ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 18 - 24 กันยายน 2563 |
---|---|
คอลัมน์ | ยุทธบทความ |
ผู้เขียน | ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข |
เผยแพร่ |
“ภายหลังการล่มสลายของภูมิภาคอินโดจีน การถอนตัวของสหรัฐอเมริกาออกจากไทยกลายเป็นความจำเป็นทางการเมืองไปโดยปริยาย แม้ว่าอาจจะมีบางคนที่แอบหวังว่า ประเทศไทยน่าจะยื้อไม่ให้สหรัฐถอนกำลังออกจากประเทศไทยง่ายดายเกินไป… [ดังนั้น] สิ่งที่ประเทศไทยพอจะหวังได้เมื่อเกิดวิกฤตการณ์ขึ้นคือ รอความเมตตาจากสภาคองเกรสสหรัฐ ซึ่งไม่เป็นการเพียงพอ”
พล.อ.สายหยุด เกิดผล (2521)
นับจากการล้อมปราบใจกลางกรุงเทพมหานครในเดือนตุลาคม 2519 แล้ว ชัยชนะที่ปีกขวาจัดไทยเคยเชื่อว่า การปราบปรามในเมืองจะเป็นเครื่องมือในการทำลายฝ่ายคอมมิวนิสต์นั้น ดูจะเป็นเพียง “ความฝันที่ห่างไกล” อย่างมาก
เพราะสงครามประชาชนในชนบทขยายตัวทันที แม้ตัวเลขกำลังพลของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) จะเพิ่มขึ้นจาก 8,000-9,000 คน เป็น 12,000 คนโดยประมาณ ซึ่งอาจจะถือว่าเป็นตัวเลขที่ไม่มากนัก อันเป็นผลจากการเข้าร่วมการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธของนักศึกษาประชาชนราว 3,000 คน ที่ตัดสินใจ “เข้าป่า” หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ
ในอีกด้านจะเห็นได้ชัดถึงการขยายขอบเขตของสงครามในชนบท ดังจะเห็นได้ว่าเมื่อเข้าสู่ปี 2520-2521 แล้ว การขยายปฏิบัติการทางทหารของ พคท.เพิ่มมากขึ้นถึงร้อยละ 20 ซึ่งต้องถือว่าเป็นตัวเลขที่น่ากังวลในทางการทหาร เพราะเท่ากับเป็นสัญญาณของ “การยกระดับสงคราม”
ผลที่ตามมาคือคำถามประการสำคัญว่า สงครามประชาชนในไทยจะจบลงด้วยจุดสุดท้ายเดียวกับสงครามในอินโดจีน ที่รัฐบาลฝ่ายขวาเกิดอาการ “ล้มตามกัน” ในแบบของตัวโดมิโนหรือไม่
ภาพของสงครามอินโดจีนที่จบลงด้วยการเดินทางของผู้อพยพจำนวนมหาศาลหนีภัยสู่สังคมไทยเป็นสัญญาณที่น่ากลัวในตัวเอง
และถ้าโดมิโนกรุงเทพฯ ล้มลงจริงแล้ว ผู้อพยพจากไทยจะต้องกลายเป็น “มนุษย์เรือ” (boat people) เดินทางไปสู่ค่ายผู้ลี้ภัยสงครามในประเทศใด?
