Act สิ Art เทศกาลศิลปะ ที่จะไม่ทน! ศิลปะจะไม่ทนอีกต่อไป

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

ท่ามกลางบรรยากาศการชุมนุมที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องของเหล่าบรรดานักเรียน นักศึกษา เยาวชน คนรุ่นใหม่ และประชาชนผู้รักประชาธิปไตยทั่วประเทศในช่วงปีนี้ ที่มากด้วยความคิดสร้างสรรค์ เปี่ยมอารมณ์ขัน และเต็มไปด้วยพลังและความกล้าหาญในการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตยอันแท้จริง

สิ่งเหล่านี้ส่งแรงบันดาลใจให้ผู้คนในหลากหลายวงการที่เคยเงียบเฉย ให้ลุกขึ้นมาแสดงพลัง ไม่เว้นแม้แต่วงการศิลปะ

นับจากสถานการณ์หลังรัฐประหาร ในปี พ.ศ.2557 จนถึงปัจจุบัน นอกจากจะเกิดการล่วงละเมิดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและการคุกคามต่อประชาชนที่แสดงความคิดแตกต่างแล้ว

คนในแวดวงศิลปะก็ตกเป็นเหยื่อของการคุกคามนี้เช่นเดียวกัน

ไม่ว่าจะเป็นการสั่งปลดงานศิลปะในหอศิลป์

เซ็นเซอร์งานที่แสดงออกไม่ต้องตรงกับนโยบายรัฐ

ไปจนถึงการคุกคาม จับกุม คุมขัง ตลอดจนจำกัดลิดรอนเสรีภาพของงานศิลปะ ที่ผ่านมาผู้คนเหล่านี้หลายคนต่างต้องอึดอัดคับข้องกับการไร้ปากเสียง ไม่สามารถแสดงออกมาเนิ่นนาน

แต่ในครั้งนี้ พวกเขาจะไม่ทนอีกต่อไป

เมื่อกลางเดือนกันยายนที่ผ่านมา เหล่าศิลปินและคนทำงานสร้างสรรค์ผู้รักประชาธิปไตยในประเทศไทยทั้งหลายต่างรวมตัวกันจัดเทศกาลศิลปะขึ้นมา เทศกาลศิลปะนั้นมีชื่อว่า

“Act สิ Art เทศกาลศิลปะ ที่จะไม่ทน!” ที่จัดโดยกลุ่มศิลปะปลดแอก (Free Arts)

เพื่อแสดงจุดยืนในการต่อต้านการคุกคามของรัฐ และเรียกร้องสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก

ภายในงานมีกิจกรรมหลากหลาย ทั้งเวิร์กช็อป ชิม ช้อป เสพงานศิลปะและอาหาร, ฟังดนตรี, บทกวี, ชมละคร จากศิลปินชื่อดัง เช่น Taitosmith, The Bottom Blues, Yellow Fang, R.A.D, พระจันทร์เสี้ยวการละคร, B-Floor, เครือข่ายกวีสามัญสำนึก ฯลฯ

ไปจนถึงการตั้งโต๊ะลงชื่อรณรงค์ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เป็นของประชาชน และแก้ไข พ.ร.บ.เครื่องดื่มแอลกอฮอล์

ธีระวัฒน์ มุลวิไล ผู้กำกับละครเวที ตัวแทนผู้ประสานงานจัดกิจกรรม Act สิ Art กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของเทศกาลศิลปะในครั้งนี้ให้เราฟังว่า

“เทศกาลศิลปะครั้งนี้เริ่มต้นมาจากการที่ศิลปินหลากแขนงหลายสาขามารวมตัวกัน เพราะพวกเรามีความเป็นห่วงเกี่ยวกับประเด็นเรื่องเสรีภาพในการแสดงออกในประเทศนี้ ซึ่งถ้ามองในภาพรวม เราจะเห็นเลยว่า ไม่ใช่แค่กับศิลปินเท่านั้น แต่เสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนเองก็ถูกจำกัด ลิดรอน และคุกคามมาตั้งแต่ช่วงรัฐประหารหรือในช่วงที่มีการใช้กฎอัยการศึกต่างๆ เป็นต้นมา เราเลยอยากจะนำเสนอประเด็นนี้ โดยรวมตัวกันเพื่อสนับสนุนเสรีภาพในการแสดงออก เพราะเรารู้สึกว่า การที่ในสังคมเรามีกลุ่มคนบางฝ่ายสามารถพูดบางเรื่อง บางประเด็นได้ตลอดเวลา ในขณะที่อีกฝ่ายไม่มีแม้แต่โอกาสในการเปล่งเสียงพูดออกมานั้นเป็นสิ่งที่ไม่ยุติธรรม”

