รศ.โกวิท วงศ์สุรวัฒน์ ฝากถึงผู้ใหญ่ที่ยังไปคุกคามเด็ก หันมาสู่โลกทวิตเตอร์เสียบ้าง

“ผมคิดว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อยู่ในตำแหน่งได้ไม่น่าเกินปีนี้ แม้ในใจผมจะแช่งมาตั้งแต่ปี 2557 ผมมั่นใจว่าไม่น่าจะรอด คนคงจะทนต่อไปไม่ไหวแล้ว แล้วก็คงจะต้องมีการแก้รัฐธรรมนูญ” รศ.โกวิท วงศ์สุรวัฒน์ นักวิชาการรัฐศาสตร์ ฟันธงสถานการณ์การเมืองกับมติชนสุดสัปดาห์

รศ.โกวิทเล่าว่า ตั้งแต่เกิดมาอยู่ในยุคของรัฐประหารโดยตลอด ตั้งแต่ปี พ.ศ.2490 ก็มีต่อเนื่องมา

“ในช่วงที่ผมเติบโตเวลาเรียนหนังสือ ด้วยความที่ผมเป็นคนต่างจังหวัด อย่างยุคนั้นมีกรณีเขาพระวิหารก็ถูกเกณฑ์ออกมาเดินขบวนแล้วก็รู้สึกว่าเมื่อก่อนนี้เราถูกอำนาจเผด็จการชักจูงชักใยอยู่ตลอดเวลา ด้วยการจำกัดข้อมูลข่าวสารต่างๆ รวมทั้งมีสงครามจิตวิทยาซึ่งกำลังเฟื่องฟูอยู่ในยุคนั้น (หลังสงครามโลกครั้งที่ 2) ทำให้ปิดบังข้อมูลข่าวสาร สร้าง Hate Speech มากมายได้ผล ผมก็เติบโตมายุคสงครามเย็นแล้วก็มีรัฐประหารบ่อยครั้งมาก”

“แม้แต่ในช่วงเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ผมเป็นอาจารย์ที่สอนหนังสืออยู่ ผมทั้งตกใจและเศร้าสลดใจมากกับเหตุการณ์ยุคนั้น รัฐบาลเผด็จการควบคุมได้ทั้งโทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ คุมชนิดที่เรียกว่าสั่งปิดได้ตลอด แล้วเราก็ได้ยินข่าวสารในทางเดียวมาตลอด แต่ด้วยความที่ผมเป็นอาจารย์ รับข้อมูลข่าวสารจากต่างประเทศอยู่สม่ำเสมอ ในยุคนั้นพอมีข้อมูลอะไรจากภายนอกประเทศก็ถูกโต้แย้งทันทีว่าคนนอกจะมารู้ดีกว่าคนในได้อย่างไร การบิดเบือนข่าวของเราจึงทำให้รัฐประหารเป็นที่ชื่นชม เราก็เห็นว่า 19 กันยายน 2549 หรือหนล่าสุด ปี 2557 มีคนเอาพวงมาลัยไปให้ทหาร มีการถ่ายรูปอะไรต่างๆ ราวกับมีมหกรรมดีอกดีใจ ทั้งๆ ที่มันน่าแปลกใจ”

“ยุคพฤษภาคม ปี 2535 เรามีม็อบมือถือ ผมยังคิดว่าครั้งนั้นควรเป็นครั้งสุดท้าย ก็ไม่น่าเชื่อ ว่าปี 2549 มีอีก ปี 2557 ผมเองแทบจะหมดกำลังใจ”

“แต่กระนั้น 2-3 ปีที่ผ่านมานี้เหมือนกับมี “เครื่องกระตุ้นหัวใจ” ไฟฟ้าเข้ามากระตุ้นให้เราได้เริ่มเห็นคนรุ่นใหม่ที่ได้แสดงศักยภาพขึ้นมาได้มากถึงขนาดนี้ ได้ฟังได้ยินและได้เห็นนักเรียนระดับชั้นมัธยมโชว์หนังสือของท่านอาจารย์ธงชัย วินิจจะกูล รวมถึงหนังสืออีกหลายเล่ม ที่เราเคยได้อ่านแล้วคิดว่าคงไม่มีใครได้อ่าน แต่ยุคนี้มีถึงขนาดอ่านออกเสียงเป็นหนังสือเสียงลงอยู่ใน YouTube แล้ว เขาอ่านให้ฟังกันเลย”

