วรศักดิ์ มหัทธโนบล : การเปลี่ยนผ่านกว่าเป็นฮ่องกงทุกวันนี้

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

ฮ่องกงเมื่อวันวาน (10)
วัฒนธรรมฮ่องกง

หากนับแต่ที่ฮ่องกงตกเป็นของอังกฤษใน ค.ศ.1842 จนถึงเมื่ออังกฤษส่งมอบฮ่องกงคืนให้แก่จีนใน ค.ศ.1997 แล้วก็คิดเป็นเวลา 155 ปี เวลาที่ยาวนานเช่นนี้ย่อมส่งผลต่อสังคมฮ่องกงอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะวัฒนธรรมของผู้คนที่อยู่ในเกาะแห่งนี้

อันเป็นวัฒนธรรมที่เกิดจากการผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมตะวันตกกับวัฒนธรรมจีน

แต่ด้วยเหตุที่ฮ่องกงก่อนที่จะถูกอังกฤษยึดครองนั้น จีนซึ่งเป็นเจ้าของมิได้ให้ความใส่ใจมากนัก ฮ่องกงจึงไม่มีพื้นฐานทางประวัติศาสตร์มารองรับดังที่ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน และสิงคโปร์เป็น

การเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมของฮ่องกงจึงแตกต่างไปจากประเทศเหล่านี้ ที่ต่างล้วนเป็นสังคมอุตสาหกรรมเช่นเดียวกับฮ่องกง

ความแตกต่างดังกล่าว ทำให้การอธิบายสังคมวัฒนธรรมฮ่องกงมีความแตกต่างไปจากรัฐเหล่านั้นไปด้วย โดยเฉพาะเมื่อนำมาเปรียบเทียบกัน ดังนั้น พัฒนาการทางวัฒนธรรมของฮ่องกงจึงอาจกล่าวได้โดยลำดับ

ดังนี้

 

หนึ่ง วัฒนธรรมฮ่องกงในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 การกล่าวถึงวัฒนธรรมฮ่องกงโดยเริ่มที่ต้นศตวรรษที่ 20 แทนที่จะเริ่มจากเมื่อฮ่องกงตกเป็นของอังกฤษก็เพราะว่า แรกเริ่มที่ฮ่องกงตกเป็นของอังกฤษนั้นมีประชากรทั้งชาวอังกฤษและชาวจีนน้อยมาก น้อยจนไม่มีนัยสำคัญพอที่จะกล่าวถึงประเด็นวัฒนธรรม

ตราบจนเมื่อมีชาวจีนทยอยอพยพจากจีนแผ่นดินใหญ่เข้ามาฮ่องกงมากขึ้นเรื่อยๆ จนมีผลต่อวัฒนธรรมแล้วนั้น ก็เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านจากศตวรรษที่ 19 เข้าสู่ศตวรรษที่ 20 การเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมในฮ่องกงจึงค่อยๆ มีความชัดเจนขึ้น

ปรากฏการณ์แรกที่สะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงของวัฒนธรรมฮ่องกงก็คือ การถือกำเนิดขึ้นของขบวนการปฏิวัติที่นำโดย ดร.ซุนยัตเซน แล้วขบวนการนี้ในฮ่องกงก็ออกหนังสือพิมพ์เป็นของตนเองใน ค.ศ.1900 ชื่อ China Daily หลังจากนั้นหนังสือพิมพ์ประเภทต่างๆ ก็ทยอยกันเกิดขึ้นมา เช่น Yousuowei Bao, Guangdong Vernacular, The World of the Novel, Digest of Chinese and Foreign Novel ฯลฯ

หนังสือพิมพ์เหล่านี้มักจะสนับสนุนการปฏิรูปในจีน

ครั้นถึง ค.ศ.1913 ฮ่องกงก็สามารถผลิตภาพยนตร์เรื่องแรกของตนได้โดยบริษัท ไซโน-อเมริกัน ฟิล์ม (Sino-American Film Company) โดยภาพยนตร์เรื่องแรกคือ จวงจื่อทดสอบภรรยา (จวงจื่อซื่อชี, Chuang Tsu Tests His Wife)

ภาพยนตร์เรื่องนี้หยิบยกเอาบางส่วนของปกรณ์เรื่องจวงจื่อ ที่มีชื่อเสียงของสำนักลัทธิเต้ามาขยายให้เป็นเรื่องราวในรูปของภาพยนตร์ อย่างไรก็ตาม จวงจื่อทดสอบภรรยา นี้จัดเป็นภาพยนตร์เงียบหรือที่เรียกกันว่า หนังใบ้ และได้ถูกนำไปฉายที่ลอสแองเจลิส และซานฟรานซิสโกอีกด้วย