“นับตั้งแต่ช่วงที่นักศึกษาและเยาวชนรวมตัวออกมาชุมนุมเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย อย่างกลุ่มเยาวชนปลดแอก พวกเราในฐานะคนทำงานศิลปะ ก็ไปเข้าร่วมชุมนุมในฐานะผู้สังเกตการณ์ และร่วมสนับสนุนการเคลื่อนไหวเหล่านั้นด้วย”

“ในตอนนั้น เราพบว่า กิจกรรมที่จะช่วยให้การชุมนุมลื่นไหลและราบรื่นไปได้อาจจะไม่ใช่แค่การปราศรัยเพียงอย่างเดียว แต่น่าจะต้องมีกิจกรรมในมิติอื่นๆ อย่างกิจกรรมทางศิลปะเข้ามาร่วมด้วยช่วยกัน เราคิดว่าเราจะสามารถสนับสนุนเยาวชนคนรุ่นใหม่เหล่านี้ได้บ้าง ไม่มากก็น้อย”

“อย่างแรกเลย เรารู้สึกว่า คนทำงานศิลปะในปัจจุบันกล้าที่จะเปิดหน้าแสดงออกถึงอุดมการณ์ทางการเมืองของตัวเองกันมากขึ้น เพราะบรรยากาศทางการเมืองก่อนหน้านี้ คนในฝั่งประชาธิปไตยถูกบีบคั้นกดดันตั้งแต่สมัยที่มีความขัดแย้งเรื่องสีเสื้อแล้ว แทบจะไม่สามารถแสดงออกทางความคิดเห็นได้เลย เพราะเกรงว่าจะมีผลกระทบต่อชีวิตส่วนตัวและหน้าที่การงานอย่างมาก ต้องเก็บปากเก็บคำ อยู่กันอย่างเงียบๆ มาตลอด”

“แต่ในปัจจุบัน เราเห็นความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นในสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากเยาวชน คนรุ่นใหม่ นักเรียน นักศึกษาทั้งหลาย รวมถึงประชาชนกล้าออกมาแสดงออกกันมากขึ้น ทำให้เรารู้สึกว่า เราไม่จำเป็นต้องเงียบอีกต่อไป ถึงเวลาแล้วที่ศิลปินและคนทำงานศิลปะเองก็ต้องเปิดหน้าออกมาบ้าง”

“เราเลยร่วมกันคิดริเริ่มเทศกาลศิลปะปลดแอก Act สิ Art นี้ขึ้นมา”

ธีระวัฒน์ยังเฉลยถึงที่มาของชื่อเทศกาลนี้ให้เราฟังว่า

“คำว่า Act สิ Art ในที่นี้มีความหมายว่า ถึงเวลาแล้วที่กลุ่มคนทำงานศิลปะต้องลุกขึ้นมาทำอะไรกันสักที การเคลื่อนไหวครั้งนี้เป็นการรวมตัวกันแสดงออกจากศิลปินที่สนับสนุนประชาธิปไตยอย่างเปิดเผย ชัดเจน คนทำงานศิลปะหลากสาขาหลายคนที่มาร่วมงานในครั้งนี้ ก็เข้ามาร่วมอย่างเปิดเผย เปิดหน้าเปิดตา เปิดชื่อกันหมด ทั้งในฝั่งดนตรี กวี ละคร กลุ่มศิลปินร่วมสมัยต่างๆ แรกๆ ก็เริ่มจากการชักชวนคนที่รู้จักกันก่อน และค่อยๆ ขยับขยายเป็นวงกว้างไปเรื่อยๆ”

ในเทศกาลนอกจากจะมีการแสดงของวงดนตรีและการแสดงของกลุ่มละคร การอ่านบทกวีแล้ว ยังมีการจัดเสวนาวิชาการ และซุ้มกิจกรรมของคนทำงานศิลปะหลากหลายกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็น Speedy Grandma, โตเกียวฮอท และซิ่งวีดิทัศน์, Unmuted project และ JUX JUX ที่มาแสดงผลงาน และทำกิจกรรมทางศิลปะต่างๆ อย่างการเชิญชวนผู้ร่วมงานเอาเสื้อมาให้สกรีนลวดลายศิลปะต่อต้านเผด็จการฟรี หรือการทำแพนเค้กรูปหมุดคณะราษฎร ในงานนี้โดยเฉพาะ