“ผมเองรู้สึกเหมือนจะถูกกระตุ้นด้วยเครื่องกระตุ้นไฟฟ้า รู้สึกมีกำลังใจ มีพลังขึ้นมาอย่างกะทันหันว่า เรามีความหวังที่จะได้เห็นประชาธิปไตยคงจะกลับคืนมาได้แล้วด้วยฝีมือของคนรุ่นใหม่”

“มีคนชอบมาถามผมว่ามีอะไรจะฝากถึงคนรุ่นใหม่หรือไม่ ผมเองก็ตอบซ้ำแล้วซ้ำอีกหลายครั้ง ผมไม่มีอะไรจะฝากเขาทำดีแล้ว แต่ที่ต้องฝากคือต้องฝากถึงคนรุ่นผมเองที่ยังงงถูกล้างสมองหลงเชื่อเป็นสลิ่มอยู่ ผมว่ามันเต็มทีแล้ว”

“จากประสบการณ์ของผมเวลาห้วงนี้พอได้ยินข่าวการรัฐประหารที่หนาหูยิ่งขึ้นผมก็นึกถึงเหตุการณ์ที่ต่างประเทศเช่นที่สหภาพโซเวียต ในปี 2534 ก็มีทหารออกมาทำรัฐประหารเอารถถัง เครื่องบินออกมา แต่ว่าประชาชนออกมาต่อสู้เพียงแค่ 2 วันเท่านั้นก็ไปไม่รอด และปี 2559 หลังจากประเทศเรายึดอำนาจไปแล้ว 2 ปี ก็มีเหตุทหารกองทัพตุรกีออกมายึดอำนาจอีก 2 วันพังเพราะประชาชนออกมาต่อสู้”

“คนที่ยังเขาคิดถึงเรื่อง “รัฐประหาร” หรืออยากทำอยู่ในปีนี้ พ.ศ.นี้ มันน่าสังเวช มันตกยุคแล้วไม่รู้จะพูดว่าอย่างไร ปัจจุบันข้อมูลข่าวสาร Social Media ของเรามันไปถึงไหนกันแล้ว จะมามัวงมอะไรกันอยู่ เป็นประเภทคนที่เต็มใจจะตาบอดอยู่ตลอดเวลาหรืออย่างไร ผมก็แปลกใจ สังเวช คงจะต้องปล่อยให้เป็นอาหารเต่าและอาหารปลาต่อไป แล้วก็อยากแนะนำให้ไปตรวจสมองซะหน่อย”

พูดถึงการ “คุยเรื่องการเมือง” ภายในครอบครัว ที่หลายครอบครัวในไทยมีการตัดความสัมพันธ์ ตัดค่าขนม หรือขัดขวางการแสดงออกของบุตรหลานนั้น มองจากมุมประสบการณ์ตัวเองที่เคยเรียนที่สหรัฐอเมริกา 2 หน ตอนอายุ 19 ครั้งหนึ่ง และตอนอายุ 52 อีกครั้งหนึ่ง มองว่าเป็นเรื่องปกติที่สังคมประชาธิปไตย ไม่ต้องมองแค่พ่อ-แม่กับลูก เอาแค่ความคิดของสามีกับภรรยา ต่างคนต่างไป ต่างความเชื่อว่าจะเอาใครหรือไม่เอาใครในการเลือกตั้งแต่ละครั้ง

แต่เมืองไทยเราในระยะที่ผ่านมา พยายามที่จะต้องให้ลูก ผู้อ่อนอาวุโสหรือคนที่เด็กกว่า ต้องก้มพนมกร ทำตามอย่างที่ผู้ใหญ่ต้องการ

ผมคิดว่ามันคนละเรื่องกันแล้ว และผมถือว่าเป็นเรื่องปกตินะ ต่างคนต่างความคิดกันได้ ไม่จำเป็นจะต้องว่าอะไรว่าตามกัน

