โฟกัสพระเครื่อง/โคมคำ/เหรียญหล่อพระพุทธ รุ่นล้างป่าช้า พ.ศ.2486 หลวงพ่อไปล่ วัดกำแพง

หลวงพ่อไปล่ ฉันทสโร

โฟกัสพระเครื่อง/โคมคำ [email protected]

 

เหรียญหล่อพระพุทธ

รุ่นล้างป่าช้า พ.ศ.2486

หลวงพ่อไปล่ วัดกำแพง

 

“หลวงพ่อไปล่ ฉันทสโร” พระเกจิอาจารย์วัดกำแพง แขวงปากคลองภาษีเจริญ เขตภาษีเจริญ กรุงเทพฯ ชื่อเสียงดังถึงขั้นเป็นคำขวัญของเขตบางขุนเทียนคือ “หลวงพ่อไปล่วัดกำแพง แหล่งเกษตรกรรม วัฒนธรรมมอญบางกระดี่ พื้นที่ทะเลกรุงเทพฯ”

ปี พ.ศ.2485 เกิดอุทกภัยน้ำท่วม โรงเก็บศพในสุสานวัดกำแพงถูกน้ำท่วมซัดเสียหาย อีกทั้งมีศพฝากเก็บไว้จำนวนมาก บางศพไม่มีญาติ บางศพมีญาติ แต่ฐานะยากจน ไม่สามารถเผาให้ถูกต้องตามประเพณีได้ บางศพก็ฝังอยู่เป็นเวลาช้านานมาก

ด้วยเหตุผลดังกล่าว คณะกรรมการวัดจึงคิดจะล้างป่าช้าและสร้างสุสานขึ้นมาใหม่ แต่จำเป็นต้องใช้เงินจำนวนมาก จึงกราบเรียนหลวงพ่อไปล่ ขอให้จัดทำพระเครื่องสมนาคุณแก่ผู้บริจาคเงินมาช่วย

โดยอนุญาตให้จัดสร้างเหรียญรูปพระพุทธ ประทับนั่งอยู่ในซุ้ม เป็นเหรียญหล่อ แจกให้แก่ผู้ที่มาช่วยกันล้างป่าช้าของวัดกำแพง

ลักษณะองค์พระเป็นพิมพ์ห้าเหลี่ยม มีหูเชื่อม ด้านหน้าเป็นรูปพระพุทธองค์ ประทับนั่งปางมารวิชัย บนฐานบัว 2 ชั้น อยู่ในซุ้มเรือนแก้ว ด้านหลังเป็นอักขระขอม

เหรียญดังกล่าว หลวงพ่อไปล่ปลุกเสกเดี่ยว ด้วยพลังจิตอันเข้มขลัง ในพิธีปลุกเสกปรากฏว่าสายสิญจน์ในพิธีตกลงมาถูกเทียนชัยจี้อยู่อย่างนั้น จนหมดเวลาทำพิธี แต่สายสิญจน์ไม่ไหม้ เป็นที่ตื่นตาตื่นใจของผู้ร่วมพิธีและลูกศิษย์ลูกหาของท่านเป็นอย่างมาก

วัตถุมงคลรุ่นล้างป่าช้า จึงเป็นที่เสาะแสวงหากันมาก

เหรียญหลวงพ่อไปล่ รุ่นล้างป่าช้า

 

เกิดในสกุลทองเหลือ เมื่อวันอังคาร เดือน 6 ปีวอก พ.ศ.2403 ภูมิลำเนาอยู่ที่บ้านหมู่ที่ 6 ต.บางบอนใต้ อ.บางขุนเทียน จ.ธนบุรี ครอบครัวประกอบอาชีพเกษตรกรรม

เมื่ออายุ 8 ขวบ ได้ไปศึกษาหนังสือไทยและขอมกับหลวงพ่อทัต วัดสิงห์

เข้าสู่ช่วงวัยหนุ่ม เป็นคนมีใจคอกล้าหาญ มีเพื่อนฝูงมาก ยุคนั้นบ้านบางบอนใต้เป็นแดนนักเลงหัวไม้ เวลามีงานวัดมักจะมีพวกนักเลงนัดตีกันเป็นประจำ ด้วยความที่เป็นนักเลงหัวไม้ ถูกพรรคพวกยกย่องให้เป็นลูกพี่ บิดา-มารดาเกรงว่าจะเสียคน จึงขอร้องให้บวชพระให้สักหนึ่งพรรษา

เข้าพิธีอุปสมบทที่วัดกำแพง มีหลวงพ่อทัต วัดสิงห์ เป็นพระอุปัชฌาย์, หลวงพ่อพ่วง วัดกก เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และหลวงพ่อดิษฐ์ วัดกำแพง เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้ฉายาว่า ฉันทสโร