แน่นอนว่า สงครามที่จบลงด้วยความพ่ายแพ้ของรัฐเก่า จะนำไปสู่การล่มสลายของสังคมเดิม และการสิ้นสุดของระบอบการปกครองเดิม อีกทั้งมีนัยถึงการสิ้นสภาพของกองทัพของรัฐเดิมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ด้วย เช่นที่เห็นชัดเจนแล้วในอินโดจีนทั้งสามประเทศ
และการล่มสลายเช่นนี้มีไทยเป็นพื้นที่พักพิง…
บทสุดท้ายของสงครามเป็นเดิมพันชุดใหญ่ ที่มีชีวิตของผู้คนทั้งสังคมอยู่บนกระดานชุดนี้ แม้ชนชั้นนำและผู้นำระดับสูงบางส่วนจะสามารถเดินทางลี้ภัยออกนอกประเทศได้ก็ตาม
แต่สังคมเก่าก็จะสิ้นสลายไป
สงครามชนบทหลัง 2519
สงครามประชาชนในไทยหลังจากการล้อมปราบใหญ่ในปี 2519 กลายเป็นสัญญาณที่น่ากังวลอย่างมาก
เพราะหากพิจารณาจากจุดเริ่มต้นของการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธในเดือนสิงหาคม 2508 นั้น สงครามไม่ได้ขยายตัวไปรวดเร็วอย่างที่หลายฝ่ายคิด
สงครามยังคงมีลักษณะเป็น “สงครามป่าเขา” ที่มีพื้นที่การสู้รบอยู่ในชนบทที่ห่างไกลจากศูนย์กลางอำนาจรัฐที่กรุงเทพฯ ชนชั้นนำและผู้นำทหารยังเชื่อมั่นว่า แม้การทุ่มกำลังรบขนาดใหญ่เข้าสู่ปฏิบัติการกวาดล้างในชนบทแล้ว กองทัพอาจจะยังไม่ชนะสงครามนี้
แต่สงครามก็ยังคงอยู่ในพื้นที่ที่ค่อนข้างจำกัดอย่างมาก หรืออาจกล่าวในทางภูมิศาสตร์ได้ว่า สงครามอยู่ไม่ไกลเกินพื้นที่ชายป่าที่เป็นเขตอิทธิพลของพรรคคอมมิวนิสต์แต่เดิม
และสงครามไม่ได้ขยายเข้าสู่พื้นที่ที่มีความสำคัญเช่นที่เกิดกับเมืองในสงครามเวียดนาม
การทะลักของนักศึกษาประชาชนเข้าร่วมในสงครามหลังปี 2519 จึงเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้กับพรรคคอมมิวนิสต์โดยตรง
และยังทำให้ พคท.สามารถสร้างภาพของการขยายแนวร่วมกับคนกลุ่มต่างๆ ในสังคมไทยได้อย่างมาก
อีกทั้งยังเป็นการแก้ปัญหาการที่พรรคไม่สามารถหาสมาชิกจากคนในชนบทได้มากอย่างที่คิด
ฉะนั้น คนในเมืองที่เดินทางเข้าร่วมการต่อสู้ในฐานที่มั่นจึงเป็นการแก้ไขจุดอ่อนของพรรค ดังจะเห็นได้ว่าหลังจากเริ่มสงครามในกลางปี 2508 สงครามไม่ได้ทวีความรุนแรงหรือมีขอบเขตการสงครามขยายออกไปเท่าใดนัก
ในด้านหนึ่งก็อาจจะเป็นความต้องการของพรรคไทยที่ยึดมั่นอยู่กับชุดความคิดของเหมาเจ๋อตุง ที่ต้องการเน้นถึงสงครามประชาชนในชนบท ภายใต้ “ยุทธศาสตร์ป่าล้อมเมือง” อันถือเป็นแนวทางหลักของ “สงครามปฏิวัติจีน” อันส่งผลให้สงครามจรยุทธ์ในไทยจำกัดอยู่กับความเป็น “สงครามชนบท” (rural warfare)
หากเปรียบเทียบสงครามของไทยกับสงครามในอินโดจีนแล้ว จะเห็นได้ว่าสงครามคอมมิวนิสต์ในไทยมีขนาดเล็ก และไม่สามารถขยายการปลุกระดมเพื่อดึงมวลชนเข้าร่วมการต่อสู้ได้มากเช่นที่เกิดในกรณีของเวียดนาม
ดังนั้น เมื่อเกิดพื้นที่ “หลังพิง” หรืออาจเรียกในทางทหารว่าเป็น “แนวหลัง” ของสงครามในไทยหลังปี 2518 และการขยายฐานมวลชนจากการปราบใหญ่ในปี 2519 แล้ว สงครามประชาชนของพรรคไทยก็ดูจะมีพลังมากขึ้น โดยเฉพาะหากพรรคไทยสามารถสร้างความร่วมมือทางการเมืองและการทหารกับพรรคในอินโดจีนได้จริงแล้ว สงครามในไทยจะพลิกโฉมหน้าอย่างแน่นอน
และไทยคงเป็นโดมิโนตัวที่ 4 ต่อจากอินโดจีน
ปัญหาสองแนวทางในกองทัพไทย
ฉะนั้น จึงไม่แปลกที่มีความกังวลอย่างมากกับอนาคตของไทยหลังปี 2519-2520 ไปแล้ว โดยเฉพาะในอีกส่วนรัฐบาลขวาจัดที่กรุงเทพฯ กลายเป็นเงื่อนไขของ “แนวร่วมมุมกลับ” ให้กับสงครามคอมมิวนิสต์เสียเอง
ผู้นำทหารบางส่วนเริ่มเรียนรู้ว่า นโยบายขวาจัดที่ใช้ “การทหารนำการเมือง” กำลังพาประเทศเข้าสู่จุดจบแห่งความพ่ายแพ้
และยิ่งขวาเท่าใดก็ยิ่งพ่ายแพ้เร็วเท่านั้น
