คนของโลก : ‘ฟิเดล คาสโตร’ 9 ทศวรรษผู้นำปฏิวัติคิวบา

AFP PHOTO / ADALBERTO ROQUE

ตลอดคืนวันที่ 12 สิงหาคม ย่างเข้าสู่วันที่ 13 สิงหาคม ประชาชนชาวคิวบาโดยเฉพาะบนชายหาดของกรุงฮาวานา คลาคล่ำไปด้วยผู้คนที่มารวมตัวกันเฉลิมฉลองวันคล้ายวันเกิดครบรอบ 90 ปีของบุคคลสำคัญแห่งคิวบา “ฟิเดล คาสโตร”

คาสโตร อดีตนายกรัฐมนตรีและอดีตประธานาธิบดีแห่งคิวบา ปรากฏตัวต่อสาธารณะอีกครั้งในงานกาลาที่คาร์ล มาร์กซ์ เธียเตอร์ ในช่วงค่ำวันที่ 13 สิงหาคม เคียงข้าง ราอูล คาสโตร น้องชาย ประธานาธิบดีคิวบาวัย 85 ปี และประธานาธิบดีเวเนซุเอลา พันธมิตรสำคัญในภูมิภาค

หลังคาสโตรปรากฏตัวครั้งสุดท้ายในการประชุมพรรคคอมมิวนิสต์ เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา

Fidel_Castro8ภาพ ฟิเดล คาสโตร ที่มีหนวดเคราหงอกขาว และสภาพร่างกายเปราะบาง แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับ “ฟิเดล คาสโตร” หรือ “เอล คอมมานดานเต้” ของกองทัพปฏิวัติคิวบารูปร่างกำยำ ในชุดทหารสีเขียว ที่นำกำลังโค่นล้ม “ฟุลเฮนซิโอ บาติสตา” ผู้นำเผด็จการคิวบาที่ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกา ลงได้ในปี 1959 ก่อนที่คาสโตรจะนำคิวบาเป็นรัฐสังคมนิยมพรรคการเมืองเดียว และเป็นผู้มอบสวัสดิการรักษาพยาบาลฟรี เรียนฟรี และที่พักอาศัยฟรี สำหรับประชาชนบนประเทศเกาะที่ยากจนในทะเลแคริบเบียนแห่งนี้

อย่างไรก็ตาม แม้ภาพลักษณ์นักรบแห่งกองทัพปฏิวัติคิวบาที่บุกตะลุยลงจากภูเขาพร้อมปืนไรเฟิลในมือ จะปลุกเร้าอารมณ์ของผู้สนับสนุนรักใคร่ตัวผู้นำผู้นี้ แต่นโยบายการปกครองแบบคอมมิวนิสต์ และการใช้วิธีการ “กำปั้นเหล็ก” จัดการกับศัตรูทางการเมืองก็สร้างความเป็นปฏิปักษ์กับชาติมหาอำนาจตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “สหรัฐอเมริกา” ประเทศทุนนิยมประชาธิปไตย ที่เห็นคิวบาเป็นประเทศคอมมิวนิสต์หอกข้างแคร่ที่ใกล้แค่หน้าประตูบ้าน

ตลอดช่วงระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคิวบา ระหว่างปี 1959 ถึง 1976 และตำแหน่งประธานาธิบดีระหว่างปี 1976 ถึง 2008 ก่อนส่งต่ออำนาจให้น้องชาย รวมระยะเวลาราว 48 ปี ฟิเดล คาสโตร ท้าทายอำนาจประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาถึง 10 คน และรอดจากการลอบสังหารมานับครั้งไม่ถ้วน

เจ้าหน้าที่ทางการคิวบาอ้างว่าตลอดระยะเวลาดำรงตำแหน่ง “ฟิเดล คาสโตร” ถูกลอบสังหารถึงกว่า 600 ครั้ง นับเป็นจำนวนมากเกินกว่าที่จะสามารถหาข้อมูลมายืนยันได้

“ถ้าการรอดจากการลอบสังหารถูกบรรจุอยู่ในกีฬาโอลิมปิก ผมคงได้เหรียญทองไปแล้ว” คาสโตร ระบุในการสัมภาษณ์หลายครั้งในช่วงเวลาที่ผ่านมา

