คนมองหนัง | รู้จัก “โคลอี้ เจา” สตรีจีนคนแรกผู้คว้า “สิงโตทองคำ” หนึ่งในผู้กำกับฯ ใหม่ของ “จักรวาลมาร์เวล”

คนมองหนัง

“โคลอี้ เจา” ผู้กำกับฯ หญิงชาวจีนวัย 37 ปี สามารถพาภาพยนตร์เรื่อง “Nomadland” ซึ่งเป็นหนังยาวลำดับที่สามของตนเอง คว้ารางวัลสิงโตทองคำจากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเวนิส ประเทศอิตาลี ได้อย่างเต็มภาคภูมิ

เธอถือเป็นคนทำหนังรายที่สามจากจีนแผ่นดินใหญ่ที่พิชิตรางวัลสูงสุดของเวนิส

ถัดจากผู้กำกับฯ ชายสองคน คือ “จางอี้โหมว” ที่ได้รับรางวัลสิงโตทองคำจากหนังเรื่อง “The Story of Qiu Ju” (1992) และ “Not One Less” (1999) และ “เจี่ยจางเคอ” ที่ได้รับรางวัลเดียวกันจากหนังเรื่อง “Still Life” (2006)

นอกจากนี้ เจายังถือเป็นสตรีคนที่ห้าที่ได้รับรางวัลสิงโตทองคำ

“Nomadland” ถ่ายทอดเรื่องราวของตัวละครชื่อ “เฟิร์น” (ฟรานเซส แม็กดอร์มานด์) หญิงม่ายที่ออกเดินทางเข้าสู่ดินแดนใจกลางของสหรัฐอเมริกาด้วยรถแวนเก่าๆ

แน่นอนว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ได้กลายเป็นตัวเต็งบนเวทีออสการ์ต้นปีหน้า และโคลอี้ เจา อาจจะเป็นสตรีเอเชียคนแรกสุดที่ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลตุ๊กตาทองสหรัฐในสาขาผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม

โคลอี้ เจา มีชื่อภาษาจีนว่า “เจาถิง” เธอลืมตาดูโลกเมื่อปี 1983 ที่กรุงปักกิ่ง ในครอบครัวฐานะดี ซึ่งมีพ่อเป็นผู้จัดการบริษัทที่ดำเนินกิจการเกี่ยวกับอุตสาหกรรมเหล็ก ส่วนแม่ทำงานในโรงพยาบาล และเคยเป็นนักแสดงประจำกองทัพปลดปล่อยประชาชนมาก่อน

ในวัยเยาว์ เจาถิงชอบวาดการ์ตูน เขียนแฟนฟิกชั่น และดูภาพยนตร์ เธอบอกว่า “หนังเปลี่ยนชีวิต” ของตนเองนั้นคือ “Happy Together” ซึ่งกำกับฯ โดย “หว่องกาไว” (หวังเจียเหว่ย) หนึ่งในคนทำหนังรายสำคัญของฮ่องกง

พอมีอายุ 15 ปี พ่อแม่ก็ส่งเจาถิงไปเรียนต่อที่อังกฤษ ก่อนที่เธอจะบินข้ามไปศึกษาระดับปริญญาตรีสาขารัฐศาสตร์ที่ “เมาท์โฮลโยก คอลเลจ” วิทยาลัยศิลปศาสตร์สำหรับสตรีในแมสซาชูเซตส์ แล้วหันเหไปศึกษาต่อปริญญาโทด้านการกำกับภาพยนตร์ที่มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก

ด้วยเหตุนี้ โคลอี้ เจา จึงเป็นคนจีนที่ทำหนังยาวทุกเรื่องของตนเองในสหรัฐอเมริกา

ระหว่างใช้ชีวิตที่นิวยอร์ก เจาเริ่มรู้จัก หลงใหล และเลือกจะถ่ายทำหนังยาวของตนเองในภูมิภาค “มิดเวสต์” ของสหรัฐ

ผู้กำกับฯ หญิงชาวจีนอธิบายว่าในช่วงวัย 20 ปลายๆ เธอเคยรู้สึกสับสนหมดหวังในชีวิตนิดหน่อย และเมื่อมองย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ เธอก็พบว่าผู้คนที่รู้สึกสิ้นหวังหาหนทางไปไม่เจอเช่นเดียวกับเธอ มักเดินทางมุ่งหน้าไปยังดินแดนตะวันตกแห่งนี้

ดินแดนมิดเวสต์ยังเชื่อมโยงไปถึงประสบการณ์ที่ประเทศจีนของเธอ ดังที่เจาบรรยายว่า “ตอนเติบโตที่ปักกิ่ง ฉันมักชอบจินตนาการนึกฝันเกี่ยวกับดินแดนแถบมองโกเลียและทุ่งหญ้าที่นั่นอยู่เสมอ และฉันคิดว่าพอตัวเองย้ายมาอยู่นิวยอร์ก เซาธ์ดาโกตาก็เป็นเหมือนมองโกเลียสำหรับฉัน”

“Songs My Brothers Taught Me” ภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรกของโคลอี้ เจา ที่ออกฉายเมื่อปี 2015 ถ่ายทอดเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างสองพี่น้องชนเผ่าพื้นเมือง

ก่อนหน้าการถ่ายทำ เจาและ “โจชัว เจมส์ ริชาร์ดส์” ตากล้องคู่ใจ (ซึ่งต่อมากลายเป็นคู่ชีวิตของเธอ) ได้เลือกไปใช้ชีวิตในเขตสงวนของคนอเมริกันอินเดียนเป็นเวลานานหลายเดือน เพื่อซึมซับจังหวะชีวิตของผู้คนที่นั่น แล้วแปรสภาพมาเป็นภาพยนตร์