หลังจากภาพยนตร์เรื่องนี้แล้ว วงการภาพยนตร์ฮ่องกงก็เต็มไปด้วยความคึกคักและมีชีวิตชีวา ภาพยนตร์เหล่านี้มีทั้งที่ผลิตโดยฮ่องกง และผลิตร่วมกับทางกว่างตง ซ่างไห่ (เซี่ยงไฮ้)

อีกปรากฏการณ์หนึ่งที่สำคัญไม่น้อยก็คือ ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ.1927 นักคิดนักเขียนชื่อดังของจีนคือ หลู่ซวิ่น (ค.ศ.1881-1936) ได้เดินทางมาบรรยายในฮ่องกงสองครั้ง เรื่องนี้ทำให้เห็นถึงการเปิดกว้างของฮ่องกงที่ต้อนรับความคิดหรือภูมิปัญญาที่หลากหลาย

ตราบจนต้นทศวรรษ 1930 ศิลปินจีนที่ได้รับการศึกษาจากตะวันตกได้เข้ามาลงหลักปักฐานในฮ่องกงมากขึ้น

ภาพเขียนสีน้ำมันจึงเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในฮ่องกงช่วงนี้เอง

 

สอง วัฒนธรรมฮ่องกงในช่วงสงครามจีน-ญี่ปุ่น ความรุนแรงในสงครามจีน-ญี่ปุ่น (ค.ศ.1937-1945) ได้ผลักดันให้นักคิดนักเขียนจากจีนแผ่นดินใหญ่อพยพเข้ามาฮ่องกงไม่น้อย

นักคิดนักเขียนเหล่านี้ได้ให้กำเนิดนิตยสารที่มีเนื้อหาก้าวหน้าขึ้นมามากมาย

นอกจากนี้ ก็ยังได้มีการจัดตั้งองค์กรทางวัฒนธรรมขึ้นมาจำนวนหนึ่งอีกด้วย

จากเหตุดังกล่าว ผลงานทางศิลปวัฒนธรรมที่ถูกผลิตออกมาในช่วงนี้ ส่วนหนึ่งจึงบอกเล่าอารมณ์ความรู้สึกทางการเมืองที่ว่าด้วยการปฏิวัติและการต่อต้านญี่ปุ่น

ที่ล้วนสะท้อนถึงผลสะเทือนทางอารมณ์ได้อย่างลึกซึ้ง

โดยเฉพาะความรู้สึกชาตินิยม

 

สาม ช่วงการเข้าสู่วัฒนธรรมที่หลากหลาย ในช่วงนี้เริ่มจาก ค.ศ.1950 จนถึง ค.ศ.1990 ก่อนที่ฮ่องกงจะถูกส่งมอบแก่จีนใน ค.ศ.1997 ถือเป็นช่วงที่วัฒนธรรมฮ่องกงเต็มไปด้วยความรุ่งเรืองเฟื่องฟูและคึกคักมีชีวิตชีวา

สาเหตุส่วนหนึ่งย่อมมาจากการที่จีนถูกพรรคคอมมิวนิสต์จีนเข้ายึดครองใน ค.ศ.1949 หลังจากนั้นก็มีนักคิดนักเขียนและศิลปินจากฮ่องกงเดินทางกลับไปยังจีนแผ่นดินใหญ่ โดยต่างก็คาดหวังว่าจะได้ใช้ความรู้ความสามารถของตนสร้างสรรค์ผลงานต่อไป

โดยหารู้ไม่ว่าที่คาดหวังไว้นั้นต่อมาจะกลายเป็นความผิดหวัง

เมื่อนักคิดนักเขียนและศิลปินหายไปจำนวนมาก ความเคลื่อนไหวทางวัฒนธรรมก็สงบลงระยะหนึ่ง แต่ความสงบนี้ก็ทำให้เกิดช่องว่างขึ้นมา เพราะในด้านหนึ่งของช่องว่างนี้ก็รอคอยการเติมเต็มให้แก่วัฒนธรรมอื่นไปด้วยในตัว

กล่าวอีกอย่าง ช่องว่างดังกล่าวทำให้เกิดพื้นที่อิสระทางวัฒนธรรมขึ้นมาโดยบังเอิญ

การเกิดพื้นที่อิสระดังกล่าวทำให้เกิดวัฒนธรรมอันหลากหลายที่มีรายละเอียด และความสลับซับซ้อนที่ยากต่อการอธิบาย แต่จะง่ายขึ้นถ้าหากการอธิบายจะเริ่มจากภาพยนตร์ที่ฮ่องกงผลิตออกมาในช่วงนี้

