ทวีศักดิ์ บุตรตัน : โควิด-19 ช่วยลดโลกร้อน?

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

“ถ้าคิดว่ามาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทั้งล็อกดาวน์ปิดเมืองหรือเว้นระยะห่างทางสังคมแล้วจะทำให้ปัญหาภาวะโลกร้อนหรือปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศโลกลดลง คุณคิดผิดแล้ว” เอไลซา แมคคินทอช นักเขียนของสำนักข่าวซีเอ็นเอ็นเกริ่นนำในบทความชื่อ “โรคระบาดไม่ได้แก้ปัญหาโลกร้อน มหันตภัยในสัปดาห์นี้เป็นเครื่องพิสูจน์”

“แมคคินทอช” บรรยายต่อว่า เชื้อโควิด-19 แพร่ระบาดไปทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก รัฐบาลประเทศต่างๆ ใช้มาตรการทางกฎหมายบังคับผู้คนอยู่กับบ้านเพื่อหยุดการแพร่เชื้อ การปล่อยก๊าซพิษสู่ชั้นบรรยากาศโลกในแต่ละวันลดลงถึง 17 เปอร์เซ็นต์เมื่อเปรียบเทียบกับปริมาณการปล่อยก๊าซพิษช่วงเวลาเดียวกันในปี 2562

ตัวเลขนี้ยังบอกให้รู้อีกว่าชาวโลกถูกบังคับด้วยโควิด-19 มีผลต่อปริมาณการปล่อยก๊าซพิษลดน้อยลงมากที่สุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สอง

ปริมาณก๊าซพิษลดลงก็จริงอยู่แต่มหันตภัยที่เกิดจากภาวะโลกร้อนกลับไม่ได้บรรเทาเบาบางลงเลย

 

ต้นเดือนกันยายนนี้ อุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นทำให้ธารน้ำแข็งขนาดใหญ่บนขั้วโลกเหนือและเกาะกรีนแลนด์ละลาย มีผลต่อระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูง แนวโน้มจะกระทบต่อประชาชนที่อยู่อาศัยริมชายฝั่งจำนวนนับล้านชีวิต

อุณหภูมิเพิ่มสูง อากาศที่ร้อน ผืนดินแห้งแล้งและกระแสลมแรงเป็นปัจจัยหลักทำให้เกิดไฟป่าลุกลามเผาพื้นที่ป่าและบ้านเรือน บริเวณรัฐโอเรกอน แคลิฟอร์เนียและพื้นที่อื่นๆ ในซีกตะวันตกของสหรัฐอเมริกา

ไฟป่าเผาพื้นที่รวมๆ แล้ว 17 ล้านไร่ สร้างความเสียหายอย่างมาก มีผู้เสียชีวิตหลายสิบคน กลุ่มควันไฟลอยไปไกลข้ามทวีปไปถึงฝั่งยุโรป นับเป็นมหันตภัยรุนแรงที่สุดในรอบ 18 ปีของสหรัฐ

แค่นั้นยังไม่พอ บริเวณฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติก เกิดพายุเฮอร์ริเคนหลายครั้ง และเมื่อกลางเดือนกันยายนที่ผ่านมา พายุหมุนก่อตัวพร้อมๆ กันถึง 5 ลูก และอีก 2 ลูกกำลังก่อตัว

การก่อตัวของพายุพร้อมๆ กันดังกล่าวนี้เป็นปรากฏการณ์น่าจับตาอย่างมากเพราะตั้งแต่มีการบันทึกข้อมูลทางอุตุนิยมวิทยา เพิ่งมีปรากฏการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นในมหาสมุทรแอตแลนติกเป็นครั้งที่สอง โดยครั้งแรกนั้นเกิดขึ้นในเดือนกันยายน 2514

นักวิทยาศาสตร์ชี้ว่าการก่อตัวของพายุเฮอร์ริเคนในมหาสมุทรแอตแลนติกเกิดขึ้นถี่บ่อยเพราะอุณหภูมิผิวน้ำร้อนขึ้น และยังแสดงให้เห็นว่า ปริมาณความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศโลกไม่ได้ลดลงแต่อย่างใด

แค่เชื้อโควิด-19 ระบาดแล้วชาวบ้านอยู่บ้านไม่ขับรถเพ่นพ่านบนถนนเพียง 1-2 เดือน ไม่สามารถแก้วิกฤตโลกร้อนได้ เพราะเมื่อประเทศต่างๆ เลิกล็อกดาวน์ การทำกิจกรรมต่างๆ กลับเข้าสู่สภาพเดิม การปล่อยก๊าซพิษสู่ชั้นบรรยากาศโลกก็เพิ่มขึ้นอีก