Fidel_Castro_-_MATS_Terminal_Washington_1959
ซีเอ็นเอ็นรายงานว่า ชื่อเสียงด้าน “โกงความตาย” ของคาสโตรนั้นมีมาก่อนที่จะดำรงตำแหน่งผู้นำคิวบา ขณะที่คาสโตรยังเป็นนักปฏิวัติอายุน้อยนั้น สื่อคิวบาเคยรายงานข่าวการเสียชีวิตของคาสโตรมาแล้วถึง 2 ครั้ง

ครั้งหนึ่งคือข่าวการเสียชีวิตในการลุกฮือขึ้นโจมตีค่ายทหารที่มอนคาดาซึ่งประสบความล้มเหลว และอีกครั้งในการเดินทางกลับจากการลี้ภัยพร้อมกองกำลังกบฏสู่คิวบาทางเรือ

หลังโค่นล้ม “ฟุลเฮนซิโอ บาติสตา” ลงได้สำเร็จรายงานของสำนักงานข่าวกรองกลางสหรัฐ (ซีไอเอ) เปิดเผยด้วยว่า ฟิเดล คาสโตร สามารถรอดจากการลอบสังหารจากซีไอเอได้หลายต่อหลายครั้ง ไม่ว่าจะจาก แผนวางยาพิษ ของกลุ่มมาเฟียอเมริกันที่สูญเสียผลประโยชน์จากการถูกยึดกิจการโรงแรม กาสิโนในคิวบา ร่วมมือกับซีไอเอในปี 1960 เช่นเดียวกับความพยายามของ มาริตา ลอเรนซ์ คู่รักของคาสโตรที่สมคบคิดกับซีไอเอ วางแผนลอบสังหารคาสโตรด้วยยาพิษในปีเดียวกัน

ไม่เว้นแม้แต่ในการประชุมสุดยอดผู้นำละตินอเมริกา และยุโรป ที่ประเทศปานามา เมื่อปี 2000 ที่คาสโตรอ้างว่า อดีตทหารคิวบาที่แปรพักตร์เข้ากับซีไอเอ พยายามลอบสังหารตนด้วยอาวุธรวมถึงระเบิดในการประชุมครั้งนั้น ซึ่งแน่นอนว่าคาสโตรรอดมาจนถึงทุกวันนี้

แม้ความพยายามหมายเอาชีวิตของผู้นำคิวบาผู้นี้จะไม่สามารถนำคาสโตรออกจากตำแหน่งได้ แต่สุขภาพที่ทรุดโทรมลงส่งผลให้ “เอล คอมมานดานเต้” ต้องส่งมอบอำนาจต่อให้กับราอูล ผู้เป็นน้องชายในปี 2008


เกือบ 10 ปีที่ ฟิเดล คาสโตร ถอยออกมาจากการเมือง ปัจจุบัน คิวบาภายใต้การนำของ ราอูล คาสโตร ได้เปลี่ยนไปมากมาย ผลจากนโยบายส่งเสริมการค้าและการลงทุน สร้างสัมพันธ์กับชาติตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “สหรัฐอเมริกา” ที่ไม่ใช่ศัตรูอย่างเป็นทางการของคิวบาอีกต่อไป

อย่างไรก็ตาม บทความของ ฟิเดล คาสโตร ตีพิมพ์ในสื่อท้องถิ่นของคิวบาเมื่อวันที่ 12 สิงหาคมที่ผ่านมา วิพากษ์วิจารณ์ บารัค โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐที่ไม่ได้กล่าวขอโทษขณะเดินทางเยือนญี่ปุ่น ต่อการทิ้งระเบิดปรมาณูใส่ฮิโรชิมาและนางาซากิในสงครามโลกครั้งที่สอง รวมถึงการพูดถึงความพยายามของสหรัฐในการลอบสังหารตนนับครั้งไม่ถ้วนนั้น

แสดงให้เห็นว่าไฟในตัวชายวัย 90 ปีผู้นี้ไม่เคยมอดลงเลย