ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแปลงสารส่อแท้ง! “ชงเองกินเอง” ไม่ตอบโจทย์ “รธน.” ปฏิรูปริบหรี่-ย่ำวน “บอส อยู่วิทยา”

ในที่สุดมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ผ่านร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. … ตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) เสนอ และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตรวจสอบใน 9 ประเด็น จากนั้นจะส่งเรื่องให้คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอรัฐสภาต่อไป

ร่างกฎหมายฉบับนี้เป็นการปรับปรุง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 และมีประเด็นเกี่ยวกับการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจ และการพิจารณาบำเหน็จความชอบมีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนเพื่อให้เป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติไว้ในหมวด 16 การปฏิรูปประเทศ มาตรา 258 ง. ด้านกระบวนการยุติธรรม

กว่า 6 ปีที่มีการพูดถึง “การปฏิรูปตำรวจ” ตั้งแต่เกิดการรัฐประหารเมื่อ 22 พฤษภาคม 2557 โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้จัดตั้งสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวขึ้นพิจารณาดำเนินการปฏิรูปรวม 13 ด้าน

และด้านที่สำคัญคือการปฏิรูปตำรวจ

ย้อนไป 4 กรกฎาคม 2560 พล.อ.ประยุทธ์ หน.คสช.ขณะนั้น มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) มี พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ เป็นประธานกรรมการ และกรรมการ 35 คน เรียกกันว่า “36 อรหันต์” ใช้เวลากว่า 9 เดือน ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ เสนอแผนการปฏิรูปตำรวจของคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจ ให้ พล.อ.ประยุทธ์พิจารณา

แต่กลับไม่ถูกใจเก็บใส่ลิ้นชัก เพราะแยกงานสอบสวนออกจาก ตร. เพื่อให้พนักงานสอบสวนมีอิสระในคดี

เดือนกุมภาพันธ์ 2561 นายกรัฐมนตรีเซ็นตั้งคณะกรรมการขึ้นใหม่อีกชุด จำนวน 16 คน ซึ่งนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. …

ขณะเดียวกัน นายมีชัยได้จัดทำรายงานการปฏิรูปพร้อมร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติขึ้นใหม่ เสนอไปให้นายกฯ พิจารณานานกว่าสองปีแล้ว แต่ยังไม่มีความคืบหน้า

กระทั่ง 22 สิงหาคม 2562 หลัง พล.อ.ประยุทธ์ได้ลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจร่าง พ.ร.บ.ตํารวจแห่งชาติ พ.ศ. … จำนวน 13 คน โดยอาจารย์มีชัยเป็นประธาน มีอดีตตำรวจ 2 นาย คือ พล.ต.ท.อำนวย นิ่มมะโน อดีต ผบช.ภ.1 และ พล.ต.อ.รุ่งโรจน์ แสงคร้าม อดีตรอง ผบ.ตร. เป็นกรรมการ

โดย 15 มิถุนายน 2563 ตร.ได้จัดทำเอกสารให้ความเห็นและข้อสังเกตเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ รวม 14 ประเด็น ส่งมาให้ทางสำนักเลขาธิการ ครม.

จนกระทั่งที่ประชุมมีมติให้ ตร.เสนอข้อแก้ไขมาภายใน 10 วัน มีสาระที่สำคัญ ให้ ตร.ปรับ “เกณฑ์การแต่งตั้งโยกย้าย” ซึ่งถือว่าเป็น “หัวใจสำคัญ” ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจฯ

ล่าสุด 15 กันยายน 2563 ครม.ไฟเขียวร่างกฎหมายดังกล่าว ซึ่งสาระสำคัญ “เรื่องหลักเกณฑ์การแต่งตั้งโยกย้าย” อยู่ในประเด็นที่ 3 การบริหารงานบุคคลของข้าราชการตำรวจ กำหนดหลักการในการบริหารงานบุคคล

ข้อ 3.3 กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับกระบวนการแต่งตั้งและการเลื่อนตำแหน่งไว้ให้ชัดเจนในกฎหมายว่าการจะแต่งตั้งให้ไปดำรงตำแหน่งหนึ่งตำแหน่งใดจะต้องเป็นข้าราชการตำรวจยศใด และเคยดำรงตำแหน่งใดมาแล้วจำนวนกี่ปี และในการแต่งตั้งจะต้องคำนึงถึงความอาวุโสในการดำรงตำแหน่ง ความรู้ความสามารถที่มีผลต่อการปฏิบัติงาน และความพึงพอใจในบริการที่ประชาชนได้รับ และมีการกำหนดหลักเกณฑ์การประเมินที่ชัดเจน เพื่อเป็นการลดการใช้ดุลพินิจของผู้บังคับบัญชา