“เราวางแผนกันว่าจะทำกิจกรรมแบบนี้ออกมาเรื่อยๆ ตราบเท่าที่ประเทศนี้ยังไม่เป็นประชาธิปไตยจริงๆ เราอาจจะไปเข้าร่วมในการชุมนุมบ้าง หรืออาจจะทำกิจกรรมย่อยที่เล็กๆ กว่านี้ที่ไหนสักแห่ง กิจกรรมครั้งนี้ถือเป็นกิจกรรมใหญ่ครั้งแรกที่เราเปิดตัว เพราะเราอยากรวมตัวเพื่อแสดงพลังและเป็นการประกาศว่า คนในวงการศิลปะจะไม่เงียบอีกต่อไป”

ใครบางคนเคยกล่าวเอาไว้ว่า ศิลปะเป็นสิ่งบริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่ควรถูกนำมาเกี่ยวข้องกับการเมือง ธีระวัฒน์แสดงความเห็นแย้งคำกล่าวนี้ว่า

“การมองการเมืองแบบนั้นเป็นอะไรที่ตื้นเขินมาก คือมองเห็นการเมืองเป็นแค่นักการเมือง พรรคการเมือง แต่จริงๆ แล้ว การเมืองอยู่ในทุกมิติ อยู่ในชีวิตประจำวันของคุณ อยู่ในการแต่งกาย อยู่ในภาษีที่คุณจ่าย ข้าวของที่คุณซื้อ”

“เมื่อไม่นานมานี้เราได้ยินข่าวว่า ราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้าเมืองไทยเมื่อเปรียบเทียบกับค่าครองชีพแล้วแพงกว่าประเทศอื่นมาก แบบนี้เป็นการเมืองไหม?”

“เราเห็นชาวไร่ชาวนาออกมาเรียกร้องเรื่องราคาข้าว ราคาผลผลิตตกต่ำ นี่เป็นการเมืองไหม?”

“คนเหล่านี้มีสิทธิในการเรียกร้องความเป็นธรรมต่อภาครัฐได้หรือเปล่า?”

“ในฐานะคนทำงานศิลปะ เราสามารถเป็นสื่อกลางที่จะเชื่อมโยงสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศนี้ แล้วนำเสนอออกมาให้คนได้รับรู้ว่าอะไรคือสิ่งที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตของเรา สำหรับผม การเมืองอยู่ในทุกที่ ตั้งแต่เราลืมตาตื่นขึ้นมาในบ้าน เดินออกไปทำงานนอกบ้าน ทุกอย่างเป็นการเมืองทั้งนั้น”

“เวลาเราพูดถึงศิลปะ เราก็ต้องพูดถึงเสรีภาพด้วย เพราะสองสิ่งนี้อยู่คู่กัน การที่ศิลปินทำงานศิลปะ หรือแม้แต่ประชาชนแสดงออกทางความคิด แล้วถูกคุกคาม จับกุม คุมขัง เราต้องตั้งคำถามว่าอะไรคือกลไกที่ทำให้รัฐสามารถละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้ขนาดนี้ เราอาจต้องย้อนกลับไปมองที่การบังคับใช้กฎหมาย”

“หรือท้ายที่สุดแล้วคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือเปล่า?”

กับคำถามที่ว่า ศิลปะจะสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อสังคมได้อย่างเป็นรูปธรรมหรือไม่ ธีระวัฒน์ตอบทิ้งท้ายเอาไว้ว่า

“สำหรับผม ศิลปะทำงานในเชิงทัศนคติ ในเชิงความคิดมากกว่า คนทำงานศิลปะคงไม่สามารถแสดงข้อเรียกร้องได้ตรงๆ เหมือนการชุมนุมประท้วง แต่ศิลปะมีภาษาในการทำงานของมัน ในการกระตุ้นให้คนคิด ตั้งคำถามกับสังคม การเมือง และสิ่งรอบๆ ตัว ถึงแม้คนทำงานศิลปะที่มารวมตัวกันในครั้งนี้จะมีความแตกต่างหลากหลาย ต่างคนก็ต่างมีรูปแบบและวิธีการในการนำเสนอและสื่อสารประเด็นของตัวเอง แต่สิ่งสำคัญคือทัศนคติของเรา ว่าเรามองเห็นเป้าหมายเดียวกันไหม และสิ่งที่เราต้องการร่วมกันคืออะไร?”

“Act สิ Art เทศกาลศิลปะ ที่จะไม่ทน!” ถูกจัดขึ้น ณ บริเวณหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ในวันที่ 12 กันยายน 2563 เวลา 15.00-20.30 น. ที่ผ่านมา

สามารถติดตามความเคลื่อนไหวและกิจกรรมอื่นๆ ของกลุ่มได้ที่ Page Facebook ศิลปะปลดแอก – FreeArts

ขอบคุณภาพและข้อมูลจากกลุ่มศิลปะปลดแอก, ภาพโดย Guerrillas Journal