ขณะถ่ายทำหนังเรื่องแรก เจามีโอกาสทำความรู้จักกับ “เบรดี แจนโดร” หนุ่มเคาบอยชนพื้นเมือง เธอตัดสินใจนำเรื่องราวชีวิตจริงของเขามาดัดแปลงเป็นบทภาพยนตร์ และชักชวนแจนโดรมานำแสดงด้วยตัวเอง

นั่นคือที่มาของภาพยนตร์เรื่อง “The Rider” (2017) ที่กล่าวถึงตัวละครเคาบอยผู้ได้รับบาดเจ็บหนัก จนไม่สามารถกลับไปโลดโผนบนหลังม้าได้อีก

หนังเรื่องนี้เป็นทั้งบันทึกการเปลี่ยนผ่านของวันวัย จดหมายรักถึงมิดเวสต์ และจดหมายเหตุที่ถ่ายทอดมุมมองหลากหลายของชาวอเมริกันอนุรักษนิยมในพื้นที่ชนบท ซึ่งรู้สึกแปลกแยก-ถูกทอดทิ้งจากระบบการเมืองในยุคทรัมป์

มองเผินๆ หนังยาวลำดับที่สามของโคลอี้ เจา อย่าง “Nomadland” ก็คล้ายจะถูกหล่อหลอมจากกระบวนการทำงานแบบเดิมๆ โดยเจาได้ไปใช้ชีวิตกับเหล่าผู้คนที่เดินทาง-อยู่อาศัยบนรถบ้านเป็นเวลานานหลายเดือน รวมทั้งชักชวนพวกเขาบางส่วนมาสวมบทบาทเป็นนักแสดงสมทบในภาพยนตร์เรื่องนี้

แต่มีบางองค์ประกอบที่ส่งผลให้หนังยาวสองเรื่องแรกกับหนังยาวเรื่องล่าสุดมีความแตกต่างกัน

เพราะในขณะที่ “Songs My Brothers Taught Me” และ “The Rider” มีโจทย์สำคัญอยู่ที่การพยายามทำให้ “เยาวชนคนพื้นเมือง” มีตัวตนในภาพยนตร์

“Nomadland” กลับมีโจทย์หลักอยู่ที่การต้องทำให้ดารามากประสบการณ์เช่น “ฟรานเซส แม็กดอร์มานด์” ค่อยๆ มีความผสมกลมกลืนเข้ากับวิถีชีวิตในแบบคนเร่ร่อน

ยิ่งกว่านั้น ในขณะที่ผลงานสองเรื่องแรกได้ปักหลักถ่ายทำกันในเขตสงวนของชนพื้นเมืองเพียงพื้นที่เดียว แต่ผลงานลำดับสามของเจากลับต้องร่อนเร่รอนแรมไปกับรถแวนที่ตระเวนเดินทางข้ามพื้นที่เจ็ดรัฐของสหรัฐอเมริกา

แม้จะมีภาพลักษณ์เป็น “คนทำหนังอเมริกัน” แต่โคลอี้ เจา แสดงความเห็นว่าผลงานของเธอนั้นผูกพันกับรากเหง้าที่ประเทศจีนอย่างลึกซึ้ง

“ฉันต้องการให้สมาชิกครอบครัวของตัวเองที่จีน ซึ่งพวกเขาไม่ได้พูดภาษาอังกฤษหรือมีความใส่ใจต่อสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นที่นี่ (อเมริกา) มากนัก ได้ดูหนังเรื่องนี้ และสามารถเชื่อมโยงตัวพวกเขาเองเข้ากับเหล่าตัวละคร ด้วยความมุ่งหวังดังกล่าว ฉันจึงต้องมุ่งเน้นความสนใจไปที่เรื่องราวอันเป็นสากลของมนุษย์”

น่าสนใจว่าโปรเจ็กต์ภาพยนตร์เรื่องถัดไปของโคลอี้ เจา คือหนังฟอร์มยักษ์ในจักรวาลมาร์เวลเรื่อง “The Eternals” ซึ่งจะนำแสดงโดยแอนเจลินา โจลี, ซัลมา ฮาเยก และริชาร์ด แมดเดน

เธอจึงมีสถานะเป็นผู้หญิงเอเชียคนแรกที่ได้กำกับภาพยนตร์แนวซูเปอร์ฮีโร่ของฮอลลีวู้ด

บางคนอาจรู้สึกแปลกใจที่สุภาพสตรี, คนเอเชีย และคนทำหนังอเมริกันอินดี้รายหนึ่ง ได้รับการคัดเลือกให้มาเป็นผู้กำกับภาพยนตร์แนวนี้ แต่เจามองข้ามปัญหาดังกล่าว และบอกว่า เธอเองเป็นแฟนหนังในจักรวาลมาร์เวลมาเกินหนึ่งทศวรรษ

เช่นเดียวกับที่มีอีกหลายคนเชื่อมั่นว่ามุมมอง-ประสบการณ์เฉพาะของโคลอี้ เจา จะช่วยเพิ่มรสชาติแปลกใหม่ให้แก่ซูเปอร์ฮีโร่มาร์เวลได้อย่างแน่นอน

ข้อมูลจาก

https://www.scmp.com/lifestyle/entertainment/article/3101794/about-chloe-zhao-china-born-director-nomadland-oscars-hope

https://www.scmp.com/magazines/style/celebrity/article/3095829/how-did-its-okay-not-be-okays-kim-soo-hyun-become-koreas