คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง : หมุดล่องหนรอบสอง กับการต่อสู้ด้านไสยศาสตร์การเมือง

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

ผมไม่ใช่ผู้ชำนาญการด้านโหราศาสตร์ จึงไม่ทราบว่า วันที่น้องๆ กลุ่มเยาวชนปลแเอกจัดการชุมนุมที่ท้องสนามหลวงนั้น ได้มีใครช่วยดูฤกษ์ยามให้หรือไม่

แต่มีโหรหลายคนออกมากล่าวคล้ายกันว่า ดูช่างเหมาะเจาะเหลือเกินที่ในเช้าวันที่ 20 กันยายน กลุ่มคณะแกนนำได้ปักหมุด “คณะราษฎร” ใหม่ลงบนพื้นที่สนามหลวง (ที่บัดนี้ถูกเรียกขานใหม่ว่าสนามราษฎร) ภายใต้ฤกษ์ยามที่เกี่ยวพันกับบ้านเมืองพอดี๊พอดี

ราวกับจะโต้ตอบโดยตรงกับการรื้อถอนหมุดคณะราษฎรอันเดิม ที่เชื่อกันว่าถูกฝังไว้โดยมีเหตุผลทางไสยศาสตร์อยู่เบื้องหลังและก็ถูกถอนออกไปด้วยเหตุผลไสยศาสตร์เช่นกัน

ทำไมผมถึงคิดเช่นนี้ จะกล่าวในภายหลัง

 

พิธีกรรมเริ่มต้นขึ้นด้วยการที่เพนกวิน พริษฐ์ ชิวารักษ์ กล่าวเชิญดวงวิญญาณของวีรชนและผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ทางการเมือง ผมคิดว่าตรงนี้แหละที่ทรงพลังมากที่สุด พื้นที่ “สนามหลวง” ซึ่งเคยมีเหตุการณ์ทางการเมืองมากมาย สุดท้ายกลายเป็นลานจอดรถทัวร์จีนที่หลายคนพยายามกลบฝังความทรงจำเอาไว้

แต่ผู้คนที่ล้มหายเหล่านั้น ไม่ได้จากไปสูญเปล่า เขาควรรับรู้สิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้

จากนั้นเป็นพิธีฝังหมุด มีผู้นำคือ “พ่อหมอ” อรรถพล บัวพัฒน์ จากกลุ่มขอนแก่นพอกันที หลายคนรู้จักเขาในการแสดงอันแสนยียวนเรียกเสียงฮาบนเวทีประท้วงต่างๆ

เขาประสานเอาการแสดงกับพิธีกรรมบ้านๆ มาเป็นส่วนหนึ่งในการประท้วงเสมอ

วันนี้เขามาในชุดขาว นุ่งโจงกระเบนและผ้าพาด มีมงคลสวมหัว เริ่มจากสวดมนต์ชุมนุมเทวดา กล่าวคำอธิษฐานและจบด้วยการสาปแช่งผู้จะมารื้อถอน ท่ามกลางเสียงกลองสะบัดชัยและสังข์

หมุดใหม่นี้ถูกรื้อถอนในวันถัดไป หายวับไปกับตา เหมือนความพยายามรื้อถอนความทรงจำที่มีใครสักคนพยายามทำมาตลอด

 

หลังเหตุการณ์นี้ มันสนุกเหลือเกินครับ ในโลกโซเชียล บรรดา “ผู้รู้” ต่างพากันแสดงความเห็นออกไปต่างๆ นานา

เป็นต้นว่า พิธีดูเหมือนปาหี่มากกว่าจะศักดิ์สิทธิ์ พราหมณ์ที่ทำพิธีไม่ใช่พราหมณ์จริง พราหมณ์จริงต้องแต่งตัวอีกแบบ ฯลฯ

พุทโธ่เอ้ย พี่ไม่รู้จักหมอธรรมหรือยังไง คุณอรรถพลนี่ ใครดูก็รู้ว่า แกมาสายหมอธรรมแน่ๆ คือเป็นสายมัคนายกเก่าหรือต้องเป็นอดีตพระที่มาสนใจเรื่องบ้านเมือง ภายหลังแกให้สัมภาษณ์ว่า แกเคยบวชเรียน อยู่ต่างจังหวัดก็เห็นพิธีกรรมของชาวบ้านมาโดยตลอด จึงถูกชักชวนให้นำมาใช้กับการเคลื่อนไหว

