อภิญญา ตะวันออก / อีวา บินห์ : แด่บรรพกาลแห่งความอ่อนไหว

อภิญญา ตะวันออก

โลกก่อนหน้านั้น อาจมีส่วนทำให้นักการทูตที่มาประจำกัมพูชาต้องเผชิญหน้ากับความโลดโผนทางการเมือง โดยเฉพาะประเทศกรณีอย่างสหรัฐและฝรั่งเศส

แต่นี่นะ ก็ทำให้พวกเขาต่างมีผลงานเป็นเกียรติยศแก่ตระกูลแห่งอาชีพนักการทูตเหมือนกัน

เว้นเสียแต่ว่า โลกของนักการทูตสตรีที่จะมีโอกาสประจำการประเทศนี้ นัยที การกระชากชีวิตให้ติดปีก ดูจะเป็นเรื่องพิเศษของพวกเธอ

4 ปีก่อนหน้านี้ อัญเจียแขมฺร์เคยบอกเล่าเรื่องราวของจุมเตียวเกน โสธี ภริยาเอกอัครทูตวิลเลียม ไฮดต์ ผู้เป็นชาวเขมรโดยกำเนิด และเธอคือสตรีเขมรคนแรกที่เปิดประสบการณ์โลกแห่งการเป็นภริยาเอกอัครราชทูตประเทศที่สุดจะไฮโปรไฟล์ในสายตาของชาวกัมปูเจีย

โดยนัยที กัมพูชาขณะนั้น แม้จะเคยแต่งตั้งสุภาพสตรีเป็นเอกอัครราชทูต ตัวอย่าง สมเด็จพระอนุชนโรดม รัศมี ประจำประเทศมาเลเซีย ส่วนท่านผู้หญิง/จุมเตียวโสธีนั้น คือความสำเร็จในฝัน แม้จะเห็นว่า จุมเตียวโสธีพยายามสร้างค่านิยมใหม่เพื่อเป็นแรงบันดาลใจต่อสตรีเขมรด้านความก้าวหน้าทางอาชีพด้วยตนเองก็ตาม

กระทั่งความสัมพันธ์เขมร-สหรัฐขมึงเกลียวในท้ายวาระของท่านทูตวิลเลียม ไฮดต์ ท่านผู้หญิงโสธีจึงลาจากประเทศบ้านเกิดไปอย่างไม่สู้หวือหวาสักเท่าใด

 

แต่ฤดูร้อนปีถัดมา (2560) สินะที่ฉันได้พบกับแรงบันดาลใจเมื่ออีวา เหงียน บินห์ (Eva Nguyen Binh) ได้รับแต่งตั้งเป็นเอกอัครราชทูตหญิงฝรั่งเศสประจำกัมพูชา ตั้งแต่ 14 เมษายน 2560

อีวา บินห์ เคยประจำการเวียดนามในสมัยก่อนนั้น แต่เป็นตำแหน่งเมียทูต

เมื่อจะย้ายมาเขมร จากเวียดนาม-อดีตสหพันธรัฐอินโดจีน-และเป็นลูกพี่เก่าของกัมพูชานั้น เธอจึงเจอเรื่องดราม่าจากกลุ่มสหพันธรัฐกัมพูชาใต้ในฝรั่งเศสที่ร่อนจดหมายเปิดผนึกส่งถึงประธานาธิบดีให้ถอดถอนเธอออกซะ! เพราะเห็นชัดๆ ว่า อีวา เหงียน บินห์ น่ะเป็นสัญลักษณ์ของอดีตปกครองอินโดจีนที่คุกคามความเป็นพลเมืองของชาวเขมรใต้หรือกัมปูเจียกรอม

ออกจะซับซ้อนหน่อยนะ แต่จะเล่าให้ฟังว่า ประวัติของตระกูลเหงียน บินห์ คืออดีตข้าราชการเก่าแก่ของอินโดจีนแห่งแคว้นโคซังซินซึ่งอยู่ทางตอนใต้ และเมื่อ 150 ปีก่อน เป็นเขตของชาวกัมปูเจียกรอม กระทั่งสภาฝรั่งเศสยกแคว้นนี้รวมทั้งชาวเขมรใต้ขึ้นกับเวียดนามเมื่อ 71 ปีก่อน (2492)

ทิ้งประวัติศาสตร์อันปวดร้าวแก่ชาวกัมพูชาใต้ที่กล่าวหาแก่ฝรั่งเศสว่าเป็นตราบาปมาจนบัดนี้

