สุจิตต์ วงษ์เทศ / ‘ขวัญ-เรียม’ ในแผลเก่า ย่านบางกะปิ-แสนแสบ ใกล้อาร์ซีเอ

แผนที่แสดงภูมิประเทศสองฝั่งคลองแสนแสบ นอกพระนครด้านตะวันออก สมัย ร.5 พ.ศ.2430 เมื่อพ้นเขตวัดบรมนิวาส (ใกล้โบ๊เบ๊) ก็เริ่มเป็นสวนผักและท้องนากว้างไกล ในแผนที่มีอักษรเขียนว่า "วัดบางกะปิ" ตรงกับบริเวณทุกวันนี้เรียกวัดอุทัยธาราม มีคลองบางกะปิเชื่อมระหว่างคลองสามเสน (ทางทิศเหนือ) กับคลองแสนแสบ (ทางทิศใต้) (จากหนังสือ "แผนที่กรุงเทพฯ จ.ศ.1249" ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) และสมาคมกิจวัฒนธรรม พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2558)

สุจิตต์ วงษ์เทศ

‘ขวัญ-เรียม’ ในแผลเก่า

ย่านบางกะปิ-แสนแสบ ใกล้อาร์ซีเอ

ขวัญ-เรียม ในเรื่องแผลเก่า ของไม้ เมืองเดิม เป็น “นิยายฝากสถานที่” ราว 85 ปีแล้ว (แต่ง พ.ศ.2478 หลังคณะราษฎรเปลี่ยนแปลงการปกครอง) จึงไม่เป็นเรื่องจริง แต่มีฉากอันเป็นสถานที่จริงตามเนื้อหาระบุในนิยายว่าทุ่งบางกะปิ และทุ่งแสนแสบ

บางกะปิ-แสนแสบ ในแผลเก่า ปัจจุบันเป็นพื้นที่ต่อเนื่องบริเวณถนนพระราม 9-ย่านบันเทิงอาร์ซีเอ มีแลนด์มาร์กคือวัดอุทัยธาราม นามเดิมวัดบางกะปิ (แขวงบางกะปิ เขตห้วยขวาง กรุงเทพฯ) ริมทางรถไฟสายตะวันออกกับแอร์พอร์ต เรล ลิงค์ ขนานถนนเพชรบุรีตัดใหม่ และขนานคลองแสนแสบ

ขรรค์ชัย บุนปาน เมื่อมากกว่า 50 ปีมาแล้ว รับรู้เหมือนคนกรุงเทพฯ ทั่วไปสมัยนั้นว่าพ้นถนนเพลินจิต เข้าถนนสุขุมวิท ก็เรียกบางกะปิกว้างยาวตลอดไปถึงพระโขนง ผมเองก็รับรู้อย่างนั้นจนทุกวันนี้ว่า “ผู้ดี” ย่านสุขุมวิท หรือเรียกอีกอย่างก็ได้ว่า “ผู้ดี” ย่านบางกะปิ

พระเจดีย์สร้างใหม่ วัดอุทัยธาราม หรือวัดบางกะปิ ศูนย์กลางชุมชนทุ่งบางกะปิและทุ่งแสนแสบ ในนิยาย 2 เรื่อง ของ ไม้ เมืองเดิม ได้แก่ แผลเก่า และแสนแสบ

 

กำเนิด “ไม้ เมืองเดิม” และ แผลเก่า

“ไม้ เมืองเดิม” และ “แผลเก่า” มีกำเนิดบริเวณสะพานรถไฟข้ามคลองสาขาย่อย ใกล้สถานีรถไฟมักกะสัน (และไม่ไกลจากคลองแสนแสบ) สมัยนั้นเป็นท้องที่ อ.บางกะปิ จ.พระนคร มีที่ว่าการอำเภออยู่ทางคลองแสนแสบฝั่งตรงข้ามวัดเทพลีลา (ก่อนย้ายไปปัจจุบันเป็นเขตบางกะปิ) เหม เวชกร เขียนเล่าไว้ดังนี้

“วันหนึ่ง ผมกับเขา (ไม้ เมืองเดิม) เดินเกร่ออกจากหลังวัดมักกะสันสู่ท้องนา ไปนั่งเล่นกันที่สะพานรถไฟข้ามคลอง—-

ผมขอร้องให้เขาลองวางแนวการเขียนเรื่องใหม่ ลองดูตลาดว่าแนวไหนคนอ่านจะต้อนรับ เปลี่ยนนามปากกาเสียใหม่ ลองเขียนเรื่องฝากสถานที่ดูบ้าง”

“ผมเปรียบเทียบขุนช้างขุนแผนที่เขียนโดยมีสถานที่จริงรับรอง”

“พอดีเวลานั้นจวนค่ำแล้ว ตาของผมเหลือบไปเห็นชายทุ่งไกลโน้น มีกระต๊อบเล็กๆ และมีตะเกียงจุดมีแสงริบหรี่ ผมจึงชี้ให้เขาดู และพูดว่าเอ็งลองคิดดูซิว่ากระต๊อบเล็กๆ ไฟริบหรี่นั้น มันจะมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง”

“นายก้าน (ไม้ เมืองเดิม) เหมือนจะสะกิดใจ มองดูภาพนั้นอย่างใช้ความคิด ครู่นั้นเองเขาตบขาฉาดใหญ่ แล้วร้องขึ้นเฉยๆ พร้อมพูดว่ากูไม่อดตายแล้วมึงเอ๋ย กูพบทางแล้ว กูมองเห็นเป็นแม่ลูกอ่อนคนหนึ่งจุดตะเกียงแล้วให้ลูกดูดนมคอยผัวอยู่ ไอ้ผัวคงจะไปเล่นเบี้ยเสียถั่ว”

[เหม เวชกร เล่าเรื่อง ไม้ เมืองเดิม ในนิตยสาร ฟ้าเมืองไทย ฉบับปฐมฤกษ์ กุมภาพันธ์ 2512]

“ไม้ เมืองเดิม” (ก้าน พึ่งบุญ ณ อยุธยา พ.ศ.2448-2485) ลายเส้นฝีมือพนม สุวรรณะบุณย์
เหม เวชกร ชี้ให้ก้าน พึ่งบุญ ณ อยุธยา ดูกระต๊อบที่ชายทุ่ง อันเป็นจุดกำเนิดของเรื่อง “แผลเก่า” ในนามปากกาของ “ไม้ เมืองเดิม” (เหม เวชกร เขียนรูปนี้จากความทรงจำ เพื่อตีพิมพ์ใน “ฟ้าเมืองไทย” เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2512)