เอาจริงๆ เมื่อเห็นคุณอรรถพล ผมก็นึกถึงเพื่อนๆ สาย “มหา” ที่สึกหาลาเพศมาเรียนมหาวิทยาลัยด้วยกัน (สมัยนั้นเพื่อนที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เรียกสมาชิกเหล่านี้ว่า ชมรมนกขมิ้น หิ้วย่ามพระเป็นสัญลักษณ์ให้รู้)

กลุ่มนี้แหละที่ทำกิจกรรมด้านพิธีกรรม พิธีกร การพูด (ฝึกเทศน์มาเยอะ) ฯลฯ ให้กับเพื่อนนักศึกษาที่ไม่ประสีประสาอะไรในด้านเหล่านี้ และทักษะดังกล่าวก็ทำให้หลายคนกลายเป็นนักกิจกรรมเก่งๆ ในที่สุด

หะแรกผมเห็นพิธีก็รู้สึกประดักประเดิดอยู่หน่อยๆ เพราะชวนให้นึกถึงพิธีกรรมแบบที่นักศึกษาทำกันเองในมหาวิทยาลัย แต่งองค์ทรงเครื่องแล้วก็ด้นสดกันไป

แต่ในหัวก็พาลสงสัยว่าใครเชื่ออะไรแค่ไหนยังไง หรือทำแค่ในเชิงสัญลักษณ์ หรือเชื่อกันจริงๆ ก็ไม่ทราบได้?

สุดท้ายผมกลับพบว่า ที่ผมรู้สึกประดักประเดิดเพราะตัวเองติดกับดักพิธีกรรมตามรูปแบบประเพณีนิยม ใครทำอะไรไม่ต้องตามประเพณีนิยมเป๊ะๆ ก็ชวนให้รู้สึกแปลก

ทั้งๆ ที่เมื่อกลับมาคิดอีกที ความก้ำๆ กึ่งๆ เช่นนี้แหละมีคุณ เพราะมันให้พื้นที่สำหรับทุกคน ทั้งที่เชื่อและไม่เชื่อ

 

สําหรับคนที่เชื่อ พิธีกรรมนี้ย่อมไม่ใช่แค่สัญลักษณ์อย่างแน่นอน การเอ่ยถึงดวงวิญญาณวีรชน การสวดมนต์บทง่ายๆ ด้วยความจริงใจ การฝังหมุดที่มีความหมายลงในพื้นที่สำคัญ ฯลฯ ทั้งหมดนี้ย่อมมีพลังต่อจิตใจของคนที่เชื่อ

ใครสนใจไสยศาสตร์ก็รู้กันดีว่า ปัจจัยความศักดิ์สิทธิ์นอกจากรูปแบบพิธีกรรมและฤกษ์ยามแล้ว พลังของจิตใจและความมุ่งหมายของผู้ร่วมพิธีมีผลอย่างมาก

เอาเข้าจริง พิธีกรรมเป็นสิ่งที่มีความหมายกว้างมาก มันจึงไม่จำเป็นต้องเหมือนตามจารีตทุกครั้งไป เรายกมือไหว้กันนี่ก็พิธีกรรมละครับ เพราะมันสื่อสารและบ่งบอกความสัมพันธ์ภายใต้ความคิดความเชื่อบางชุด ไฉนกิจกรรมนี้จะไม่ใช่พิธีกรรมไปได้

แถมคนที่เชื่อเรื่องพวกนี้คงไม่ได้มีเพียงแต่ผู้ชุมนุม ผมคิดเอาเองว่า ความร้ายกาจของน้องๆ เหล่านี้คือ การส่งสารโดยตรงไปยัง “ผู้เชื่อเรื่องไสยศาสตร์” ที่มีอำนาจบางคนเป็นสำคัญ

 

ส่วนคนที่ไม่เชื่อ ก็สามารถตีความกิจกรรมนี้ให้เป็นไปในทางการแสดงเชิงสัญลักษณ์ได้ เพราะคนรุ่นใหม่จำนวนมากเขาก็ไม่เชื่ออะไรแบบนี้ การปล่อยให้พิธีกรรมมันออกมาในรูปแบบที่ไม่จารีต ไม่ทางการ และไม่จริงจังเกินไป จึงเปิดโอกาสให้สามารถอธิบายไปอีกแบบได้เหมือนกัน

ช่วงชิงความหมายกันไปครับ ผมคิดว่าห้วงเวลานี้ คือห้วงเวลาแห่งการช่วงชิงความหมายต่างๆ ทั้งความศักดิ์สิทธิ์และสาธารณ์มาเป็นของฝั่งตน

การช่วงชิงความหมายในตัวมันเองคือการลดทอนอำนาจผูกขาดความศักดิ์สิทธิ์ไว้กับตน ซึ่งเป็นอำนาจทางการเมืองแบบหนึ่ง