อยู่จำพรรษาที่วัดกำแพง กรุงเทพฯ ศึกษาพระธรรมวินัย ท่องบทสวดมนต์จนจดจำได้แม่นยำ เกิดเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนา ครบหนึ่งพรรษาแล้วก็ไม่ยอมสึก

พรรษาที่ 2 พยายามจนท่องพระปาติโมกข์ได้และขอถ่ายทอดวิชาด้านกัมมัฏฐานและวิปัสสนาธุระกับพระอุปัชฌาย์และคู่สวด

ด้านพุทธาคมได้เรียนวิชาเมตตามหานิยม เช่น ผง 108 ขี้ผึ้งสีปากจากหลวงพ่อพ่วง วัดกก เรียนทางคงกระพันชาตรี ทำผ้าประเจียดแดงกับหลวงพ่อดิษฐ์ วัดกำแพง

แม้จะศึกษาเล่าเรียนมามาก แต่ไม่เคยคุยโอ้อวด ชอบดำรงตนแบบสมถะ ไม่ทะเยอทะยาน มีความเป็นอยู่อย่างง่ายๆ ขยันในการทำวัตรสวดมนต์ เคร่งครัดในพระธรรมวินัย ชอบความมีระเบียบเรียบร้อย

 

หลวงพ่อเลียบ วัดเลา เคยสนับสนุนให้ได้สมณศักดิ์เป็นพระครู แต่ท่านกลับปรารภว่า “ฉันไม่อยากเป็นครูพระหรอก สอนตัวเองก็พอใจแล้ว เพราะการเป็นพระครู หมายถึงต้องเป็นครูสอนพระ”

แม้ตำแหน่งสมภารท่านก็ไม่เคยสนใจ แต่ขัดชาวบ้านไม่ได้ จำเป็นต้องรับ ใครมีลูกหลานส่วนใหญ่จะมาให้ท่านบวชกับท่าน เพราะเลื่อมใสศรัทธาในจริยวัตรและอยากได้ของขลังของดี

พ.ศ.2478 คณะศิษยานุศิษย์ร่วมกันบำเพ็ญกุศลฉลองอายุให้ ในงานนี้ได้ออกเหรียญรูปเหมือนห่มลดไหล่สมาธิ เป็นเหรียญหล่อทำรูปคล้ายจอบ

เหตุที่สร้างเหรียญรูปจอบ เพราะเป็นสัญลักษณ์เครื่องมือสำคัญในการเพาะปลูก ชาวสวนชาวนาต้องพึ่งจอบเป็นเครื่องมือ

นอกจากเหรียญจอบยอดนิยมแล้ว ยังมีเหรียญรูปไข่ เนื้อสำริดและทองเหลืองฝาบาตร ที่ต้องทำเป็นเหรียญหล่อ ท่านบอกว่าพิธีเข้มข้นกว่าเหรียญปั๊มมาก

มีกระแสจิตกล้าแข็ง คราวหนึ่งพระพุทธพยากรณ์ (เจริญ อุปวิกาโส) วัดอัปสรสวรรค์ (วัดหมู) ศิษย์เอกอีกรูปของพระภาวนาโกศลเถร (หลวงปู่เอี่ยม) วัดหนัง ได้มานิมนต์ให้ไปนั่งปรกในงานหล่อพระ ท่านบอกว่าให้บอกเวลามาว่าพิธีจะเริ่มเมื่อไหร่ แล้วท่านก็นั่งทำสมาธิอยู่ที่กุฏิ โดยไม่ต้องเดินทางมาถึงวัด

พอถึงเวลาปลุกเสก พระอาจารย์ที่นิมนต์มาจะเห็นร่างหลวงพ่อไปล่ปรากฏนั่งสมาธิอยู่ในพิธีด้วย เรื่องนี้เป็นที่โจษจันกันทั่วไป

สำหรับคาถาที่หลวงพ่อไปล่ภาวนาเป็นประจำคือ “คาถากำแพงแก้ว 7 ประการ” ท่องว่า “พุทธัง ธัมมัง สังฆัง สัตตะระตะมะปะการัง อัมหากัง สะระณังคัจฉามิ สุสุละละโสโส นะโมพุทธายะ พุทโธพระบัง ธัมโมพระบัง สังโฆพระบัง”

 

มรณภาพด้วยอาการอันสงบ เมื่อปี พ.ศ.2482 สิริอายุ 79 พรรษา 59

ในวันฌาปนกิจมีผู้คนไปร่วมงานกันมากมาย อีกทั้งได้เกิดเรื่องปาฏิหาริย์ โดยพวกลูกศิษย์นำพลุ ตะไล ดอกไม้เพลิงมาจุด ปรากฏว่าด้านหมด เนื่องจากไม่ชอบเสียงอึกทึกครึกโครม

แต่พองานเลิกได้นำมาจุดใหม่ เกิดเสียงดังสนั่นหวั่นไหว กลายเป็นเรื่องเล่าขานมาจนทุกวันนี้