3.4 กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับกระบวนการแต่งตั้งและการเลื่อนตำแหน่งของสายงานสอบสวนไว้เป็นการเฉพาะ

ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงร่าง พ.ร.บ.ตำรวจฯ ประเด็นปฏิรูปการแต่งตั้งโยกย้ายว่า จากเดิมที่หลักเกณฑ์การแต่งตั้งโยกย้ายอยู่นอกกฎหมายทำให้เปลี่ยนได้ทุกปี ซึ่งครั้งนี้นำมาไว้ในร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว เช่น ระดับ ผช.ผบ.ตร.ขึ้นไป ให้ยึดอาวุโส 100% ระดับผู้บัญชาการลงมาถึงผู้บังคับการอาวุโส 50% ต่ำกว่านั้นลงมาอาวุโส 33%

ขณะที่นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ได้วิพากษ์วิจารณ์ว่า พ.ร.บ.ตำรวจฯ ฉบับใหม่ถูกแปลงสารไปจากร่างเดิมจนผิดเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ มาตรา 260 วรรคแรก เพราะผู้ยกร่างกฎหมายไม่ใช่คณะกรรมการตามที่กำหนดไว้ หรือคณะกรรมการที่รับช่วงงานต่อมา และ ตร.ไม่ได้ถูกกำหนดให้เป็นผู้ปรับปรุง หรือยกร่างกฎหมายเพื่อการปฏิรูปตามรัฐธรรมนูญ

และเมื่อถูกส่งกลับไปถาม ตร.ได้นำไปปรับปรุงแก้ไขจากร่างอาจารย์มีชัย โดยเฉพาะประเด็นการแต่งตั้งโยกย้าย ที่ไม่ตรงตามเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ มาตรา 258 ง. (4) คือไม่ได้พิจารณาอาวุโสกับความรู้ความสามารถประกอบกันในทุกตำแหน่ง ยังคงใช้ระบบแบ่งกองตามเดิมแม้จะมีการปรับปรุงบ้าง โดยให้ใช้อาวุโสอย่างเดียวจำนวนหนึ่ง ส่วนที่เหลือแม้จะบอกว่าใช้อาวุโสประกอบความรู้ความสามารถแต่ไม่ได้ระบุรายละเอียดที่ชัดเจนบังคับไว้

ทั้งนี้ ร่างเดิมได้ออกแบบ “ระบบคะแนนประจำตัว” อาวุโส 50% ความรู้ความสามารถ 20% และความพึงพอใจของประชาชน 30%

สุดท้ายกลับถูกปรับแก้เปิดช่อง “ความรู้ความสามารถ” หรือ “ความเหมาะสม” ให้ผู้บังคับบัญชาใช้ดุลพินิจ เกิดการวิ่งเต้นได้เหมือนเดิม

ทำให้ความหวังในการปฏิรูปตำรวจเหลือริบหรี่มาก

“ถ้า ครม.อนุมัติตามร่างแปลงสารนี้ปัญหาจึงจะยังไม่ได้รับการแก้ไขโดยพื้นฐาน ที่สำคัญไม่ตรงตามเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่ให้ความสำคัญกับการปฏิรูปตำรวจสูงสุด ถึงขนาดแยกบัญญัติไว้เป็นการเฉพาะในรัฐธรรมนูญเลย และกำหนดให้แล้วเสร็จเร็วที่สุด โดยมีบทเร่งรัดกึ่งลงโทษกำกับไว้ด้วย

แต่รัฐบาลก็ยังอุตส่าห์ทำไม่ตรงตามเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ แล้วจะตั้งกรรมการขึ้นมายกร่างกฎหมายตั้ง 2 ชุด 3 ชุดทำไม ใช้เวลารวมกว่า 3 ปีไปทำไม ในเมื่อสุดท้ายต้องกลับมาถามตำรวจ แล้วก็ทำตามข้อเสนอของตำรวจในสาระสำคัญ?”

นายคำนูณระบุ

ถึงเวลาที่นายกรัฐมนตรีต้องตัดสินใจปฏิรูปตำรวจให้เป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้อย่างแท้จริง

เพราะมีแนวโน้มว่าร่าง พ.ร.บ.ตำรวจฯ ฉบับนี้ จะไม่ผ่านสภาอย่างแน่นอน อย่าปล่อยเวลาให้เดินผ่านไปโดยที่ปัญหากระบวนการยุติธรรมที่เป็นต้นธารไม่ได้แก้ไข

หรือต้องให้มีคดีนายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือบอส ทายาทเครื่องดื่มชูกำลัง เกิดขึ้นอีกกี่ครั้ง การปฏิรูปตำรวจจึงจะสำเร็จสัก