การที่ว่าอะไรก็ว่าตามกันมันเป็นเรื่องของ “เผด็จการ”

ผมเห็นว่า ความแตกต่างระหว่างครอบครัวพ่อ-แม่กับลูกๆ ซึ่งเรากับทางตะวันตกมันแตกต่างกันชัดเจนของบ้านเรา

เรามักจะมีพ่อ-แม่ที่อยากเลี้ยงลูกอย่างที่คิดว่าเขาเป็นเด็ก และอยากจะให้เป็นไปอย่างที่ตัวเองอยากจะเป็นแต่ตัวเองไม่มีปัญญาจะเป็น เลยพยายามที่จะให้ลูกไปเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ทำอะไรต่อมิอะไรต่างๆ ผมรู้สึกว่ามันไม่แฟร์ ไม่เป็นธรรมเพราะว่าแต่ละคนก็ต่างกัน เพราะฉะนั้น เรื่องของความคิดความอ่าน ต้องเคารพซึ่งกันและกัน

คำที่ว่า “อาบน้ำร้อนมาก่อน” ผ่านโลกมาเยอะ ผมบอกว่ามันเปลี่ยนแล้ว โลกมันเปลี่ยนไปแล้ว ไอ้คำว่าฉันอาบน้ำร้อนมาก่อน คุณเคยเล่นโทรศัพท์มือถือมาก่อนเด็กเขาหรือเปล่า ก็ตามเขาทีหลัง โลกมันเปลี่ยนไปเยอะแยะ

ตั้งแต่มีเทคโนโลยีเข้ามา มันคนละเรื่องกันกับการที่จะเอาคำว่าอาบน้ำร้อนมาก่อนมาใช้

“มันเป็นการยิ่งแสดงให้เห็นว่าความคิดคุณเชย เชยอย่างมากมาย เชยแบบมโหฬาร พูดแบบนี้ผมคิดว่าน่าสงสารมากกว่า”

อย่างผมกับจอห์น วิญญู ลูกชาย ก็มักจะนัดกินข้าวกันในวันเสาร์-อาทิตย์ เราก็คุยการเมืองกันที่โต๊ะอาหาร บนโต๊ะอาหารเราก็มีแผนที่โลกอยู่ เวลาเราจะพูดหรือถกเถียงอะไรกัน ก็เอาเหตุผล เอาหลักฐานมาคุยกัน เราไม่ได้พูดกันลอยๆ ก็ต้องมีหลักฐานข้อมูลมารองรับ

เราทำกันมาแบบนี้ก็เพราะผมสอนหนังสือ แต่พอลูกโตขึ้น เราก็ต้องเป็นผู้ฟัง ก็คุยกันแลกเปลี่ยนกัน สิ่งสำคัญที่สุดเราจะต้องมีข้อมูลและมีเหตุผลกัน

สุดท้ายนี้ผมอยากฝากไปถึงผู้ใหญ่หลายๆ คนที่ปิดประตูปิดโอกาสให้เด็กได้แสดงออกแสดงความคิดเห็น

ผมอยากจะบอกว่าลองเล่น Twitter ดูบ้าง

ผมว่าพวกคุณน่าจะเปลี่ยนอะไรได้เยอะเลย แล้วก็เลิกได้แล้ว LINE กลุ่มส่งสวัสดี ส่งข้อมูลอะไรตลกๆ ไม่ได้เรื่องราว ลองไปเล่น Twitter ดูซะหน่อย ผมแนะนำแค่นี้ก็คิดว่าคงจะพูดกันรู้เรื่องกับเด็กมากขึ้นเยอะ

ตัวผมเองตอนมาเล่น Twitter จอห์น วิญญู ก็เป็นคนเข้ามาจัดการสมัครให้ผม เมื่อปีที่แล้ว ผมเข้ามาโลกของทวิตเตอร์แล้วผมหูตากว้างไกลไปเยอะกว่าเดิมเยอะมากๆ

ผมก็อยากจะบอกว่า ให้คนอีกหลายคนลองเล่นทวิตเตอร์ดูหน่อย เป็นคำแนะนำจากใจจริงของผมถึงผู้ใหญ่หลายๆ คนเลย

ชมคลิป