ดังนี้ เมื่ออีวา บินห์ ซึ่งบรรพบุรษเป็นชาวอันนัม (เวียดนามใต้) โดยกำเนิด มันจึงกลายเป็นเรื่องของเธอที่ไม่รู้อีโหน่อีเหน่แต่ทำร้ายความรู้สึกต่อชาวเขมรใต้ในทันทีที่ชื่อ “อีวา เหงียน บินห์” ปรากฏในสารบทข้าราชการประจำประเทศโพ้นทะเลเหมือนสมัยอินโดจีนโน่นอีกครั้ง

จดหมายเปิดผนึกฉบับนั้นนั่นเองที่บอกว่า “กี่ครั้งกี่คราแล้ว ที่รัฐบาลฝรั่งเศสกระทำกับเราเยี่ยงนี้” นั่นก็คือ บริบทสังคมที่แต่งตั้งชนอันนัม (ชาวเวียดนามจากตอนกลางและภาคใต้) ให้มีอำนาจเหนือแคว้นกัมพูชารวมทั้งเขตกัมปูเจียกรอม

อย่างซ้ำซากข้ามศตวรรษแห่งการกระทำที่ชอกช้ำชาวเขมรใต้แบบนั้น? มันยุติธรรมแล้วหรือ? สำหรับบาดแผลทางประวัติศาสตร์ที่ไม่เคยได้รับการสะสาง

อีวา บินห์ เองก็ช่างกระไร แทนที่จะมาประจำในฐานะเมียทูตแบบประเทศเวียดนาม แต่กลับมีอำนาจเต็มถึงตำแหน่งเอกอัครราชทูตหญิง

และนี่คือ ฟางเส้นเล็กๆ แห่งความน้อยเนื้อต่ำใจในตัวตนของพลเมืองชั้น 2 ชาวเขมรใต้

ตั้งแต่ยุคอินโดจีนมาจนถึงปัจจุบัน

 

ถึงโลกการเมืองจะเปลี่ยนยุคไปแล้ว แต่อีวา บินห์ ซึ่งเกิดและเติบโตในพหุวัฒนธรรมแบบฝรั่งเศส แต่นั่นแหละเมื่อเธอเป็นถึงเอกอัครราชทูตเขมรแล้วไซร้ ต้นทุนความเข้าใจส่วนนี้กลับเบาหวิวอย่างเหลือทน

ดูเถอะ ความสำเร็จยุคสีหนุราชหรือลอนนอลนั้น ไม่อาจนำมาใช้ทางการทูตยุคเธอได้ ทว่า เมื่อย้อนดูไทม์ไลน์อันไกลโพ้น จะพบว่า จะเห็นแต่อีวา บินห์ ใช่จะเป็นนักการทูต (ด้านวัฒนธรรม) คนแรกของกัมพูชาเสียเมื่อไหร่

หากพอจะจำได้ ซูซานน์ คาร์ปาเลส (2433-2511) น่าจะเป็นทูตวัฒนธรรมของฝรั่งเศสคนแรกในเขมร ผู้สามารถยกระดับภารกิจทางวัฒนธรรมไปสู่ชั้นปฏิรูปการศึกษาแก่ชาวเขมร จากนักบวชเถรวาทถึงกลุ่มนักปฏิวัติชนจนถูกอัปเปหิจากเขมร

77 ปีให้หลัง อีวา บินห์ ได้ถือเอามรดกวัฒนธรรมเดียวกับแบบคาร์ปาเลส ความต่างยุคสมัยและวิถีทางการทูตยุคใหม่ที่เคลื่อนไหวผ่านตัวตนของเธอด้วย โดยจะเห็นว่า นอกจากเศรษฐกิจแล้ว นโยบาย หลักการที่ยังไม่เปลี่ยนไป คือวัฒนธรรมทางสังคมที่กำหนดให้กัมพูชาต่างไปจากเมืองอื่น

เอกอัครราชทูตหญิงอีวา บินห์ ดูจะทุ่มเทอย่างเต็มสรรพกำลัง อย่างเห็นได้ว่า ดีกรีด้านวัฒนธรรมและการสื่อสารคือโลกอันเหมาะต่อชาวเขมรยุคใหม่

เช่นเดียวกับทูตหญิงคนนี้ ที่เติบโตจากครอบครัวที่หลากหลายทางวัฒนธรรม มรดกบรรพชนของบิดาและสามี จากวัฒนธรรมอินโดจีนเมื่ออดีต

สมัยที่อีวา บินห์ ยังมีฐานะแค่เมียทูต เธอมีจุดแข็งในวัฒนธรรมป๊อปร่วมสมัยที่ไปได้สวยในโครงการของเธอที่โฮจิมินห์ซิตี้ (ไซ่ง่อนของแคว้นโคชินไชน่า) ซึ่งพบว่า หนุ่ม-สาวชาวเวียดยุคใหม่ต่างมีความตื่นตัว เห็นได้ชัดว่า นี่คือจุดแข็งของว่าที่เมียทูตยุคใหม่ที่ต่างจากอดีต

