เทศมองไทย : สหรัฐอเมริกา กับความพ่ายแพ้ในอาเซียน

อูมาอีร์ จามาล ตั้งคำถามสำคัญเอาไว้ใน “อาเซียนทูเดย์” เว็บไซต์ข่าวในแวดวงอาเซียนจากสิงคโปร์ เมื่อ 18 กันยายนที่ผ่านมาว่า สหรัฐอเมริกาแพ้จีนแล้วหรือไร? ในแง่ของการสร้างอิทธิพลต่อชาติสมาชิกของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน

คำตอบง่ายๆ ที่จามาลอ้างอิงถึงเอาไว้คือ ผลการสำรวจความคิดเห็น ที่จัดทำโดยสถาบันไอเซียส ยูโซฟ อิสฮัก ในสิงคโปร์ ที่ได้คำตอบชัดเจนว่า “ประเทศอาเซียนส่วนใหญ่” เห็นตรงกันว่า สหรัฐอเมริกาเป็นพันธมิตรที่ “พึ่งพาได้น้อยลง”

และยิ่ง “สูญเสียทางยุทธศาสตร์” ให้กับทางการจีนเพิ่มมากขึ้น ภายใต้การนำของประธานาธิบดีอย่าง “โดนัลด์ ทรัมป์”

แต่ที่น่าสนใจมากกว่า ก็คือคำถามถัดมาของจามาล ที่ว่า แพ้ได้ยังไง? แพ้เพราะอะไร? ด้วยเหตุที่ว่าในอดีตทั้งสหรัฐอเมริกาและชาติอาเซียนทั้งหลาย ได้รับประโยชน์ใหญ่หลวงจากการเป็นส่วนหนึ่งของ “เครือข่ายพันธมิตร” ซึ่งกันและกัน

 

จามาลยืนยันว่า สหรัฐอเมริกาสูญเสียความน่าเชื่อถือในฐานะพันธมิตรที่พึ่งพาได้ในสายตาของอาเซียนไปแล้ว ซึ่งส่งผลให้อิทธิพลของสหรัฐในภูมิภาคอาเซียนเสื่อมถอยลงเมื่อเทียบกับ “อำนาจใหม่” อย่างจีนและรัสเซีย

ประเทศในอาเซียนส่วนใหญ่เชื่อว่า สหรัฐอเมริกาไม่อาจพึ่งพาให้รับมือกับการคุกคามทั้งในด้านการทหารและการพาณิชย์ของจีนอีกต่อไป และอาการเสื่อมถอยในพันธสัญญาต่ออาเซียน ยิ่งเกิดขึ้นในระดับความเร็วที่สูงมาก ในยุคที่ทรัมป์เป็นประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา

เขายกการประชุมสุดยอดอาเซียนในปี 2019 ในกรุงเทพมหานครของไทย ขึ้นมาเป็นตัวอย่าง เพื่อชี้ให้เห็นว่า ในการประชุมสุดยอดอาเซียนหนล่าสุดดังกล่าวนั้น ทางการวอชิงตันไม่สามารถปลุกเร้าให้เกิดเสียงสนับสนุนเพื่อประณาม “การยั่วยุของจีนในทะเลจีนใต้” ได้ ทั้งๆ ที่ประเด็นสำคัญในการประชุมหนนั้น คือ ปัญหาที่จีนรุกล้ำเข้าไปในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของเวียดนามในทะเลจีนใต้แท้ๆ

อันที่จริง สหรัฐอเมริกาไม่สามารถใช้อิทธิพลทางการทูตผลักดันให้บรรจุวลีที่ระบุว่าการกระทำของจีนเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ไว้ในแถลงการณ์ของอาเซียนด้วยซ้ำไป

 

