อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์ : ดินแดนสองหน้ากาก และสองหน้า

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

สื่อเพิ่งรายงานว่าต้นเดือนกันยายนเป็นวันเลือกตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติของฮ่องกงซึ่งมาจากการเลือกตั้งส่วนหนึ่ง และเป็นหนึ่งไม่กี่ช่องทางที่ชาวฮ่องกงสามารถใช้สิทธิออกเสียงได้อยู่

ทว่าผู้นำฮ่องกงผู้นิยมจีนก็สั่งเลื่อนเลือกตั้งออกไป อ้างว่าเป็นเหตุจากการแพร่ระบาดของโควิด

ความจริงแล้ว ไม่ใช่แต่เนื่องจากการลุกฮืออย่างต่อเนื่องของคนฮ่องกงทั้งผู้ใหญ่และเด็กนักเรียน ทั้งนี้ เหตุผลการประท้วงต่อต้านรัฐบาลหาใช่เป็นแผนสร้างความสั่นสะเทือนในจีน ที่ได้รับการสนับสนุนจากชาติตะวันตกไม่

คนฮ่องกงมีความรู้สึกว่า “…รู้สึกเหมือนเราไม่ได้อยู่ในฮ่องกงที่เราเคยรู้จักแล้ว…”

 

อนาคตอันมืดมนของชานม

ผมมีเพื่อนเป็นศิลปินชาวฮ่องกงคนหนึ่งที่ได้รู้จักกันในงานประชุมนานาชาติที่ประเทศเดนมาร์ก

เขาเป็นศิลปินแต่งตัวทันสมัย คิดอ่านบรรเจิดและหัวก้าวหน้า

แต่เขากลับเล่าชีวิตจริงของศิลปินในฮ่องกงให้พวกเราฟังว่าตอนนี้แทบไม่มีงานดนตรีและการแสดงอะไรเลย

ปัญหาไม่ใช่โรคระบาดโควิดหรือปัญหาทางเศรษฐกิจ แต่เป็นเรื่องสิทธิเสรีภาพมากกว่า

เขาและศิลปินทั้งหลายส่วนใหญ่รับจ้างจัดงานเลี้ยงวันเกิด ร้องเพลงให้กับเด็กกำพร้า บ้างก็เป็นดีเจจัดรายการวิทยุเปิดเพลงเฮฮา

เขาเล่าว่า งานศิลปะของพวกเขาที่สะท้อนประเด็นทางสังคม รวมทั้งวิจารณ์การเมืองทำไม่ได้แล้ว

งานแสดงของพวกเขาหมิ่นเหม่กับกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติที่เขียนหลวมมากพอเอาผิดได้ง่าย แม้เพียงแค่ร้องเพลงหรือเพียงหัวเราะ

เขาว่า ฮ่องกงไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว ผู้ประท้วงติดสติ๊กเกอร์หรือถือกระดาษเปล่าก็ติดคุกได้

ยิ่งไปกว่านั้น หนังสือที่เขียนโดยผู้เรียกร้องประชาธิปไตยหายไปจากห้องสมุดสาธารณะ

นักเคลื่อนไหวทางสังคมไม่กล้าท่องสโลแกนเรียกร้อง

คนแต่งเพลงที่มีเนื้อหาทางสังคมก็ต้องใช้นามแฝง เพลงห้ามเปิด หนังห้ามฉาย

แต่ตอนนี้นักเรียนมัธยมจากหลายร้อยโรงเรียนต่างพร้อมใจกันโดดเรียนมาร่วมชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตย การประท้วงครั้งนี้ถือเป็นการประท้วงครั้งใหญ่ที่สุดของฮ่องกงในรอบ 30 ปีที่ผ่านมา