ความเข้มข้นของก๊าซพิษในชั้นบรรยากาศโลก สะสมมาตั้งแต่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม มีเทคโนโลยีเครื่องจักรกล เครื่องไฟฟ้า รถยนต์ ผู้คนใช้น้ำมัน ก๊าซและถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงกันอย่างบ้าคลั่ง

 

ศาสตราจารย์อิแลน เคลแมน ผู้เชี่ยวชาญด้านความเสี่ยง การฟื้นฟูและสุขภาวะโลก แห่งมหาวิทยาลัยลอนดอนคอลเลจชี้ว่า สภาพภูมิอากาศที่แปรปรวนอย่างรุนแรงที่เราได้เห็นเป็นประจักษ์ในขณะนี้กล่าวได้ว่าเป็นเรื่องใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ

โลกของเราร้อนขึ้นกว่าแต่ก่อนมากและอุณหภูมิเพิ่มขึ้นรวดเร็วการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิมีผลต่อสภาวะภูมิอากาศของโลก ทำให้อากาศแปรปรวน ร้อนแล้งเกิดพายุใหญ่ ฝนตกหนัก

ฉะนั้น ไฟป่าที่เผาผลาญทั้งในสหรัฐ ออสเตรเลีย ยุโรป ในบ้านเรา ขณะที่พายุเฮอร์ริเคน พายุไต้ฝุ่น ไซโคลน เกิดขึ้นทั่วโลกและธารน้ำแข็งขั้วโลกละลายล้วนแล้วเป็นผลพวงจากก๊าซพิษที่สะสมอยู่ในชั้นบรรยากาศโลก

ข้อเรียกร้องให้ชาวโลกช่วยกันลดการปล่อยก๊าซพิษให้น้อยลงจึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งยวด เพราะสกัดกั้นไม่ให้อุณหภูมิโลกพุ่งทะลุถึง 2 องศาเซลเซียส และถ้าเป็นไปได้ ลดให้ต่ำกว่า 1.5 องศาเซลเซียสก็ยิ่งดี ไม่ยังงั้นชาวโลกจะเจอมหันตภัยเลวร้ายกว่าที่เห็นในวันนี้

แม้ตามเป้าหมายภายใน 10 ปีข้างหน้าชาวโลกต้องร่วมมือลดการปล่อยก๊าซพิษให้น้อยลงครี่งหนึ่งของปริมาณก๊าซพิษที่ปล่อยในปัจจุบัน และอีก 20 ปีถัดไปลดให้เหลือเป็นศูนย์ แต่ภาวะโลกร้อนยังไม่ได้ลดลง

เพียงแค่หยุดยั้งไม่ให้เกิดมหันตภัยครั้งใหญ่เท่านั้นเอง

 

นักวิทยาศาสตร์ศึกษาภาพถ่ายทางดาวเทียมถึงผลกระทบของโรคระบาดโควิด-19 กับชั้นบรรยากาศโลกในช่วงล็อกดาวน์ พบว่าเป็นปรากฏการณ์ชั่วครั้งชั่วคราว

กระนั้นก็เป็นการสะท้อนให้เห็นว่า เมื่อชาวโลกหยุดกิจกรรมนานาชนิด เช่น ไม่ขับรถยนต์ ไม่เดินทางข้ามประเทศ ไม่ร่วมชุมนุมสังสรรค์ หยุดอยู่กับบ้านติดต่อสื่อสารกันผ่านโทรศัพท์มือถือ การปล่อยก๊าซพิษก็ลดลงไปด้วย

การร่วมมือลดภาวะโลกร้อนต้องทำพร้อมๆ กันทั้งโลกเช่นกัน ด้วยการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีพลังงานสะอาด พลังงานหมุนเวียน เป็นเชื้อเพลิงที่ไม่ก่อให้เกิดก๊าซพิษ

“เคลแมน” เชื่อว่า เมื่อชาวโลกร่วมมือสกัด “โควิด-19” ด้วยการล็อกดาวน์จนทำให้ปล่อยก๊าซพิษลดลง นั่นแสดงให้เห็นว่า การร่วมมือลดภาวะโลกร้อนชาวโลกต้องทำได้เช่นกัน

การเปลี่ยนผ่านสังคมไปสู่ยุคเทคโนโลยีพลังงานสะอาด ทำให้เกิดการสร้างงานใหม่ๆ วิถีชีวิตของผู้คนเปลี่ยนไปทั้งการเป็นอยู่และการบริโภค

หากวันนั้นมาถึงโลกของเราจะน่าอยู่ขึ้นอีกเยอะ