ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ : ทำไมกรมศิลปากร ไม่นับ “หมุดคณะราษฎร” เป็นโบราณวัตถุ?

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

อันที่จริงแล้ว เจ้าหมุดที่เราเรียกกันจนชินทั้งปากและหูว่า “หมุดคณะราษฎร” นั้น มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า “หมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ”

เพราะว่าสุนทรพจน์ในพิธีฝังหมุดเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ.2479 ของพระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) นายกรัฐมนตรี ณ ขณะจิตนั้นของประเทศสยาม (ที่ยังไม่ได้เปลี่ยนชื่อประเทศมาเป็นไทย) ระบุเอาไว้ว่า

“…ท่านยังระลึกได้หรือไม่ว่า ณ ที่ใดซึ่งเปนที่ๆ พวกเราได้เคยร่วมกำลังกาย กำลังใจและกำลังความคิด กระทำความเพื่อขอความอิสสระให้แก่ปวงชนชาวสยาม…ข้าพเจ้าเห็นว่าพวกเราชาวสยาม โดยฉะเพาะอย่างยิ่งสหายผู้ร่วมก่อการณ์ไม่ควรที่จะหลงลืมที่สำคัญแห่งนี้เสีย เพราะเปนที่ก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม ซึ่งถือกันว่าเปนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และเปนมิ่งขวัญของประชาชาติไทย…ฉะนั้น หมุดที่วางลงณที่นี้จึ่งเรียกว่า “หมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ” ในมงคลสมัยซึ่งเปนปีที่ 5 แห่งการพระราชทานรัฐธรรมนูญ ฉะบับถาวรนี้…” (อักขรวิธี และเว้นวรรคตามต้นฉบับในหนังสือพิมพ์ประชาชาติ ฉบับวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ.2479)

พูดง่ายๆ ว่า หมุดที่เราเรียกกันเสียจนเคยปากว่า “หมุดคณะราษฎร” นั้น ที่จริงแล้ว คือหมุดที่สร้างขึ้นบนสถานที่สำคัญสำหรับฝ่ายคณะราษฎร เพราะถือว่าเป็นที่ก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญของสยามขึ้น เนื่องในวาระที่ประเทศสยามมีรัฐธรรมนูญใช้ (อย่างนานาอารยประเทศในสมัยนั้นกันเสียที) มาจนครบ 5 ปีแล้วนั่นเอง

 

แน่นอนว่า สถานที่ที่หมุดตอกลงไปตรงนั้น ไม่น่าจะเป็นสถานที่ร่างรัฐธรรมนูญจนแล้วเสร็จจริงๆ แต่ควรจะเป็นสถานที่เริ่มแรกของกระบวนการที่นำไปสู่รัฐธรรมนูญมากกว่า

แถมพระยาพหลฯ ก็ไม่ได้เป็นเพียงอดีตนายกรัฐมนตรีของประเทศสยาม ณ ขณะนั้นเท่านั้น แต่ท่านยังควบตำแหน่งแกนนำคนสำคัญของคณะราษฎร โทษฐานเป็นผู้นำฝ่ายทหารบกอีกด้วย ดังนั้น ท่านย่อมมีความทรงจำเป็นพิเศษต่อสถานที่ อันเป็นจุดเริ่มต้นของการกระทำของท่าน และพวกพ้อง ที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศสยามเป็นอย่างดี

และก็จึงไม่แปลกอะไรเลยสักนิด ที่ข้อความบนหมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ จะจารึกข้อความเอาไว้ว่า

“24 มิถุนายน 2475 เวลาย่ำรุ่ง คณะราษฎรได้ก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญเพื่อความเจริญของชาติ ณ ที่นี้”

เพราะโดยนัยยะสำคัญตามสุนทรพจน์ของพระยาพหลฯ นั้น หน้าที่สำคัญของหมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญนี้ก็คือ การเป็นอนุสรณ์ หรือที่ระลึกถึงอะไรก็ตามที่พระยาพหลฯ ท่านเรียกว่า “การก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ”

ดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่ประหลาดดีนะครับ ที่หน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการขึ้นทะเบียนสถาปัตยกรรม และสิ่งของต่างๆ นานาที่สำคัญและมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ต่างๆ ในประเทศไทยให้เป็นโบราณวัตถุสถานอย่าง “กรมศิลปากร” นั้น กลับไม่เคยขึ้นทะเบียนสิ่งของอันเป็นที่ระลึกถึงการก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญฉบับแรกของประเทศตัวเองอย่าง “หมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ” หรือ “หมุดคณะราษฎร” ให้เป็นโบราณวัตถุ

 

เมื่อวันที่ 18 เมษายน พ.ศ.2560 หรือเพียง 4 วันหลังจากที่มีการค้นพบว่า หมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญหายไป (และเป็นปริศนาในประวัติศาสตร์ไทยมาจนกระทั่งทุกวันนี้) แถมยังมีหมุดอันใหม่ ที่มีข้อความจารึกอยู่ภายในหมุดว่า

“ขอให้ประเทศสยามจงเจริญยั่งยืนตลอดไป ประชาชนสุขสันต์ หน้าใส เพื่อเป็นพลังของแผ่นดิน ความนับถือรักใคร่ในพระรัตนตรัยก็ดี ในรัฐของตนก็ดี ในวงศ์ตระกูลของตนก็ดี มีจิตซื่อตรงในพระราชาของตนก็ดี ย่อมเป็นเครื่องทำให้รัฐของตนเจริญยิ่ง” มาปักอยู่แทน (ก่อนที่อยู่ๆ หมุดอันนี้ก็หายสาบสูญไปอย่างไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ยอีกเช่นกัน) นั้น กรมศิลปากรได้มีแถลงการณ์เกี่ยวกับหมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญว่า ไม่ใช่โบราณวัตถุ

แถมแถลงการณ์ดังกล่าวก็ไม่ได้มีลักษณะที่ดูจะใส่ใจกับการที่วัตถุสำคัญที่คณะราษฎรสร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ระลึกถึงการที่สยามประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญใช้มา 5 ปีอย่าง “หมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ” หายไปนั้น เพราะไม่ได้เป็นการออกมาแถลงอย่างเป็นทางการของกรมศิลปากรอีกต่างหาก แต่เป็นเพียงโพสต์ชี้แจงต่อกรณีหมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญหาย ว่าหมุดดังกล่าวเป็นโบราณวัตถุหรือไม่? ของเฟซบุ๊กแฟนเพจ “กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ กรมศิลปากร” เท่านั้นเอง

โดยในโพสต์ดังกล่าวของกลุ่มเผยแพร่ฯ กรมศิลปากร ได้ระบุว่า กรมศิลปากรได้พิจารณาแล้วเห็นว่า ตาม พ.ร.บ.โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ.2504 แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535 ได้บัญญัติให้ “โบราณวัตถุ” หมายความถึง สังหาริมทรัพย์ที่เป็นของโบราณ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งประดิษฐ์หรือสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ หรือที่เป็นส่วนหนึ่งส่วนใดของโบราณสถาน ซากมนุษย์หรือซากสัตว์ ซึ่งโดยอายุหรือโดยลักษณะแห่งการประดิษฐ์หรือโดยหลักฐานเกี่ยวกับประวัติของสังหาริมทรัพย์นั้น เป็นประโยชน์ทางศิลปะ ประวัติศาสตร์ หรือโบราณคดี

จากนิยามดังกล่าว กรมศิลปากรจึงเห็นว่า

“หมุดคณะราษฎรมิใช่โบราณวัตถุตามนัยของ พ.ร.บ.โบราณสถานฯ เนื่องจากหมุดคณะราษฎรเป็นเพียงวัตถุที่พลเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าคณะราษฎร ได้นำมาติดตั้งไว้บริเวณลานพระราชวังดุสิตเมื่อ พ.ศ.2479 ซึ่งเป็นเวลา 4 ปี ภายหลังจากเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครอง ดังนั้น หมุดคณะราษฎรจึงไม่ใช่สังหาริมทรัพย์ที่เป็นประโยชน์ในทางประวัติศาสตร์ เพราะดังกล่าวมีลักษณะเป็นเพียงเครื่องหมายระบุตำแหน่งที่เคยมีการประกาศแถลงการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครองเท่านั้น” (อ้างอิงจาก voicetv.co.th เผยแพร่เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2560)

