รายงานพิเศษ / โชคชัย บุณยะกลัมพ/รัฐบาลจีนเร่งพัฒนา IPv6 เลขบัตรประชาชนออนไลน์

รายงานพิเศษ/โชคชัย บุณยะกลัมพ

https://www.facebook.com/ChokCyberAIEntertainment/

รัฐบาลจีนเร่งพัฒนา IPv6

เลขบัตรประชาชนออนไลน์

 

การให้บริการเครือข่ายอินเตอร์เน็ตพื้นฐาน ภายใต้ความมุ่งมั่นที่จะยกระดับเครือข่ายอินเตอร์เน็ตพื้นฐานและการให้บริการระบบสารสนเทศขององค์กรเพื่อรองรับการบริหารในยุคใหม่ด้วยการนำเทคโนโลยีดิจิตอลมาใช้งานที่เพิ่มมากขึ้นในปัจจุบัน

ไม่ว่าจะเป็นเพื่อการสืบค้นและเข้าถึงข้อมูลข่าวสารต่างๆ

การซื้อ-ขายสินค้า-บริการ

การศึกษาเรียนรู้ต่างๆ การจัดการทางการเงิน รวมถึงการติดต่อสื่อสารผ่านเครือข่ายสังคมอินเตอร์เน็ต หรือ Social Network ที่กำลังได้รับความนิยมอย่างมาก

ปัจจุบันยังสามารถใช้งานผ่านโทรศัพท์มือถือ อุปกรณ์ Portable รวมทั้งเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ หรือที่เรียกว่า Internet of Things (IoT) จึงทำให้ความต้องการใช้อินเตอร์เน็ตยิ่งเพิ่มมากขึ้น

 

การใช้อินเตอร์เน็ตผ่านอุปกรณ์ต่างๆ เราจำเป็นต้องมีการระบุตำแหน่งในการเชื่อมต่อ ระบุว่ามาจากที่ใด ด้วยการระบุหมายเลขอินเตอร์เน็ต หรือ Internet Protocol ซึ่งเรียกกันย่อๆ ว่า IP

โดยหมายเลขอินเตอร์เน็ตที่ใช้กันในปัจจุบันเป็นระบบ Internet Protocol version 4 หรือ IPv4 ที่มีทั้งหมดประมาณ 4 พันล้านหมายเลข

ตอนนี้ประเทศต่างๆ ในโลกกำลังพิจารณาเตรียมการเพื่อรองรับการเปลี่ยนไปใช้ระบบ IPv6

ซึ่งต้องพิจารณาความพร้อมในด้านต่างๆ

ทั้งในส่วนของเครื่องมืออุปกรณ์ที่ต้องรองรับ การดำเนินการเตรียมความพร้อมเครือข่าย IPv6

บุคลากรเองก็ต้องเรียนรู้การใช้ระบบใหม่ การสื่อสารยุคใหม่ อินเตอร์เน็ตยุคใหม่ หรือ IPv6

IPv6 คือกลไกสำคัญในการทำงานของเครือข่ายอินเตอร์เน็ตที่เรียกว่าโปรโตคอลอินเตอร์เน็ต ซึ่งใช้หมายเลขอินเตอร์เน็ต หรือไอพีแอดเดรส (IP Address) ในการอ้างอิงเครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์เครือข่ายต่างๆ บนอินเตอร์เน็ตทั่วโลก

เปรียบเสมือนการใช้งานโทรศัพท์ในการติดต่อสื่อสารกัน จะต้องมีเลขหมายเบอร์โทรศัพท์เพื่อให้อ้างอิงผู้รับสายได้

คอมพิวเตอร์ทุกเครื่องในอินเตอร์เน็ตก็ต้องมีหมายเลข IP Address ที่ไม่ซ้ำกับใคร

 

ไอพีแอดเดรสที่ใช้กันทุกวันนี้คือโปรโตคอลอินเตอร์เน็ตรุ่นที่สี่ (IPv4) เวอร์ชั่นที่ 4 ใช้ส่งข้อมูลในเครือข่ายอินเตอร์เน็ตตั้งแต่ปี ค.ศ.1981 ปัจจุบันมีอัตราการเติบโตอย่างรวดเร็ว จำนวนหมายเลขไอพีแอดเดรสของ IPv4 กำลังจะถูกใช้หมดไป ไม่เพียงพอกับการใช้งานอินเตอร์เน็ตในอนาคต

ส่วน IPv6 มีจำนวนไอพีแอดเดรสที่เพิ่มขึ้นอย่างมากมายมหาศาลเมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนไอพีแอดเดรสเดิม

IPv4 แอดเดรส มี 32 บิต รองรับไอพีแอดเดรสได้ประมาณสี่พันล้านหมายเลข

ในขณะที่ IPv6 แอดเดรส มี 128 บิต รองรับไอพีแอดเดรสได้ถึงสามร้อยสี่สิบล้านล้านล้านล้านล้านล้านหมายเลข

การมีไอพีแอดเดรสที่ไม่ซ้ำกันและสามารถเห็นกันได้ทั่วโลก จะช่วยผลักดันการพัฒนาแอพพลิเคชั่นที่ต้องการไอพีแอดเดรสจริงเป็นจำนวนมาก เช่น การทำ File Sharing, Video Conference, และ Online Gaming

แอพพลิเคชั่นเหล่านี้มีข้อจำกัดภายใต้ IPv4 เนื่องจากผู้ใช้บางส่วนไม่มีไอพีแอดเดรสจริง จึงไม่สามารถใช้แอพพลิเคชั่นเหล่านี้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

ซึ่งการขยายตัวของเครือข่ายในอนาคตจะส่งผลในการทำธุรกิจ การเติบโตของธุรกิจ เศรษฐกิจ และการพัฒนาของประเทศ

ในต่างประเทศ IPv6 ถูกเริ่มใช้มาเป็นเวลาหลายปีแล้ว เช่น อเมริกา จีน เกาหลี ญี่ปุ่น และมาเลเซีย

ได้มีการใช้ IPv6 ในเครือข่ายหลายแห่งทั้งของภาครัฐและเอกชน

ประเทศในทวีปเอเชียและยุโรป มีความตื่นตัวเรื่องนี้เป็นอันมาก

 

ความจำเป็นประการแรกในการใช้ IPv6 คือการขาดแคลนหมายเลข IP

สิ่งนี้น่าจะเป็นองค์ประกอบสำคัญสำหรับประเทศในเอเชีย เช่น เกาหลี และญี่ปุ่น ซึ่งมีจำนวนผู้ใช้อินเตอร์เน็ตสูงกว่าหมายเลข IPv4 ที่ได้รับจัดสรรมาก

ความจำเป็นประการที่สอง ได้แก่ ความต้องการบริการหรือแอพพลิเคชั่นชนิดใหม่ เช่น การให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ยุคที่ 3 การใช้แอพพลิเคชั่นแบบ Peer-to-peer หรือการพัฒนาเครือข่ายภายในบ้านสำหรับติดต่อสื่อสารระหว่างอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ ก็อาจเป็นแรงผลักดันสำคัญสำหรับการนำ IPv6 มาใช้

ในส่วนของผู้ให้บริการหากไม่ได้มีการวางแผนการปรับเปลี่ยนเครือข่ายเป็น IPv6 ล่วงหน้า อาจทำให้สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายและเสียโอกาสการแข่งขันทางธุรกิจได้

ด้วยการแข่งขันเทคโนโลยีดิจิตอลจีนได้เร่งพัฒนาระบบอินเตอร์เน็ตให้เปิดกว้าง ใช้งานได้รวดเร็วขึ้น ไม่จำกัดจำนวนของอุปกรณ์ และปิดโอกาสไม่ให้ผู้ใช้งานปิดบังตัวตนได้อีกต่อไป

สำนักข่าวซินหัวของจีนระบุว่า หน่วยงานด้านอินเตอร์เน็ตชั้นนำหลายรายของจีนกำลังเฝ้ารอการเปิดตัวอินเตอร์เน็ตโปรโตคอล (Internet Protocol – IP) ใหม่สำหรับการใช้งานทั่วโลก ที่ใหญ่กว่าและเร็วกว่าที่มีอยู่ในปัจจุบัน ทั้งยังปิดโอกาสที่ผู้ใช้งานจะปกปิดตัวตนด้วย

เนื่องจาก IPv6 จะไม่มีข้อจำกัดเรื่องเลขที่อยู่ไอพี รัฐบาลจีนจึงพิจารณาที่จะสร้างเลขที่อยู่เฉพาะและไม่ซ้ำกับใครในโลกให้กับประชาชนแต่ละคน เปรียบเสมือนตัวเลขประชาชนออนไลน์แล้ว

หวู เฮ่อ ฉวน ประธานกลุ่ม Internet Society of China และรั้งตำแหน่งผู้อำนวยการโครงการ China Next Generation Internet ให้ความเห็นว่า ความสำเร็จในด้านนี้จะทำให้จีนสามารถระบุตัวตนผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ตได้ง่ายขึ้น

ซึ่งเป็นสิ่งที่นักวิเคราะห์นอกประเทศจีนมองว่า เป็นจุดที่ทำให้ผู้นำจีนสนใจการเร่งพัฒนาระบบนี้อย่างมาก

และยกแผนงานนี้ให้เป็นเรื่องเร่งด่วนระดับชาติไปแล้ว