E-DUANG : บทบาท รัฐบาล พลังประชารัฐ พิทักษ์ ปกป้อง “รัฐธรรมนูญ”

หากมองปรากฏการณ์”เยาวชนปลดแอก”อย่างมองเห็นพัฒนาการจากการชุมนุมเมื่อตอนค่ำของวันที่ 18 กรกฎาคม ณ อนุสาวรีย์ประ ชาธิปไตยได้ปรากฏรูปธรรมแห่งการเคลื่อนไหวมากมาย

ไม่ว่าจะเป็นการชุมนุมของเหล่า”ผู้วิเศษ”บริเวณหน้าแม็คโดนัลด์เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม

ไม่ว่าจะเป็นการชุมนุม ณ ลานพญานาค มหาวิทยาลัยธรรม ศาสตร์ ศูนย์รังสิต เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม ซึ่งเป็นครั้งแรกที่จำนวนผู้เข้าร่วมมีมากถึง”เรือนหมื่น”

ไม่ว่าจะเป็นการชุมนุมครั้งที่ 2 ของ”เยาวชนปลดแอก” ณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม ซึ่งไม่เพียงแต่จำนวน ผู้เข้าร่วมจะทะยานเป็น”หลายหมื่น”

หากแต่ยังสะท้อนพัฒนาการอย่างมีนัยสำคัญจาก”เยาวชนปลดแอก” ไปสู่”ประชาชนปลดแอก” และรูปธรรมอันทรงความหมายยิ่งคือการเข้าร่วมของ”คนเสื้อแดง”

จากนั้นเมื่อถึง”19 กันยา ทวงอำนาจ คืนราษฎร”ขบวนการก็ได้บรรลุขั้นตอนแห่งการก้าวกระโดดใหญ่ในทางการเมือง

ด้วยการกระจายจาก”ธรรมศาสตร์”เข้าสู่”สนามหลวง”

 

ไม่ว่าจะจากปรากฏการณ์ครั้งแรกที่เริ่มโดย”เยาวชนปลดแอก”มายังปรากฏการณ์ล่าสุด”19 กันยา ทวงอำนาจ คืนราษฎร”เป้าหมายอันแจ่มชัดอย่างที่สุดของการเคลื่อนไหว

ยังแน่วแน่อยู่กับข้อเรียกร้องในเรื่อง”รัฐธรรมนูญ”ที่เป็นประชาธิปไตยเพื่อบรรลุสู่เป้าหมาย”ยุบสภา”คืนอำนาจให้ประชาชน

นั่นก็คือ ยังเป็นการเคลื่อนไหวภายในหนทาง”รัฐสภา”

นั่นก็คือ ยังเป็นการเคลื่อนไหวที่มิได้มีเป้าหมายเพื่อเปลี่ยนคน ตรงกันข้าม ยังวางยุทธศาสตร์อยู่ที่การเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์โดยมีจุดอยู่ที่”รัฐธรรมนูญ”

พลันที่รัฐบาลโดยการสมคิดระหว่างพรรคพลังประชารัฐกับ 250 ส.ว.ยื้อการแก้ไขรัฐธรรมนูญผ่านการตั้ง”กรรมาธิการ”

นั่นหมายถึงการปฏิเสธและไม่รู้ร้อนหนาวจาก”รัฐบาล”

 

บนพื้นฐานที่”รัฐธรรมนูญฉบับนี้ DESIGN มาเพื่อพวกเรา”ทำให้รัฐบาลโดยพรรคพลังประชารัฐและ 250 ส.ว.เล่นบทพิทักษ์รัฐธรรมนูญอย่างสุดชีวิตจิตใจ

ทำให้กลไกที่จะบริหารจัดการผ่านระบบรัฐสภาหมดสภาพ

การตัดสินใจเมื่อวันที่ 24 กันยายนจึงเท่ากับเป็นการสาดน้ำมัน เข้าไปยังกองเพลิงแห่งความขัดแย้งให้ลุกโชนโชติช่วง

รัฐบาลได้กลายเป็นปัจจัย กลายเป็นปัญหาในทางการเมือง