ทว่า สำหรับ “เอกอัครราชทูตกัมพูชา” แล้วนั้น มันเป็นตำแหน่งที่อีวา บินห์ ไม่อาจกินบุญเก่าได้ โดยมิว่าประการใด

 

ในวัย 50 ปีหยกๆ อีวา บินห์ ในสายตาของฉัน เธอช่างมีดวงตาเบิกกว้างที่ฉายความใคร่รู้โลกใบนี้ ไม่ต่างจากเอมีลี (Amelie) สาวน้อยจากภาพยนตร์เรื่อง “เอมีลี : พรหมลิขิตที่แสนงดงามเอมิลี่ ปูแลง”

ภาพยนตร์ที่เผยให้เห็นถึงการไหลบ่าของ 2 วัฒนธรรม “ป๊อปคัลเจอร์-สัจนิยม” ที่สร้างกระแสแก่ชาวมิลเลเนียมยุคเริ่มต้น (2001) ให้มองเห็นถึงจุดเปลี่ยนทางสังคมบางอย่าง

นั่นก็คือ การปรุงแต่งจินตนาการเพื่อนำไปสู่การผลักดันให้บางสิ่งอันไร้ชีวิตชีวา กลับมาโลดแล่นและเคลื่อนไหวไปสู่สังคมแบบองค์รวม ต่างจากฉบับซูซานน์ คาร์ปาเลส เมื่อ 7 ทศวรรษก่อน ที่การปฏิบัติภารกิจของเธอ มีความต่อเนื่องจนส่งผลต่อสังคมกัมพูชาอย่างเห็นได้ในศตวรรษที่ 20

มิพักว่า มันจะส่งผลต่อชีวิตของหญิงคนนี้ไปอีกด้าน

แต่สำหรับ 3 ปีที่กัมพูชาของอีวา บินห์ ดูจะสั้นเกินพอดีที่จะเห็นเป็นรูปธรรม แน่นอน ไม่เพียงมุมเดียวที่เห็นเธอเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระบรมนาถนโรดม สีหมุนี และสมเด็จพระมหากษัตรีนโรดมมุนีนาถสีหนุ พระวรราชมารดา อีวา บินห์ ยังสร้างมูลค่าอันโดดเด่นแก่นครเสียมเรียบทั้งในส่วนศิลปะตลอดจนศิลปินของกัมพูชา

ดังจะเห็นว่า นี่เป็นส่วนหนึ่งที่ทูตฝรั่งเศสทำได้ดีเป็นพิเศษทั้งในกลุ่มอดีตประเทศอินโดจีนโดยและเฉพาะกัมพูชา แน่นอนในด้านเศรษฐกิจ กัมพูชาเคยได้การส่งออกเป็นกรณีพิเศษแต่ก็สูญเสียโอกาสนั้นแก่เวียดนามไปมากใน 3-4 ปีมานี้

อา แล้วภารกิจทางการเมืองเล่า? เธอให้ความสำคัญมันแค่ไหน?

 

เราทราบดีว่า ทูตหญิงอีวา บินห์ มักใช้โอกาสอันเหมาะสมไปเยี่ยมนายกึม สกขา อดีตผู้นำพรรคฝ่ายค้านที่ถูกศาลจำกัดอิสรภาพแต่ในบ้านพัก เป็นท่าทีพิเศษสำหรับทูตไม่กี่ประเทศที่กล้าหาญทำเช่นนั้น

แต่ใครเลยจะรู้ว่า กึม สกขา นั้น โดยพฤตินัย เขาคือผู้สืบทอดอุดมการณ์ทางการเมืองแบบกัมปูเจียกรอม ทั้งจากการที่เขาสังกัดพรรคของนายซอน ซานน์ ผู้ถือกำเนิดในกัมปูเจียกรอมในการเลือกตั้งครั้งแรก (2540)

ในวันที่อีวา เหงียน บินห์ ไปเยือนนั้น เห็นได้ชัดว่า เธอได้สร้างนโยบายการทูตที่ครบถ้วนด้วยองค์ประกอบของความสัมพันธ์เชิง “ปัจเจก” และ “ทวิภาคี”

มิพักว่า อดีตอันย้อนแย้งจะรันทดหรืองดงาม? โดยสิ่งที่เธอทำ นัยทีนั้น ทูตหญิงอีวา บินห์ ได้ชดใช้อดีตกรรมแห่งบรรพกาลอย่างดีแล้ว

สำหรับการผลักประวัติศาสตร์บาดแผลอันเงียบงัน ไปสู่อีกมิตินั้น แห่งความมีชีวิตชีวา

เครดิตภาพ : eva_binh