 

ทําไมการฝังและรื้อหมุดถึงกลายเป็นกิจกรรมทางการเมืองที่มีนัยสำคัญ ผมคิดว่า ก็เพราะหมุดเหล่านี้มันถูกปักลงในบริบททางวัฒนธรรมแบบไทยๆ คือไม่ได้ใช้แค่เป็น “อนุสาวรีย์” แห่งความทรงจำขนาดย่อม แต่มันถูกทำในลักษณะ “ฝังอาถรรพ์” ซึ่งทำกันมาช้านาน

ที่จริงในสมัยโบราณ การฝังหม้อชามรามไหพร้อมกับศพผู้ตายก็คือการฝังอาถรรพ์แบบหนึ่ง คือทำให้สถานที่นั้นศักดิ์สิทธิ์ขึ้นมา รวมทั้งการฝังเสาเอก เสาเรือน หลักเมือง แต่เดิมก็เป็นพิธีกรรมของศาสนาผีในดินแดนนี้อยู่แล้ว

ครั้นศาสนาพราหมณ์เข้ามา จะลงหลักฐานบ้านเรือนหรือเทวสถานก็กำหนดให้ฝังสิ่งของ เช่น หม้อรัตนกุมภ์ แผ่นยันต์ศิลาต่างๆ ศิลาฤกษ์ นัยว่าเพื่อให้สถานที่นั้นเกิดสิริมงคล ขจัดสิ่งไม่ดีต่างๆ ที่อาจมีอยู่ในที่ดินนั้นไปด้วย พิธีผีและพราหมณ์จึงมารวมกัน

พอเอาพระมาชยันโตด้วย ก็ครบผีพราหมณ์พุทธพอดี

นอกจากฝังอาถรรพ์เพื่อเป็นมงคล บางครั้งก็มีการฝังเพื่อการปกป้อง ฝังเพื่อตรึงผนึกบางสิ่งบางอย่าง หรือฝังเพื่อการทำลายล้างก็มี อย่างที่เราได้ยินเรื่องเอาบาตรแตกไปฝังใต้ถุนบ้านให้ผัวเมียเลิกกัน

ดังนั้น ผมคิดว่า การที่คณะราษฎรเปลี่ยนแปลงการปกครอง และฝังหมุดไว้ที่ลานพระรูปฯ นั้น มีฤกษ์ยามกำกับ และอาจมีความมุ่งหมายในทางไสยศาสตร์ หรืออย่างน้อยๆ ก็มีคนยุคหลังบางคนคิดว่ามันเกี่ยวกับไสยศาสตร์ ไม่งั้นจะไปรื้อถอนทำไม ถ้ามันเป็นเพียงหมุดที่ระลึกเล็กๆ

 

การฝังหมุดคณะราษฎรอันใหม่ ในพื้นที่ “สนามหลวง” ภายใต้ฤกษ์ยามที่จะบังเอิญหรือไม่ก็ตาม คงสร้างความหวั่นใจแก่ผู้เชื่อถือเรื่องนี้ มันจึงอันตรธานไปอย่างรวดเร็วในวันถัดมา ซึ่งก็มีผู้ให้ข้อสังเกตว่า ทำไมจึงไม่มารื้อถอนทันที แต่รอเวลาเหมือนรอฤกษ์ยามในการรื้อถอนเหมือนกัน

การต่อสู้ในทางการเมืองทุกวันนี้จึงไม่ได้เป็นเรื่องของยุทธศาสตร์จากมุมคิดรัฐศาสตร์-การเมืองการปกครองอย่างเดียวแล้ว ต้องคิดยุทธศาสตร์การต่อสู้เชิงวัฒนธรรม ศาสนาและความเชื่อไปพร้อมๆ กัน

อาจารย์เขมานันทะเคยบอกว่า ไสยศาสตร์เหมือนภาษาครับ คือมันมีผลต่อผู้ที่ใช้ภาษาเดียวกัน ไสยศาสตร์เองจึงมีผลต่อผู้อยู่ในระบบความเชื่ออย่างเดียวกัน

การต่อสู้ด้วยวิธีแบบนี้จึงร้าย ร้ายมากๆ ใครเชื่อก็ต้องมาตามแก้กันจ้าละหวั่น แถมคงมีผลทางใจไม่มากก็น้อย

แม้หมุดอันจริงจะล่องหนไปแล้ว แต่แกนนำไม่สะทกสะท้าน ซ้ำยังบอกว่า

หมุดคณะราษฎรใหม่นี้ฝังลงในใจคนจำนวนมากไปแล้ว

ยากจะรื้อถอน