แม้ว่าจะไม่มีความชัดเจนว่าจะเกิดอะไรขึ้นหลังจากนี้ ทว่าหลายคนมองว่า นี่เป็นความเคลื่อนไหวที่ฉีกธรรมเนียมการประท้วงของฮ่องกงตลอดระยะเวลา 30 ปีที่ผ่านมา

 

สู่ดินแดนสองหน้ากากและสองหน้า

ในขณะที่การประท้วงของฮ่องกงของประชาชนและนักเรียนมัธยมเป็นการฉีกธรรมเนียมการประท้วงของฮ่องกงตลอด 3 ทศวรรษที่ผ่านมา

ทว่านักเรียนมัธยมบ้านเราได้ฉีกธรรมเนียมการประท้วงในประเทศไทยที่ผ่านมาเหมือนกัน อีกทั้งไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นหลังจากนี้

ในขณะที่ฮ่องกงมีสองหน้ากาก ด้วยเหตุผลใดเหตุผลหนึ่ง ได้แก่ ผู้ประท้วงเมื่อเจอตำรวจต้องต่อสู้กับตำรวจ พวกเขาใส่หน้ากากเพื่อป้องกันแก๊สน้ำตา

สำหรับผู้ประท้วงอย่างสันติ พวกเขาใช้ผ้าคลุมหน้าสีดำเพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์

อีกเหตุผลหนึ่ง สำหรับคนอื่นๆ มันเป็นหน้ากากช่วยป้องกันการระบาดของโรคโควิด-19 ที่ระบาดไปทั่วโลก อีกทั้งบางคนมีรอยแผลเป็นที่เกิดจากโรคระบาดซาร์ส ทำให้รอดพ้นที่เกิดจากความทรงจำของโรคระบาด

ดังนั้น ทุกคนจึงสวมหน้ากาก

 

ไทยสองหน้ากาก สองหน้าแต่ตาสว่าง

ผมยังไม่รู้ว่า การประท้วงของคนไทยและเด็กมัธยมจะเกิดขึ้นและต่อเนื่องยาวนานแค่ไหน แม้เราเทียบการประท้วงในฮ่องกงที่ยาวนานอันเป็นคุณลักษณะที่ห่วงแหนของพวกเขาไม่ได้

ทว่ากาลเวลาไม่สำคัญ ผู้ประท้วงและนักเรียนมัธยมที่บ้านเราสวมหน้ากากเอาไว้เผชิญหน้าเจ้าหน้าที่รัฐ พร้อมกับเป็นสัญลักษณ์แห่งการต่อต้าน พวกเขารับรู้บาดแผลของผู้อาวุโสที่ถูกสังคมสองหน้ากัดกร่อน

อย่างไรก็ตาม ตอนนี้สังคมไทยเผยความจริงและตัวตนที่แท้จริงที่ยิ่งกว่าสองหน้า จนกระทั่งตัวตนที่แท้จริงของสังคมไทยได้กระทบความรู้สึกของประชาชน รวมทั้งเด็กมัธยมที่เห็นอนาคตอันมืดมนของพวกเขา

พวกเขาค้นพบว่าสังคมไทยเป็นสังคมอำนาจนิยม ไม่เท่าเทียมทางสังคม เศรษฐกิจ และไม่เป็นธรรมอย่างมากกว่าที่พวกเขาเคยถูกสั่งสอนมา

แท้จริงแล้ว โควิด-19 เป็นเพียงกระแสที่มากระตุ้นรากเหง้าของปัญหาทางเศรษฐกิจและการเมือง การใช้เงินภาษีที่เป็นของประชาชนไปอย่างสุรุ่ยสุร่ายกับการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ท่ามกลางความไม่แน่นอนของอาชีพและงานประจำของผู้คนจำนวนมหาศาลทั่วไทย โดยที่ในความสั่นคลอนในฐานะครอบครัวนั้น ครอบครัวของเด็กมัธยมเป็นหนึ่งในผู้ร่วมชะตากรรมนั้นอย่างไม่ต้องสงสัย