เนื่องจากชนชั้นนำและผู้นำทหารมักจะเชื่อในทฤษฎีสงครามตามแบบ ที่ชัยชนะได้มาด้วย “อำนาจการยิง” ที่เหนือกว่า จนเกิดการละเลยมิติทางสังคมการเมืองที่ซ่อนอยู่ในสงคราม
ในขณะที่นักรบกองโจรพยายามที่จะชนะสงครามด้วยเงื่อนไขที่อ่อนแอกว่า เพราะในทฤษฎีสงครามนอกแบบแล้ว สงครามไม่เคยชนะด้วยอำนาจกำลังรบที่เหนือกว่า แต่ชนะด้วยการเข้าร่วมของ “มวลชนอันไพศาล”
บทเรียนความพ่ายแพ้สงครามของสหรัฐกลายเป็นข้อเตือนใจที่ดี ที่รัฐมหาอำนาจใหญ่ที่มีความพร้อมของกำลังพล งบประมาณ ยุทโธปกรณ์ และเทคโนโลยีทหารสมรรถนะสูง มีความสามารถเพียง “ชนะในการรบ”
แต่กลับไม่ “ชนะในการสงคราม” ได้
คำอธิบายการสงครามด้วยมุมมองอีกแบบทำให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง ทั้งทหาร ตำรวจ และพลเรือนเริ่มจะ “รื้อกระบวนทัศน์เก่า”
และอุปสรรคใหญ่อีกส่วนที่ต้องรื้อทิ้งคือ ความเป็นรัฐบาลอำนาจนิยมแบบเก่าที่เกิดในปี 2519 ทั้งยังต้องเผชิญกับชุดความคิดเก่าที่ดำรงอยู่ในหมู่ชนชั้นนำและผู้นำทหาร ที่ยึดติดอยู่กับการปราบปรามเป็นกระแสหลัก
ปัญหาชุดความคิดใหม่ที่พัฒนาขึ้นภายใต้ทิศทาง “การเมืองนำการทหาร” และมองว่าการคงอยู่ของรัฐบาลเก่าที่กรุงเทพฯ คือความพ่ายแพ้ สมทบเข้ากับปัญหาความสัมพันธ์ทางการเมืองระหว่างผู้นำทหารในระดับกลางกับรัฐบาลแล้ว
คำตอบสุดท้ายจึงเหลือเพียงประการเดียวคือ การทำรัฐประหารตุลาคม 2520 ภายใต้หลักการสำคัญว่า “จะเปลี่ยนยุทธศาสตร์ต้องเปลี่ยนรัฐบาล… ยุทธศาสตร์ใหม่ต้องการรัฐบาลใหม่”
สภาพทางความคิดเช่นนี้ทำให้เกิด “ปัญหาสองแนวทาง” ในหมู่ผู้นำไทยว่า พวกเขาจะเอาชนะสงครามประชาชนอย่างไร… จะต่อสู้ด้วยยุทธศาสตร์และนโยบาย “การเมืองนำการทหาร” หรือจะยืนยันที่จะเดินไปบนเส้นทางเดิมของ “การทหารนำการเมือง”
รัฐประหาร 2520 เปิดโอกาสให้ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ก้าวขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี และเป็นช่วงเวลาหนึ่งที่สำคัญของทหารในการเมืองไทย ที่เห็นถึงบทบาทของนายทหารระดับกลางที่สูงขึ้นอย่างชัดเจน
นายทหาร “กลุ่มยังเติร์ก” มีสถานะเป็นฐานหลักของรัฐบาลในขณะนั้น ขณะเดียวกันก็เปิดโอกาสให้ “กลุ่มทหารประชาธิปไตย” ขยายแนวคิดในการปรับยุทธศาสตร์ได้มากขึ้นด้วย
แม้ต่อมา พล.อ.เกรียงศักดิ์จะต้องลงจากอำนาจด้วยแรงกดดันของกลุ่มยังเติร์กเอง ซึ่งน่าจะเป็นครั้งแรกตั้งแต่ยุคหลังสงครามโลกที่เห็นการประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีกลางสภาในปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2524 ไม่ใช่การถูกโค่นด้วยรัฐประหาร
ผู้นำทหารคนใหม่ก้าวขึ้นมาเป็นนายกฯ เช่นกันคือ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ และคงสถานะของการเป็นผู้บัญชาการทหารบกไว้ด้วย
อันส่งผลให้การผลักดันยุทธศาสตร์ใหม่ที่ดำเนินมาตั้งแต่สมัย พล.อ.เกรียงศักดิ์เป็นจริงมากขึ้น และเริ่มทดลองใช้ยุทธศาสตร์นี้ในกองทัพภาคที่ 4 ในช่วงต้นปี 2523
จนในที่สุดจึงได้ผลักดันออกมาเป็น “คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 66/2523” ในเดือนเมษายนของปีเดียวกัน หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า “คำสั่ง 66/23” และตามมาด้วยยุทธศาสตร์ในทิศทางเดียวกันคือ “คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 65/2525” หรือ “คำสั่ง 65/25″… การเปลี่ยนแปลงยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงของไทยเริ่มต้นขึ้นแล้ว
และคำสั่งนี้กลายเป็นหมุดหมายสำคัญของนโยบายความมั่นคงไทย
ฝันร้ายไม่จบ!