มาร์ก เจ. วาเลนเซีย นักวิชาการสมทบของสถาบันแห่งชาติว่าด้วยทะเลจีนใต้ศึกษา (เอ็นไอเอสซีเอสเอส) ชี้เอาไว้ให้เห็นว่า การที่สหรัฐอเมริกาส่ง “คณะเจ้าหน้าที่ทางการทูตระดับล่าง” เข้าร่วมในการประชุม นั่งโต๊ะตรงกันข้ามกับคนอย่างหลี่ เค่อ เฉียง นายกรัฐมนตรีจีน, นเรนทรา โมดี้ ของอินเดีย และชินโสะ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นนั้น “ไม่ได้บันดาลให้เกิดความเชื่อมั่น” ขึ้นในหมู่พันธมิตรในเอเชีย ในเวลาเดียวกัน การกระทำดังกล่าวยัง “ทำให้เจ้าภาพอย่างไทยซึ่งเป็นพันธมิตรเก่าแก่ดั้งเดิมต้องขายขี้หน้า”

วาเลนเซียขยายความเอาไว้ด้วยว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการยืนยันสิ่งที่อาเซียนสงสัยมาตลอดว่า อาเซียนเองไม่มีความหมายสลักสำคัญใดๆ ใน “กรอบคิดเชิงยุทธศาสตร์” ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งนำไปสู่ข้อสรุปที่ว่า “พันธสัญญาใดที่สหรัฐอเมริกาให้ไว้กับอาเซียน เชื่อถือไม่ได้”

ผู้เขียนยังตั้งข้อสังเกตเอาไว้ด้วยว่า การเจรจาเพื่อนำไปสู่การวางกรอบแนวปฏิบัติในการใช้ทะเลจีนใต้ (ซีโอซี) ซึ่งตั้งเป้ากันว่าจะได้ข้อสรุปภายในปี 2021 ซีโอซีพัฒนามาจากปฏิญญาว่าด้วยการปฏิบัติในทะเลจีนใต้ (Declaration on the Conduct of Parties in the South China Sea หรือ DOC) ยิ่งจะทำให้อิทธิพลของสหรัฐอเมริกาลดน้อยถอยลงไปอีก

เพราะข้อเสนอหนึ่งของฝ่ายจีนเรียกร้องให้บรรดาชาติสมาชิกอาเซียน “หยุดการซ้อมรบร่วม” กับ “กองกำลังภายนอก” ซึ่งรวมทั้งสหรัฐอเมริกา

 

ข้อที่น่าสังเกตก็คือ แม้จะมีปัญหาทะเลจีนใต้ การค้าระหว่างจีนกับอาเซียนก็เบ่งบานขึ้นทุกที ถึงขนาดจีนกลายเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของอาเซียนแทนที่สหรัฐอเมริกาไปแล้วในเวลานี้ พร้อมกันนั้นทั้งสองฝ่ายยังให้ความเห็นชอบต่อ “วิสัยทัศน์หุ้นส่วนทางการค้าจีน-อาเซียน 2030” เอาไว้ตั้งแต่ปี 2018 ที่ผ่านมา โดยตั้งเป้าจะยกระดับการค้าระหว่างกันขึ้นสู่ระดับ 1 ล้านล้านดอลลาร์ ยกระดับการลงทุนให้ถึง 150,000 ล้านดอลลาร์อีกด้วย

ในขณะที่ไม่มีวี่แววของแผนที่ชัดเจนจากวอชิงตันที่จะนำไปสู่การค้าและการลงทุนซึ่งกันและกันกับอาเซียนแต่อย่างใดทั้งสิ้น

การทำความตกลงเขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่างอาร์เซ็ป ก็เป็นการรวมเอาชาติอาเซียนและคู่เจรจาเกือบทั้งหมดเข้าไว้ด้วยกัน โดยมีจีนเป็นศูนย์กลาง ไม่มีทั้งสหรัฐอเมริกาและอินเดีย

ซามีร์ กุมาร กับอีลาย แรตเนอร์ บอกเอาไว้ในข้อเขียนในฟอรีนโพลิซี เมื่อเร็วๆ นี้ว่า อาร์เซ็ปไม่สำคัญเพียงแค่ผลกระทบทางการเศรษฐกิจเท่านั้น

แต่ยังมีนัยสำคัญต่อการรับรู้ถึง “ระเบียบการทางเศรษฐกิจในเอเชีย” ที่นำโดยจีนในอนาคตอีกด้วย