ตรงกันข้าม ชนชั้นนำทางสังคมในบ้านเราใช้ชีวิตอย่างสุขสบาย ไม่ต้องเสียภาษีเหมือนชาวบ้าน อยู่บ้านใหญ่โตหลายหลัง เป็นเจ้าของที่ดินจำนวนมาก พาหนะล้ำหน้า

เด็กมัธยมสวมหน้ากากแล้วตะโกนก้องเพื่อให้เด็กมัธยมคนอื่นๆ ผู้ร่วมชะตากรรมล่วงรู้ว่า

ที่นี่หรือประเทศไทย “…เขาตาสว่าง รู้สึกว่าเขากำลังอยู่ในอีกสังคมหนึ่ง ไม่เหมือนกับที่พร่ำสอนกันมา จากการกล่อมเกลาโดยสื่อของรัฐถึงความดีงามของความเป็นไทยและความอุดมสมบูรณ์อันเพ้อฝัน…”

ความเป็นไทยกับคณาธิปไตยทางการเมืองของคนจำนวนน้อย การผูกขาดทางเศรษฐกิจของคนกลุ่มเล็กๆ ที่ร่วมมือกับเจ้าหน้าที่รัฐ ไหนว่าในน้ำมีปลา ในนามีข้าว ตอนนี้ข้าวก็แพงและไม่มีจะกิน

โรงงานก็ปิดกันทั่วหน้า

สตาร์ตอัพยิ่งเดี้ยง กู้มาเท่าไรก็เจ๊ง เจ้าที่อยู่รอดบริษัทขนาดใหญ่ก็ฮุบเอาไปลงทุนต่อเอง

โรงเรียนก็ปิด มหาวิทยาลัยเอกชน มหาวิทยาลัยเล็กๆ ไม่ได้ถูกดิสรัปต์เพราะเทคโนโลยี ไม่ใช่สังคมไทยก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยแล้วไม่มีคนเรียนต่อในมหาวิทยาลัย ตรงกันข้ามกับสถาบันการศึกษาของบริษัทเอกชนที่ฝึกหัด เพิ่มทักษะและผลิตแรงงานเพื่อรองรับโรงงานและร้านค้าในอาณาจักรธุรกิจของพวกเขาเอง

สถาบันการเมืองในบ้านเราล้วนเป็นสถาบันของ ผู้ทรงเกียรติหน้าเก่า ที่วนเวียนอยู่ในแวดวงการเมืองที่ชื่อเรียกขานเปลี่ยนไปบ้าง แต่ก็เหมือนกันเด้ะ

สิทธิเสรีภาพจึงเป็นเพียงสิ่งเดียวที่เหลืออยู่เพื่ออนาคต อนาคตที่เด็กมัธยมมองว่า อนาคตไม่ใช่เรื่องห่างไกล ปัจจุบันก็ไม่แน่นอนมากอยู่แล้ว อนาคตยิ่งมืดมน พวกเขาสวมหน้ากากทั้งเพื่อต่อต้าน เป็นสัญลักษณ์ทางการเมือง หน้ากากที่ป้องกันการกล่าวหาว่าร้ายที่รัฐไทยเตรียมเอาไว้ด้วย ทัศนะอันคับแคบ หลงยุค เผด็จการ

เมื่อพี่ใหญ่อ้างว่าเด็กมัธยมฮ่องกงทำ การโค่นล้ม การแยกดินแดน การก่อการร้ายและการแทรกแซงจากต่างประเทศ

รัฐไทยย่อมมีข้อกล่าวหาเด็กมัธยมที่บ้านเราแนวเดียวกันด้วยคำโก้ว่า ฮ่องกงโมเดล

ห่วงอนาคตของตัวเองและของประเทศมันผิดตรงไหน

เด็กมัธยมที่ไหนๆ ก็ไม่ต้องการเกิดและเติบโตในค่านิยมเผด็จการ