ในขณะที่รัฐบาลทหารไทยพยายามที่จะปรับตัวกับสถานการณ์สงครามภายใน สิ่งที่เกิดขึ้นเป็น “ฝันร้ายด้านความมั่นคง” อย่างมีนัยสำคัญหลังจากการแตกของอินโดจีนในปี 2518 ก็คือ สงครามระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์กัมพูชาและเวียดนาม
ความขัดแย้งชุดนี้ขยายตัวเป็น “สงครามระหว่างพรรคพี่น้อง” ในอินโดจีน
ซึ่งสงครามนี้เป็นผลจากการปะทะตามแนวพรมแดนของสองประเทศตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงในอินโดจีนในกลางปี 2518
แม้จะมีความพยายามในการเจรจาของสองพรรค แต่ก็ไม่บรรลุข้อตกลงทางการเมืองได้
การสู้รบดำเนินต่อเนื่องในปี 2521 จนในที่สุดรัฐบาลเวียดนามตัดสินใจยุติปัญหาด้วยการส่งกำลังรบขนาดใหญ่จำนวน 150,000 นาย เพื่อโค่นล้มรัฐบาลเขมรแดง ที่ถือว่ามีความใกล้ชิดกับจีน ในขณะที่ในช่วงปลายสงครามนั้น รัฐบาลเวียดนามมีความใกล้ชิดกับสหภาพโซเวียต
การรุกขนาดใหญ่เริ่มต้นในวันคริสต์มาสของปี 2521 และในวันที่ 8 มกราคม 2522 กรุงพนมเปญแตก อันส่งผลให้ภูมิทัศน์ความมั่นคงไทยมีความเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง
และเห็นชัดเจนว่าจากต้นปี 2522 เป็นต้นไป แนวชายแดนไทยจะประชิดเข้ากับเขตอิทธิพลของเวียดนามที่เป็นพื้นที่ของลาวและกัมพูชา…
อดคิดถึงการแข่งขันอิทธิพลเหนือลุ่มน้ำโขงในยุครัตนโกสินทร์ตอนต้นไม่ได้ การต่อสู้ในครั้งนั้นนำไปสู่ “สงครามระหว่างกรุงเทพฯ กับกรุงญวน” หรือสงครามระหว่างสองราชวงศ์ในระหว่างปี 2376-2390
สงครามได้สร้างความบอบช้ำให้แก่ทั้งสองฝ่ายอย่างมาก และถูกเขียนเป็นบันทึกการรบเรื่อง “อานัมสยามยุทธ” ให้เห็นถึงการเผชิญหน้าในอดีต
การเผชิญหน้าระหว่างไทยกับเวียดนามหลังปี 2522 จึงเสมือนการย้อนประวัติศาสตร์ของสงครามสยาม-ญวนในอดีต
แต่สถานการณ์สงครามในยุคใหม่มีราคาและความรุนแรงที่แตกต่างกันอย่างมาก
และผลที่เกิดขึ้นไม่เพียงกระทบกับรัฐบาลไทย หากแต่ยังกระทบกับพรรคคอมมิวนิสต์ไทยอย่างน่าฉงนอีกด้วย…
ชัยชนะของเวียดนามเหนือกัมพูชาท้าทายทั้งสองคู่ขัดแย้งในสงครามภายในของไทยอย่างมาก
และนับจากนี้ทั้งสองฝ่ายต่างถูกบีบให้ต้องกำหนดทิศทางการต่อสู้ใหม่ในแบบที่ไม่คาดคิด!