยงพล้ำ
การเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารชุดใหม่ในวันที่ 1 ตุลาคม น่าจะบ่งบอกทิศทางหลังจากนี้ของพรรคเพื่อไทยที่จะปรับปรุงความผิดพลาดจากสถานการณ์ก่อนหน้านี้
และเน้นการประสานงานกับกลุ่มต่างๆ ในพรรคให้มากขึ้น
เบื้องหน้าโจทย์การเมือง และสถานการณ์การเมืองที่แหลมคมขึ้นเรื่อยๆ