 

แต่ถึงแม้หน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่ดูแลรักษาโบราณวัตถุ โบราณสถานโดยตรงอย่าง “กรมศิลปากร” จะเห็นว่า “หมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ” หรือ “หมุดคณะราษฎร” จะไม่ใช่ “โบราณวัตถุ” เพราะเห็นว่า “ไม่ใช่สังหาริมทรัพย์ที่เป็นประโยชน์ในทางประวัติศาสตร์” แต่ก็ดูเหมือนประชาชนส่วนหนึ่ง โดยเฉพาะเยาวชนคนรุ่นใหม่จะไม่เห็นเป็นอย่างนั้นนะครับ

ดังนั้น เมื่อย่ำรุ่งวันที่ 20 กันยายนที่ผ่านมา หลังการชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์) และบริเวณท้องสนามหลวง (ที่ทางกลุ่มผู้ชุมนุมเรียกว่า สนามราษฎร) กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม จึงมีการสถาปนา “หมุดคณะราษฎร หมุดที่ 2” ลงที่บริเวณท้องสนามหลวงนั่นเอง

แต่นอกจากชะตากรรมของหมุดคณะราษฎรอันนี้จะสั้นเสียกว่าทั้งหมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญและหมุดหน้าใส เพราะถูกรื้อถอนออกไปตั้งแต่ภายในวันเดียวกันกับที่ถูกสถาปนาแล้ว ก็ยังถูกกรมศิลปากรแจ้งความดำเนินคดีต่อกรณีการชุมนุมและฝังหมุดราษฎร หมุดที่ 2 โดยอธิบดีกรมศิลปากรได้ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวมติชนว่า

“ในฐานะที่กรมศิลปากรดูแลโบราณสถาน ดังนั้น โดยหลักการมี 2 เรื่อง เรื่องที่ 1 คือ การบุกรุก ทำให้เสียหาย เสื่อมค่า ซึ่งเมื่อวันที่ 19 กันยายน มีการบุกรุกไปในพื้นที่สนามหลวงซึ่งเป็นโบราณสถาน ขึ้นทะเบียนโดยไม่ได้รับอนุญาต ส่วนกรณีฝังหมุดเมื่อวันที่ 20 กันยายน ซึ่งมีการขุดพื้น แม้เป็นส่วนที่ทำขึ้นเมื่อครั้งงานพระเมรุ แต่เป็นการทำโดยถูกต้อง ได้รับอนุญาต เมื่อทำแล้ว จึงถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของโบราณสถาน ดังนั้น การฝังหมุด จึงมีความผิดตามกฎหมาย คือการทำลาย และทำให้โบราณสถานเสื่อมค่า” (อ้างอิงจาก matichonweekly.com เผยแพร่เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2563)

ดังนั้น จึงเป็นเรื่องตลกร้ายสิ้นดีนะครับ ที่อธิบดีกรมศิลปากรเองก็ระบุว่า พื้นที่ที่ฝังหมุดคณะราษฎร หมุดที่ 2 เพิ่งทำขึ้นครั้งงานพระเมรุ เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ เป็นโบราณสถาน โดยอ้างอิงจาก พ.ร.บ.โบราณสถานฯ พ.ศ.2504 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2535 ซึ่งก็เป็นกฎหมายฉบับเดียวกันกับที่กรมศิลปากรใช้ในการตีความว่า หมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ หรือหมุดคณะราษฎรอันแรก ที่ถูกสถาปนาขึ้นตั้งแต่ พ.ศ.2479 หรือเมื่อ 84 ปีที่แล้วนั้น “ไม่ใช่สังหาริมทรัพย์ที่เป็นประโยชน์ในทางประวัติศาสตร์”

บางทีการกำหนดว่า อะไรคือสิ่งที่ “เป็นประโยชน์ในทางประวัติศาสตร์” ของผู้มีอำนาจในการกำหนดว่า อะไรเป็นโบราณวัตถุสถานของชาติอย่างกรมศิลปากร ก็น่าจะ “ไม่เป็นประโยชน์ในทางสังคม” สำหรับโลกในอนาคตอันใกล้แล้วแหละครับ