บริษัทที่ผลิตภาพยนตร์ที่สร้างปรากฏการณ์ทางวัฒนธรรมอย่างสำคัญคือ บริษัท ชอว์ บราเดอร์ จำกัด ซึ่งมีเจ้าของชื่อ เจ้าอี้ฟู หรือที่เรียกและรู้จักกันในอีกชื่อหนึ่งว่า เซอร์ รัน รัน ชอว์ (Sir Run Run Shaw, ค.ศ.1907-2014) บริษัทนี้ถูกก่อตั้งขึ้นใน ค.ศ.1959 จากนั้นก็ผลิตภาพยนตร์ออกมาอย่างต่อเนื่อง

ที่ว่าภาพยนตร์สามารถอธิบายวัฒนธรรมของฮ่องกงได้ง่ายก็เพราะว่า หากร้อยเรียงเอาภาพยนตร์ฮ่องกงเฉพาะที่สร้างโดยชอว์ บราเดอร์แล้วเราจะพบว่า ฮ่องกงมีช่วงเปลี่ยนผ่านในทางวัฒนธรรมอย่างไรบ้าง โดยเฉพาะกับการปรับวิถีชีวิตให้เข้ากับวัฒนธรรมตะวันตก

นอกจากนี้ ภาพยนตร์อีกส่วนหนึ่งยังได้สะท้อนให้เห็นถึงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมเดิมของจีนอีกด้วย ที่สำคัญคือ การนำอุปรากรจีน (งิ้ว) มาผสมผสานกับละครเวทีแบบตะวันตกให้ออกมาในรูปของภาพยนตร์ และภาพยนตร์เรื่องแรกที่ใช้วิธีนี้จนเป็นที่รู้จักกันไปทั่วโลกก็คือ

จอมใจจักรพรรดิ (เจียงซันเหม่ยเหญิน, The Kingdom and the Beauty, 1959)

ภาพยนตร์ทำให้โลกรู้จักฮ่องกงในสองด้านด้วยกันคือ ด้านหนึ่ง รู้จักผ่านพัฒนาการในช่วงต่างๆ ที่ถูกกำหนดผ่านการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและการเมืองอีกชั้นหนึ่ง ในแง่นี้หมายถึงการรู้จักฮ่องกงโดยตรง ซึ่งจะทำให้เห็นว่าแตกต่างจากชาวจีนแผ่นดินใหญ่หรือแผ่นดินอื่นอย่างไต้หวัน สิงคโปร์ หรือชาวจีนโพ้นทะเลทั่วโลกอย่างไรบ้าง

ความแตกต่างนี้เองที่ทำให้วัฒนธรรมฮ่องกงถูกเรียกว่า วัฒนธรรมชาวเกาะ

อีกด้านหนึ่ง เป็นการรู้จักชาวจีนหรือวัฒนธรรมจีนโดยรวม ในแง่นี้หมายความว่าฮ่องกงมีฐานะเป็นสื่อกลางให้โลกได้รู้จักวัฒนธรรมจีน และให้จีนรู้จักวัฒนธรรมจากโลกภายนอกนั้นเอง

 

จากการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมทั้งสามช่วงสะท้อนให้เห็นว่า ฮ่องกงมีความก้าวหน้าในทางวัฒนธรรมมากกว่าจีนแผ่นดินใหญ่ เพราะฮ่องกงไม่เพียงเปิดรับวัฒนธรรมตะวันตกได้เร็วกว่าและดีกว่าเท่านั้น หากยังเป็นเพราะฮ่องกงเป็นพื้นที่ที่เปิดอิสระให้แก่วัฒนธรรมอื่นได้มีที่ยืน

ผิดกับจีนแผ่นดินใหญ่ที่อยู่ภายใต้ระบอบคอมมิวนิสต์ที่ปิดตนเองจากโลกภายนอก เพื่อกันตัวเองให้พ้นจากลัทธิทุนนิยมและเสรีนิยม

ด้วยความรู้สึกนึกคิดดังกล่าว ชาวจีนในฮ่องกงที่ส่วนใหญ่อพยพมาจากกว่างตงและเป็นจีนที่พูดภาษาถิ่นกวางตุ้งนั้น รู้สึกว่าตนมีดีกว่าชาวจีนทางภาคเหนือ

จากเหตุนั้น ตอนที่ ดร.ซุนยัตเซนปฏิวัติสำเร็จใน ค.ศ.1911 นั้น ชาวจีนกวางตุ้งจำนวนไม่น้อยคิดว่าเมืองหลวงของสาธารณรัฐจีนควรเป็นกว่างโจว ไม่ควรเป็นปักกิ่ง และภาษาที่ควรใช้ติดต่ออย่างเป็นทางการก็ควรเป็นภาษาจีนกวางตุ้ง ไม่ใช่ภาษาจีนกลาง

จึงไม่แปลกที่ชาวฮ่องกงไม่นิยมพูดภาษาจีนกลางมาจนทุกวันนี้