ต่างประเทศอินโดจีน : “กับดักหนี้” ที่ลาว

เมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา มีรายงานถึงการเปลี่ยนแปลงที่มีนัยสำคัญสูงยิ่งขึ้นกับ “การไฟฟ้าแห่งลาว” (Electricite du Laos – EdL) ซึ่งรับผิดชอบการผลิตและการจ่ายกระแสไฟฟ้าทั้งหมดของลาว

รอยเตอร์ส สำนักข่าวของอังกฤษ อ้างแหล่งข่าวภายในอีดีแอล 3 รายให้ความเห็นตรงกันว่า วิสาหกิจของรัฐแห่งนี้เปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นใหญ่ไปแล้ว

ซินหัว สำนักข่าวทางการจีนระบุเพียงว่า บริษัทไชน่า เซาเทิร์น เพาเวอร์ กริด (ซีเอสพีจี) ของจีน “บรรลุความตกลงในการจัดสรรหุ้น” กับอีดีแอลไปเมื่อ 1 กันยายนที่ผ่านมา โดยไม่ได้ให้รายละเอียดอื่นใด

ในขณะที่แหล่งข่าวของรอยเตอร์สระบุชัดว่า ความตกลงดังกล่าวเป็นการยินยอมให้ซีเอสพีจีเข้ามาถือหุ้นใหญ่ ซึ่งเท่ากับเป็นการยินยอมให้กิจการของจีนเข้ามาบริหาร ควบคุม และกำหนดแนวทางของอีดีแอลทั้งหมด

ไม่ค่อยปรากฏกันนักว่าประเทศใดประเทศหนึ่งยินยอมให้อีกประเทศหนึ่งเข้ามาควบคุมการไฟฟ้า ที่ถือเป็นกิจการ “สาธารณูปโภคพื้นฐาน” และเป็น “ความมั่นคง” ของประเทศตน

ในกรณีของลาว ยิ่งไปกว่านั้น ไฟฟ้าคือสินค้าออกสำคัญที่เป็นหัวใจของแผนพัฒนาประเทศอีกด้วย

ทำไมลาวจึงต้องยินยอมถึงขนาดนั้น?

 

ไม่มีคำตอบที่ชัดเจน ซินหัวบอกเพียงว่า การร่วมมือกันครั้งนี้จะทำให้ “การไฟฟ้าลาวมีอำนาจต่อรองดีขึ้น” ในการซื้อ-ขายไฟฟ้าให้กับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค และ “เริ่มต้นทำกำไร” เสียที

อ้างคำกล่าวของคำมะนี อินทิราด รัฐมนตรีพลังงานและเหมืองแร่ของลาวเอาไว้ด้วยว่า ลาวจะได้ประโยชน์จากประสบการณ์ เทคโนโลยีและทรัพยากรบุคคลจากจีน

เวียงจันทน์ไทม์สบอกว่า หลังตกลงเรื่องสัดส่วนการถือหุ้นกันแล้ว บริษัทจีนจะลงทุนเพิ่มอีก 2,000 ล้านดอลลาร์

ในขณะที่รอยเตอร์สตั้งข้อสังเกตขึ้นมาลอยๆ ไว้ว่า หรือนี่คือผลพวงของ “เดบต์ แทรป ดิพโพลเมซี”?

เสริมไว้ด้วยว่า การเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้นในท่ามกลางข่าวสะพัดว่าลาวอาจต้อง “พักชำระหนี้”

 

ข้อมูลของธนาคารโลกเมื่อเดือนมิถุนายน แสดงให้เห็นว่าหนี้สินของลาวเพิ่มขึ้นในปีนี้คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 68 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี จากที่เคยอยู่ที่ 59 เปอร์เซ็นต์เมื่อปีก่อน

มูดีส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส ถึงกับเตือนไว้เมื่อเดือนสิงหาคมถัดมาว่า “อาจเป็นไปได้ที่ลาวจะพักชำระหนี้” ในระยะเวลาอันสั้น

พันธะหนี้ของลาวที่กำหนดต้องชำระในปีนี้อยู่ที่ 1,200 ล้านดอลลาร์ ในเดือนกันยายนและตุลาคมนี้

หนี้ส่วนใหญ่มาจากจีน ตัวเลขของซินหัวระบุว่า จีนลงทุนในลาวทั้งในด้านพลังงาน, คมนาคมและโครงการอื่นๆ รวมแล้วเกินกว่า 10,000 ล้านดอลลาร์ มากกว่าอันดับ 2 คือไทย อยู่กว่าเท่าตัว

แบงก์ชาติที่เวียงจันทน์บอกเมื่อเดือนมิถุนายนว่า ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของลาวมีอยู่เพียง 864 ล้านดอลลาร์

ที่ผ่านมาจึงมีการผิดนัดชำระหนี้เกิดขึ้น หนึ่งในจำนวนบริษัทจีนที่ไม่ได้รับชำระหนี้ตามกำหนดคือ บริษัทที่อยู่เบื้องหลังพัฒนาการโครงการไฟฟ้าพลังน้ำในลาวทั้งหมด

หรือนั่นคือเหตุผลที่อยู่เบื้องหลังการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นใหญ่ในการไฟฟ้าลาว?

 

โทชิโร นิชิซาวะ ศาสตราจารย์ชาวญี่ปุ่นซึ่งเคยทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาด้านเสถียรภาพทางการเงินให้กับรัฐบาลลาวยืนยันว่า ยิ่งนับวัน ลาวจะยิ่งพึ่งพาจีนมากยิ่งขึ้นไปเรื่อยๆ โดยเฉพาะทางด้านเศรษฐกิจ ชนิดไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

ไบรอัน อายเลอร์ ผู้อำนวยการแผนกเอเชียของสติมสัน เซ็นเตอร์ องค์การวิชาการอิสระในวอชิงตันเห็นด้วย และชี้ว่า การยอมให้จีนเข้ามาถือหุ้นใหญ่ในแผนพัฒนาประเทศไปสู่ความเป็น “แบตเตอรี่แห่งเอเชีย” นั้น

ไม่ต่างอะไรกับการเปลี่ยนประเทศให้กลายเป็น “จังหวัด” หนึ่งของจีนไปกลายๆ นั่นเอง